post-image

คนหัวใจเพชร ชุมชนฅนสู้เหล้า ตำบลโนนเปือย : จากยาฆ่าหญ้าในท้องนา จนถึงสุราที่ต้องเลิก

“ลักเอาข้าวเมียในเล้า ไปขายมาซื้อเหล้ากิน” พ่อใหญ่“น้อย”หรือ นายสุรศักดิ์ มาตขาว อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนเปือย หมู่ที่ ๑๔ ตำบลโนนเปือย อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เล่าให้ฟัง พร้อมทั้งหัวเราะไปพลาง พ่อใหญ่น้อยเล่าว่า เมื่อก่อนย้อนหลังไปราว ๆ ๑๐ กว่าปี ตนเองได้ไปรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าอยู่ทางภาคใต้เพราะรายได้ดีตกวันละถึง ๓,๐๐๐ บาท ทำงานได้เยอะเงินก็ได้เยอะตามพอตกเย็นก็จะพากันนั่งดื่มสุราขาว เพราะมีความเชื่อว่าสุราไปช่วยขับสารพิษในร่างกายออกมา นานเข้าก็เริ่มติดและเริ่มดื่มหนักตั้งแต่นั้นมา

พ่อสุรศักดิ์ มาตขาว หรือ “พ่อใหญ่น้อย” อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านโนนเปือย คือ หนึ่งในตัวจริง เสียงจริงของผู้ ได้รับผลกระทบจากการ รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า สู่การติดเหล้า เพราะความเชื่อผิด ๆ !!!!

ราว ๆ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ฉันเริ่มเข้าก้าวสู่พื้นที่ตำบลโนนเปือย อำเภอกุดชุม เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องดำเนินการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ฉันมีตำแหน่งเป็นกองเลขานุการร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในตอนนั้น ไม่ง่ายเลยกับการขอความร่วมมือกับพื้นที่ใหม่ในการเริ่มงานกับคนหน้าใหม่ เราคือคนใหม่ของที่นี่ การจะเข้าพื้นที่เพื่อกระทำการใด ๆ อย่างน้อยต้องมีความสัมพันธ์เป็นต้นทุน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นและรู้สึกประทับใจมากกับที่นี่คือ วัฒนธรรมการสร้างผู้นำที่โนนเปือย ไม่มีการแข่งขันกันทางการเมือง  ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้ง ทำให้การประสานงานเป็นไปด้วยความราบรื่น และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้นำทั้งสองฝ่าย การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนประสบความสำเร็จ จากครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ของฉันกับพื้นที่กระชับแน่นขึ้นเป็นลำดับ ผู้ใหญ่ที่นี่ให้ความเอ็นดูฉันเหมือนลูกหลานคนโนนเปือย จากนั้นมีหลากหลายองค์กรภาคี เข้ามาในพื้นที่และร่วมกันพัฒนา แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันมองเห็นคือ เรื่องสุขภาพของคนโนนเปือย ความดัน เบาหวาน หนังเน่า และอาการติดสุราเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งสิ้น

พ่อใหญ่น้อย หลังจากกลับมาจากรับจ้างฉีดยาที่ภาคใต้พร้อมกับหอบเงินมาก้อนโต แต่สิ่งที่ตามมาคือ พ่อใหญ่น้อย เริ่มมีปัญหาสุขภาพ ป่วยบ่อย เป็นแผลแล้วหายช้า ประกอบกับดื่มเหล้าจัด ถึงขนาดขอตังค์เมียไปซื้อเหล้าไม่ได้ เลยโขมยข้าวในฉางไปขายเพื่อแลกกับเหล้ามาดื่มกับเพื่อน ๆ เดอะแก๊ง ที่บอกว่ามีทุกข์ร่วมต้านมีสุขร่วมเสพ ว่าอย่างนั้น เงินทองที่ได้มาหมดไปกับค่ารักษาตัว มีอยู่ครั้งหนึ่ง พ่อใหญ่น้อย เล่าว่า ตนเองเมาและขับมอเตอร์ไซค์ประสบอุบัติเหตุและสลบไปเลย รู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลคนแรกที่เห็นหน้าคือ เมียกับลูก เดอะแก๊งที่บอกว่ารักกันนักหนาไม่โผล่หน้าให้เห็นเลยตั้งแต่วันที่ประสบอุบัติเหตุ เมื่อเจอเหตุการณ์หลายอย่างทั้งอุบัติเหตุและความเจ็บป่วย ทำให้พ่อใหญ่น้อยได้ฉุกคิดว่า ควรเริ่ม ลด ละ การดื่มเหล้าลงซะแล้ว และเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าว ต่อมาพ่อใหญ่น้อย ลงรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านให้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๔ บ้านโนนเปือย ตำบลโนนเปือย อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

พอเราเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าแล้วเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิต ใช้นวัตกรรมในการจัดการวัชพืชในการทำเกษตร กลายเป็นว่า บทเรียนที่ดีเกิดขึ้นจากตัวเอง  ตอนเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพมีอาการเป็นแผลหนังเน่า ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่ามาจากการฉีดยาฆ่าหญ้า อย่างแน่นอน พอป่วย เราก็เปลี่ยนวิถีชีวิตเลย จากฉีดยาใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าว ก็เลิก ชักชวนให้พี่น้องเลิก แต่ด้วยเราทำเกษตร ก็ต้องคิดว่าเราจะทำอะไรใช้อะไรทดแทนหากไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า  ปี พ..2556 เริ่มชวนครัวเรือนที่สนใจจะเลิกใช้ยา มารวมกลุ่มกันโดยใช้นวัตกรรมเรื่องกำจัดวัชพืชในนาข้าว ด้วยการใช้เครื่องตัดข้าว อายุข้าว 2 – 3 เดือน ทั้งนี้การกำจัดวัชพืชในนาข้าว เกิดมาจากการประยุกต์โดยช่วงที่ตัดข้าว หากมีน้ำท่วมจะตัดเท่ากับระดับน้ำ ซึ่งข้าวจะทอดยอดไวกว่าหญ้า ตอนนั้น มีคนมาสมัครเข้ากลุ่มราว 30 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 3 ไร่ โดยมีมติร่วมกันว่า ถ้ามีใครจะฉีดยาฆ่าหญ้าในการทำเกษตรจะต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน 3 วัน ดังนั้น พอมีคนจะฉีดยาก็มาแจ้งผู้ใหญ่บ้านก็จะประกาศเสียงตามสาย เพราะถ้าใครจะเอาสัตว์ไปปล่อยเลี้ยงก็ให้หลีกเลี่ยง

ในช่วงนั่นเอง ปี พ.. 2555 – 2557 เป็นช่วงที่เรากำลังทำแผน แม่บทตำบล เราจึงใช้การประชุมประชาคมขยายไปที่หมู่อื่นๆ โดยปี พ.. 2557 - 2558 เริ่มเกิดระบบในการประชุมกับชาวบ้าน มีการชักชวนพูดคุยกับคนที่มีแนวโน้มว่าจะเลิกฉีดยา ขณะเดียวกัน ในการประชุมก็มีมติร่วมกันว่า เปิดรับสมัครคนปลูกข้าวไม่ฉีดยาฆ่าหญ้า จาก 30 ครัวเรือน จึงขยายเป็น 35 ครัวเรือน จากมติที่ร่วมกันคิด ก็เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง สม่ำเสมอจนเกิดเป็นระบบ ทั้งใช้เสียงตามสายประกาศแจ้ง ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ใช้สังคมกดดัน ใครละเมิดต้องมาคุยกัน มีการปรับไหมใส่โทษ ขณะเดียวกันการมีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยชีวิภาพก็ยิ่งทำให้เรามีกลไก มีระบบในการสร้างกติการ่วมกันที่ง่ายขึ้น พ่อใหญ่น้อยเล่าให้ฟังเป็นขั้นเป็นตอน

ชุมชนการจัดการตนเองจากยาฆ่าหญ้า

ถึงงดเหล้า : ต้นทุน ปัจจัย และการขับเคลื่อน

ระหว่างทางที่เราพยายามแก้ไขปัญหายาฆ่าหญ้า ต้องบอกว่ามีภายในแต่ละหมู่บ้านก็มีการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในเรื่องอื่นๆ เช่น หมู่ที่ 6 ที่ มีการทำงานศพปลอดเหล้า เมื่อปี พ..2553 ด้วยมองเห็นถึงปัญหาค่าใช้จ่ายงานศพของเจ้าภาพที่มีสูงมากเนื่องจากการมีเหล้ายาภายในงาน และเวลา จัดงานก็มักจะเห็นสภาพคนเมา ผู้นำเลยเกิดความคิดวางแผนที่จัดการ

งานศพปลอดเหล้าของหมู่ 6 เริ่มด้วยการทำประชาคมหมู่บ้านที่คนส่วนมากก็เห็นด้วย เพราะยอมรับว่าดีที่จะทำผู้นำเลยแจ้งว่างานศพ ปลอดเหล้าเป็นกติกาของตำบล ของชุมชน จากนั้นก็ประชาสัมพันธ์ พอมีตัวอย่างเจ้าภาพรายแรกที่เห็นผล ลดค่าใช้จ่ายงานได้จริงๆ จ่ายแค่ค่างานศพ 40,000 บาท ไม่ต้องจ่ายค่าเหล้า 40,000 – 50,000 บาทเหมือนทีผ่านมา พอมีตัวอย่างก็เกิดการขยายผลต่อ ๆ กัน” “จนกระทั่ง ปี พ.. 2555 มีการประชุมประชาคมตำบล ที่พบว่า งานศพปลอดเหล้าของหมู่ 6 เป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ เห็นผลลัพธ์ ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดการขยายไปในหมู่บ้านอื่น” พ่อบุญทอง วิเศษชาติ อดีตกำนันแหนบทอง ผู้ที่เป็นต้นแบบและนำพาชาวตำบลโนนเปือยขับเคลื่อนชุมชนสู้เหล้า

นอกจากการขับเคลื่อนภายในแล้วก็จะพบว่ามีภาคีเครือข่ายเข้ามาในพื้นที่หลายองค์กรหลายเครือข่าย เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้ามาเมื่อปี พ.. 2554 โดยเริ่มจาก ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน การขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน และจัดทำแผนแม่บทตำบล

แผนแม่บทตำบลโนนเปือยนั้น เริ่มจากการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหา ของพื้นที่และใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ต้นทุนเดิมที่จะต่อยอด ปัญหาคืออะไร ส่องกระจกย้อนมองตัวเอง และออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งพัฒนาส่งเสริมเรื่องที่ดี โดยใช้กระบวนการประชาคมตำบลเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นจากชาวชุมชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา จนพบว่า ปัญหาที่ชุมชน ต้องการแก้ไขคือ เกษตรกรรม ที่มีแนวทางการแก้ไขโดยการทำนาอินทรีย์ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบ โฮมสเตย์

ในช่วงที่โนนเปือยขับเคลื่อนดำเนินการเรื่องแผนแม่บทตำบลนั้นก็เป็นช่วงที่มีองค์กรภาคีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เช่น โครงการ สำรวจข้อมูล 500 ตำบลของ สช. ซึ่งโนนเปือยเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ของเขตสิบ, ThaiPan ที่เข้ามาทำงานเรื่องสารเคมี กล่าวได้ว่า การมีองค์กรภาคีเครือข่ายหลายองค์กรเข้ามาทำงานในพื้นที่สะท้อนชัดได้ดีถึงความเข้มแข็งภายในของชุมชนอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคีหลายองค์กรต้องการจะเข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนด้วย การเข้ามาของภาคเครือข่ายที่หลากหลาย เป็นเพราะโนนเปือยมีต้นทุนมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีท้องที่ท้องถิ่นที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีกลุ่ม องค์กร ที่มีความเข้มแข็งเป็นรูปธรรมที่องค์กรภาคีเครือข่ายสามารถ เข้ามาต่อยอดพัฒนาได้ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน คือ ความเป็นตระกูล ความเป็นเครือญาติ พี่ น้อง กำนัน นายกฯ ทำงานประสานงานกันทั้งท้องถิ่น ท้องที่ เพราะทุกคนเป็นคนในพื้นที่การคุยกันก็ไม่ขัดกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งการพัฒนาและการปกครอง เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน ขณะเดียวกัน การเกิดคณะทำงาน กำนัน นายกฯ อบต. ก็ล้วน เกิดขึ้นจากพี่น้องในตำบลเลือกกันเข้ามา ไม่ได้แข่งกัน ใช้ฉันทามติ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นตำบลเดียวที่ใช้งบเลือกตั้งน้อย ไม่มีการแจกเงิน เขามีวัฒนธรรมการเมืองที่คุยกันได้ ใครจะเกษียณก็มีการวางตัวกันต่อ คือ เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ (เป็นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ) ยึดถือวัฒนธรรมประเพณี ให้เกียรติผู้อาวุโส สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่เข้มแข็งโนนเปือยโมเดล ปฎิบัติการชุมชนฅนสู้เหล้า ก่อนนั้น มีหลากหลายองค์กรเข้ามาทำงานในพื้นที่ แต่ต่างคนต่างทำ ภาคีแต่ละแห่งแยกกันทำ พื้นที่เองก็ยังไม่รู้ว่าจะบูรณาการกันอย่างไรเลยมาคุยกันว่า ทุกภาคีรวมทั้งชุมชนต่างก็มีเป้าหมายเหมือนกัน ดังนั้นน่าจะมาบูรณาการกัน ทำเวทีเดียวคุยได้หลายเรื่อง ด้วยเหตุนี้ทุกวันที่ 10 ของเดือน จึงมีเวทีประชุมตำบล ที่ทุกภาคีก็จะเอาเนื้อหาเข้ามาในการประชุม บูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นหนึ่ง พอทำแบบนี้ก็เริ่มเห็นว่า หลายเรื่องหลายประเด็นนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน เช่น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อชีวิตที่ปลอดภัย ไม่เจ็บป่วยจากการใช้ยาฆ่าหญ้า แต่เรากลับลืมไปว่า ทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ป่วยจากอินทรีย์ไม่ป่วยจากยาฆ่าหญ้าก็จริง คนก็ยังป่วยอยู่แต่ป่วยจากเหล้า ซึ่งเรืองเหล้าเป็นเรื่องพฤติกรรมคน เป็นเรื่องระดับปัจเจก  

จากการสำรวจข้อมูล ที่หมู่ 4 มีร้านค้าชุมชนร้านเดียว แต่พบว่า มีกรสั่งเหล้าเบียร์เข้ามาตลอด คนดืมเหล้ามากถึง 120 ครัวเรือน เฉพาะค่าเหล้าที่ทำบัญชีคุมไว้ในปี พ..2561 ยอดสูงถึง 1,170,000 บาท พอสำรวจปีถัดมา พบว่ามูลค่าสูงขึ้นเพราะราคาเหล้าสงขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 110,000 บาท จึงพยายามแก้ไขปัญหาไม่ ให้ใช้เครดิต และสำรวจข้อมูลว่ามีคนดื่มกี่คน ดื่มหนกเท่าไหร่ และพยายามหาทางชวน และช่วยให้เขาเลิกเหล้าให้ได้  ซึ่งขณะนั้นตอนนั้น โนนเปือย ทำโครงการสำรวจข้อมูล 500 ตำบลของ สช. โดยใช้เครื่องมือหนึ่งของ สช. คือ ธรรมนูญ โนนเปือยจึงทำงานเรื่องเหล้ผ่านการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล ที่ประเด็นเรื่องเหล้าถือเป็นเรื่องหนึ่งในหมวดอบายมุขของธรรมนูญ และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล) ที่เข้ามาสร้างกระบวนการชุมชนโดยใช้ กระบวนการ ๕ ช.ในการขับเคลื่อนงานงดเหล้า

กระบวนการ 5. โมเดล : ชวน ช่วย ชมเชียร์ เชิดชู ชง

ช.ที่ ๑  คือ ชวน  ผู้นำไปชวนใช้กลุ่มคนเลิกเหล้าได้แล้วเป็นตัวอย่างนั่งคุยกินกาแฟใช้ครอบครัวในการชักชวนได้ผลมากที่สุด เช่น นาย ก.ติดเหล้า ก็จะชวนคุยทุกเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่าย บางครั้งคนที่ดื่มไม่ได้คิดในเรื่อง ค่าใช้จ่าย พอไปชวนเขาก็เริ่มคิดตาม ไม่ได้ชักชวนโดยตรง ๆ แต่คุยเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ จากเรื่องชีวิต ไปที่เรื่องเหล้า แล้วเหล้าเชื่อมไปที่สุขภาพ จากสุขภาพไปที่เรื่องครอบครัว

ช.ที่ ๒ คือ ช่วย  มีกิจกรรมปฏิญาณตนงดเหล้าครบพรรษาในระดับหมู่บ้าน และตำบล  คณะกรรมการทำงานหนุนเสริมอาทิตย์ละครั้ง ช่วยเหลือกัน ช่วยเหลืองานเพื่อชุมชน ทำงานกับสถาบันครอบครัวให้เช้าช่วยกัน การทำ งานร่วมกัน มีกิจกรรมอาชีพ หรือระบบกองทุนที่สนับสนุนกันได้ก็็เสริมเข้าไป

ช.ที่ ๓ คือ ชมเชียร์  ชมเชยให้กำลังใจเมื่อเขาลด ละ เลิก เหล้าได้ อยากให้เขาไปขยายผลบอกต่อ มีวงคุยเล็ก ๆ เพื่อให้เขาได้คุยกันถึง สุข ทุกข์ ความเปลี่ยนแปลงทีเกิดกับตนเองในมิติต่าง ๆ คนข้างนอก เช่น ประชาคมจังหวัด หรือทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดลงพื้นที่มาร่วมคุยและให้กำลังใจ

ช.ที่ ๔ คือ เชิดชู  คนมาปฏิญาณตน หลังจากออกพรรษา คณะทำงานจะมาประเมิน ออกประกาศเชิดชูเกียรติ  เชิญนายอำเภอมามอบเกียร์ติบัตร ยกย่องให้เป็นแบบอย่างและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์

ช.ที่ ๕ คือ ชง  สนับสนุนให้คนที่เข้าร่วม ลดละไปต่อ จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน เป็น 1 ปี และงดตลอดชีวิต ตั้งชมรมคนหัวใจเพชรเพื่อมีกระบวนการกลุ่มในการช่วยเหลือกัน

คนหัวใจเพชร คือ ผู้คนที่เลิกเหล้าแล้วเข้ามารวมตัวกันทำงานรณรงค์ งดเหล้า และจัดตั้งเป็น ชมรมคนหัวใจเพชร จดทะเบียนเป็นองค์กร สาธารณะประโยชน์และรับงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนงานงดเหล้า แห่งแรกของประเทศ ถือเป็นคนตัวอย่างที่ขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการเล่าเรื่อง จากบทเรียน ประสบการณ์จริงของตัวเอง และขับเคลื่อนกระบวนการ ๕ ช. ในการช่วยเลิกตลอดทั้งปี

 

เรื่อง : อรดี   วัดเข้าหลาม

ภาพ : ประภัสสุทธ