
ขยะสร้างสุข บ้านหนองแสงน้อย
บ้านหนองแสงน้อยเดิมมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขาดความสามัคคี จนได้รับสมญาว่า "บ้านหนองแสงโส" แต่เมื่อปี 2560 สภาผู้นำชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ริเริ่มโครงการพัฒนาหมู่บ้าน โดยเน้นการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมผ่าน "กติกาสัญญาใจ" 5 ข้อ ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งจนสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นหมู่บ้านตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม มีระบบธนาคารขยะ "ขยะแลกเงิน" สร้างรายได้และความสะอาด ชุมชนพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภายนอกอีกต่อไป ปัจจุบันบ้านหนองแสงน้อยกลายเป็นหมู่บ้านจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด “ขยะสร้างสุข” แก่ชุมชน
เดิม “บ้านหนองแสงน้อย” มีชื่อว่า “บ้านหนองแสงโกน” เนื่องจากมีหนองน้ำอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านและมีต้นแสงจำนวนมากอยู่รอบบริเวณหนองน้ำโดยต้นแสงขนาดใหญ่จะมีโกน (โพรง) จึงเรียกชื่อบ้านตามลักษณะต้นแสงว่า บ้านหนองแสงโกน ทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านเคยเป็นพื้นที่ป่าหนาทึบมีทั้งเสือและช้าง ตลอดจนสัตว์ทุกชนิดอาศัยอยู่ เหมาะสมในการทำนา ทำไร่ จึงได้มีชาวบ้านอพยพมาสร้างบ้านเรือนปัจจุบัน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 210 ครัวเรือน ประชากรที่อาศัยอยู่จริง รวมทั้งสิ้น 669 คน
ก่อนปี พ.ศ. 2559 บ้านหนองแสงน้อย เป็นชุมชนใหญ่ ล้าหลัง ไม่มีการพัฒนา เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาสารเสพติด ขาดความสามัคคี เกิดการทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง ทุกครัวเรือนมุ่งเน้นเฉพาะกิจกรรมของตน ไม่สนใจส่วนรวม จะร่วมประชุมเฉพาะครั้งที่เล็งเห็นผลประโยชน์ส่วนตน เมื่อร่วมประชุมก็จะพูดเข้าข้างตนเองเสมอ จนได้รับสมญานามจากหมู่บ้านข้างเคียงว่า “บ้านหนองแสงโส” กล่าวคือ เป็นหมู่บ้านที่ดีแต่พูด ไม่ลงมือทำ “ขยะสร้างสุข” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
จากการเฝ้าสังเกต ติดตาม เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านหนองแสงน้อย มาตั้งแต่ปี 2559 - ปัจจุบัน พบว่า เมื่อปี 2560 คณะกรรมการหมู่บ้านได้เข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.สำนัก 6) โดยมีนายกองสี ภูมิพนา ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน รวม 15 คน เป็นแกนจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนขึ้น เพื่อเป็นแกนหลักสร้างชุมชนให้น่าอยู่ โดยเริ่มจากประเด็นการจัดการขยะและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในชุมชน สภาผู้นำชุมชน มีการเปิดรับสมัคร ผู้มีจิตอาสาต้องการเข้ามาร่วมพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่ น่าอาศัย อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกสภาผู้นำชุมชน 50 คน มีการแบ่งคุ้มออกเป็น 7 คุ้ม (เดิมมี 4 คุ้ม แบ่งเขตไม่ชัดเจน แบ่งตามบ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) มีการสร้างกติกาสัญญาใจเพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ในประเด็นขยะและสิ่งแวดล้อม 5 ข้อ ประกอบด้วย 1) ทุกครัวเรือนมีการแยกขยะ 2) ทุกครัวเรือนไม่นำขยะไปทิ้งในที่สาธารณะ 3) ทุกครัวเรือนไม่เผาขยะหน้าบ้าน 4) ทุกครัวเรือนจัดบ้านให้น่าดู น่ามอง (หน้าบ้านสวย หลังบ้านสวน จัดบ้าน 3 หอ) และ 5) ทุกครัวเรือนร่วมกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านทุกเดือน ทั้ง 5 ข้อนี้ สภาผู้นำชุมชนทุกคนต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง แล้วจึงนำกติกาสัญญาใจไปจัดทำประชาคมชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมกันพิจารณาแล้วลงมติที่ประชุม ซึ่งมีชาวบ้านร่วมประชาคม 196 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 93.33 มาจากทุกคุ้ม มีการเลือกตั้งคณะกรรมการคุ้มทุกคุ้ม โดยมีสภาผู้นำชุมชนในคุ้มเป็นแกนประสานงานกับสภาฯ หมู่บ้าน มีการประชุมคุ้มทุกเดือน สภาฯ ประจำคุ้มนำผลการประชุมคุ้ม กิจกรรมที่ดำเนินการตามกติกาชุมชน เข้าเสนอในที่ประชุมสภาผู้นำชุมชนหมู่บ้านทุกเดือน เพื่อให้สภาฯ หมู่บ้านรับทราบหรือหาทางช่วยเหลือคุ้ม กรณีต้องการความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการขยะและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง กติกาสัญญาใจร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ สามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 5 ข้อ
ผ่านไป 5 ปี บ้านหนองแสงน้อย ถูกเรียกขานใหม่ว่า เป็นหมู่บ้านพัฒนา จากการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชน ยังผลให้กลายเป็นหมู่บ้านที่ส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมเกือบทุกกิจกรรมในหมู่บ้านมากขึ้น เช่น เทศบาลตำบลผาเสวย มาสนับสนุนโครงการถนนสีเขียว พัฒนาชุมชนคัดเลือกเป็นตัวแทนหมู่บ้าน คนดี ศรีกาฬสินธุ์ ระดับอำเภอสมเด็จ เทศบาลผาเสวยประกวดหมู่บ้านไร้ขยะ บ้านหนองแสงน้อยได้ระดับดีเยี่ยม เป็นหมู่บ้านที่มีการจัดกิจกรรมที่สร้างเสริมความสะอาดของหมู่บ้านอยู่เป็นประจำผ่านสนับสนุนกิจกรรมสร้างชุมชน ขับเคลื่อนโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ มีการจัดสุขลักษณะในบ้าน โดยการจัดบริเวณบ้านสะอาด เป็นระเบียบไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและไม่เป็นพาหะนำโรค ทำให้สวยงาม เช่น รั้วกินได้ หรือปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีการบริหารจัดการขยะที่เป็นระบบโดยมีธนาคารขยะหมู่บ้านเป็นศูนย์กลางในการจัดการขยะ (ขยะแลกเงิน) และร่วมกับบริษัท Why me จำกัด เข้ามารับซื้อทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ หรือกรณีมีขยะเต็มสามารถเรียกรถเข้ามารับโดยใช้แอพพลิเคชั่นไลน์เรียกรถ โดยบริษัทมีตะกร้าคัดแยกขยะให้ครัวเรือนละ 2 ตะกร้า สมาชิก 67 ครัวเรือน รายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 200 บาท/เดือน รวมทั้งหมู่บ้าน 12,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของ จิตอาสาหมู่บ้านในการช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เช่น การกวาดถนนรอบหมู่บ้าน เก็บขยะ ปรับปรุงภูมิทัศรอบหมู่บ้าน ดูแลรักษาความสะอาดแหล่งน้ำชุมชน และเป็นกลุ่มที่คอยสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำในการบริหารจัดการขยะในครัวเรือนให้ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ มีคณะกรรมการด้านใส่ใจความสะอาด โดยมีนายทองอินทร์ ศิลารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานการจัดการขยะจัดการสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน
จากการสังเกตและชวนชาวบ้านหนองแสงน้อยพูดคุยถึงความสำเร็จเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน เห็นว่า ผู้บริหารทุกระดับ ทุกหน่วยงาน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม มีกลไกสภาผู้นำชุมชน พชอ. / พชต. ร่วมขับเคลื่อนงาน ภาคีเครือข่ายและชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรม ทุกระดับ ตั้งแต่ การเก็บข้อมูล การวางแผน การดำเนินงาน และการประเมินผล อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุม มีการประชาสัมพันธ์ และคืนข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีการทำประชาคมชาวบ้าน และมีการสร้างขวัญกำลังใจในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง เช่น นายอำเภอสมเด็จมอบใบประกาศเกียรติคุณครัวเรือนต้นแบบเรื่องการสร้างครัวเรือนให้มีสุข กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน มอบรางวัลคุ้ม/บุคคลดีเด่นเรื่องการจัดการขยะในครัวเรือน
บทเรียนที่น่าสนใจเพื่อนำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่น
การสร้างบุคคล/กลุ่ม “ต้นแบบ” ในการจัดการขยะและดูแลสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก บ้านหนองแสงน้อยเริ่มก่อตัวจากแนวคิดของสภาผู้นำชุมชน จากข้อกำหนดของโครงการชุมชนน่าอยู่ที่กำหนดให้มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานโดยตำแหน่งและให้เปิดรับสมัครสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ไม่กำหนดจำนวนสมาชิก มีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีข้อมูลที่สัมผัสได้ เป็นข้อมูลจริงในหมู่บ้าน มาพูดคุยกัน ทุกคนร่วมกันทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ สร้างกติกา ของสภาผู้นำชุมชนร่วมกัน และทุกคนนำไปปฏิบัติได้ มีการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหา ที่พบในหมู่บ้าน ทุกคนร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน ร่วมกันนำไปปฏิบัติเป็นต้นแบบ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้ชาวบ้านพบเห็น ร่วมกันประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมกันหาภาคีเครือข่ายที่จะมาช่วย ส่งเสริม หรือสนับสนุนให้สภาผู้นำชุมชน หรือชาวบ้านขับเคลื่อน หรือปฏิบัติตามกติกาสัญญาใจร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ตามกติกาที่ผ่านการประชาคมมาแล้ว “ทำได้ง่าย ทำได้ดี มีความสุข” มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะในหมู่บ้าน ใช้กฎระเบียบหมู่บ้านและแผนพัฒนาหมู่บ้านมาใช้เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการดูแลรักษาความสะอาด โดยมีการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาหมู่บ้านในการช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยในพื้นที่สาธารณะของหมู่บ้าน เช่น การกวาดถนนรอบหมู่บ้าน เก็บขยะ ปรับปรุงภูมิทัศรอบหมู่บ้าน ดูแลรักษาความสะอาดแหล่งน้ำชุมชน และเป็นกลุ่มที่คอยสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำ มีการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ (ขยะแลกเงิน) ผ่านบริษัท Why me จำกัด เข้ามารับซื้อทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ หรือ ผ่านคุ้มสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นคุ้มแกนนำการจัดการขยะรีโซเคิล คุ้มอรุณเบิกฟ้าทำหน้าที่แกนนำแปรรูปขยะ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์จากซองผงซักผ้า ทำไม้กวาดพลาสติก คุ้มศรีเมืองพัฒนาทำหน้าที่เป็นแกนนำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทั้งชนิดน้ำและชนิดแห้งจากขยะ คุ้มหนองม่วงพัฒนาทำหน้าที่ซ่อมแซม วัสดุ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมโต๊ะ เก้าอี้ และทุกคุ้มร่วมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยใช้ถุงผ้าทดแทน ทุกคุ้มร่วมกันนำขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ให้คุ้มค่าที่สุด ก่อนนำไปกำจัดที่ถูกวิธี
เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสู่การพึ่งตนเองได้
จากคำบอกเล่าของนายกองสี ภูมิพนา ผู้ใหญ่บ้านในนามประธานสภาผู้นำชุมชนว่าตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สภาผู้นำชุมชนบ้านหนองแสงน้อยไม่ได้ขอรับงบประมาณจาก สสส. สำนัก 6 แต่ยังมีการทำงานเป็นทีมของสภาผู้นำชุมชน แต่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อไปตามสถานการณ์ เช่น เป็นกลุ่มจิตอาสา เป็นกลุ่มสภาเกษตรกรรม เป็นกลุ่มรักประชาธิปไตยต้านการทุจริต กลุ่มต่อต้านการขายเสียง ฯลฯ แต่ก็ยังเป็นกลุ่มสภาผู้นำชุมชนเหมือนเดิม ชาวบ้านมีการทำงานเป็นทีม รายคุ้มมีการทำงานที่เข้มแข็ง มีการแข่งขันการพัฒนาคุ้มอย่างต่อเนื่องแม้ไม่มีการจัดประกวดคุ้ม ประกวดหมู่บ้าน มีการตอบรับนโยบายของทางราชการอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้แทนหมู่บ้านให้ทางราชการส่งเข้าประกวด ร่วมกับภาคีเครือข่ายบ้าน วัด ราชการ ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี มีความสุข อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“บ้านหนองแสงโส” คำกล่าวนี้ได้หายไป “ขยะสร้างสุข” เกิดขึ้นได้จริง ที่บ้านหนองแสงน้อย หมู่ 4 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
เรื่อง/เรียบเรียง : เลิศสุวรรณ สีอ่อนดี