post-image

สุขทุกเช้า...ยามนึ่งข้าว

“ข้าวเหนียว” นับเป็นอาหารหลักสำคัญทั้ง 3 มื้อของคนอีสาน คนอีสานจะนึ่งข้าวเหนียววันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้ามืดกับช่วงเย็น หลังแช่ข้าวสารไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง คนอีสานเรียก “การหม่าข้าว” จากนั้นจะนำข้าวที่แช่ใส่มวย (บางพื้นที่เรียก หวดนึ่งข้าว) ซึ่งเป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ไว้สำหรับนึ่งข้าวเหนียว แล้วนำไปวางบนหม้อนึ่งที่ใส่น้ำพอประมาณ ปิดฝามวยทิ้งไว้ให้น้ำเดือด ไอน้ำร้อนผ่านเม็ดข้าวใช้เวลาประมาณ 20–30 นาที ข้าวเหนียวจะสุกพอดี แล้วนำมาใส่กระติบข้าวไว้รับประทานมื้อเช้าและกลางวัน

            “คุณตา ๆ ในแต่ละสัปดาห์ตาได้ออกกำลังกายไหมคะ” ... “ไม่ครับ สานกระติบข้าวถือเป็นการออกกำลังกายแล้ว” จากคำบอกเล่าดังกล่าว ทำให้รู้ว่าผู้สูงอายุมีความเชื่อและความไม่เข้าใจระหว่าง กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ผู้เขียนเองอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง เพื่อนบ้านก็มีแต่ผู้สูงอายุ แล้วเจ็บป่วยขึ้นมา ใครจะดูแลและคอยช่วยเหลือได้ทันท่วงที ดังนั้นผู้สูงอายุควรรู้จักดูแลตนเอง อย่างน้อยให้ดูแลตนเองในการปฏิบัติพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายคงสภาพไว้ให้นานที่สุด ไม่เจ็บป่วยหรือเมื่อเจ็บป่วยจะไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น โจทย์ของผู้เขียน คือ จะทำอย่างไรดีล่ะ

            ภาพอันคุ้นตาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมในผู้สูงอายุภาคอีสาน บ้านเสาเล้าน้อยก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนมองไปในหมู่บ้านจะเห็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ตื่นมานึ่งข้าวแต่เช้า ช่วงรอข้าวสุกบางคนก็เก็บขยะหน้าบ้าน นั่งบนแคร่ข้างบ้านคุยกับเพื่อน เคี้ยวหมาก หัวเราะต่อกระซิก กิจกรรมระหว่างรอข้าวสุกหลากหลายแตกต่างกันไป ในขณะที่คนหนุ่มสาวเตรียมตัวออกไปทำงานในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ วัยทำงานก็จะไปทำนา ทำสวน ทำไร่ คงเหลือไว้แต่ผู้สูงอายุที่อยู่เฝ้าบ้าน

            ผู้เขียนได้พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ กับผู้สูงอายุหมู่บ้านแห่งนี้ รวมถึงมุมมองด้านการออกกำลังกาย “คุณยาย ในแต่ละสัปดาห์มีการออกกำลังกายไหมคะ” ... “โอ้ย ยายก็ออกทุกวันละคะ เลี้ยงหลาน กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำอาหารก็ถือว่าออกกำลังกายแล้ว”

            สถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากรทั่วโลกในปัจจุบัน พบว่า เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) โดยมีผู้สูงอายุร้อยละ 13 ของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จวบจนถึงปี พ.ศ. 2565 ในระยะเวลาเพียง 17 ปี ประชากรสูงอายุไทยสูงถึงร้อยละ 20 นั่นคือ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยพบว่า ภาคเหนือสูงสุด ร้อยละ 25.2 รองลงมา คือ ภาคอีสาน มีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ 22.5 และจังหวัดนครพนม ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยมีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 15.24 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องของผู้เขียน พบว่ามีผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลโพนสวรรค์ จำนวนมากขาดผู้ดูแล เนื่องจากลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัด ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งยังขาดการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์  สอดคล้องรายงานผลการสำรวจข้อมูลจังหวัดนครพนมพบปัญหา ด้านกิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกาย รองลงมา คือ การกินผักผลไม้

            ผู้เขียนปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ปฏิบัติงานการพยาบาลชุมชน ดูแล 15 หมู่บ้านในเขตตำบลโพนสวรรค์ จุดเริ่มต้นของกิจกรรมการนึ่งข้าวเหนียวกับการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ผู้เขียนได้มีโอกาสเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนเพื่อดำเนินการในระดับหมู่บ้าน จากมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นหน่วยจัดการ (Node Flagship) ที่ได้รับทุนจาก สสส. สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) ในจังหวัดนครพนม มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตำบลโพนสวรรค์เลือกบ้านเสาเล้าน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลโพนสวรรค์ เป็นหมู่บ้านนำร่อง เนื่องจากหมู่บ้านนี้มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้สูงอายุติดสังคมมากกว่าหมู่อื่น ๆ จำนวนกว่า 50 คน การดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี ผู้เขียนคาดหวังจะนำผลลัพธ์รูปธรรมจากการดำเนินการที่ได้ขยายผลต่อยอดไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นและพื้นที่อีก14 หมู่บ้านได้ดำเนินกิจกรรมให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุบ้านเสาเล้าน้อยจากจำนวนประชากรทั้งหมด 533 คน พบว่า มีผู้สูงอายุทั้งหมดจำนวน 58 คน เป็นเพศชาย 24 คน เพศหญิง 34 คน คิดเป็นร้อยละ 10.88 ของประชากรหมู่บ้านทั้งหมด แบ่งเป็นสูงอายุติดเตียง จำนวน 1 คน ผู้สูงอายุติดบ้าน จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 12.06 ผู้สูงอายุติดสังคม จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 86.20 และมีผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเบาหวานและความดันโลหิต จำนวน 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.55 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มติดสังคม 50 ราย ก่อนดำเนินโครงการ พบว่า มีการออกกำลังกาย 3-5 วันต่อสัปดาห์อย่างน้อย 15-30 นาที หรือมีกิจกรรมทางกายในผู้สูงอายุ ร้อยละ 60 มีการบริโภคน้ำดื่มอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ร้อยละ 86 มีการกินผักผลไม้ปลอดสารพิษ (400 กรัมต่อวัน) ร้อยละ 66 มีพฤติกรรม ลด ละ เลิกบุหรี่/ยาเส้น ร้อยละ 72 และมีพฤติกรรม ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 84

            จากข้อมูลดังกล่าวคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้ดูแลผู้สูงอายุ คณะกรรมการหมู่บ้าน มีทีมที่ปรึกษา คือ  นายกเทศมนตรีตำบลโพนสวรรค์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม และทีมบุคลากรโรงพยาบาลโพนสวรรค์ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ข้อมูลรายด้านและรายบุคคล ทำให้เห็นถึงสาเหตุและปัญหาในการส่งเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ทั้ง 5 ด้านของผู้สูงอายุ เห็นมุมมองในการดำรงชีวิต วิถีชีวิตและข้อจำกัดของผู้สูงอายุแต่ละบุคคลและคิดค้นนวัตกรรมทางสังคมที่สอดคล้องวิถีชีวิตของชุมชน ลดภาระครอบครัวในการดูแลเมื่อมีการเจ็บป่วยและโรคแทรกก่อนวัยอันควรและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนส่งเสริมสมาชิกในครัวเรือนให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

            การดำเนินกิจกรรมรูปธรรมนี้มีเป้าหมาย คือ เพื่อสร้างทีมและพัฒนาคณะกรรมการหมู่บ้านในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับหมู่บ้านให้มีศักยภาพในดูแลกันเอง เสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุให้มีความรู้และทักษะในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ทั้ง 5 ด้าน และสร้างนวัตกรรมในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ

            ดำเนินการอย่างไร ... เมื่อมีสถานที่และแผนงานที่กำหนดเป้าหมายชัดเจน ในกระบวนการสร้างทีมได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีการประชุมชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการโดยผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่ จากนั้นทำการคัดเลือกคณะทำงานโครงการ โดยมีที่ปรึกษา 2 ท่าน คณะกรรมการหมู่บ้าน 20 ท่าน ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้บริหารจัดการโครงการ 1 ท่าน ทีมพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 3 ท่าน นักวิชาการสาธารณสุขที่คอยช่วยเหลือ 1 ท่าน นักวิทยาศาสตร์การกีฬา 1 ท่าน และแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะทำงาน จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ระบุบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน โดยมีการวางแผนประชุมเดือนละ 1 ครั้ง กรณีที่มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนจะมีไลน์กลุ่มหรือสามารถโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกันโดยตรง และคณะทำงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ 5 ด้านของผู้สูงอายุ

          ขั้นตอนดำเนินการ ... ประกอบด้วย 1) แบ่งผู้สูงอายุตามคุ้มที่ทีมรับผิดชอบ 5 คุ้ม คุ้มละ 10 คน รวมจำนวน 50 คน 2) ประชุมคณะกรรมการ/อสม. ที่จะออกเก็บข้อมูลในการใช้แบบสอบถามให้เข้าใจตรงกันในพฤติกรรมทั้ง 5 ด้าน 3) ดำเนินการสำรวจข้อมูลตามคุ้มที่รับผิดชอบและส่งเอกสารกับผู้ตรวจสอบ คือ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม และส่งต่อให้กับพยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุขช่วยลงข้อมูล 4) สรุปข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อให้ทีมทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหาและวางแผนแก้ไขร่วมกัน

            ด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้ มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ จัดอบรมให้ความรู้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ โดยมีการอบรมผู้สูงอายุและผู้ดูแลภายใต้แนวคิด “สังคมผู้สูงอายุจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร” ในการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ การให้ความรู้เรื่องโรคของผู้สูงอายุ การทำอาหารให้ผู้สูงอายุ ลด มัน เค็ม อาหารอ่อน ย่อยง่าย ทานไข่ ปลา ไก่  สอนญาติในการออกกำลังกายในผู้สูงอายุโดยใช้ผ้าขาวม้า ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นคนสอน ส่งเสริมการดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน ส่งเสริมการรับประทานผักผลไม้ปลอดสารพิษให้ครบ 400 กรัมต่อวัน ให้ความรู้โทษและพิษภัยของบุหรี่ โทษของการดื่มสุราและร่วมออกแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลผู้สูงอายุในพฤติกรรม 5 ด้าน พบว่า ด้านที่ต้องจัดการ คือ เรื่องของการออกกำลังกาย เพราะผู้สูงอายุออกกำลังกายน้อยมาก การงดบุหรี่ค่อนข้างยาก เพราะผู้สูงอายุสูบจนติดมายาวนาน การงดดื่มสุรา เริ่มดื่มน้อยลง เป็นต้น จากนั้นมีการจัดเวทีประชาคมเพื่อคืนข้อมูลและออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ ข้อเสนอที่นำมาสู่การดำเนินการ คือ จัดให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านทุกเย็น วันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยมี อสม. เป็นแกนนำออกกำลังกาย แต่ผู้สูงอายุกลับปฏิเสธ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องหุงข้าว ทำอาหาร ไว้รอลูก หลาน ที่กลับมาจากทำงานและโรงเรียน บางคนต้องไปรับหลาน บางคนมีกิจกรรมต้องทำสวน รดผัก รดต้นไม้ บางคนบ้านไกลเดินมาไม่ได้และไม่มีลูกหลานมาส่ง จึงได้มีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรจากปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดนำสู่นวัตกรรมการออกแบบการออกกำลังกายยามนึ่งข้าวหมู่บ้านต้นแบบ บ้านเสาเล้าน้อย หมู่ที่ 3 ตำบลโพนสวรรค์ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยในแต่ละวันผู้สูงอายุจะมีกิจกรรมนึ่งข้าวทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยระยะเวลาในการนึ่งข้าวจะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที จึงมีการวางแผนร่วมกันในการออกแบบการออกกำลังกาย โดยช่วงเช้าจะให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์หอกระจายข่าวในการเชิญชวนออกกำลังกายช่วงผู้สูงอายุนึ่งข้าว และช่วงที่รอข้าวเหนียวสุกจะมีการออกกำลังกายโดยใช้ผ้าขาวม้า ทำที่บ้านของตนเอง ไม่ต้องมีชุดออกกำลังกาย สามารถใส่ผ้าถุง เสื้อคอกระเช้าง่ายๆ (ตามท่าออกกำลังกายโดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุสามารถปรับใช้กับภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุเองได้ เช่น ถ้ามีปัญหาการเจ็บเข่า ปวดเอวก็จะมีท่านั่งที่ใช้นั่งออกกำลังกายบนเก้าอี้ได้ พอข้าวสุกจึงหยุดออกกำลังกาย รวมเวลาการออกกำลังกายต่อเนื่อง 20 - 30 นาทีพอดี ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะออกกำลังกายทั้งเช้าและเย็นโดยใช้เวลาช่วงนึ่งข้าวเหนียว ซึ่งจากการออกแบบกิจกรรมนี้ทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายมากขึ้น และสนุก บางครั้งมีเพื่อนใกล้ ๆ บ้านก็จะมาทำร่วมกัน หลังการดำเนินโครงการผู้สูงอายุมีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 92 และผู้สูงอายุสามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องได้แม้จะสิ้นสุดโครงการแล้ว เนื่องจากเป็นวิถีตามบริบทของชาวอีสานในช่วงนึ่งข้าวเหนียวอยู่แล้ว (ระยะเวลาโครงการ กรกฎาคม 2565 – เมษายน 2566 รวมระยะเวลา 10 เดือน ) 

            ผลดำเนินงานเป็นอย่างไร ... คณะทำงานติดตามผลการเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุ มีการออกแบบการสังเกตการณ์การออกกำลังกายยามนึ่งข้าวโดยคณะกรรมการประเมินแบบไขว้เป็นคุ้ม ในทุก 2 เดือน ทั้งหมด 4 ครั้ง รวมทั้งพฤติกรรมอีกทั้ง 5 ด้านร่วมด้วย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ หลังการประเมินคณะทำงานได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมคืนข้อมูลให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ มีการยกย่องเชิดชูครัวเรือนและผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการเสริมสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย มีกิจกรรมผูกแขนผู้สูงอายุทุกคน มีพิธีอย่างเป็นทางการและพิธีพราหมณ์เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ ตั้งมั่นในการทำพันธะสัญญาในการทำกิจกรรมต่อไป หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ และมีพิธีมอบใบประกาศให้บุคคลต้นแบบ 8 ท่าน โดยกรรมการเป็นคนเลือกเองตามคุ้มจากการออกไปสังเกตการณ์ มีต้นแบบด้านการออกกำลังกายยามนึ่งข้าว ขยายต่อยอดสู่ต้นแบบการปลูกพืชผักปลอดสารพิษโดยใช้เกษตรอินทรีย์ การหมักพืชผักผลไม้ ต้นแบบการลดบุหรี่ จาก 20 มวน เหลือ 2-3 มวน และเป้าหมายเลิกบุหรี่ ต้นแบบการละเลิกแอลกอฮอล์ และกล่าวปิดโครงการซึ่งผลผลิตและผลลัพธ์ดังตารางแนบท้ายนี้

            เมื่อถามถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ ผู้เขียนพอสรุปจากสถานการณ์จริง คือ (1) ภาวะผู้นำ ผู้รับผิดชอบโครงการและคณะกรรมการ ผู้ใหญ่บ้านที่คอยช่วยเหลือทุกอย่างของโครงการ นอกจากมีความรู้ความเข้าใจโครงการ เข้าใจเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์โครงการ บันไดผลลัพธ์แล้ว ต้องเป็นผู้ที่สามารถกระตุ้นให้โครงการมีความต่อเนื่องด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างแรงจูงใจให้ทีมงาน โดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นจะต้องเข้ามาร่วมรับทราบข้อมูลและเห็นความสำคัญของปัญหา (2) จิตอาสาและความมุ่งมั่น กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการและผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องมีความสนใจเข้าร่วมโครงการจากการประชาสัมพันธ์และรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการ และสามารถถ่ายทอดต่อให้เพื่อนผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ได้ (3) การทำงานเป็นทีม คณะกรรมการ/คณะทำงานมีความเข้มแข็งและร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงาน เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชน กระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แวะเวียน ชื่นชมให้กำลังใจ และ (4) สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพื้นที่ มีนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุได้โดยการวางแผนออกแบบร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ ผู้บริหารโครงการ อสม. ผู้สูงอายุและทีมงานทุกคน

            ในมุมมองของผู้เขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้และน่าจะเป็นแนวทางในการทำกิจกรรมในพื้นที่ต้นแบบแห่งนี้สามารถนำไปปรับใช้ในกิจกรรมอื่นหรือพื้นที่ดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป ได้แก่ คณะทำงานต้องเป็นผู้มีจิตอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม มีความพร้อมพัฒนาตนเอง ด้านการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การดำเนินงานต้องแบ่งงานอย่างชัดเจน ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงต้องกล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และที่สำคัญท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่นำไปใช้ต้องแนะนำผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องปวดเข่า จะต้องมีท่าที่เหมาะสม เช่น ท่านั่งออกกำลังกาย ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น ห้ามฝืนในการทำท่าที่จะก่ออุบัติเหตุ ซึ่งการออกแบบท่าออกกำลังกายโดยใช้ผ้าขาวม้ามีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ

ความภาคภูมิใจ ตัวแทนคณะทำงาน

                        ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นวิทยากรเสวนาที่มหาวิทยาลัยนครพนม 2 ครั้ง คือ ตอนเริ่มทำนวัตกรรมและหลังใช้นวัตกรรม เพื่อไปนำเสนอแนวคิด กระบวนการ การใช้นวัตกรรมและผลลัพธ์ ให้กับ 16 โครงการในประเด็นผู้สูงอายุที่ได้รับทุน และหลังสิ้นสุดโครงการเพื่อจะนำไปเป็นแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครพนม และได้รับเชิญให้ร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมยามนึ่งข้าว เวทีประชุมโรงพยาบาลโพนสวรรค์ มีการแสดงโชว์ในงานเปิดคลินิกผู้สูงอายุที่โรงพยาบาลโพนสวรรค์ภาพอำเภอโพนสวรรค์เพื่อเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการการสรุปผลลัพธ์และบทเรียนการดำเนินงานผู้สูงอาย ณ มหาวิทยาลัยนครพนม รวมทั้งมีการถ่ายทำนวัตกรรมผู้สูงอายุออกกำลังกายยามนึ่งข้าว เพื่อเผยแพร่ต่อสังคมสาธารณะด้วย

 

เรื่อง/เรียบเรียง : พัชราพร ควรรณสุ