post-image

เครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตดี

“สาธารณสุขมูลฐาน มีเจตนาให้มีการขับเคลื่อนชุมชนโลกให้เร่งพัฒนิระบบบริการสุขภาพในแต่ละประเทศให้สามารถ ปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโลกทุกคน ได้อย่างเท่าเทียมบนฐานการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และความหมายของสุขภาพ มิใช่เพียงการไม่มีโรคแต่หมายถึง สภาวะความสุขสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม และการได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” (คำประกาศของอัลมา อัลตา, 1978)

 

            ประโยคข้างต้น เป็นบางส่วนจากสไลด์การบรรยายหัวข้อ “อนาคตงานปฐมภูมิกับโอกาสการดูแลสุขภาพจิตประชาชน” โดยนายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 โดยโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายพลเมืองสุขภาพจิตภายใต้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเมื่อวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

            การประชุมมีเป้าหมาย เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ให้เห็นความจำเป็นในการสร้างเครือข่ายพลเมืองที่มีสุขภาพจิตที่ดี เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและการบูรณาการเป้าหมายและกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างแนวคิดเพื่อปรับปรุงการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้ก็มาย้ำและสนับสนุนวิธีคิดของฉันมาก่อนหน้านี้ว่า การขับเคลื่อนงานใด จะเคลื่อนไม่ได้เลยหากขาดการดำเนินงานร่วมกัน ภายในงาน มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำเสนอผลการดำเนินงานในห้องย่อย นิทรรศการและการบรรยายพิเศษ

            แต่มีโครงการหนึ่งที่ดึงความสนใจของฉันเป็นอย่างมาก คือ การนำเสนอผลการดำเนินงาน เรื่อง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) 5 เสือ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช และ SMIV (ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง) โดยเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อเห็นชื่อพื้นที่ ก็นึกได้ในทันทีเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่นั้น และความรู้สึกยังคงชัดเจน เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน กับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อเดือน ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประมาณ 60-70 กิโลเมตร หลังจากทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น จึงชวนลูกศิษย์ที่เป็นคนในพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้านเผื่อว่าความสามารถในการเป็นผู้รับฟังของเราจะพอช่วยใครได้ ลงไปในนามประชาชนคนหนึ่ง เมื่อลงไปในพื้นที่ ก็ได้เห็นหน่วยงานของภาครัฐ ร่วมกันจัดตั้งสถานที่ที่ อบต.อุทัยสวรรค์ เพื่อเซ็ตเป็นศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว เป็นการระดมกำลังที่มีอย่างหลากหลาย และในการรวมตัวช่วงแรกคือ ใครช่วยอะไรได้มาก่อน อะไรทำนองนี้

            หลังจากเกิดเหตุการณ์ ภายในบริเวณหมู่บ้านดูเงียบเหงา ขับรถวนโดยรอบไม่เห็นผู้คน  ทราบต่อมาว่า คนเกือบทั้งหมู่บ้าน ไปรวมตัวกันที่ศาลาวัดที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านของตนเพื่อให้กำลังใจผู้สูญเสีย มีวัดที่รับหน้าที่ในการจัดงานศพอยู่ 3 ศาลาวัด ภายในบริเวณวัดมีผู้คนอย่างล้นหลาม และทราบต่อมาว่า ตั้งแต่เกิดเหตุยังไม่มีญาติผู้ตาย ได้เห็นหน้าของลูก หลานของตนในร่างไร้วิญญาณ วันนี้จึงเป็นวันที่พวกเขารอได้รับลูก หลานของตนเองเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป รถจากโรงพยาบาลเริ่มเคลื่อนมาที่ศาลาวัด มีพิธีกรประกาศขอให้ผู้ที่อยู่บนศาลาเป็นเพียงญาติของผู้ตายเท่านั้น นอกนั้นขอให้ลงจากศาลาไปก่อน หลังจากนั้นจึงให้ญาติผู้ตายได้เห็นหน้าของคนรักในร่างไร้วิญญาณ ฉันอยู่ด้านล่างศาลา และไม่รู้ว่าบนศาลาดำเนินการอย่างไร พบเพียงว่า มีเสียงกรีดร้องอย่างโหยหวน พร้อมมีคนหามคนเป็นลมลงมา ทีละคน ๆ เมื่อเสียงร้องสิ้นสุด จะมีคนเป็นลม ภายในด้านล่างศาลา จึงได้ขอความร่วมมือคนทั่ว ๆ ไป ออกจากพื้นที่อีก เพื่อให้คนที่เป็นลมจากบนศาลา ได้ถูกปฐมพยาบาลจาก อสม. และหน่วยงานด้านสาธารณสุข  

            ในวันถัดมา ฉันจึงมุ่งตรงไปที่ศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราว พยายามเข้าไปเพื่อประสานงานกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ก็พบว่าทางศูนย์ฯ ก็ระดมเจ้าหน้าที่เกือบทั้งภาคอีสานลงมาที่นี่ เพื่อรองรับการช่วยเหลือสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย กวาดสายตารอบ ๆ ศูนย์นี้ ก็พบหน่วยงานจากหลายภาคส่วนไม่ใช่แค่เพียงศูนย์สุขภาพจิตอย่างเดียว แม้วันนั้นจะไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นหน่วยงานใดบ้าง แต่จากการรายงานผลการดำเนินงาน เรื่อง พชอ. 5 เสือ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและ SMIV ในงานประชุมครั้งนี้ ช่วยทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้การดำเนินการช่วยเหลือในช่วงแรก เป็นการระดมเข้ามาก่อน ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วย แต่หลังจากนั้น ทางพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีก และพบว่าผู้ก่อเหตุมีประวัติเป็นผู้ป่วยจิตเวช เคยรับการรักษามาก่อน เมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัว จึงขาดการรักษาต่อเนื่อง ขาดยา ปฏิเสธการเจ็บป่วย หรือใช้สารเสพติดร่วมด้วยทำให้อาการกำเริบและก่อนความรุนแรง จึงเกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ตำบล และระดับหมู่บ้าน คือการใช้กลยุทธ์ 5 เสือในการขับเคลื่อน

            ซึ่งงานสุขภาพจิต ผ่านบทบาท  5 เสือ คือการนำทีม 5 เสือ มาวางกลไกร่วมกัน ในการช่วยเหลือ ตามบทบาทของตน เช่น 1) ตำรวจก็จะใช้การบังคับใช้กฎหมาย ร่วมดำเนินการค้นหา นำส่ง และติดตาม ส่วน 2) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ การดูแลคุณภาพชีวิต ค้นหาติดตามร่วมกับทีม 3 ) สาธารณสุขก็จะมีบทบาทการตั้งรับ ดูแล รักษา ติดตามและที่สำคัญบทบาทการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเวช และผู้เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง 4) ปกครองก็จะจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟู และดำเนินการร่วมกัน กับตำรวจในการค้นหาทำการ เอ็กซเรย์ผู้ป่วยจิตเวชทุกหมู่บ้าน และ 5) อาสาสมัครประจำหมู่บ้านจะดำเนินการร่วมกับทุกขั้นตอน

            การดำเนินงานให้ผลลัพธ์ที่ว่าคณะการดำเนินงาน พชอ. 5 เสือ ก็จะมีทัศนคติที่เหมาะสมเข้าใจผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น ซึ่งคนทำงานจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีที่เหมาะสมและการทำงานก็จะเห็นแผนการดูแลร่วมกันที่ชัดเจนมากขึ้น การดำเนินงานต้องทำร่วมกับชุมชนของผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ก็จะทำให้ชุมชนได้มีโอกาสได้ดูแลกันและกัน โดยการดำเนินงานพูดถึงความสำเร็จ คือ การมีเป้าหมายร่วมกันของ 5 เสือ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เพราะการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต้องอาศัยการร่วมมือกัน ผลการดำเนินงาน ให้ข้อมูลว่า การทำงานภายใต้มิตินี้หรือการทำงานในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชนี้ ต้องอาศัยการวางแผนที่ชัดเจนในทั้ง 5 บทบาทที่มีความเกี่ยวข้องการดูแลหลังจากกลับจากโรงพยาบาล การดูแลให้กำลังใจ ให้โอกาส ในหมู่บ้าน ในชุมชน ดูแลปัจจัย 4 หาแหล่งงานให้ทำทั้งภาคีเครือข่ายทั้ง พชอ. 5 เสือ และเครือข่ายภายนอก ที่นอกจากเกิดขึ้นตรงนี้แล้ว อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะเรื่องการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากสารเสพติด เรื่องของการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ที่จะเป็นรั้วให้เกิดการป้องกันยาเสพติด เพราะเชื่อว่าการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจะเป็นเกราะที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าไปยุ่งกับสารเสพติด และหากไม่เข้าไปยุ่งกับสารเสพติดก็จะไม่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

            “ฉันเห็นด้วย เราไม่สามารถแก้ปัญหาใดได้ในความเป็นปัจเจกและการป้องกันปัญหาจากต้นน้ำ ก็คือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวและภายในชุมชน การยอมรับผู้ป่วยจิตเวช ไม่ตีตรา ไม่มองว่าเป็นคนเลวร้าย” ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์ ไม่บานปลายไปสู่สถานการณ์ใช้ความรุนแรง และไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ ความยากจน เงินเฟ้อ การหาเลี้ยงชีพ ความทุกข์ใจกับหนี้สิน เหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นสิ่งที่เกิดขึ้นและหากการทำงานสุขภาพจิตยังคงทำงานในเชิงป้องกันดังรูปแบบที่เคยทำมา รองรับเมื่อเจอกลุ่มคนที่มีปัญหา อาจต้องปรับมาทำงานเชิงรุกหรือจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            การสูญเสียในสถานการณ์ดังกล่าว ประเมินค่าไม่ได้ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ทำให้เรา ยอมรับอย่างสุดหัวใจว่า ปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่ความรับผิดชอบของกรมสุขภาพจิต หรือของใครเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานอื่นๆ ร่วมด้วย และแก้ไขปัญหาสังคม ควรเป็นแนวทางที่ครอบคลุมหลายมิติทั้งด้านสุขภาพจิต สุขภาพและสวัสดิการ สุขภาพจิตถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับความสุขเบื้องต้นของเรา ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวในข้างต้นเรื่องเล่าว่า  “การได้รับการดูแลให้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์” คำประกาศของอัลมา อัลตา ปี ค.ศ.1978

 

 

เรื่อง/เรียบเรียง : มัทนียา กายแก้ว