
คลินิกใจในชุมชนสมนรินทร์
หมู่บ้านสมนรินทร์ ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงชนบทที่ใช้สัญจรระหว่างอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ไปยังอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเส้นรอยต่อระหว่าง 2 จังหวัดที่มีเส้นน้ำห้วยลำพันชาดคั่นกลางเชื่อมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน 2 หมู่บ้าน ทั้งแบบเครือญาติและแบบย้ายถิ่นฐานมาอยู่รวมกัน โดยส่วนใหญ่พวกเขา ดำรงชีพด้วยการรับจ้างและเกษตรกรรม
วิถีชีวิตของคนรับจ้างและงานเกษตรกรรม เป็นภาพสะท้อนของผู้คนที่ใช้แรงงานเสียมากกว่าการใช้ความคิด อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรมของผู้คนส่วนใหญ่จึงแสดงออกมาในรูปแบบของท่าที วาจาที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองทางความคิด หรือผ่านการจัดการอารมณ์ที่ใช้การใคร่ครวญสิ่งใดมากนัก ดังนั้นเมื่อมีใครที่เผชิญปัญหาชีวิตของตนเอง การระบายออกซึ่งความอัดอั้นทางอารมณ์เหล่านั้น จึงเป็นการง่ายที่คนในหมู่บ้านจะพุ่งพรวดออกมาด้วยวาจาที่ฟังเข้าหูแต่ดูกระแทกใจ ท่าทีเหล่านี้เป็นสัมพันธภาพที่เปราะบางต่อความรู้สึกเชิงลบให้กันระหว่างครอบครัวและชุมชน เหมือนดั่งเช่น “มะลิ” หญิงผู้ซึ่งเก็บรู้สึกกดดันจากความบาดหมางที่เกิดจากการใช้วาจาที่รุนแรงระหว่างสามีและพ่อแม่ของเธอมาเป็นระยะเวลาร่วมปี ทำให้มะลิมีภาวะปวดหัวคล้ายไมเกรนในทุกเช้า ส่วนสามีของเธอก็ระบายออกกับสถานการณ์คับข้องด้วยการดื่มสุราเป็นประจำ ทุกครั้งที่เขาดื่มจนเมา วาจาที่เราจะใช้เรียกกันว่า “โต้เถียง” ภายในครอบครัวที่มีเด็กชายและหญิง 2 คนอยู่ร่วมด้วย กลายเป็นภาพจำที่คุ้นชินของเด็ก ๆ แต่ความคุ้นชินไม่ได้บ่งบอกถึงความปกติชื่นชอบของเด็ก ๆ แต่อย่างใด เด็กชายและเด็กหญิงเฝ้ามองพ่อแม่ที่โต้เถียงกันทุกค่ำเช้าด้วยแววตาที่กังวลสงสัยไร้ซึ่งแววตาของความสุขสดใสในแบบที่วัยเด็กควรจะมี แต่นั่นไม่ใช่เพียงแค่ครอบครัวของมะลิที่พบเจอ เพราะเพื่อนบ้านของมะลิที่อยู่รอบข้างอีก 5 ครอบครัว ต้องคอยรับรู้และรับฟังทั้งเสียงและภาพแบบนั้นอยู่ทุกวัน พลอยทำให้ลุงข้างบ้านแทบจะเสียประสาทกับครอบครัวของมะลิไปด้วย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่หนึ่งตัวอย่างครอบครัวในชุมชนของหมู่บ้านสมนรินทร์ที่กำลังเข้าสู่ภาวะจิตใจที่อ่อนแอ เจอสิ่งที่เข้ามากระทบก็ทำให้จิตใจกระเทือน ซ้ำร้ายกว่านั้นส่งผลไปยังผู้ที่อาศัยอยู่รอบข้าง เกิดสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากบ้านหนึ่งไปถึงบ้านที่สอง สาม สี่ ห้าตามไป เมื่อจิตใจอ่อนแอจากปัญหาที่รุมเร้าและไม่มีใครในชุมชนที่จะพึ่งพิงกันได้ ผู้ที่เผชิญปัญหาไม่ว่าจะมากจะน้อย ก็เลือกที่จะพึ่งพาเครื่องคลายใจไปกับสุรา ยาเสพติด และอบายมุขที่จะทำให้ความตึงเครียดของจิตใจได้ปล่อยไปกับเครื่องปลอบประโลมชั่วคราวเหล่านั้น ภาพที่พบเห็นได้ก็ไม่พ้นคนเมาสุรา อุปกรณ์การเสพยา การจับกลุ่มใหญ่น้อยเพื่อมาเล่นไพ่ตามคุ้มต่าง ๆ ที่ตนสนิทใจ
วิสาหกิจชุมชนสมศิริ Healthy Food ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและมองเห็นปัญหาสภาพจิตใจของผู้คนที่กำลังจะแผ่ขยายออกไปในชุมชนจนคนที่นี่พูดกันว่า บ้านไหน ๆ เขาก็เป็นกัน เอาตรง ๆ เลยนะ พอเราได้ฟังก็แอบเผลอ culture shock อยู่เหมือนกัน ที่รับรู้ว่าชุมชนกำลังมองเห็นสถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องราวปกติของสังคม แต่เราต้องยอมรับสภาพอย่างนั้นหรือ? ….นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นในหัวทันที แต่ฉันอยากมีสังคมที่ดีนะ นั่นคือคำตอบและที่มาของโครงการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพจิตประชาชนหมู่บ้านสมนรินทร์” การทำงานด้านสุขภาพจิตชุมชนจึงเกิดขึ้น จากเสียงในหัวที่บอกว่า “ชุมชนเราจะดี อยู่ที่เราช่วยกันสร้าง”
การลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันนั้น จากที่ดูภายนอกราวเหมือนว่าทุกคนจะอยู่ปกติสุขดี ไม่มีอะไร เมื่อได้เข้าไปพูดคุยรับฟังความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้ได้ค้นพบจุดเปราะบางของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนแอบซ่อนอยู่นั่นคือ ความต้องการการยอมรับและภาวะความกลัว
นั่นคือโจทย์ที่ได้รับและเราก็ครุ่นคิดกับสมการที่จะตอบโจทย์นั่นอยู่นาน เพราะสมการที่เรามี มันช่างอยู่ห่างกับตัวกิจกรรมของโครงการที่ต้องดำเนินงานเหลือเกิน แต่เอาล่ะ มันเป็นความท้าทายที่ต้องเดินต่อเพื่อการสร้างชุมชนที่ดี และการสร้างชุมชนต้องไม่แปลกแยกจากวิถีชีวิต การเปิดพื้นที่รับฟังในซุ้มไม้ไผ่เล็ก ๆ ข้างบ้านจึงเกิดขึ้น ทำให้ถนนเส้นที่เคยเป็นจุดศูนย์รวมนักเดินยากลับกลายเป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่กำลังเปลี่ยนถ่ายให้เกิดผู้ก่อการดีมารวมตัวกันอยู่บ่อยครั้ง บ้านเราไม่เคยเหงาเลย......
พื้นที่นี้ไม่ต่างอะไรกับคลินิกใจของชุมชน จากกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่คอยเติมพลังใจให้กันผ่านการรับฟังเรื่องราวของกันและกันโดยไม่ตัดสิน คือ เครื่องมือที่ช่วยสำรวจสภาวะใจได้ดีทีเดียว และแล้ววันหนึ่ง ฉันก็กลายเป็นที่พึ่งพิงของชุมชน ที่คอยรับหน้าที่พาคนนั้นคนนี้ไปเลิกสุรา ไปบำบัดยาเสพติด ไปรับฟังปัญหาเพื่อนข้างบ้าน ฉันไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่จะทำยังไงได้เมื่องานกับชีวิตจริงมันถูกผสมกันไปอย่างไร้ช่องที่จะแยกออกจากกัน หรือนี่คือความเป็นวิถีชีวิตที่ต้องไม่แปลกแยกตามที่เราตั้งใจไว้หรือไม่
การซื้อพื้นที่ผู้ใหญ่เกิดขึ้นแล้ว แต่ช่องว่างของเด็กและเยาวชนยังไม่ถูกเชื่อมเข้ามา การถอดรหัสความต้องการเด็กและเยาวชนในชุมชนจึงเริ่มขึ้นด้วยการตั้งวงสนทนาที่นับว่าเป็นครั้งแรกของเด็กๆที่มีคนมาถามคำถามที่เขาไม่เคยคิดถึงมันเสียด้วยซ้ำว่า “จุดเด่นของฉันคืออะไร/ ชุมชนในฝันของฉันเป็นแบบไหน” คำถามง่าย ๆ แต่ทำเอาเด็ก ๆ ทุกคนครุ่นคิดกันใหญ่ว่าฉันจะตอบยังไง เพราะพวกเขาไม่เคยคิดแม้แต่จะถามมันขึ้นมา มันดูเหมือนว่าคำตอบที่ได้มามันไม่มีทางเป็นจริง วันนี้เด็กและเยาวชนเชื่อแล้วว่ามันคือความจริงถ้าเราทุกคนช่วยกันสร้าง พวกเขาอยากได้สนามกีฬา พวกเขาอยากมีตลาดชุมชนไว้หารายได้เสริม พวกเขาอยากเห็นชุมชนปลอดขยะ พวกเขาอยากได้ชุมชนที่มีความสามัคคี และมันก็คงเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ในชุมชนของเราก็ต้องการให้มันเกิดขึ้นเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนในโครงการนี้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของทุกคน แม้ไม่ได้เกิดกับทุกครอบครัวหรือทุกคนในชุมชน แต่คนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้ที่กล้าก้าวออกมาจากความคุ้นชินเดิมของตน การเดินออกมาจากพื้นที่การด้อยค่าไปหาแสงแห่งคุณค่าในตัวตน และมันจะดำเนินไปด้วยภูมิคุ้มกันใจที่เข้มแข็งของพวกเขาเอง ให้ชุมชนสมนรินทร์เป็นผู้เลือกที่จะเข้าหาสุขภาวะที่ดีงามเพื่อหล่อเลี้ยงกันและกันในยามที่โครงการได้สิ้นสุดลง
เรื่อง/เรียบเรียง : อริสรารัศ เดชาอัครอนันท์