post-image

กว่าจะเป็น : ระบบการจัดการอาหารปลอดภัย ประสบการณ์การจัดการระบบอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

เมื่อพูดถึงการจัดการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ใคร ๆ ก็นึกถึงอำเภอจอมพระ  จังหวัดสุรินทร์ อะไรคือความโดดเด่น ที่มีหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรายการโทรทัศน์ชื่อดัง สนใจ มาศึกษาและเรียนรู้ที่อำเภอจอมพระ คงมีอะไรดีดี ที่ทำให้คนอื่นสนใจ

เราชื่อ นพรัตน์ งางาม เป็นครูปฐมวัย โรงเรียนอนุบาลจอมพระ มีโอกาสเข้าร่วมทำงานขับเคลื่อนงานอาหารปลอดภัยกับคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอจอมพระ รวมทั้งเป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดและอยู่กับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทุกตำบลเป็นเวลายาวนาน ได้ลองทบทวนความทรงจำและบอกเล่าสิ่งดีดีเหล่านั้น

เมื่อปี พ.ศ 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.สำนัก 6) ได้มอบทุนจัดทำโครงการ ระบบกลไกการจัดการผักผลไม้และข้าวอินทรีย์จากชุมชนสู่อาหารของนักเรียน ผ่านเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอจอมพระ โดยการขับเคลื่อนงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอจอมพระภายใต้การนำของนายอำเภอจอมพระ นายวรชัย  ทำหน้าที่หนุนเสริมขับเคลื่อนกลไกที่เกี่ยวข้อง ติดตามและคอยช่วยเหลือการดำเนินงานทุกกิจกรรม  อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีทันตแพทย์หญิงจินดา พรหมทา ที่คอยทำหน้าที่เป็นเลขาคณะทำงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมสร้างแกนนำเกษตรกรทุกตำบลให้มีความเข้มแข็ง และเราก็ได้รับการประสานมาทางโรงเรียน ให้มาช่วยเป็นผู้ช่วยเลขาคณะทำงานและจัดทำรายงานโครงการ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมทุกอย่าง และอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องทำคือการเป็นแกนนำเกษตรกรตำบลจอมพระ การตามหาชาวบ้านที่สนใจผลิตอาหารปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกเย็นหลังเลิกเรียน และวันเสาร์ อาทิตย์ เราต้องออกไปหาข้อมูลจากผู้นำหมู่บ้าน เชิญชวนให้ชาวบ้านมาร่วมโครงการ รวมทั้งทำหน้าที่ประสาน เก็บข้อมูลจากแกนนำเกษตรทุกตำบล แต่ด้วยที่มีนายอำเภอคอยช่วยเหลือ เข้าร่วมประชุมทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือเจออุปสรรคอะไร ท่านนายอำเภอจะคอยช่วยเหลือให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง การจัดอบรมจัดทำเมนูกลางระดับอำเภอ การวางแผนการผลิต การอบรมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) การตรวจแปลง จึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกษตรกรต่างมีความหวัง ยินดีที่จะปลูกผัก เพื่อจะสร้างรายได้เข้าสู่ครอบครัว และสามารถส่งอาหารเข้าสู่โรงเรียนเพื่อให้บุตรหลานของตนเองได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะทางโรงพยาบาลจอมพระก็ให้ความสำคัญ สร้างตลาดอินทรีย์ให้เกษตรกรนำอาหารมาจำหน่ายในโรงพยาบาลอีกด้วย และทุกครั้งที่มีการประชุมประจำเดือน เกษตรกรทุกตำบลก็จะนำผลผลิตมาร่วมจำหน่าย มีผลทำให้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย แบ่งปันความรู้ และเกิดการเชื่อมโยงผลผลิต ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งอำเภอ 

การทำเกษตรอินทรีย์ให้มีผลผลิตพอเพียงสอดคล้องกับเมนู ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ฤดูกาล แมลง และโรคของพืช และความสามารถในการประสานเพื่อส่งวัตถุดิบให้โรงเรียน ที่ทุกตำบลต้องเจอ แต่ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไร นายอำเภอ และคณะทำงาน รวมทั้งอาจารย์ปิยศักดิ์ สุคันธพงษ์ พี่เลี้ยงโครงการ เมื่อใครบางคนท้อ แกนนำแต่ละตำบลจะรีบมาพูดคุย ให้กำลังใจ หาวิธีการช่วยเหลือและแก้ปัญหาไปด้วยกัน สิ่งนี้จึงถือว่าเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ทุกคนมีกำลังใจสู้ต่อ

          ทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น โครงการเฟสที่ 2 เริ่มขยับต่อ คุณหมอจินดา พรหมทา ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานหน่วยงาน ผู้ที่คอยบอก คอยแนะนำเรา ว่าแต่ละกิจกรรมเราเตรียมเอกสารข้อมูลอะไร ตำบลใดพบปัญหาและอุปสรรค พวกเรา 2 คนจะรีบไปช่วยเหลือ แต่แล้วคุณหมอต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงพยาบาลลำดวน ช่วงแรกเราก็ไม่ค่อยหนักใจเท่าไหร่ เพราะไม่ได้คาดคิดว่าตนเองตัวเองจะต้องมารับบทบาท เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เราพยายามปฏิเสธ แต่ทุกคนบอกว่า พร้อมที่จะช่วยกัน แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง การระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนต้องปิดเรียนบ่อยๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่คอยช่วยเหลือ ต่างมีภาระงานมากมาย  และที่สำคัญที่สุด ก่อนที่จะเริ่มโครงการ ท่านนายอำเภอ ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร และเมื่อท่านกลับมา ท่านได้โทรบอกให้เราไปพบที่บ้านพัก และแนะนำการจัดทำหนังสือคำสั่งการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือตรงกับภาระงานมากขึ้น แล้วท่านก็บอกกับเรา ฝากให้นำความรู้ไปช่วยเหลือชาวบ้านด้วยนะ ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อมีโอกาสท่านจะมาเยี่ยม เศร้าเลยเรา จากคนที่เคยปฏิเสธงานทุกอย่าง เพราะคิดว่าเรา ทำไม่ได้ เราแค่ครูชั้นผู้น้อย ทุกครั้งที่เราเงียบ ทำอะไรไม่ถูก ท่านอาจารย์ปิยศักดิ์ ก็จะโทรมา ว่าต้องทำอะไรต่อ ท่านจะมาเป็นเพื่อน แต่การจะประสานหน่วยงาน หรือไปขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ  และที่สำคัญเราก็ไม่กล้าที่จะไปคนเดียวเลย เพราะจริงๆ แล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่มีใครรู้จักเราเลย ดังนั้น เราต้องเอาคนที่เราสนิทและรู้ใจกันมากที่สุดไปเป็นเพื่อน บ่อยครั้งเราต้องพาลุงสำราญชัยไป เราเหมือนคู่หูต่างวัยของกันและกัน บางครั้งน้องเอ๋ แกนนำเกษตรกรตำบลชุมแสง ต้องทิ้งสวน ทิ้งครอบครัวมาอยู่เป็นเพื่อนเราในการแก้ไขและวิ่งส่งหนังสือ กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน ที่ว่ายากแล้ว ต้องมาจัดประชุม อบรม แต่ละกิจกรรม แต่ละตำบลยิ่งยากไปอีก มันไม่ได้ง่ายเหมือนมีคุณหมอจินดาและนายอำเภออยู่ ถึงท้อแต่พวกเราก็ยังไม่ถอย เมื่อนายสุทธิศักดิ์ ทองนวล ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการที่โรงเรียนอนุบาลจอมพระ เราจึงเล่าเรื่องราวและปัญหาในการทำงานของเรา นับว่าเป็นความโชคดี ท่านผู้อำนวยการบอกว่าท่านยินดีช่วย ยินดีให้การบริการสังคม ขาดเหลืออะไรท่านจะช่วย พวกเรามีสถานที่สำหรับการประชุมและอบรมที่สะดวกแล้ว มีท่านผู้อำนวยการและคณะครูคอยช่วยเหลือ แต่พวกเรายังขาดผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ที่จะคอยช่วยประสาน เมื่อยามมีปัญหา เหมือนครั้งก่อน เรากับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จึงได้ปรึกษากัน ไปขอความช่วยเหลือจาก ท่านสมชาย จารุวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจอมพระ ขอให้มาช่วย และทุกครั้งก่อนที่จะดำเนินกิจกรรม เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั้ง 9 ตำบล พี่เลี้ยงโครงการ ท่านผู้อำนวยการสมชาย จารุวงศ์ จะเข้ามาร่วมคิด ร่วมพูดคุย โดยมีท่านผู้อำนวยการสุทธิศักดิ์ ทองนวล คอยเตรียมสถานที่และความสะดวกให้กับพวกเรา และขณะที่คณะทำงานประชุมไปด้วยต้องจัดอบรม จัดประชุม เก็บข้อมูล พร้อมจัดทำรายงานไปด้วย ปัญหาก็เกิดขึ้นอีก เราเริ่มทำทุกอย่างไม่ทัน งานในหน้าที่ก็มีมากมาย งานโครงการก็มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ขณะที่เราเริ่มอ่อนแรงลง พี่แก้ว กนิษฐนันท์ พิมพ์ทอง ซึ่งหนีวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิดและปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากกรุงเทพ ได้กลับบ้านมาทำ โคกหนองนา ทำให้มีมีโอกาสทำกิจกรรม ช่วยเหลือแบ่งปันกับแกนนำเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พี่สำลี ศรีสุข แกนนำที่เข้มแข็งตำบลเมืองลีง จึงประสานพี่แก้ว ให้เข้าร่วมโครงการอาหารปลอดภัย พี่แก้วเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานหลายอย่าง มีความมุ่งมั่น และมีจิตอาสาทุกกิจกรรม จึงได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานจากอำเภอ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่นำเสนองานด้านการเกษตรและความยั่งยืนบ่อยครั้ง ทำให้ท่านนายอำเภอสรพงษ์ ชายแก้ว นายอำเภอจอมพระ และหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ท่านนายอำเภอจึงมีความเข้าใจ และเห็นถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ จึงมีการจัดทำหนังสือคำสั่งขับเคลื่อนกลไกระบบการจัดการอาหารปลอดภัยขึ้นใหม่ และจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณ เรื่อง ระบบการจัดการอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชนอำเภอจอมพระ ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก่อนที่จะมีจัดกิจกรรม พวกเราคณะทำงาน ซึ่งอาจารย์ปิยศักดิ์มักเรียกพวกเราว่า “ทีมหญิงเหล็ก” แต่พวกเรามักแทนตัวเองว่า “แก๊งนางฟ้า”เพราะจริง ๆ แล้วพวกเรา ก็เหนื่อยและท้อแท้เหมือนกัน แต่ที่เราต้องสู้ เพราะความรักผูกพันและ ใจดีเหมือนนางฟ้า  หลังจากการขับเคลื่อนงานครั้งนี้ มีนายอำเภอเป็นประธาน และมีสาธารณสุขอำเภอ เป็นแม่ทัพในการทำงาน  พวกเรา”แก๊งนางฟ้า” ทั้ง 4 คน รู้สึกอุ่นใจ และมักจะบอกกับแกนนำเครือข่ายแต่ละตำบลต่อไป พวกเราไม่เหนื่อยมากแล้ว แกนนำเกษตรกรจะได้มีเวลาปลูกและดูแลพืชผักของตนเองสักที อะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เดี๋ยวคณะทำงานตามคำสั่งทั้งในระดับอำเภอและระดับตำบลจะลงไปติดตามช่วยเหลือ แต่พอเอาเข้าจริง มันก็ยังเหนื่อยเหมือนกัน นอกจากหน่วยงานที่รับผิดชอบมากมาย เกษตรกรและแก๊งนางฟ้า ก็เนื้อหอม  มีน้ำใจช่วยเหลือทางสังคม และทุกหน่วยงาน ที่สำคัญภาระงานเรา ก็หนักและต่อเนื่องด้วยซิ การจัดเตรียมการประชุม อบรม ที่ว่าหนักแล้ว ข้อจำกัดด้านเวลาทั้งคณะทำงานและผู้ร่วมอบรมยิ่งไม่ตรงกันอีก แต่ไม่ว่าจะเจออุปสรรคและปัญหาอะไร พวกเราก็จะให้กำลังใจกันอยู่เสมอ ที่ผ่านมาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ผ่านประสบการณ์ทั้งสมหวังและผิดหวัง และสิ่งที่เกษตรกรยอมรับและทางโรงเรียนมักจะพูดเสมอว่า เกษตรกรผลิตได้ไม่เพียงพอ ขาดการประสานและพูดคุยกับโรงเรียน และด้วยที่มีหลายโรงเรียน อยู่ใกล้ตลาดมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางมากมาย พร้อมที่จะจัดส่งวัตถุดิบให้โรงเรียน มากกว่าเกษตรกรในพื้นที่ ต่อมาเราได้รับโอกาสจากองค์การบริหารส่วนตำบลจอมพระได้ขอให้ช่วยออกแบบและร่วมขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยภายในตำบลจอมพระ ทำให้เราได้นำจุดเด่น จุดด้อย และเหมือนเป็นคนกลางระหว่างเกษตรกรและโรงเรียน ทำอย่างไรที่ต่างฝ่ายจะได้เห็นความตั้งใจจริงของกันและกัน ดังนั้น การติดตามช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้ผู้จัดทำเมนูอาหารกลางวัน ผู้จัดหาวัตถุดิบ แม่ครัว ผู้ประกอบอาหาร ได้พูดคุยกันบ่อย ๆ จึงทำให้เกิดความคุ้นเคย เข้าใจอุปสรรคและปัญหาของกันและกัน ปัญหาด้านการประสานงาน มีการสื่อสารและเข้าถึงกันขึ้น แต่ปัญหาด้านการผลิต ยังพบทุกตำบล ถึงแม้เกษตรกรหลายรายเกิดความท้อแท้ แต่ก็มีหลายคน กลับเกิดการเรียนรู้ ค้นพบศักยภาพ ว่าตนเอง เหมาะที่จะผลิตอะไร หลายตำบลสามารถผลิตและส่งผลผลิตได้ต่อเนื่อง เช่น พี่บังอร บุตรงาม แกนนำเกษตรกรคนใหม่ของตำบลจอมพระ มีเห็ดและกล้วยส่งให้โรงเรียนทุกอาทิตย์ พี่สำลี ศรีสุข แกนนำเกษตรกรตำบลเมืองลีง และผู้รับผิดชอบโครงการเฟสที่ 3 มีทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ และจิตอาสา สามารถผลิตและขยายเครือข่ายภายในตำบลและช่วยติดตามประสานกับแกนนำทุกตำบลอย่างเข้มแข็ง น้องเอ๋ แก๊งค์นางฟ้าคนเล็กของพวกเรา สู้ทุกอย่างทั้งงานอาหารปลอดภัย งานช่วยเหลือสังคมและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำทะเบียนผู้ผลิตให้กับแม่ครัวที่โรงเรียน ประสานและจัดหาวัตถุดิบประกอบอาหารให้นักเรียนอย่างเพียงพอ ผู้ใหญ่กิจ สุขแสวง สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ประจำอำเภอจอมพระ     ด้วยที่ท่านได้ต่อสู้และขับเคลื่อนงานทางด้านอาหารปลอดภัยทั้งระดับอำเภอ และระดับตำบลไว้อย่างดี ทำให้มีการผลิตและส่งอาหารปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนตำบลอื่นๆ แม้ยังมีผลิตและส่งผลผลิตเข้าสู่โรงเรียนได้ไม่ต่อเนื่อง แต่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทุกคน ต่างมีความห่วงใย พยายามหาวิธีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ

          ความโดดเด่น ของการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย อำเภอจอมพระ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เกษตรกรสามารถผลิตอาหารปลอดภัยเข้าสู่โรงเรียนได้ต่อเนื่อง แต่ความโดดเด่น อยู่ที่ความเป็นทีม เป็นเครือข่าย พยายามประสานกับหน่วยงานราชการ จนเกิดการบูรณาการ การทำงานสอดคล้องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพียงความสำเร็จเล็ก ๆ แม้หลายคนต้องเสียสละ ไม่มีเวลาดูแลสวนของตัวเอง แต่เมื่อใดที่ได้เห็นภาพเกษตรส่งอาหารเข้าสู่โรงเรียน รู้ว่านักเรียนได้รับประทานอาหารปลอดภัย หัวใจของพวกเราคณะทำงานก็จะพองโต มีพลังและมีความสุขทุกครั้ง ถึงจะมีอุปสรรคและปัญหาบ้างบางครั้ง พวกเราเชื่อว่า เวลาและความปรารถนาดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะทำให้ทุกอย่างก้าวผ่านไปสู่ความสำเร็จดั่ง ที่เราตั้งใจ

 

เรื่อง : นพรัตน์  งางาม

ภาพ : ประภัสสุทธ