
ปลูกผักกินไหม ?
“คุณไหม”
หญิงวัย 50 ปี รูปร่างสูงเพรียวหุ่นนางแบบ ผิวขาว ผมสั้นบ็อบ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว เป็นบุคลิกของผู้หญิงวัยทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลนครสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
เหตุแห่งแรงเร้า ไหม ... ปลูกผักกินไหม (มั้ย) ?
เดือนกันยายน ช่วงปลายฝนต้นหนาว ด้วยวิถีคนเมืองไทสกล “คุณไหม” ปลูกผักกินไหม (มั้ย) ณ บ้านชั้นเดียว ยกพื้น หลังสีขาว เป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรเขตชุมชนเมืองในตำบลธาตุเชิงชุมบนพื้นที่ประมาณ 80 ตารางวา มีแปลงผักแบบตั้งโต๊ะ กระถางปลูกผักขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ตั้งเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบข้างกำแพงปูนสีขาวของตัวบ้าน กระถาง กะละมังผักแคล ผักคอส ผักสลัด สะระแหน่ ผักกาดขาว มะเขือเทศ มะเขือเปาะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู สตอเบอรี่และกล้วยน้ำว้า ได้นำเอาถุงปุ๋ยเก่ามาเป็นภาชนะปลูกและเป็นกระถางปุ๋ยไส้เดือน ผักในแต่ละกระถางมีมากถึง 20 กระถางหลากหลายขนาด ผักกำลังงามพอเก็บนำไปทำอาหารรับประทานได้เลย เสียงคุณไหมดังเจื้อยแจ้วขณะนั่งปลูกผักในแปลงข้างบ้าน
“ชอบทานผัก อยากมีผักที่ชอบเก็บหาทานทำอาหารได้เลย ผักที่เราชอบ ที่เราปลูก เพาะเอง มั่นใจว่าสะอาดปลอดสารเคมี”
“วันไหน ฤดูไหน ผักที่ปลูกก็จะปลูกตามฤดู ทำให้ไม่ขาดผักที่จะนำมาทำอาหารทาน”
“คิดว่ากินผักสะอาดปลอดสาร เพราะปลูกเอง ทำให้สุขภาพแข็งแรงและก็อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง จึงคิดว่าควรจะต้องปลูกผักไว้กินเอง ปลูกเองเพื่อสุขภาพ คลายเครียด ได้ออกกำลังกาย แขนแข็งแรง”
“ที่บ้านมีสามี มีไหมและน้องหมา ชื่อ คูเปอร์ อีกหนึ่งตัว สามีเป็นคนทำอาหาร ไหมจะเก็บผัก ทั้งเพื่อทำอาหารและทานสด ๆ เป็นกิจกรรมร่วมของครอบครัว”
ขบวนชีวิต “ปลูกผักกินไหม”
คุณไหมเริ่มปลูกผักมาตั้งแต่ช่วงโควิด 19 เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้ออกไปทำงาน การปลูกผักเพื่อรับประทานในครอบครัวจึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจจะมีผักปลอดสาร ผักที่ต้องการจะรับประทานและหาซื้อยากในตลาด “ทำคนเดียวค่ะ สนุกและเพลินดี เห็นการเติบโตของผัก เก็บมาทานก็อร่อย เพราะสะอาด สบายใจ ดีต่อใจมาก ๆ ค่ะ”
หากแต่การเริ่มต้นทำสิ่งที่ไม่เคยเรียน ไม่เคยทำ ทำให้คุณไหมต้องแสวงหา “กูรูผู้รู้” ที่ปลูกผักแบบปลอดภัยเป็นเบื้องต้น และค้นคว้าหาความรู้ขั้นตอนการปลูกพืชผักที่จะได้ผลผลิตดี ๆ โดยค้นหาและเรียนรู้จาก YouTube ส่วนผู้รู้ในพื้นที่จังหวัดสกลนครนั้นได้สอบถามจากเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยจากกลุ่ม Young Smart Farmer จังหวัดสกลนคร ซึ่งยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์หรือผักปลอดภัย จำนวนเกษตรกรที่มีอาชีพหลักและอาชีพเสริมด้วยการปลูกผักจำหน่าย มีสัดส่วนเกษตรกรปลูกผักแบบทั่วไป ประมาณร้อยละ 70 และเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์หรือผักปลอดภัยเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น ดังนั้น คุณไหมจึงศึกษาฤดูกาลและช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชผักแต่ละชนิดด้วย เนื่องจากเคยปลูกผักคอส แต่ไม่ได้ผลผลิตตามที่ตั้งใจ เพราะมีแมลงมากัดกินใบ ต้นอ่อนตายเยอะ หลังจากได้ศึกษาแล้วจึงค่อย ๆ ปรับแก้การเพาะปลูกพืชผักจากความรู้ที่ได้มาจาก YouTube ซึ่งเป็นเรื่องง่าย สะดวก สำหรับผู้ปลูกมือใหม่ ดูง่ายและทำตามได้ไม่ยาก ไม่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์มากมาย ตัวอย่างจาก YouTube เป็นเรื่องดีมากที่ทำให้คุณไหมเรียนรู้จากเกษตรกรปลูกผักคอสแบบปลอดภัย
ว้าว ... ภูมิใจกับผลผลิตในกระถางผัก
ปลูกผักที่ชอบ ได้รับประทานผักที่ชอบ แถมผักที่ปลูกสะอาด ปลอดสาร เพราะปลูกเอง ทำให้พบว่าผักที่ปลูกปลอดสารเคมีอย่างแท้จริง สิ่งที่ตามมา คือ คุณไหมได้ “เพื่อนเกษตรกร” ผู้เป็นครูคอยแนะนำการทำเกษตรปลอดภัยปลอดสาร และมีแหล่งหาซื้อผัก ต้นกล้าผักที่ต้องการปลูกจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม บทสรุปแห่งความภาคภูมิใจของวิถีคนเมืองไทสกลอย่างคุณไหมกับการปลูกผักบริโภคเองในครอบครัว ผลทางตรง คือ สุขภาพกายดี เพราะได้รับประทานผักปลอดสาร มีผักรับประทานในครอบครัวตลอด เพราะในรอบปีปลูกได้ตลอดในช่วง 5-6 เดือน อีกทั้งเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่ดีของคุณไหม ไม่ต้องไปออกกำลังกายนอกบ้าน ส่วน ผลทางอ้อม คือ คนเมืองที่ทำงานแบบออฟฟิตไม่เคยปลูกผัก ซื้ออาหารจากตลาดหรือซุปเปอร์มาเก็ตเท่านั้น ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดว่าชีวิตเราจะปลอดภัยจากสารเคมี ยาพิษจากปุ๋ยและยาพ่นฆ่าแมลงได้ หากเราปฏิเสธการกินผักในตลาดที่เราไม่รู้จักแหล่งผลิต ไม่มั่นใจว่าปลอดสารเคมีหรือปลอดภัยจริง ๆ “เรา” จึงต้องลุกขึ้นมาปลูกผักกินเอง ประจวบเหมาะกับการเกิดวิกฤตโควิด 19 ทำให้ได้อยู่บ้านลงมือปลูกผักเอง
ในอีกประการ ก่อนที่คุณไหมจะปลูกผักรับประทานเองที่บ้าน ได้มีการตรวจสุขภาพประจำปีและได้คำแนะนำจากคุณหมอเรื่องการรับประทานผักสดที่ต้องระวังเรื่องพยาธิจากผักสด คุณไหมได้หารือคุณหมอว่าล้างผักสดที่ซื้อมาจากตลาดมากกว่า 2 ครั้งต่อการล้างผักในทุกวัน บางครั้งใส่น้ำยาล้างผัก หรือใช้เกลือละลายน้ำแล้วนำไปล้าง บางครั้งใช้เกร็ดด่างทับทิมละลายน้ำแล้วนำไปล้างผัก วิธีเหล่านี้น่าจะทำให้ผักสะอาดปลอดภัย แต่คุณหมอได้แนะนำว่าถึงแม้จะล้างผักด้วยสารพัดวิธี
ผลลัพธ์คือ “ผักยังคงมีพยาธิ” น่ากลัวและต้องพึงระวังใส่ใจให้มากขึ้นกับการรับประทานผักสดจากตลาด คำแนะนำจากคุณหมอที่คลินิกในเมืองสกลนครมีส่วนต่อการปรับวิธีคิดว่า “ถ้ามีผักสะอาดปลอดภัยปลอดสารรับประทาน เราต้องปลูกเองเท่านั้นถึงจะปลอดภัยและสบายใจที่สุด” ความกลัวดังกล่าวทำให้คุณไหมยิ่งพิถีพิถันกับการปลูกผัก ใช้ปุ๋ยที่เป็นอินทรีย์ ปุ๋ยไส้เดือน เป็นต้น
ผักในแปลงหรือในถุงกระถางของคุณไหมจึงสวยน่าเก็บมารับประทานมาก ๆ ด้วยประสบการณ์ฝึกให้เป็นเกษตรกรแบบคนเมืองไทสกลที่ไม่ได้ปลูกเพื่อขาย แต่ปลูกแบบปลอดภัยปลอดสารเพื่อรับประทานในครอบครัว “คุณไหม ปลูกผักกินไหม” คุณไหมทำได้ ได้รับประทานอาหารและผักปลอดภัย สบายใจ สบายกาย แข็งแรง บนฐานเศรษฐกิจครัวเรือน คือ ลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจมาก คือ ก่อนปลูกมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารและซื้อผักประมาณเดือนละ 18,000-21,000 บาท เมื่อปลูกผักบริโภคเองสามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารได้ประมาณเดือนละ 1,000-3,000 บาท
เส้นทางของความสำเร็จแห่งวิถีเกษตรคนเมืองไทสกล “ปลูกผักกินไหม”
“ภูมิใจ ดีใจที่ทำได้ มีผักที่ปลูกเอง สะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร เพื่อทานเองในครอบครัว มีร่างกายแข็งแรง จิตใจผ่องใส ใช้เวลาว่างที่มีอยู่ค่อนข้างน้อยได้ปลูกผักเพื่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ”
“คิดว่า ... อยากชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ในองค์กรภาคีที่ทำงานมาปลูกผักที่บ้านเพื่อทานกันภายในครอบครัว ได้เพื่อน มีเพื่อนมาทำกิจกรรมปลูกผักกินไหมเพิ่มทุกเดือน ถือเป็นความภูมิใจมากที่สุด”
ปัจจัยความสำเร็จ คือ คุณไหมมีสุขภาพแข็งแรง เป็นต้นแบบตัวอย่างให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ออกปลูกผัก และลุกขึ้นมามีกิจกรรมแบบวิถีเกษตรคนเมืองไทสกล ปลูกผักกินไหมกันนะคะ
เรื่อง/เรียบเรียง : ภัทรียากร คะอ้งกุ