
เด็กธรรมเกษตร : รากแก้วแห่งความยั่งยืน
สมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ชื่อเดิม “เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดอำนาจเจริญ” เมื่อปี 2556 มาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร” สมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตรเกิดขึ้นจาก “ความรัก” การทำงานส่วนใหญ่สมาชิกของกลุ่มจะเป็นเด็กและเยาวชนที่มีใจรักในธรรมชาติ รักในป่าเขา รักในสัตว์ที่อยู่บนท้องฟ้า รักในวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี รักในภูมิปัญญาท้องถิ่นในการกระทำสิ่งใดถ้าเกิดจากความรักสิ่งที่ตามมา คือ อยากที่จะรักษาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
ปัจจุบันมีเครือข่าย 15 ชมรมใน 15 ตำบล ลักษณะกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน เช่น การรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง พัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน ปลูกฝังจิตสำนึกให้มีคุณธรรมจริยธรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดหลักสูตรการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสร้างเยาวชนจิตอาสา สานต่อรุ่นต่อรุ่น จากกิจกรรมเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มเยาวชนในแต่ละตำบลมีนวัตกรรมท้องถิ่นเป็นของตนเอง
จากกลุ่มการเรียนรู้เล็ก ๆ ในชุมชนท้องถิ่นของกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มครู ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ได้ก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจและความตระหนักต่อการพัฒนาตนเองทั้งด้านความคิดและจิตใจ พัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันกิจกรรมของเยาวชน ได้ส่งเสริมสายใยระหว่างหมู่เพื่อนพ้อง น้องพี่ในกลุ่มอย่างต่อเนื่องยาวนาน ภาพของความสัมพันธ์ ความเข้าใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกันประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกันดังเช่น การดูแลพ่อแม่ของเพื่อนในยามเจ็บป่วย เหมือนดั่งเป็นพ่อแม่ของตนเอง รวมถึงการถ่ายทอดกระบวนการการสร้างผู้นำจิตอาสาจากพี่สู่น้อง การสอนวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละกลุ่มการเรียนรู้ จากปราชญ์ชาวบ้านสู่เด็กและเยาวชน จนเปรียบเสมือนสิ่งปกติคุ้นชินธรรมดาที่อาจหาได้ยากยิ่งภายใต้สภาพสังคมในปัจจุบัน
สมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่การรวมตัวกันเป็นกลุ่มระดับตำบล ระดับอำเภอและระดับจังหวัด อีกทั้งเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงจิตใจของเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม เนื่องจากประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีอายุใกล้เคียงกัน เติบโตมาภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยีเดียวกัน จึงทำให้สามารถมีความเข้าใจในทุกประเด็นได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งมีผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดี ทรงภูมิปัญญา เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตรจึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจะสามารถปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในจังหวัดอำนาจเจริญ ทั้งในระดับจังหวัด และในระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การเรียนรู้เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร (นา หนอง หิน ฟาร์ม) โดยใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร และคนในชุมชน มีพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ แบ่งเป็นการปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มะพร้าว ขนุน ฝรั่ง ไม้ป่ายืนต้นและสมุนไพร ประมาณ 7 ไร่ สระเก็บน้ำประมาณ 3 ไร่ บ่อบาดาลโซล่าเซลล์ 1 บ่อ ปลูกข้าวประมาณ 12 ไร่ และที่อยู่อาศัยประมาณ 2 ไร่ มีการจัดเป็นฐานการเรียนรู้หลายฐาน เช่น ฐานการเรียนรู้ปลูกกล้วยน้ำว้า การปลูกมะนาว การปลูกข้าว การปลูกฝรั่ง การปลูกสมุนไพร การปลูกไม้ป่า การเลี้ยงปลา การเลี้ยงโค การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเรียนรู้ภูมิปัญญาและกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางปฏิบัติแห่งความยั่งยืน และการสืบสาน รักษา ต่อยอดของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นแนวทางการพัฒนา
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอนและขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ในปัจจุบัน เป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นสังคมวัตถุนิยม เน้นการตอบสนองความต้องการทางด้านวัตถุและเงินเป็นหลัก ความเห็นแก่ตัวจึงมากขึ้นในสังคม การรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันน้อยลง หวังพึ่งพิงผู้อื่นจนขาดการพัฒนาและการพึ่งตนเอง การพัฒนาในปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการพัฒนาตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับสังคมไทย การส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง และปฏิบัติได้ผลจริงอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาที่เคยมีอยู่คู่สังคมไทยให้กลับคืนมา เป็นสังคมที่สามารถพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนในที่สุด “ศูนย์การเรียนรู้เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร (นา หนอง หิน ฟาร์ม)” จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนที่มีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ในการปลูกจิตสำนึกให้มีจิตใจรักในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในจังหวัดอำนาจเจริญ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมาหลายรุ่น และนวัตกรรมท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งปลูกฝังแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดอำนาจเจริญมีจิตใจที่ดี พร้อมสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต สามารถพัฒนาประเทศชาติให้มั่นคง ยั่งยืน ต่อไป
“ชุติมา มรีรัตน์” ผู้ประสานงานสมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร เดิมเคยเป็นเด็กและเยาวชนในกลุ่มเยาวชนรักนกรักป่า ตั้งแต่ พ.ศ.2535 ดำรงตำแหน่งในขณะนั้นคือ ประธานกลุ่มเยาวชนรักนกรักป่า ซึ่งมีแนวคิดในการดำเนินงานของกลุ่มฯ คือการสร้างพื้นที่หรือเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ การกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมชาติ และร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนได้ร่วมกันคิดค้นกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รางวัลลูกโลกสีเขียว และอีกหลายรางวัล อีกทั้งได้มีการก่อตั้ง สร้างกลุ่มเยาวชนอีกหลายกลุ่ม ในหลายตำบล ในตำแหน่ง ผู้ประสานงานสมาพันธ์เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร ภายใต้ “สมาคมฅนฮักถิ่น” และ “ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ” ปัจจุบันได้แต่งงานกับนายมนตรี มรีรัตน์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน และเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมของ “ศูนย์การเรียนรู้เด็กและเยาวชนเมืองธรรมเกษตร”
เรื่อง/เรียบเรียง : มนตรี มรีรัตน์