post-image

มาตรฐานอาหารปลอดภัย มาตรฐานใจของคนไทเลย

คณะกรรมการรับรองมาตรฐาน LSF

            การที่ผู้ผลิต ผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่าย จะได้ตราสัญลักษณ์เพื่อเป็นการรับรองว่า “ผลผลิตมีความปลอดภัย” นั้น นอกจากจะต้องเคร่งครัดในกระบวนการผลิตแล้ว ยังจะต้องผ่านการตรวจแปลง ตรวจร้านและตรวจสถานที่แปรรูปตามเงื่อนไข ระเบียบและข้อตกลงที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน  ภายใต้ค่านิยมร่วม “เพื่อนปลูก เพื่อนปรุง ให้เพื่อนเปิบ” โดยคณะกรรมการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย ซึ่งมีองค์ประกอบมากจากผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 3 คนผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 2 คน ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เปิดทำการสอนด้านอาหาร จำนวน 2 คน ผู้แทนผู้ปลูก จำนวน 5 คน ผู้แทนผู้แปรรูป จำนวน 5 คน และผู้แทนผู้บริโภค จำนวน 5 คน โดยมีผู้แทนจากคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

          กระบวนการรับรอง

            จากค่านิยมร่วมที่ว่า “เพื่อนปลูก เพื่อนปรุง ให้เพื่อนเปิบ” ซึ่งสะท้อนถึง “มิตรภาพ คุณภาพและคุณธรรม” ระหว่างผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค ให้ยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน โดยมีตราสัญลักษณ์ “มาตรฐาน LSF” แสดงต่อสังคมและสาธารณะอย่างเปิดเผย

            ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาระดับคุณภาพการผลิต การปรุง การแปรรูปและการจัดจำหน่าย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน LSF ที่กำหนด ผู้เกี่ยวข้องกับระบบอาหารปลอดภัยต้องปฏิบัติ ดังนี้

                        1. ยื่นขอจดแจ้งการเป็นผู้ผลิต ผู้ปรุง ผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่ายต่อคณะกรรมการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย เกี่ยวกับแหล่งผลิต ชนิด ประเภทของอาหาร ตามแบบฟอร์มที่คณะกรรมการกำหนด

                        2. ผู้ผลิต ผู้ปรุง ผู้แปรรูปและผู้จัดจำหน่าย ต้องยินยอมให้คณะกรรมการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย เข้าตรวจสอบแหล่งผลิต สถานที่ปรุง สถานที่แปรูปและสถานที่จัดจำหน่าย ทั้งในรอบปฏิทินที่กำหนดและตามที่คณะกรรมการฯ ได้รับการร้องเรียน

ตรารับรองมาตรฐาน LSF เป็นลิขสิทธิ์ของส่วนรวม คณะกรรมการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยจังหวัดเลย สามารถทำการยึดคืนหรือบอกเลิกการรับรอง ได้ทันทีหากผู้จดแจ้งฝ่าฝืนข้อกำหนด หลังจากได้ผ่านการตักเตือน

 

          LSF คืออะไร

            “LSF” ย่อมาจากคำว่า Loei Safety Food” หมายถึง สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการรับรองความปลอดภัยของระบบอาหารในพื้นที่จังหวัดเลยทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การจัดการและการตลาด ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งที่เป็นคนเมืองเลยและผู้มาเยือน ได้มีความมั่นใจว่า “อาหารที่บริโภคนั้นมีความปลอดภัย” ดังนั้น “มาตรฐาน LSF” จึงเป็นมาตรฐานอาหารเฉพาะพื้นที่ที่คนเมืองเลยจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันกำหนด โดยใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วม” ตั้งแต่ขั้นตอนการวิเคราะห์สถานการณ์ การรวบรวมข้อมูล การพิจารณาและการตัดสินใจ

 

            ที่มาของ LSF

            พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่น สูง ๆ ต่ำ ๆ  สลับกับที่ราบ ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมาย พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์นั้นส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มตอนกลางของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอผาขาว อำเภอเอราวัณและอำเภอวังสะพุง แต่ได้ถูกเกษตรกรนำไปใช้ปลูกพืชเพื่อการอุตสาหกรรมตามกระแสและการส่งเสริมของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่การผลิตอาหารเริ่มมีแนวโน้มลดลง รวมทั้ง ยังมีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในปริมาณที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรม แม้จะมีหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและกลุ่มองค์กรภาคประชาชนได้ใช้ความพยายามในการพัฒนาและสร้างพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อให้คนเมืองเลยและผู้มาเยือนได้มีอาหารที่ปลอดภัยรับประทานอย่างมั่นใจ โดยใช้มาตรฐานอาหารปลอดภัยต่าง ๆ เช่น “มาตรฐาน GAP มาตรฐานอินทรีย์” มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับรอง แต่ก็ไม่อาจได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวได้ เนื่องจากผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมีที่ปะปนมากับน้ำและอากาศ ส่วนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ผิดเงื่อนไข ไม่สามารถขอเอกสารรับรองมาตรฐานได้ 

 

“หากยังจะต้องมีการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยต่อไป

จำเป็นต้องไปใช้พื้นที่ที่เกษตรกร

ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร

โดยให้ผู้ผลิต ผู้แปรรูปและผู้บริโภค

มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ

เพื่อนำไปกำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัยร่วมกัน”

          เป้าหมายของ LSF

            ต้องการใช้เป็น “ตราสัญลักษณ์หรือตรารับรอง” ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารในพื้นที่จังหวัดเลยทั้งระบบ ตั้งแต่ “ระบบการผลิต ระบบการแปรรูปและระบบการตลาด” ทั้งนี้ เพื่อให้คนเมืองเลยและผู้มาเยือน มีความมั่นใจในการผลิตอาหารที่มีตรานี้รับรอง

 

กระบวนการจัดทำมาตรฐาน LSF

            จากสถานการณ์การใช้ที่ดินในการผลิตพืชเพื่อการอุตสาหกรรม ทำให้หลายภาคส่วน ประกอบด้วย ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในระบบอาหารของจังหวัดเลย ได้เกิดความตระหนักร่วมกันว่า “หากไม่ร่วมมือกันกำกับ ควบคุม จัดการหรือกำหนดพื้นที่เพื่อผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคนเมืองเลยได้”

            ดังนั้น “มาตรฐาน LSF” จึงเป็นกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายโดยการมีส่วนร่วมของสังคม ที่ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ที่ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยบุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมดังกล่าว”

            กระบวนการในการจัดทำมาตรฐาน LSF จึงประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๆ คือ 1) ขั้นการวิเคราะห์สถานการณ์ 2) ขั้นการกำหนดประเด็น 3) ขั้นการรวบรวมข้อมูล 4) ขั้นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 5) ขั้นการจัดทำ “ร่าง” มาตรฐาน 6) ขั้นการพิจารณาและถกแถลง และ 7) ขั้นการรับรองโดยกระบวนการทางสังคม

 

เรื่อง/เรียบเรียง : แสงระวี ดาปะ