“แว้น” : โลก (ไม่) สวยช่วยสังคม การเติบโตของ ‘โก้ Ranger Rider’ เด็กแว้นที่เปลี่ยนเสียงบิดล้อเป็นการทำงานเพื่อสังคม
“...ผมรักในการขับรถมอเตอร์ไซด์ และชอบในการแต่งรถ ผมศึกษาหาข้อมูลจากเพื่อนๆ พี่ๆ เพื่อเอามาปรับแต่งรถของผมให้สวย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการแต่งท่อให้มีเสียงดัง ในกลุ่มเราจะรู้กันดีว่าร้านไหนที่มีอุปกรณ์ตกแต่งเหล่านี้และที่นั้นก็จะเป็นจุดรวมพลของพวกเรา...”
นี่คือเสียงของโก้ หนุ่มนักบิดวัย 20 ปี ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ในจังหวัดสุรินทร์ ถึงความในใจของเด็กแว้น อย่างพวกเขา
เมื่อกล่าวถึง “เด็กแว้น” หลายคนคงเบือนหน้าหนี และมองเหมารวมว่าเด็กเยาวชนเหล่านี้คือภาระของสังคม มิหนำซ้ำยังถูกตีตราว่ายุ่งเกี่ยวกับเรื่องไม่ดีอีกนานัปการ ทัศนคติดังกล่าวได้กลายเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เด็กเยาวชนนักบิดหลายคนถูกผลักให้เป็นเด็กชายขอบของสังคมคนดี แต่ในสายตาของวัยรุ่นแล้ว การได้บิดรถสวยๆ แรงๆ สักคันร่วมกับรุ่นพี่ หรือกลุ่มเพื่อนที่รักและชอบในสิ่งเดียวกันยังคงเป็นความใไฝ่ฝันที่พวกเขาเฝ้าไขว่คว้า และนั่นคือวิถีที่นำพาพวกเขาหลายคนให้เดินทางเข้าสู่ “โลกของเด็กแว้น” อย่างเต็มตัว
การประกาศใช้ ม. 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี พ.ศ.2558 ได้กำหนดโทษเพื่อแก้ปัญหาเด็กแว้นหนักขึ้น ไปจนถึงการเอาผิดต่อผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวดูจะใช้ได้ผลในระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆ และเด็กแว้นก็ยังคงมีอยู่ในทุกหย่อมหญ้าของสังคมไทย
เมื่อถามโก้ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นในความคิดของพวกเขาแล้วมันสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นจริงไหม คำตอบที่ได้คือ “ผมก็ยอมรับว่าบางทีเสียงรถก็ดังจนสร้างความรำคาญให้กับคนอื่นๆ แต่พวกเราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ใครเดือดร้อน แต่คนทั่วไปก็ยังมองว่าพวกเราสร้างปัญหาเหมือนเดิมและมิหนำซ้ำยังเหมารวมว่าพวกเราไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับพวกเราเลย...”
เดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 โก้และผองเพื่อนนักบิดกลุ่มหนึ่งได้ทราบข่าวเรื่องการเปิดรับข้อเสนอโครงการย่อยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านทาง NODE เด็กเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ พวกเขาได้รวมกลุ่มเพื่อนในนามกลุ่ม RANGER RIDER ที่มีเป้าหมายอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแว้น และสร้างมุมมองใหม่ต่อสังคมให้เห็นคุณค่าของพวกเขา ยอมรับสิ่งที่เขารักและชอบโดยการตั้งเป้าหมายว่าจะพาเพื่อนๆ กลุ่มแว้นออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและเด็กๆ ตามเขตชนบท และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘สองล้ออาสาพาน้องทำดี’ ที่พาผองเพื่อนเยาวชนนักบิดเดินทางไปทำประโยชน์ให้กับโรงเรียนทั้งพัฒนาห้องสมุด ทาสีรั้วโรงเรียนร่วมกับน้องๆ ในแถบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
กระทั่้งเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 รัฐบาลไทยประกาศ lockdown ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก สังคมได้รับผลกระทบเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า กลุ่ม RANGERRIDER ภายใต้การสนับสนุนของ NODE เด็กฯ ได้ระดมสมองภายใต้โจทย์ที่ว่า “ในสถานการณ์วิกฤติของสังคมนี้เราจะช่วยคนที่เดือดร้อนได้ยังไงบ้าง” จึงนำมาสู่การทำกิจกรรม ‘ปิ่นโตปันสุข’ ที่ระดมความช่วยเหลือส่งตรงไปถึงคนที่ยากลำบาก และกิจกรรมสวนปันสุข ที่เน้นให้เยาวชนได้ใช้พื้นที่ว่างๆ ข้างบ้านมาทำเป็นสวนผักเพื่อไว้กินในครอบครัวและแบ่งปันให้เพื่อนร่วมสังคม
พวกเขาได้ระดมสิ่งของบริจาคจากวัดหลายแห่ง และได้จัดส่งไปยังคนกลุ่มคนไร้บ้าน คนจนเมือง คนปั่นสามล้อ คนเก็บขยะ เขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของการมีชีวิตผ่านความยากลำบากและการสู้ชีวิตของคนอีกหลายคน พวกเขาได้เติมเต็มความรู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเองจากการเป็นผู้ให้ เขาได้เรียนรู้ว่าการลงมือทำเท่านั้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
แม้วันนี้เขาไม่อาจเปลี่ยนมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมให้มองเห็นคุณค่าของเด็กแว้นบางกลุ่ม และโลกของเด็กแว้นคงไม่ได้สวยงามอย่างที่เขาอยากให้เป็น แต่พวกเขารู้ดีว่าสองมือเล็กๆ ของพวกเขาสามารถเป็นพลังที่เปลี่ยนโลกของใครบางคนให้สวยงามขึ้นได้เช่นกัน
.
เรื่อง/ภาพ : มงคล ปัญญาประชุม