post-image

ต้นไม้สมรรถนะ: รากฝัน ปลายทางเปลี่ยนแปลง

เครื่องมือ “ต้นไม้สมรรถนะ” คือแนวทางใหม่ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่ม “แว๊นซิ่งจิตอาสา” ใน จ.สกลนคร ผ่านกิจกรรมจิตอาสาที่เยาวชนมีส่วนร่วมคิดและทำ ทำให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ทัศนคติ และเห็นคุณค่าในตนเอง เครื่องมือนี้ช่วยให้เยาวชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีเป้าหมายชีวิต และเป็นที่ยอมรับของครอบครัวและชุมชน จนสามารถขยายผลสู่กลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และกลายเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเยาวชนให้เขาเติบโต เปลี่ยนแปลงตัวเอง เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมให้งดงามยิ่งขึ้น

 

ในกลุ่มของวิทยากรกระบวนการ นักจัดกระบวนการเรียนรู้หรือนักพัฒนา หลายคนจะมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการออกแบบกระบวนเรียนรู้ การทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะรู้จักเครื่องมือที่ใช้กันอยู่บ่อยครั้ง เช่น ต้นไม้ปัญหา บันไดผลลัพธ์ ผังก้างปลา ผังใยแมงมุม ฯลฯ เพื่อใช้ในการออกแบบโจทย์ในการขับเคลื่อนประเด็น หรือพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้สามารถดำเนินการตามกรอบ ทิศทางวัตถุประสงค์ รวมถึงการประเมินเสริมพลัง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของจากแผนงาน โครงการหรือเป้าประสงค์ขององค์กรที่กำหนดไว้

สำหรับ “ต้นไม้สมรรถนะ” เป็นชื่อเครื่องมืออีกชื่อที่ไม่คุ้นหูในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบัน แต่สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว โดยโครงการ “ฮักบ้านเกิด ความสุขอยู่ที่บ้านเรา” ได้พัฒนาเครื่องมือนี้เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผล ซึ่งมีการปรับองค์กระกอบของเงื่อนไขโจทย์ให้ได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของบุคคล โดยเฉพาะแกนนำเด็กและเยาวชน และพี่เลี้ยงของกลุ่มเยาวชน ในการติดตามหนุนเสริมในจุดที่จะต้องพัฒนาและยกระดับในแต่ละขั้นเพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถเผยแพร่ขยายผลบทเรียนที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

ในระยะเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2560 ศูนย์ฯ ได้ใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “แว๊นซิ่งจิตอาสา” ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษากว่า 80% แน่นอนว่า พอพูดถึงกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้คนในชุมชนจะรู้จักกันดีหรือให้คำนิยามที่สื่อไปทางที่ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สร้างสรรค์ แต่เมื่อทางศูนย์ฯ ได้มีโอกาสรู้จักและเข้าไปชักชวนน้อง ๆ เยาวชนกลุ่มนี้มาร่วมทำกิจกรรมเล็ก ๆ 1-2 ครั้ง เช่น ไปมอบของบริจาคให้ครอบครัวยากจนหรือไปทาสีให้กับโรงเรียน หลังจากนั้นจึงชวนน้อง ๆ สรุปกิจกรรมและทราบว่ามีความสนใจอยากร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อเนื่อง
ทางศูนย์ฯ จึงได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพโดยใช้กิจกรรมทาสีโรงเรียนและพัฒนาบ้านเรือนของคนในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจนเพิ่มเติม แต่เพิ่มโจทย์ให้น้อง ๆ เป็นคนคิดและเลือกว่าบ้านเรือนหรือครอบครัวที่ทางกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้เห็นว่า “ควรที่จะพัฒนา” ไม่ว่าจะซ่อมตัวบ้าน ปรับปรุงบ้าน ฯลฯ และกลับมาสรุปงานสิ่งที่ระดมในมุมมองที่ได้จากน้อง ๆ แกนนำเยาวชน ทำให้ศูนย์ฯ ได้เข้าใจและรับรู้สถานการณ์ของชุมชนมากขึ้น โดยน้อง ๆ ทำให้เห็นวิถีปฏิบัติระหว่างกันของคนในชุมชน เช่น บางครอบครัวเป็นครอบครัวที่ช่วยเหลืองานของหมู่บ้าน หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดีเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนหรือเป็นคนที่คนในชุมชนเห็นว่าเป็นคนมีน้ำใจ มีความขยัน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วมาจากเงื่อนไขหรือโจทย์ที่ให้เยาวชนได้แสดงความเห็น ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจากจากประสบการณ์ตรงที่เยาวชนในฐานะลูกหลานคนในหมู่บ้าน รับรู้ เห็นและมีความรู้สึกร่วมจากสิ่งที่เกิดขึ้น โดยในระหว่างนี้เครื่องมือต้นไม้สมรรถนะจะมีองค์ประกอบและหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์ในเชิงพฤติกรรม รวมถึงความรู้ ทัศคติ มุมมอง ของแกนนำแต่ละคนซึ่งคณะทำงานจะทำหน้าที่ในการสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลรายบุคคล เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทั้งในตัวเยาวชนและกลุ่มเยาวชนในการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆที่มีความต่อเนื่อง รวมถึงสิ่งที่จะเห็นเพิ่มเติมคือ คุณค่าที่เกิดขึ้นจากตัวน้อง ๆ เยาวชน จนสามารถเห็นโอกาสการเปลี่ยนแปลงของน้องๆเยาวชน และส่งผลไปยังครอบครัว และชุมชนของน้อง ๆ แกนนำเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจน เช่น การสื่อสารที่สามารถชักชวนเยาวชนในชุมชนมาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น ทัศนคติของคนในครอบครัวหรือในหมู่บ้านยอมรับบทบาทและเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านร่วมกับผู้นำชุมชน คนในครอบครัวชื่นชมยินดีและเชื่อมั่นในลูกหลานของตนเองจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญคือตัวน้อง ๆ แกนนำเยาวชนได้เห็นคุณค่าในตนเองจากความสามารถและทักษะที่มีสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับโรงเรียนหรือคนในชุมชนได้มีความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนกลุ่มอื่น ๆ เชื่อมั่นในตนเองที่เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ และมีทัศนคติที่เชื่อว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตนเอง ทั้งจากเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การมีส่วนร่วมในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปมากกว่านั้น คือ การมีเป้าหมายในชีวิต ตามความฝันของแต่ละคน

กลุ่ม “แว๊นซิ่งจิตอาสา” เป็นกลุ่มแรกที่ทางศูนย์ฯเห็นว่า ต้นไม้สมรรถนะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้ขององค์กร และยังสามารถเป็นกระจกให้น้อง ๆ ได้ทบทวนตนเอง เข้าใจ เชื่อมั่นในตนเองและมีแรงบันดาลใจในตนเอง โดยหลังจากที่น้องเข้าร่วมทำกิจกรรมมาจนถึง ปี 2562 น้อง ๆ กลุ่มนี้ได้เดินตามความฝันมาตั้งแต่นั้น จนถึงปัจจุบันที่น้องได้มีร้านซ่อมรถเป็นของตนเอง เก็บเงินสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ได้สำเร็จ มีรถเป็นของตนเอง ไปทำงานต่างประเทศและความสำเร็จที่งดงามคือ น้อง ๆ กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดไม่มีใครกลับมาข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมความรุนแรงในสังคม ทั้งความคึกคะนองสารเสพติด ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนในชุมชนปัจจุบันก็มีเพียงเล็กน้อย ทีเกิดจากเยาวชนและกลุ่มคนอายุรุ่นเดียวกันกับกลุ่ม “แว๊นซิ่งจิตอาสา”

ปัจจุบัน แม้ว่ากลุ่มเยาวชนแว๊นซิ่งจิตอาสาไม่มีแล้ว เพราะหลังจากรุ่นนั้นไปทุก ๆ คนล้วนไปเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามเป้าหมายชีวิต แต่ได้ทิ้งร่องรอยแนวทางที่ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาวได้พัฒนาเครื่องมือนี้และมาปรับใช้ในการออกแบบการเรียนรู้และติดตามเสริมพลังแกนนำกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นต้นไม้สมรรถนะไม่เป็นเพียงแค่เครื่องมือการทำงาน ด้านการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาสมรรถนะเด็กและเยาวชนได้เติบโตตามช่วงวัยที่มีคุณภาพและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมอย่างสร้างสรรค์

 

 

 

เรื่อง/เรียบเรียง : ธนภัทร แสงหิรัญ