post-image

พี่แอ๊ว : จากแม่ สู่ผู้ดูแลคนเปราะบางในชุมชน

ไม่ง่ายเลยที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งจะประคับประครองครอบครัวที่มีพ่อแม่สูงอายุ และลูกชายที่กำลังเรียน อีกทั้งพี่สาวที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก  ให้ผ่านวิกฤตไปได้ในภาวะเศรษฐกิจอันโหดร้าย

            “พี่แอ๊ว” หญิงวัยกลางคน รูปร่างสันทัด ผิวเข้ม ผมยักโศก เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาข้าวและเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ พี่แอ๊วยังมีจิตอาสาสูง เป็นอาสาสมัครของหลายหน่วยงาน  เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Care giver) เป็นอาสาสมัครคุมประพฤติ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด อาสาจราจรหญิงตำบลบ้านเดื่อ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านพวกกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเดื่อ ผู้นำกลุ่มสตรีตำบลบ้านเดื่อและเป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมู่ที่ 11 บ้านพวกกลาง ฯลฯ  ซึ่งพี่แอ๊วทำออกมาได้ดีทุกงาน มีการบริหารจัดการงานและเวลาที่ดี มีความเสียสละต่อส่วนรวม จึงเป็นที่ชื่นชมของหลาย ๆ หน่วยงาน ส่วนในด้านครอบครัว พี่แอ๊วมีลูกชายหนึ่งคน ดูแลพ่อและแม่วัยแปดสิบปี อีกทั้งดูแลพี่สาวที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก

            พี่แอ๊วต้องเดินทางเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง เพราะต้องพาพี่สาวเข้ารับการรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีให้คีโมและฉายแสงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา พี่สาวจะพูดกับพี่แอ๊วเสมอว่า “อย่าทิ้งพี่นะ...พี่จะหายไหม...จะได้กลับบ้านเราไหม” พี่แอ๊วมองพี่สาวด้วยสายตาที่มีแต่ความรักและความห่วงใย ยิ้มให้อย่างอบอุ่น แล้วพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “ได้กลับสิ...เราจะสู้ไปด้วยกัน” แม้ในก้นบึ้งของใจจะนองไปด้วยน้ำตา ถึงจะแกร่งแค่ไหน สามัญชนคนธรรมดา ก็มีมุมอ่อนแอเช่นกัน พี่แอ๊วแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยให้พี่สาวเห็นน้ำตาแม้เพียงหนึ่งหยด เป็นเวลากว่าหกเดือนในการรักษา การรักษาไม่ตอบสนองในทางที่ดีขึ้นเลย คุณหมอได้คุยกับพี่แอ๊วว่า “ทราบไหมว่าพี่สาวเป็นมะเร็งระยะไหน” พี่แอ๊วพยักหน้ารับ คุณหมอบอกพี่แอ๊วว่า “หมอให้เวลาสิบเก้าวันนะครับ” พี่แอ๊วรู้สึกใจหายวูบ แล้วโทรกลับไปบอกทางบ้านด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ให้ทุกคนทำใจและจัดเตรียมสถานที่ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้าย จากนั้นติดต่อรถโรงพยาบาลเพื่อพาพี่สาวกลับบ้านด้วยเงินก้อนสุดท้ายที่มี ใช้เวลาเดินทางเก้าชั่วโมงจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถึงบ้านพวกกลาง หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย ถึงแม้ระยะเวลาที่หมอแจ้งจะเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แต่สำหรับพี่แอ๊วแล้ว ทุกนาที คือ ความหวัง แม้ความหวังจะริบหรี่ ปาฏิหาริย์จะไม่มีอยู่จริง ผู้หญิงคนนี้จะทำให้ทุกวินาทีของพี่สาวนั้นมีความสุขที่สุด พี่แอ๊วให้การดูแลพี่สาวด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ปฏิบัติเฉกเช่นนอนอยู่ในโรงพยาบาล ตื่นเช้าดูแลกิจวัตรประจำวันทดแทนทั้งหมด จัดยาตามเวลา ดูแลป้อนข้าว ป้อนน้ำ โดยมีญาติพี่น้องที่มาช่วยพลัดเปลี่ยนดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลาสี่สิบห้าวัน ก่อนที่พี่สาวจะจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าของคนในครอบครัวและญาติพี่น้อง

            “ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” หลังจัดงานฌาปนกิจศพพี่สาวเสร็จได้ไม่นาน พี่แอ๊วก็ได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง น้องสาวคนเล็กป่วยเป็นโรคเอดส์และเดินทางกลับมาอยู่ที่บ้าน ครั้งแรกที่พี่แอ๊วพบน้องสาว สภาพผอมแห้ง ผิวคลำ ตาโปรน เหนื่อยหอบตลอดเวลา คำแรกที่น้องสาวเอ่ย “กลับมาตายบ้านเด้เอื้อย” พี่แอ๊วยิ้มให้อย่างอบอุ่น แล้วกลืนก้อนที่มันจุกอยู่ที่คอลงไปอย่างข่มความรู้สึก ตอบน้องสาวว่า “สู้กับมันเด้อหล่า” มรสุมพัดเข้ามาในครอบครัวพี่แอ๊วอีกครั้ง ทุกคนในครอบครัวต้องผจญกับคำนินทาและท่าทีรังเกียจของคนในชุมชน แต่พี่แอ๊วไม่ย่อท้อ พยายามศึกษาหาความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีประคับประคองน้องสาวด้วยความรัก เอาใจใส่เรื่องอาหารการกินและความสะอาด จนคนในชุมชนยอมรับภาวะเจ็บป่วยของน้องสาวพี่แอ๊ว และเริ่มมีคนในชุมชนค่อย ๆ แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน จนกระทั่งบ่ายสามโมงวันหนึ่ง น้องสาวเรียกหาพี่แอ๊ว บอกให้พี่แอ๊วเข้ามาอุ้ม “อุ้มข่อยแน่เอื้อย” พี่แอ๊วก็เข้ามากอดน้องสาวแนบอก ด้วยความรักเต็มเปี่ยมที่มี แล้วน้องสาวก็หลับไปตลอดกาลในอ้อมกอดอันแสนอบอุ่นของพี่สาวคนนี้ “หลับสาเด้อหล่า” คำสั่งลาชั่วนิรันดร์ .....

            คลื่นลูกแล้ว ลูกเล่า พัดผ่านเข้ามาในชีวิต ถึงคลื่นลูกนี้จะไม่ได้พัดเข้าบ้านพี่แอ๊วโดยตรง แต่ก็ยังคงอยู่ในสายเครือญาติใกล้ชิด เมื่อน้าชายล้มป่วยและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหนองคาย หมอแจ้งผลกับญาติว่าพบเซลล์มะเร็งที่ตับและต้องให้ผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติมและเริ่มให้การรักษา ลูกชายทั้งสองคนของน้าชายทำอะไรไม่ถูก มือสั่น เสียงสั่นเครือ ละล่ำละลักพูดออกมาไม่เป็นภาษา “ตั้งสติ” เป็นคำที่พี่แอ๊วบอกกับลูกชายทั้งสองคนของน้าชาย พี่แอ๊วอาสาจะดูแลน้าชาย เพื่อทดแทนบุญคุณที่น้าชายเคยเลี้ยงดูพี่แอ๊วมาตั้งแต่เด็ก โดยผลัดเปลี่ยนกับน้าสาวคนเล็กและพี่สมบูรณ์ซึ่งเป็นลูกของน้องสาวแม่พี่แอ๊ว ... การรักษาดำเนินมาได้เดือนกว่า ๆ หมอจึงคุยกับญาติและได้แจ้งว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย การรักษาไม่ตอบสนอง  หลังจากทราบผลการรักษาญาติทุกคนปรึกษากันว่าจะพาน้าชายกลับบ้าน แล้วทุกคนก็กลับเข้ามาหาน้าชายด้วยสีหน้าเศร้า ๆ น้าชายจึงเอ่ยขึ้นว่า “มีอะไร..กะบอกตรง ๆ เลยเด้อ”  พี่แอ๊วยิ้ม แล้วพูดกับน้าชายว่า “ปะสานอนโรงบาล ตื่นมาล้างหน้ากินข้าวกินยา..แค่นี้ .. อยู่บ้านเฮากะเฮ็ดได้.. เมือบ้านเฮาเนาะน้า” พี่แอ๊วกลืนน้ำลายลงคอด้วยความยากเย็น กระพริบถี่ ๆ ทว่า ใบหน้ายังยิ้มให้น้าชาย น้าชายพยักหน้ารับแล้วยิ้มอย่างมีความหวัง แววตาเป็นประกาย กับคำว่า “เมือบ้านเฮาเนาะน้า” กลับมาอยู่บ้าน พี่แอ๊วและพี่สมบูรณ์ก็ยังผลัดเปลี่ยนกันมาดูแลน้าชายอย่างสม่ำเสมอ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต น้าชายก็จากไปอย่างสงบ “หลับให้สบายเด้อน้า” พรางใช้มือปิดตาให้กับน้าชาย ....

            คำว่า “จิตอาสา” ใช้เท่าไหร่..ก็..ไม่มีวันหมด  เมื่อพี่แอ๊ว ทราบข่าวว่าน้าเขยเป็นโรคหัวใจ ส่วนน้าสาวก็ทำอะไรไม่ถูก เอาแต่ร้องไห้ ละล่ำละลักพูดออกมาไม่เป็นภาษา ด้วยว่ากลัวสามีจะเป็นอะไรไป พี่แอ๊วอาสาพาน้าเขยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย ประสานงานการเข้ารักษาให้ทุกขั้นตอน จนน้าเขยได้เข้ารับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ ยังเป็นกำลังหลักของญาติพี่น้องที่พาน้าเขยเข้ารับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ พี่แอ๊วติดตามดูแลตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงปัจจุบันด้วยความห่วงใย  ด้วยหัวใจและวิญญาณของจิตอาสา ....

            จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยวิกฤตทั้งคนในครอบครัวและญาติใกล้ชิด พี่แอ๊วจึงสมัครเข้าอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Care giver) จำนวน 70 ชั่วโมงของกรมอนามัย โดยหน้าที่ของผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง คือ ติดตามเยี่ยมบ้าน ส่งเสริมสุขภาพ รักษาเบื้องต้น ฟื้นฟูสภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในตำบลบ้านเดื่อ รวมถึงประสานการช่วยเหลือตามสมควรให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงแต่ละราย ระยะเวลาสองสัปดาห์ของการอบรม ทุกอย่างของการเรียนและการฝึกปฏิบัติงาน พี่แอ๊วมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาของตัวเอง ทำให้พี่แอ๊วเข้าใจบทเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น ... จากประสบการณ์ที่มีและวิชาความรู้จากการอบรมทำให้พี่แอ๊วสามารถดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รวมไปถึงผู้ด้อยโอกาสในชุมชนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ใส่ใจทุกรายระเอียด เข้าถึงความรู้สึกของญาติผู้ป่วยเป็นอย่างดี จนกระทั่งผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงคนหนึ่งกว่าวว่า “ขอไปอยู่ด้วยได้ไหม” .....

            เรื่องมีอยู่ว่า ปีที่แล้ว พี่แอ๊วไปเยี่ยมบ้านยายคำบ่อ ยายคำบ่อเป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านที่ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง บ้านยายคำบ่อเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างก่อด้วยปูน เทพื้นปูนหยาบ หน้าต่างบ้านใช้แผ่นสานสำหรับตากยาสูบปิดทับไว้ ส่วนประตูให้เพียงผ้ากั้นไว้ ยายคำบ่ออาศัยอยู่กับลูกชาย (ลุงมีชัย) ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช ยายคำบ่อจึงบอกบอกพี่แอ๊วว่า “มาดูมันให้หน่อย ไม่กินข้าวกินปลา ไม่พูดไม่จา มาตั้งแต่เมื่อวาน” พี่แอ๊วเดินเข้าไปพร้อมกับพี่สมบูรณ์ Care giver ที่เป็นคู่บัดดี้ของพี่แอ๊ว พบว่า ลุงมีชัยรูปร่างผอมแห้ง นอนอยู่บนที่นอนนุ่นเก่า ๆ ปัสสาวะราดบนที่นอน ในห้องคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นปัสสาวะ พี่แอ๊วและพี่สมบูรณ์พยายามปลุกลุงมีชัยให้ตื่น อาการลุงมีชัยตื่นลืมตาขึ้นมาอย่างงัวเงีย พี่แอ๊วจึงบอกลุงมีชัยเข้าไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ลุงมีชัยค่อย ๆ คลานเข้าห้องน้ำ พี่แอ๊วจึงถามว่า “ทำไมไม่เดิน” ลุงมีชัยบอกว่าขาไม่มีแรง พี่แอ๊วจึงเรียกญาติผู้ชายที่อยู่บ้านใกล้มาช่วยในการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดที่นอนลุงมีชัย หลังอาบน้ำเสร็จสิ่งที่พบ คือ แผลกดทับปื้นดำขนาดเท้าฝ่ามือบริเวณสะโพก พี่แอ๊วประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเดื่อเข้าให้การช่วยเหลือทำแผล หลังตัดเนื้อตายพบแผลขนาดวงกว้างเท่าฝ่ามือและกินลึกกล้ามเนื้อก้นกบ พี่แอ๊วยืมเตียงผู้ป่วย ที่นอนลมและประเมินลุงมีชัยว่าเข้ากลุ่มผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง 

            พี่แอ๊วและพี่สมบูรณ์ติดตาม ดูแลการกินยา ล้างแผลและกายภาพบำบัดลุงมีชัยทุกวัน จนอาการลุงมีชัยเริ่มดีขึ้น แผลเริ่มมีขนาดที่เล็กลง ตื้นขึ้นมาก ฝึกใช้วอล์คเกอร์ช่วยพยุงตัวเองได้ แต่อาการยายคำบ่อกลับแย่ลง มีอาการซึม กินอาหารเองไม่ได้ ป้อนอาหารก็กินอาหารได้น้อยลง ขาสองข้างอ่อนแรง ลุกนั่งไม่ได้ พลิกตะแคงตัวลำบาก พี่แอ๊วจึงประสานยืมเตียงและที่นอนลมจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเดื่อให้ และย้ายยายคำบ่อไปไว้ที่บ้านลูกชายคนเล็กของยายคำบ่อเพื่อให้การดูแลยายคำบ่อ แต่ยายคำบ่อยังเป็นห่วงลุงมีชัย พี่แอ๊วจึงเข้าไปคุยกับญาติพี่น้องของยายคำบ่อและลุงมีชัย เพื่อหาทางช่วยเหลือและทุกคนตกลงว่าให้ย้ายยายคำบ่อและลุงมีชัยไปไว้ที่บ้านลูกชายคนเล็ก

            อยู่มาไม่นาน ยายคำบ่อก็จากไปอย่างสงบด้วยวัย 87 ปี เมื่องานฌาปนกิจยายคำบ่อเสร็จเรียบร้อย พี่แอ๊วกับพี่สมบูรณ์ก็ยังมาดูแล ล้างแผล กายภาพบำบัดให้ลุงมีชัยตามปกติทุกวัน เป็นเวลา 9 เดือน 11 วัน แผลลุงมีชัยหายดี ไม่มีภาวะติดเชื้อ ดูเหมือนเรื่องราวจะเป็นไปในทางที่ดี แต่อยู่มาวันหนึ่งพี่แอ๊วได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนบ้านของน้องชายลุงมีชัยให้เข้ามาช่วยลุงมีชัยหน่อย พี่แอ๊วกับพี่สมบูรณ์รีบขับรถมาที่บ้านน้องชายลุงมีชัย พบน้องสะใภ้ของลุงมีชัยกำลังจับไม้กวาดฟาดลงไปที่ขาของลุงมีชัยที่ยังนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย พี่แอ๊วร้องห้ามปราม น้องสะใภ้ของลุงมีชัยจึงเดินหนีไป และสอบถามสาเหตุจากลุงมีชัย โดยลุงมีชัยได้เล่าว่า ก่อนน้องสะใภ้จะออกไปทำงานได้ให้ยาลุงมีชัยกินตามปกติ แต่มีเม็ดขาวเพิ่มมาอีกหนึ่งเม็ด รวมเป็นสี่เม็ด (ปกติจะมียากิน 3 อย่าง ๆ ละ 1 เม็ด) หลังกินข้าวกินยาเสร็จลุงมีชัยก็นอนหลับตั้งแต่ 9 โมงเช้า มารู้สึกตัวอีกที่ก็ 5 โมงเย็น ได้ยินเสียงน้องสะใภ้โวยวาย จึงรู้ว่าตัวเองอุจจาระ ปัสสาวะราดที่นอน แล้วน้องสะใภ้ก็ใช้ไม้กวาดตีลุงตามที่พี่แอ๊วเข้ามาเห็นนั้นแหละ ลุงมีชัยยังได้พูดกับพี่แอ๊วและพี่สมบูรณ์ว่า “ไปอยู่ด้วยได้ไหม” พี่แอ๊วบอกกับลุงมีชัยว่า “ไปอยู่ด้วยไม่ได้ แต่จะมาเยี่ยมทุกวัน” แล้วพี่แอ๊วกับพี่สมบูรณ์ก็ช่วยดูแลความสะอาดตัวลุงมีชัย รวมทั้ง ที่นอนของลุงมีชัยให้เรียบร้อย หลังจากนั้นพี่แอ๊วจึงเดินไปคุยกับน้องสะใภ้ลุงมีชัยว่า “ถ้าทำร้ายร่างกายลุงมีชัยอีก จะแจ้งจับ”

            ในหน้าที่ของลูก พี่แอ๊วให้การดูแลพ่อและแม่วัย 80 ปีในปัจจุบันได้อย่างดี พ่อพี่แอ๊วมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ส่วนแม่พี่แอ๊วเป็นคนไข้ความดันโลหิตสูงที่สามารถควบคุมความดันได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ในบทบาทของคุณแม่ พี่แอ๊วสามารถส่งลูกชายคนเดียวเรียนจบเวชกิจฉุกเฉิน วิทยาลัยสาธารณสุขสิริธรขอนแก่นได้ ปัจจุบันลูกชายพี่แอ๊วทำงานที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสังคม จังหวัดหนองคาย 

            เมื่อห้าเดือนที่ผ่านมา พี่แอ๊วได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวด Care giver ดีเด่นระดับจังหวัดหนองคาย มีผู้เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 5 คน หลังการประกวด 1 สัปดาห์ ผลการประกวดเป็นไปตามคาดหมาย พี่แอ๊วได้รับรางวัล Care giver ดีเด่นระดับจังหวัดหนองคาย สู้สู้..ต่อไปให้ถึงระดับเขตฯ นะคะ .. เมื่อเส้นทางที่จะไปมันสูงขึ้น การเตรียมตัวก็มากขึ้นตามเช่นกัน แต่พี่แอ๊วเป็นคนที่มีความตั้งใจสูง ขยันศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนทักษะในการนำเสนอ ตามคติ “เบญจทำ” ประจำใจของพี่แอ๊ว คือ “ทำได้ ทำจริง ทำด้วยใจ ทำต่อไป ทำให้ดีที่สุด” พอถึงวันประกวด Care giver ดีเด่นระดับเขตสุขภาพที่ 8 โดยการสื่อสารแบบวิดีโอคอล ระบบซูม มีผู้เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 7 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน พี่แอ๊วเดินทางมาใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเดื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพี่แอ๊ว 9 กิโลเมตร พี่แอ๊วได้นำเสนอเป็นคนที่ 6 การนำเสนอดำเนินมาจนถึง 5 โมงเย็น เป็นรอบของพี่แอ๊วต้องนำเสนอแล้ว หายใจเข้าลึก ๆ แล้วทำให้ดีที่สุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเดื่ออยู่ให้กำลังใจพี่แอ๊ว “พี่แอ๊ว..สู้สู้” เมื่อจบการนำเสนอ พี่แอ๊วบอกว่า “ทำได้ไม่ดีเท่ากับไปนำเสนอที่จังหวัด .. แต่ก็แอบหวังเล็ก ๆ นะ  ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราทำเต็มที่แล้ว เพราะผู้เข้าประกวดทุกคนนำเสนอได้ดีมาก ๆ ทุกคนเลย” ระยะรอยคอย .. 3 สัปดาห์ก็มาถึง หนังสือประกาศผลถูกส่งขึ้นมาในห้องไลน์ LTC อำเภอเมืองหนองคาย ความตื่นเต้นเกาะกินหัวใจของทุก ๆ คนที่เฝ้ารอ ค่อย ๆ เปิดเข้าไปอ่าน ...  “คุณพระ” เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเดื่อตาลุกวาว .. เมื่อพบชื่อ นางสาวเกศินี สูฝน หรือ “พี่แอ๊ว” ได้รับเลือกให้เป็น Care giver ดีเด่นระดับเขตสุขภาพที่ 8 หลังทราบผลเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้โทรแจ้งข่าวการประกวดกับพี่แอ๊ว พี่แอ๊ว .. ร้อง..เย้!!!..ออกมาเสียงที่ดังลั่น น้ำตาคลอเบ้าด้วยความดีใจ รางวัลแห่งความภาคภูมิ ความทุ่มเทและเอาใจใส่ รอ รอ..รอไปรับโล่รางวัลกันนะคะ      

            ถึงผลการประกวดจะออกมาแล้ว แต่พี่แอ๊วไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ ยังคงติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงตามปกติ จิตอาสาจัดดอกไม้งานศพโดยไม่รับค่าตอบแทนและยังพัฒนาปรับปรุงบริเวณบ้านตัวเอง ให้เป็นศูนย์ประสานงานของคนในชุมชน เป็นต้นแบบ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าและงานฝีมือ อาทิเช่น พวงมาลัยผ้า ลูกประคบสมุนไพรแบบเปียก น้ำมันเขียวออแกนิค  หมอนรองคอสมุนไพรคลายเครียด ลูกระนาดสมุนไพร ที่ทำขึ้นโดยฝีมือทีมผู้ดูผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Care giver) ทั้งยังเป็นจุดให้บริการนวดประคบสมุนไพร รับซื้อสมุนไพรจากชุมชนเพื่อทำลูกประคบ สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน 

            “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” บทพระบรมราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกที่พี่แอ๊วจำได้ขึ้นใจและใช้มาจนถึงปัจจุบัน  ... ท้องฟ้าที่มืดมิด มรสุมของชีวิตที่มากมาย ก็ไม่สามารถทำให้จิตวิญญาณของอาสาสมัครหญิงหัวใจเพชรคนนี้ลดลงได้เลยแม้แต่น้อย  ขอบคุณคนแกร่ง หัวใจเพชร ... แห่งการดูแล

 

เรื่อง/เรียบเรียง : มยุรฉัตร อินทรโชติ