
เลิกบุหรี่ไม่ต้องคิดว่าทำเพื่อใคร … แต่ให้ทำเพราะรักตัวเอง
“บุหรี่” เป็นสารเสพติดถูกกฎหมายที่หาซื้อได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เมื่อก่อนเราพบว่าผู้สูบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ วัยทำงาน หรือวัยสูงอายุที่สูบติดต่อกันมายาวนานหลายปี แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ผู้สูบมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี นั้นคงสืบเนื่องมาจากการหาซื้อบุหรี่ได้ง่าย ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึง และการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปในทุกสังคมก็ว่าได้ ซึ่งใครจะเชื่อว่าจากเรื่องปกติทั่วไปในสังคมนี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของคนในสังคม และนำผู้สูบสู่การเป็นผู้เสพยาและสารเสพติดอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นตามมาได้อีกด้วย
“จากบุหรี่มวนสู่บุหรี่ไฟฟ้า” ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ บุหรี่ไฟฟ้าถูกพัฒนาขึ้นโดยโฆษณาสรรพคุณชวนเชื่อว่า เป็นตัวช่วยที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น เป็นบุหรี่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดาทั่วไป จนได้กลายเป็นเหมือนทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบดั้งเดิม จึงมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน นักสูบหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม นอกจากนี้แล้วยังมีนักสูบหน้าใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะผู้หญิง เด็กและเยาวชน
ผมได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ในวงเสวนาประเด็น “บุหรี่ไฟฟ้า: วิกฤติและภัยคุกคามของเด็กและเยาวชนไทย” ภายใต้โครงการสานสุขไทอีสาน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงทำให้ผมได้รู้จักกับ “น้องไตเติ้ล” ผู้เข้ามาร่วมวงเสวนา ในฐานะอดีตผู้เคยใช้บุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งน้องได้แลกเปลี่ยนหลายประเด็น ที่โน้มนำให้ผมเกิดความประทับใจและอยากบันทึกไว้เป็นเรื่องเล่าเรื่องนี้
ในวงเสวนา … น้องไตเติ้ล เล่าให้ฟังว่า
“...ผมเคยเป็นอดีตคนสูบบุหรี่ปกติมาก่อน และก็เข้ามาที่บุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่าเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ธรรมดา...เมื่อก่อนบุหรี่ไฟฟ้า ราคาสี่ถึงห้าพันบาท ปัจจุบันใช้เงินแค่ สองสามร้อยก็ซื้อได้แล้ว ทุกวันนี้มีทั้งแบบของเล่น แบบเป็นแท่งเล็ก ๆ พกพาง่าย แอบซ่อนได้ง่าย...ส่วนผสมของบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เด็ก ๆ ชอบมาก คือกลิ่นที่หอม ไม่เหม็น ไม่ทำให้เสียบุคลิกเหมือนบุหรี่มวน...”
ผมสังเกตว่า “น้องไตเติ้ล” เล่าด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างเบาและแหบพล่า เสมือนเป็นสัญญาณให้รู้ได้กลาย ๆ ว่าน้องมีปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งน่าจะมาจากการสูบบุหรี่นั่นเอง และจากคำบอกเล่าของน้องไตเติ้ล ทำให้นึกภาพตามและจำขึ้นมาได้ทันทีว่า ตัวผมเองก็เคยพบเห็นการขายบุหรี่ไฟฟ้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ในราคาไม่กี่ร้อยบาทอย่างเปิดเผย ด้วยรูปลักษณ์และสีสันที่ดูทันสมัย เท่ห์ มีสไตล์ ไม่น้อยที่เดียว และผมก็ยังจำได้ว่าข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ที่ผ่านมา ยังไม่มีงานวิจัยที่บอกได้อย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริง หรือในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน
“...ผมเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าเมื่อปี 2561 จนถึงปี 2564 แรก ๆ ก็ดีไม่มีปัญหาอะไร หลัง ๆ ผลกระทบมันก็เริ่มตามมา ทั้งรูสึกว่าติดรสหวานของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้อ้วนขึ้นด้วย ทั้งความดันโลหิตสูง ทั้งหอบหืด หลาย ๆ โรคก็เริ่มรุมเร้า ทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิม ทำให้รู้สึกอยากเลิก…ผมจึงเริ่มปรับลดปริมาณนิโคตินในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าลง แต่ก็เลิกไม่ได้...”
คำกล่าวของน้องไตเติ้ล เป็นเหมือนการสะท้อนให้ผมได้ทบทวนองค์ความรู้เรื่องผลกระทบของบุหรี่ต่อสุขภาพที่ว่า บุหรี่มวนหรือบุหรี่แบบดั่งเดิม ผู้สูบจะมีการสะสมของสารพิษในร่างกายจากการสูบบุหรี่ ใช้ระยะเวลาเป็นสิบ ๆ ปี จึงจะเกิดผลกระทบหรือตรวจพบโรคร้ายแรง ผู้สูบจึงไม่รับรู้หรือตระหนักถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ธรรมดาในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งเกิดโรคและการเจ็บป่วยร้ายแรงเสียก่อน จึงจะเข้าใจและหันมาเลิกบุหรี่ แต่ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้น ใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก ที่สามารถตรวจพบผลกระทบต่อสุขภาพ ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี ก็เกิดโรคและการเจ็บป่วยได้มากมาย
ผมคงจะผ่านจุดสำคัญจุดนี้ไปไม่ได้ ที่จะขอเล่าถึงปัญหาหรือผลกระทบที่ตามมาของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของผู้สูบ ถึงแม้ผู้อ่านหลาย ๆ คน คงจะได้รับรู้มาไม่น้อยแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างสั้น ๆ เช่น โรคในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ และหอบหืด ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ อย่างที่น้องไตเติ้ลได้เล่าให้เราฟัง ที่ตัวน้องเองมีทั้งอาการของโรคหอบหืดและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากใช้บุหรี่ไฟฟ้า และถึงแม้จะเลิกแล้วก็ยังคงมีอาการของโรคเหล่านั้นอยู่ ยังต้องรักษาและดูแลตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ หากเป็นตัวผมเองก็คงจะทนไม่ไหวและคงหาทางวิถีหรือหนทางที่จะเลิกเช่นเดียวกัน และนี่ก็ยังเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินได้ฟังว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถปรับลดสารนิโคตินในน้ำยาได้ ซึ่งน้องเลือกใช้เป็นวิธีการแรก ๆ เพื่อที่จะเลิกบุหรี่ไฟฟ้า แต่ก็ยังช่วยให้เลิกไม่ได้
น้องไตเติ้ล ยังได้เล่าต่ออีกว่า
“...ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เลิกบุหรี่ ผมอาจจะโชคดีที่มีคุณแม่ ที่ช่วยหาวิธีการเลิกบุหรี่ ช่วงแรกคุณแม่พาไปศูนย์ช่วยเลือกบุหรี่ แต่ก็ยังเลิกไม่ได้ เพราะยังแอบสูบอยู่ ผมพยายามเลิกอยู่หลายครั้ง ถึงเอาบุหรี่ไฟฟ้าไปทิ้งแต่ก็ยังหาซื้อมาใช้ได้ใหม่อยู่ดี เพราะมีวางขายกันทั่วไปทั้งตามร้านและออนไลน์...จนกระทั่งผมตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ ซึ่งผมสังเกตตัวเองว่า ผมก็ยังติดรสหวานของบุหรี่ ผมชอบบุหรี่รสแอบเปิ้ล รสองุ่น เมื่อผมรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ผมก็ซื้อผลไม้เป็นแอปเปิ้ล ซื้อองุ่นมาทานแทน จนในที่สุดผมก็เลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้...”
ตรงนี้ชวนให้ผมตระหนักขึ้นมาได้ว่าครอบครัวที่เข้าใจและให้กำลังใจ เป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ที่ช่วยให้ผู้สูบสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ และสำคัญยิ่งกว่านั้นคือตัวผู้ที่สูบบุหรี่เอง ที่ต้องเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย จึงต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งจากคนรัก จากครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่คอยให้กำลังใจและคอยชื่นชม เมื่อผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่อง หรือปฏิเสธไม่สูบบุหรี่ในแต่ละคราวหรือแต่ละวันได้สำเร็จ ไม่ปล่อยให้เขาเหล่านั้นต่อสู้หรือพยายามอยู่เพียงลำพัง
ก่อนจะสิ้นสุดการเสวนา น้องไตเติ้ลได้ฝากถึงน้อง ๆ ที่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือมีความตั้งใจที่จะสูบว่า
“...สำหรับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ใจผมก็อยากล่ะครับ การเลิกบุหรี่อยากให้คิดไว้เสมอว่า อย่าเลิกเพื่อคนอื่น เพื่อคนนั้นคนนี้ ให้เลิกเพราะว่าตัวเรา เพื่อให้ตัวเองดีขึ้น เราอยากให้สังคมรอบข้างมันดีขึ้น เราอยากให้ผู้คนที่เข้าหาเรารู้สึกดีขึ้น...ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่เพิ่งลองหรือยังไม่ติด บุหรี่ไม่ใช่คำตอบของคำว่าเท่ หรือดูเจ๋งในกลุ่มวัยรุ่น เพราะมันส่งผลกระทบมากมายต่อตัวเราและคนรอบข้าง...”
ถึงแม้ว่าผมจะได้พูดคุยกับอดีตผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย แต่ตลอดการพูดคุยทำให้ผมได้สะท้อนมุมมองของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผลกระทบที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ได้รับรู้ความคิดความเชื่อของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า รับรู้ถึงปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจริง ได้เห็นกำลังใจและแรงสนับสนุนที่สำคัญจากครอบครัวและคนรอบข้าง ที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวผมเองแล้ว ผมเชื่อเสมอว่าการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย คงอาศัยเพียงสถาบันครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ทุกระดับองค์กรในสังคมต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า และร่วมมือกันในการจัดการแก้ไขอย่างเป็นระบบ อย่ารอให้ปัญหารุนแรงจึงเกิดการแก้ไข แต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหามันรุนแรง
สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากถึงผู้ที่อยากจะเลิกบุหรี่ทุกท่าน การเลิกบุหรี่มวนโดยเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน คงไม่ใช่ทางออก ความตั้งใจและความเชื่อมั่นในตนเองต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ และการเข้ารับการบำบัดรักษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากวงจรนักสูบได้ … ขอบคุณครับ
เรื่อง : ธีรภัทร บึงมุม
เรียบเรียง : ชัยวัฒน์ อินไชยา