
ไชยบุรี: ตำบลต้นแบบการจัดการขยะโดยชุมชน
ไชยบุรี ต้นแบบตำบลจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม เริ่มจากผู้นำท้องถิ่นที่เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และผลักดันโครงการกองทุนขยะ โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน ใช้ข้อมูลระดับครัวเรือนสร้างแผนจัดการขยะให้ตรงจุด เน้นคัดแยกและใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล ก่อให้เกิดสวัสดิการและรายได้เสริมแก่ชาวบ้าน มีการสื่อสารอย่างใกล้ชิด-เข้าใจง่ายผ่านช่องทางออนไลน์และประชาคม ส่งผลให้ปริมาณขยะลดลงกว่า 70% กลายเป็นโมเดลต้นแบบระดับจังหวัด และจุดประกายให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปด้วย.
รูปแบบการจัดการขยะที่ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งได้มีการจัดการในพื้นที่ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจและตระหนักว่าการจัดการขยะนั้นไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดขอบร่วมตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งแต่ละพื้นที่มีกระบวนการ ปัจจัยที่ส่งผลสำเร็จแตกต่างกันไป เรื่องเล่านี้จะถ่ายทอดเรื่องราวของการจัดการขยะอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นกรณีศึกษาของ ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการขยะโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มาเล่าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปขบคิดปรับใช้อย่างเหมาะสมในพื้นที่อื่นต่อไป
รู้จักไชยบุรี
ตำบลไชยบุรี เป็นตำบลเก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน หากเดินทางเข้าชุมชนไชยบุรี จะเห็นรูปปั้นเจ้าเมืองเก่าบริเวณกลางหมู่บ้าน และมีวัดโบราณที่ร้างแล้ว สะท้อนความเป็นดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก่อนนับร้อยปี ไชยบุรี มีที่ตั้งห่างจากตัวเมืองนครพนม ราว 40 กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือ ตามถนนชยางกูล นครพนม- บึงกาฬ -หนองคาย คู่ขนานกับลำน้ำโขง หากใช้รถยนต์ส่วนตัวใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที ไชยบุรีเป็นตำบลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม มี 17 หมู่บ้านพื้นที่ 45,70 ไร่ ประชากรรวม 8,429 คน ภูมิประเทศของไชยบุรีมีลำน้ำสายสำคัญไหลผ่าน ด้านทิศตะวันออกมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทย ลาว ส่วนตรงกลางของพื้นที่มีแม่น้ำสงครามไหลพาดผ่าน บริเวณตำบลไชยบุรีจึงเป็นปากน้ำหรือพื้นที่ที่แม่น้ำทั้งสองสายมาบรรจบกัน ที่เรียกว่า แม่น้ำสองสี เป็นจุดเช็คอินที่สำคัญของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไชยบุรี ด้วยสภาพพื้นที่ดังกล่าว คนไชยบุรีจึงมีอาชีพที่หลากหลายในด้านการเกษตร อาทิ นาข้าว สวนยางพารา ปลูกผัก ด้านการประมง เช่น อาชีพหาปลา เลี้ยงปลาในกระชัง ผลิตภัณฑ์จากปลา ที่ขึ้นชื่อ คือ ปลาส้มไชยบุรี และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โฮมสเตย์ ร้านอาหาร แคมป์พัก เป็นต้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเมืองเก่าไชยบุรี ที่มีสามหมู่บ้าน มีอาคารร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ดูมีความเป็นเมือง จึงกล่าวได้ไชยบุรี มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท ด้วยการเป็นเมืองท่องเที่ยว ถึงแม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกแต่ก็มีนักท่องเที่ยวมาไม่ขาด ประกอบกับการตั้งอยู่บนเส้นทางสายหลักเชื่อมระหว่างจังหวัด ความท้าทายอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับความเจริญเติบโต คือ ขยะมูลฝอย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลขยะโดย อบต.ไชยบุรี ในปี 2565 ตำบลไชยบุรีมีขยะมูลฝอยประมาณ 3 ตันต่อวัน อันเป็นภาระที่ อบต. ต้องจัดการ การจัดการแบบเดิมคือการมุ่งการจัดเก็บกำจัดโดยการฝังกลบโดย อบต. ทำให้มีค่าใช้จ่ายจัดการขยะต่อปีสูงถึง 604,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าจ้างพนักงานเก็บขยะ 3 คน ค่าฝังกลบขยะ ค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงรถยนต์ เป็นสถานการณ์ปัญหาที่นายก อบต. หลายคน พยายามหาทางออกแต่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
จุดเปลี่ยน ?
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ตำบลไชยบุรีมีการเลือกตั้งนายก อบต. และได้นายกคนใหม่ที่เป็นสุภาพสตรี (มารสา ดวงสงค์) ด้วยการเป็นนายกใหม่ จึงต้องผ่านหลักสูตรการอบรมของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับนายก อปท. ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ในเวทีการอบรมดังกล่าวนายก มาริสา ประทับใจวิทยากรท่านหนึ่งที่เล่าเรื่อง การจัดการขยะในรูปแบบของการจัดการกองทุนขยะ สามารถจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และชาวบ้านมีรายได้มีสวัสดิการด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาถึงพื้นที่ ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จนกระทั่งวันหนึ่งบุคลากรของ อบต. ท่านหนึ่งได้มาปรึกษาว่า มีหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node flagship) จังหวัดนครพนม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. สำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) กำลังรับสมัครโครงการย่อยที่สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการจัดการขยะ นายกมาริสาไม่ลังเลที่จะให้บุคลากรท่านนั้นตอบรับเข้าร่วมโครงการในนาม อบต. การเข้าร่วมโครงการ นอกจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการแล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้รับและใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานการจัดการขยะคือ แนวคิดการจัดการขยะ กระบวนการจัดการ และกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะ รวมถึงเครื่องมือที่นำมาใช้ในการพัฒนาที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นขั้นเป็นตอน
ทำอย่างไร ?
หลังจากได้รับการอนุมัติโครงการ อบต.ไชยบุรี ในฐานะองค์กรผู้รับผิดชอบโครงการ เริ่มต้นจากการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสองระดับ ประกอบด้วย คณะทำงานกลางและอนุกรรมการ คณะทำงานกลางมีนายก อบต. เป็นประธาน มีผู้นำ ท้องที่ ท้องถิ่น บุคลากรของ อบต. และตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ กลไกนี้ทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง ให้ความรู้ การพัฒนาศักยภาพ การติดตามสนับสนุน ส่วนคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อสม.และจิตอาสา มีบทบาทในการขับเคลื่อนในระดับชุมชน การจัดตั้งคณะทำงานทั้งสองระดับไชยบุรี ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจ และการเติมความรู้ ประสบการณ์ ในทุกหมู่บ้าน นายก อบต. และผู้บริหาร บุคลการจะเข้าไปประชุม หรือที่เรียกกันติดปากว่าประชาคม เพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงให้ความรู้ในการจัดการขยะหลายครั้ง นอกจากนี้มีการนำคณะทำงานไปศึกษาดูงานพื้นที่ที่มีจัดการขยะที่โดดเด่น ทั้งจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดบึงกาฬ เพื่อนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้มาถ่ายทอดต่อคณะทำงานและคนในชุมชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเดิมที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องของ อบต. มาเป็นหน้าที่ของทุกคน การศึกษาดูงานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้นำทั้งสองระดับและถ่ายทอดสู่คนในชุมชนช่วยกระตุ้นและสร้างการมีส่วนร่วมได้มาก
การใช้ข้อมูล ?
การดำเนินงานของ อบต. ได้จัดเก็บข้อมูลขยะในระดับครัวเรือน โดยใช้แบบสำรวจที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการของหน่วยจัดการฯ (สสส.) ถึงแม้จะมีข้อมูลขยะจากรถขนขยะแต่ไม่สามารถแยกประเภทขยะได้ ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนในเชิงลึกได้ การเก็บข้อมูลขยะของไชยบุรีใช้กลไกของ อสม. ของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีภารกิจเยี่ยมบ้านประจำอยู่แล้วทำให้ได้ข้อมูลระดับครัวเรือน และไม่เป็นการเพิ่มงานของ อสม. แต่อย่างใด จากนั้นทีมงานของ อบต.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลสะท้อนในเวทีประชุมคณะทำงานกลางและคณะอนุกรรมการในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าขยะที่มีมากที่สุด คือ ขยะอินทรีย์ รองลงไป คือ ขยะทั่วไป และขยะรีไซเคิล ตามลำดับ ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์นำไปสู่การออกแบบการจัดการขยะที่สอดคล้องกับประเภทขยะ กรณีไชยบุรี แนวทางการจัดการขยะมีจุดเน้นอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากขยะ และการคัดแยกเพื่อนำไปจัดตั้งกองทุนขยะของตำบล
การจัดการขยะของไชยบุรี ?
ทีมงานของไชยบุรีเล่าว่า การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้ และทำให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จริง ๆ ซึ่งจากประสบการณ์การศึกษาดูงานหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น คณะทำงานกลางของไชยบุรีได้ข้อสรุปร่วมกันว่า แนวทางการจัดการขยะมีสองแนวทางหลัก ๆ คือ แนวทางที่หนึ่ง คือการใช้ประโยชน์จากขยะ แนวทางนี้ใช้กับขยะอินทรีย์ โดยการให้ความรู้ในการนำขยะไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของชุมชนที่มีอาชีพการเกษตร นอกจากนี้ อบต.ยังให้การสนับสนุนถังลดโลกร้อน เพื่อใช้ทำน้ำหมักชีวภาพให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล ใช้วิธีการคัดแยกรวบรวม และจัดตั้งกองทุนขยะของตำบลขึ้น ซึ่งได้มีการติดต่อพ่อค้ารับซื้อของเก่ามารับซื้อในหมู่บ้านตามแผนที่กำหนดไว้ทุกเดือน ซึ่งในการจัดการช่วงแรกประสบปัญหาพอสมควร เช่น เรื่องของการคัดแยกที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบบบัญชีการเงิน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและการเอาใจใส่ของคณะทำงาน ทำให้สามารถพัฒนาปรับปรุงจนระบบต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางเป็นที่พอใจของผู้รับซื้อ ทั้งสองแนวทางดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีความพึงพอใจ และสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ กองทุนการขยะได้ขยายผลไปสู่การจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในครัวเรือนเมื่อมีคนในครัวเรือยเสียชีวิตคนละ 30 บาท ยิ่งเพิ่มแรงสนับสนุนจากคนในชุมชนมากขึ้นไปอีก การคัดแยกขยะของคนในครัวเรือนจึงเป็นพฤติกรรมที่เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกันแล้ว
กลไกการติดตามสนับสนุน ?
กลไกการติดตามสนับสนุน คือ คณะอนุกรรมการ 10 คนต่อหมู่บ้าน เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ เพราะใกล้ชิดกับครัวเรือน ที่ไชยบุรีกลไกนี้จะมีการติดตามทุกเดือนโดย อสม.เป็นแกนสำคัญ การติดตามจะมีแบบฟอร์ม บันทึกพฤติกรรม เช่น คัดแยก ไม่คัดแยก ใช้ประโยชน์จากขยะ อย่างไรเป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ในการประชุมเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการขยะต่อไป นอกจากนี้กลไกติดตามจะใช้ประเมินครัวเรือนต้นแบบ และชุมชนต้นแบบ ที่เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนและชุมชนมีการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง
การสื่อสารเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ?
จุดเด่นอย่างหนึ่งของไชยบุรี ในการขับเคลื่อนการจัดการขยะ คือ การสื่อสารกับชุมชน รวมถึงสังคมด้วยซึ่งมีหลายวิธี ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง เช่น การประชุม ประชาคม การรวบรวมขยะ อบต.ไชยบุรีจะมีการสื่อสารโดยการไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คของ อบต. โดยปลัด อบต. ผู้ที่มีพรสวรรค์ในการพูดการสื่อสารออนไลน์ จะไลฟ์สดทุกครั้ง ทุกวันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ ทำให้รับรู้กิจกรรมต่างๆ ที่ อบต. ดำเนินการ รวมถึงคนในสังคมภาคส่วนอื่น ด้วย ปัจจุบันนี้มียอดผู้ติดตามหลายพันคน นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ เช่น หอกระจายข่าว หรือการทำเวทีประชาคมทุกครั้งจะมีหนังสือจาก อบต. ถึงทุกครัวเรือน การจัดการขยะผ่านกลไกกองทุนขยะคนเพื่อให้เกียรติกับชาวบ้านทุกคน ซึ่งสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และส่งผลต่อการเข้ามาร่วมประชุม ร่วมกิจกรรมของชาวบ้านจำนวนมาก
จุดเด่นอย่างหนึ่งของการสื่อสารที่นี่คือการสื่อสารโดยใช้ตัวบุคคล คือ นายก อบต. รวมถึงผู้บริหารต้องเข้าถึงคนในชุมชน อ่อนน้อมถ่อมตน ทักทาย และเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้ใจชาวบ้านและได้รับความร่วมมือหรือเปิดรับกับแนวคิดใหม่ ๆ ที่สื่อสารออกไป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ?
ในระยะเวลา 15 เดือนที่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของไชยบุรี ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ปริมาณขยะลดลง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของคณะทำงาน พบว่าปริมาณขยะลดลงร้อยละ 72.5 นอกจากนี้หลักฐานอื่นที่สะท้อนว่าปริมาณขยะลดลง คือ จำนวนเที่ยวของรถขนขยะลดลง และอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันการลดลงของปริมาณขยะของ ไชยบุรี คือ การไม่เพิ่มบ่อขยะของ อบต. โดยก่อนเริ่มโครงการมีแนวโน้มจะเพิ่มบ่อขยะ แต่เมื่อดำเนินโครงการแล้วปริมาณขยะลดลงมาก จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มบ่อกำจัดขยะแต่อย่างใด และมีแนวโน้มที่จะปิดบ่อขยะด้วย
ผลกระทบอย่างอื่นที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพบว่า ขยะไม่ได้เป็นแค่เรื่องขยะแต่ส่งผลต่อการพัฒนามิติอื่น ๆ การจัดการขยะจึงเสมือนเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในตำบลได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น กองทุนการจัดการขยะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกได้มากกว่าสวัสดิการประเภทอื่นในตำบล นอกจากนี้ผลการดำเนินงานที่เกิดรูปธรรมชัดเจน ทำให้ไชยบุรีเป็นที่สนใจของ อปท. ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องกลายเป็นงานประจำอย่างหนึ่งของ อบต. ไปแล้ว ไม่ต่ำกว่าสองครั้งต่อเดือน การเข้ามาศึกษาดูงาน ได้ส่ง ให้ในชุมชนมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเฉพาะปลาส้มไชยบุรี ครั้งละหลายพันบาท และ อบต.เกิดแนวคิดที่จะจัดการท่องเที่ยวโดยใช้การจัดการกองทุนขยะเป็นหนึ่งในประเด็นการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย เรื่องราวของไชยบุรี ได้ยินไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนปัจจุบัน และได้เข้ามาดูงานในพื้นที่ และประกาศเป็นนโยบายโดยการทำหนังสือถึง อปท.ทุกแห่ง ในจังหวัดนครพนม ให้นำรูปแบบการจัดการขยะของตำบลไชยบุรีไปเป็นต้นแบบในการขยะของ อปท. ของนครพนม นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดการขยะที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ทั้งปัจจัยด้านผู้นำ การเปลี่ยนวิธีคิดการจัดการขยะ การสร้างการมีส่วนร่วมและการสื่อสารที่มีพลัง จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อื่น ๆ นำไปปรับปรุงประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของตนเองต่อไป
เรื่อง/เรียบเรียง : คณิน เชื้อดวงผุย