
วาระสุรินทร์: “เปลี่ยนเมือง (ช้าง) ... ปลอดเหล้าและปลอดภัย”
“ภาพที่จำได้คือ ผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมาก มีการแสดงช้าง มีกิจกรรมทางวัฒนธรรม เต็มไปด้วยความครึกครื้นของผู้คน ... แล้วมันก็เปลี่ยนไป !!” ...ใครสักคนรำพึงรำพันถึงความทรงจำครั้งวัยเด็ก
...แล้วคุณล่ะ เรื่องแรกที่คุณจะนึกถึงจังหวัดสุรินทร์คืออะไร
...อีสาน ? ปราสาท ? กลุ่มชาติพันธุ์ ? ช้าง ? คนเลี้ยงช้าง ?
หากทุกเรื่องข้างต้น คือสิ่งที่คุณนึกถึง ขอบอกได้เลยว่า ทุกเรื่องนั้นคือเรื่องเดียวกัน
...คือ ความเป็นสุรินทร์ ที่เราอยากจะชวนคุณเรียนรู้ไปด้วยกัน
ประวัติศาสตร์เมืองช้าง
คงมีคนจำนวนไม่น้อย ที่มีภาพช้างและคนเลี้ยงช้างเป็นภาพจำเกี่ยวกับจังหวัดสุรินทร์...แล้วช้าง คนเลี้ยงช้าง และจังหวัดสุรินทร์ เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันได้อย่างไร ?
ทั้งนี้ จากการค้นข้อมูล พบว่า จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นจังหวัดที่มีความเป็นมายาวนาน ข้อมูลอ้างอิงจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ สุรินทร์ระบุว่า จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบข้อมูลในพงศาวดาร และเรื่องเล่าตำนานที่เล่าสืบต่อกันมานั้น จังหวัดสุรินทร์เป็นที่อยู่ของชนหลายเผ่าพันธุ์ทั้ง ไทย เขมร ลาว กวยหรือกูย จังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เดิมเคยมีชุมชนอาศัยอยู่เมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมเรืองอำนาจ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไว้จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2260 ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า กวย หรือ กูย ซึ่งอาศัยอยู่แถบเมืองอัตปือแสนแป แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นอย่างมาก ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ บ้านโคกลำดวน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ บ้านอัจจะปะนึ่ง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และบ้านกุดปะไท อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยแต่ละบ้านจะมีหัวหน้าควบคุมอยู่ จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ.2300 บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ คือ เชียงปุม กับพวก ได้ใช้ภูมิปัญญาวิชาคชศาสตร์จับช้างเผือกแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา นำน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายคืนสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้รับบำเหน็จความชอบโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นหลวงสุรินทรภักดี
ต่อมาในปี พ.ศ.2306 หลวงสุรินทรภักดี หรือ เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้ เจ้าเมืองพิมาย กราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านคูประทาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทร์ภักดี ได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 พระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในปี พ.ศ.2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็น เมืองสุรินทร์ ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองเมืองสุรินทร์
จากหลักฐานข้างต้น จึงบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงจังหวัดสุรินทร์ในฐานะดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอารยธรรมขอมโบราณ ความเป็นชุมชนคนเลี้ยงช้างที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน และแน่นอนว่า ข้อมูลข้างต้นนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความผูกพันระหว่างช้างกับคนสุรินทร์ ที่กลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
งานช้างสุรินทร์: จากวิถีสู่งานเทศกาล-จากงานบุญสู่การแสดง
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2505 คณะรัฐมนตรี (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี) มีมติเห็นชอบให้งานช้างสุรินทร์ เป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์และของชาติ โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงาน
“จังหวัดสุรินทร์มีหมู่บ้านช้างตั้งอยู่ที่อำเภอท่าตูม โดยปกติเวลามีงานบุญประเพณีของหมู่บ้านก็จะมีช้างร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย ที่เขาจัดเป็นงานประจำปี มีงานชุมนุมช้างกัน ทำกันมาต่อเนื่องจนผู้คนสนใจ ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้ความสนใจถึงขั้นนำมาจัดเป็นงานที่จังหวัด จนต่อมา คณะรัฐมนตรี เลยมีมติให้งานช้างเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ (ปี พ.ศ.2505) จากวิถีชีวิตคนกับช้าง หมู่บ้านช้าง อำเภอท่าตูม ก็นำมาสู่การจัดแสดงช้างที่สนามบิน”
“ในตอนนั้น จำได้ว่างานช้างเต็มไปด้วยผู้คนที่เข้ามาเที่ยวงาน และผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในงาน โดยนอกจากการแสดงช้างแล้ว ก็ยังมีการแสดงวัฒนธรรมมาร่วมแสดงในงานข้างที่จังหวัดด้วย บรรยากาศในตอนนั้น เรียกได้ว่า งานช้างเป็นงานของคนสุรินทร์จริง ๆ”
“ด้วยความที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาก ก็มีการย้ายสถานที่จัดกัน ขยับขยายมาจัดในเมือง บริเวณศาลากลางและสนามกีฬา พอมาจัดที่ศาลากลาง รูปแบบของงานช้างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นงานประจำปีของจังหวัด ที่ประกอบด้วย งานวัฒนธรรม ที่มีการแสดงช้างและศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ งานแฟร์ขายของ สินค้าบริโภคอุปโภคครบครัน และบริเวณคอนเสิร์ตแสดงดนตรี มีเธคลอยฟ้าเกิดขึ้น”
จากเสียงสะท้อนข้างต้น ทำให้เรานึกย้อนไปถึงเสียงที่บอกว่า “เต็มไปด้วยความครึกครื้นของผู้คน ...แล้วมันก็เปลี่ยนไป” เสียงรำพึงรำพันนี้ยังก้องในหัว จนชวนให้เราตั้งคำถามต่อว่า เกิดอะไรขึ้น อะไรที่เปลี่ยนไป ?
“ช่วงที่งานจัดที่ศาลากลาง พอเริ่มมีสินค้ามาขาย ก็เริ่มเห็นป้ายสปอนเซอร์/ ผู้สนับสนุนติดมากับร้านค้าต่างๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ติดในงาน แต่ติดป้ายโฆษณากันทั่วทั้งเมือง ตอนนั้นพวกเหล้ายาก็เข้ามา ภายในงานเริ่มมีการกินเหล้ากัน เรียกได้ว่า กินกันจนสว่าง บางปีก็มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นหนัก ๆ หน่อย เช่น ปี พ.ศ.2536 เกิดระเบิดมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต”
งานช้างสุรินทร์ที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดขึ้นควบคู่กับกระแสโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า “คนสุรินทร์กินสุรา” หรือ “สุรินทร์ถิ่นสุรา” ที่กลายเป็นคำพูดติดปากของคนสุรินทร์เอง ที่นานเข้าก็กลายเป็นค่านิยมของผู้คน กลายเป็นวิถีของผู้คนที่กินกันจนเช้า สว่างคาขวดและกลายเป็นภาพจำที่คนภายนอกรับรู้และจดจำเกี่ยวกับจังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์สร้างสุข: เปลี่ยนเมืองด้วยข้อมูลด้วยกลไกสร้างการรับรู้ เผยแพร่รณรงค์ ผลักดันนโยบาย ปฏิบัติการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาคมสุรินทร์สร้างสุข เริ่มทำงานเชิงรุกเกิดการสำรวจ เก็บข้อมูล ทั้งข้อมูลสถิติ คลิปวีดีโอ ภาพถ่าย จากข้อมูลที่มี เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนเมืองสุรินทร์
“เราเริ่มต้นสำรวจ เก็บข้อมูล เพื่อใช้ข้อมูลเคลื่อนไหว มีทีมทำงานลงไปถ่ายภาพและถ่ายคลิปวีดีโอสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้คนหลายภาคส่วน เช่น เจ้าคณะจังหวัด ประชาชน ฯลฯ ข้อมูลสถิติต่าง ๆ จากสถานพยาบาล รวมทั้งเกิดการจัดทำเวทีสาธารณเพื่อนำเสนอข้อมูลและระดมความคิดเห็น”
“ข้อมูลที่เราเก็บได้ สะท้อนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงนำข้อมูลทุกอย่างเข้านำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัด เมื่อคณะกรรมการจังหวัดรับรู้และเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงเกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกันว่า จะจัดงานที่ไม่มีปลอดเหล้าให้เกิดขึ้น และจากเป้าหมายดังกล่าว เราจึงเริ่มทำงานรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล ทั้งคลิปภาพงาน สัมภาษณ์เจ้าคณะจังหวัด ข้อมูลสถานพยาบาล”
ในการทำงานเรามีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดอย่างชัดเจน มีสิทธิ อำนาจและหน้าที่ที่เป็นรูปธรรม และจากการมีกลไกคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้การขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายเพื่อเปลี่ยนเมืองสุรินทร์ของประชาคมสุรินทร์สร้างสุข ลุกคืบไปอย่างรวดเร็ว
“ด้วยโครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติฯ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีสาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขา ขณะเดียวกัน จำนวนครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการควบคุม ก็เป็นตัวแทนภาคประชาชนประชาคมสุรินทร์สร้างสุข นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ที่มีตัวแทนจากภาคประชาชน 46 คน โดยคณะอนุกรรมการฯ มีบทบาทหน้าที่ เป็นชุดปฏิบัติการงานรณรงค์ และงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย”
“จะเห็นได้ว่า กลไกที่มีอยู่เป็นกลไกที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานสุรินทร์สร้างสุข ดังนั้น เราจึงเดินหน้าเปลี่ยนเมืองช้าง เปลี่ยนงานช้าง โดยจากเดิมที่บริษัทเอกชน ห้างร้านเป็นสปอนเซอร์งานที่ส่งผลทำให้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยาก ในปี พ.ศ.2552 เราจึงผลักดันให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักของงาน”
“ผลจากการดำเนินการในปีแรก (พ.ศ.2552) พบว่า ไม่มีคนเสียชีวิตภายในหน้างาน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาท กระทบกระทั่งก็ลดลงจาก 167 คน เหลือเพียง 65 คน นอกจากผลลัพธ์ในเชิงปริมาณที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนแล้ว ยังพบว่า ผู้ที่เข้ามาเที่ยวชมงานเป็นครอบครัวมากขึ้น เห็นภาพพ่อแม่ลูก ตายายมากันเป็นครอบครัว พ่อค้าแม่ค้าเองก็ขายของได้ ไม่ต้องคอยระแวงระวังการทะเลาะวิวาทกัน”
จะเห็นได้ว่า ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์สร้างความตระหนัก ความเข้าใจ แต่การเปลี่ยนเมืองด้วยข้อมูลเพียงลำพังอย่างเดียวก็เป็นเรื่องยาก การเกิดขึ้นและมีอยู่ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี พ.ศ.2551 จึงเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการเปลี่ยนเมือง ทั้งให้สิทธิและหน้าที่ ควบคุม เฝ้าระวัง สร้างความรู้ สร้างพื้นที่ และสร้างกลไกหลายระดับ โดยเฉพาะระดับจังหวัด ที่ประชาคมสุรินทร์สร้างสุขได้เข้าไปมีส่วนร่วม จนเกิดการผลักดันเปลี่ยนเมืองด้วยการเปลี่ยนนโยบาย โดยการผลักดันให้ สสส. เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักของงานช้างเมืองสุรินทร์ ที่กล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญของการที่ สสส. เข้ามาเป็นสปอนเซอร์งานเรื่องงบประมาณเป็นส่วนสำคัญหนึ่ง หากแต่ส่วนสำคัญที่สุดกลับ คือ อัตลักษณ์ ของ สสส.ในฐานะองค์กรรณรงค์ ขับเคลื่อนเรื่องแอลกอฮอล์ ที่ทำให้เกิดการสร้างบรรยากาศของพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ภายใต้การปฏิบัติการของชุดปฏิบัติการคณะอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกอุ่นใจที่จะมาร่วมงาน ดังสะท้อนจากครอบครัวที่มาเที่ยวงานมากขึ้นนั่นเอง
กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนเมืองช้างสุรินทร์ ให้ปลอดเหล้า ปลอดภัย คือ วาระร่วมกันของคนสุรินทร์ วาระนี้ขับเคลื่อนบนฐานข้อมูลที่มีชีวิต มาจากแรงกายแรงใจของผู้คนหลากหลายภาคส่วน มาจากกลไกที่มีส่วนร่วม กลไกที่ทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่นโยบาย และเหนืออื่นใด มาจากหัวจิตหัวใจของคนสุรินทร์ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมความเป็นสุรินทร์ ให้ผู้คนจดจำและเชื่อมั่นว่า “คนสุรินทร์ไม่กินสุรา เป็นเทวดาสุรินทร์”
แน่นอนว่า ระหว่างทางของการขับเคลื่อนวาระสุรินทร์นี้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญกับแรงเสียดทานมากมาย ทั้งแรงเสียดทานภายในตัวเองและแรงเสียดทานภายนอก เจอสารพัดสถานการณ์ปัญหา กลวิธีที่ทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อเท่าทันต่อสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลง
“เราอยากทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เราอยากจะเปลี่ยนค่านิยม อยากให้งานช้างปลอดเหล้า 100% อยากให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมาย อยากให้เกิดรูปธรรมในเรื่องการลดอุบัติเหตุ ลดการกินเหล้า ลดอาชญากรรมต่างๆ เราไม่อยากให้ลูกหลานมาหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้ อยากให้เด็กรุ่นใหม่มีจิตสำนึก อยากจะยกระดับงานช้างปลอดเหล้าไปสู่การมีส่วนร่วม เป็นงานประจำปีของคนสุรินทร์ ที่เชื่อมโยงบูรณาการ เป็นงานที่เราต่างเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์พื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยนี้ได้ร่วมกัน”
เสียงรำพึงของใครสักคนหนึ่งที่ย้อนคิดถึงงานช้างในครั้งวัยเยาว์ เป็นสารตั้งต้นที่นำพาเรามาเรียนรู้ทำความรู้จักและเข้าใจงานช้างอย่างรอบด้าน
หมุดหมายต่อไปจากนี้ คือ “วาระสุรินทร์: เปลี่ยนเมืองช้าง ปลอดเหล้าและปลอดภัย เปลี่ยนเมืองให้ปลอดเหล้าและปลอดภัย” ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้ “คนสุรินทร์ ไม่กินสุรา”
เรื่อง/เรียบเรียง : สุวัลยา โต๊ะสิงห์