
โนนภิบาลแคร์ : ระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (LTC)
ผู้ป่วยติดเตียง “คุณหมอ ขอบคุณหลาย ๆ เด้อ ตา...เอาถุงข้าวที่บักหล่าสีไว่ ฝากให่คุณหมอนำแนเด้อ”
หมออนามัย “ขอบคุณครับยาย บ่น่าสิลำบากเลยครับ”
เมื่อผมกลับไปถึงสถานีอนามัยภายหลังไปทำแผลกดทับให้กับคุณยายในหมู่บ้าน ด้วยความสงสัยจึงถามคุณป้าผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าทำไมคุณยายจึงเอาข้าวให้ผมทั้งที่ผมก็มีพอกินอยู่ “ข้าวใหม่ตั้วะ คุณหมอ ปกติเพิ่นนึ่งไปวัดเด๊ ไปถวายพระ เพื่อให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้กินก่อน ถึงสิเอามากินในบ้านเพิ่น” ผมไม่เคยหวังอะไรตอบแทนจากสิ่งที่ผมทำ เพราะนั่นคือความตั้งใจและความสุขที่ผมได้มาทำในวิชาชีพนี้ แต่ข้าวใหม่ของคุณยายถุงนั้นช่างมีคุณค่าเหลือเกิน มากกว่าความหมายของคำว่า “ความสุข” ที่ผมควรได้รับ ความรู้สึกเช่นนี้เป็นคุณค่าของความดีที่ทุกคนควรมีให้แก่กันในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำเพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าตนเองจะมีโอกาสได้ทำเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่
ปี พ.ศ. 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน ตำบลโนนภิบาล อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นหนึ่งในตำบลเป้าหมาย ตำบลโนนภิบาลมี 14 หมู่บ้าน ประชากร 3,625 คน มีผู้สูงอายุ 616 คน เข้าใกล้สังคมสูงวัยเข้าไปทุกที ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 73 คน “นี่คือโอกาสสำคัญที่จะสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน” ตามแนวทางการดำเนินงานของ สปสช. และที่สำคัญมีงบประมาณมาสนับสนุนด้วย
รองนายก อบต. “ท่าน ผอ. เอาจั่งใด๋เฮา” รองนายก อบต. เชิญมาปรึกษาเมื่อได้รับมอบหมายจากนายก อบต. ให้รับผิดชอบศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนดังกล่าว
ผอ.รพ.สต. “เอาเลยแหล่วครับท่านรองฯ ถ่าเฮ็ดได้สำเร็จ สิเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเลยเด๊ครับ เฮาดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายดี เพิ่นกะสิย้อง ลูกหลานเพิ่นยุใกล้ยุไกลเห็น เพิ่นกะสิวาดี มีตะได้เด๊ครับ”
รองนายก อบต. “แหล่ว สิเริ่มต้นจั่งใด๋ ผอ.”
ผอ.รพ.สต. “เออ จั่งซี่เนาะครับท่านรองฯ เรื่องการบริการให้เป็นหน้าที่ผม เรื่องการบริหารหรือการประสานงานกะต้องอาศัยท่านรองฯ หล่ะครับ”
รองนายก อบต. “เอากะเอา เฮ็ดไปนำกันเนาะท่าน ผอ.” รองนายกพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและแววตาที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น
หนึ่งปีผ่านไปเหมือนเด็กหัดเดิน ล้มบ้าง ยืนได้บ้าง จนก้าวเดินอย่างมั่นคง มีน้องพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้จัดการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care manager: CM) มี อสม. 10 คน ผู้มีจิตอาสาที่จะทำงานเป็นผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) เพิ่มขึ้น รองนายกฯ เป็นประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน ตำบลโนนภิบาล ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการ
ดูแลตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) โดย CG และทีมสหวิชาชีพจาก รพ.สต.โนนภิบาล และโรงพยาบาลชุมชน ประธานศูนย์ร่วมออกติดตามเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กระทั่งในปีถัดมามีการเปลี่ยนแปลงให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตำบลโนนภิบาล เป็นหน่วยบริการขอรับงบประมาณและจัดบริการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ส่วนรองนายกฯ ยังเป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุนการดำเนินงานเช่นเดิม
ผอ.รพ.สต. “ท่านรองฯ ครับ ที่ผ่านมาเฮาดูแลสุขภาพผู้มีภาวะพึ่งพิงได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ แต่ว่าได้ดูแลเฉพาะผู้มีภาวะพึ่งพิง แล้วผู้สูงอายุกลุ่มปกติ เฮาสิดูแลเพิ่นนำได้จังใด๋ครับ”
รองนายก อบต. “อึ่ม แหม่นเด่ะเน๊าะ ที่ออกไปเยี่ยมผู้สูงอายุกับท่าน ผอ. มีหลายคนบ้านผุพัง บ่ปลอดภัย บางคนเหงา ลูกหลานบ่อยู่นำ พุลางคนตายแล้วเงินฌาปนกิจหมู่บ้านกะบ่พอจัดงานศพ” รองนายกบ่นพร้อมกับคุ้นคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะแลกเปลี่ยนต่อว่า “เอาจั่งซี่ท่าน ผอ. เฮาต้องเอาเรื่องนี้เข้าเป็นวาระการประชุมแผนพัฒนาตำบล ต้องซ่อยกันและให้ทุกภาคีเข้ามามีส่วนร่วม”
ภายหลังจากรองนายกนำเรื่องผู้สูงอายุเข้าเป็นวาระในการประชุมแผนพัฒนาตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนภิบาล มีการระดมความคิดและเสนอแนะจากหลายภาคส่วน ทำให้ทราบว่าหลายคนที่ต่างฐานะในชุมชนมีความต้องการ มีความพร้อมและมีสรรพกำลังอยู่แล้วในการที่จะดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ 1) อบต.โนนภิบาล มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและงบประมาณที่จะสนับสนุน โดยเฉพาะปัจจุบันปลัด อบต.โนนภิบาล ที่ย้ายมารับตำแหน่งใหม่มีประสบการณ์และความต้องการที่จะจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังมาร่วมกิจกรรมทางสังคม ผ่อนคลายความเครียดและสร้างคุณค่าของตนเอง 2) ชมรมผู้สูงอายุพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน 3) สภาองค์กรชุมชนโดยรองนายกเป็นประธาน มีงบประมาณซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) 4) ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านมีชมรมฌาปนกิจสงเคราะห์ตำบลที่จะช่วยเหลือเมื่อถึงเวลาผู้สูงอายุเสียชีวิต 5) รพ.สต. มีบุคลากรสาธารณสุข เป็นกลไก Care Giver และ อสม. ที่มีความพร้อมมีความรู้และมีใจที่จะทำงานพร้อมงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เพื่อการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะทำงานเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในตำบลโนนภิบาล รองนายกฯ จึงเสนอต่อที่ประชุมให้นายก อบต.โนนภิบาล ประกาศเป้าหมายร่วมกันคือ “ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลที่ดีตามบริบทอย่างสมศักดิ์ศรีไม่มีรอยต่อ” นอกจากการสนับสนุนภายในตำบลด้วยกันแล้ว อบต.โนนภิบาล ยังมีเครือข่ายจากกองทุนทดแทนของ อบจ.มหาสารคาม เพื่อขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ผู้นำชุมชนมีเครือข่ายการขอรับสนับสนุนจากกองทุนปันสุขบรรเทาทุกข์ชาวแกดำ โดยนายอำเภอเป็นประธานและเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม ส่วน รพ.สต.โนนภิบาล ยังทำงานเชื่อมโยงเครือข่าย รพช.แกดำ ที่ให้การสนับสนุนบุคลากรและครุภัณฑ์การแพทย์ต่าง ๆ เพื่อดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุอย่างสมศักดิ์ศรีไม่มีรอยต่อ “ไม่ว่าจะเป็นคนในตำบลโนนภิบาลหรือไม่ ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนผู้มีภาวะพึ่งพิงหรือยัง หากอยู่ในตำบลโนนภิบาลจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันและดีที่สุด” คือความหมายของคำว่า “ไร้รอยต่อ” ของรองนายก อบต.โนนภิบาล
ปี พ.ศ. 2565 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เลือกตำบลโนนภิบาลเป็นพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ช่วยเหลือดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบการดูแลระยะยาวด้วย
ผอ.รพ.สต. “ท่านนายกครับ หลังจากการเลือกตั้งนายก อบต. ทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ท่านรองนายกได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.โนนภิบาล ด้วยคะแนนทิ้งห่างนายกคนเก่า และอดีตนายกคนก่อนหน้าพอสมควร อาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ท่านมาทำงานด้านผู้สูงอายุจะส่งผลให้ท่านได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาชน แต่นี่คือผลแห่งความดีที่ท่านทุ่มเททำงานมาด้วยความจริงจัง จริงใจ ความดีนั้นกำลังผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มมส. เพิ่นขอพื้นที่ตำบลโนนภิบาลเฮาร่วมโครงการวิจัย Long Term Care ท่านนายกฯ สิว่าจั่งใด๋น้อครับ”
นายก อบต. “ดีเลยครับ ผอ. สิได้มีเครือข่ายซ่อยเฮ็ดงาน ผู้สูงอายุตำบลโนนภิบาลสิได้มีสุขภาพดี”
ระยะเวลาหนึ่งปีที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาศึกษาในพื้นที่ตำบลโนนภิบาล ผลที่ได้ คือ กลไก Care Giver ได้รับการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง เกิดนวัตกรรมในการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง มีนโยบายที่ชัดเจนร่วมกันของทุกภาคส่วนในการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ 1) อบต.โนนภิบาล สนับสนุนการจัดบริการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงอย่างเต็มรูปแบบ เต็มที่และเหมาะสม 2) ทุกภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง และ 3) ตำบลโนนภิบาลมุ่งส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนสืบสานวัฒนธรรม ใส่ใจ ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงอย่างยั่งยืน
ปี พ.ศ. 2566 ตำบลโนนภิบาลได้เข้าร่วมการคัดเลือกองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) โดยศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น จากผู้สูงอายุทั้งหมด 750 คน คิดเป็นร้อยละ 17.34 มีกลุ่มพึ่งพิง 98 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 เคลื่อนไหวได้บ้างอาจมีปัญหาการกิน หรือการขับถ่าย แต่ไม่มีภาวะสับสนทางสมอง จำนวน 87 คน กลุ่มที่ 2 มีภาวะสับสนทางสมอง จำนวน 1 คน กลุ่มที่ 3 เคลื่อนไหวเองไม่ได้และอาจมีปัญหาการกิน การขับถ่ายหรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง จำนวน 10 คน แต่ไม่มีกลุ่มที่ 4 คือ ระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยหัวใจ 5 ดวง ได้แก่ 1) ครอบครัว 2) อบต. 3) รพ.สต. 4) หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ และ 5) องค์กรชุมชน โดยมีนโยบายร่วมกันที่ชัดเจน ภายใต้บทบาทภารกิจของแต่ละฝ่าย ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน คือ “ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลที่ดีตามบริบทอย่างสมศักดิ์ศรีไม่มีรอยต่อ” รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลแกดำ กองทุนปันสุขบรรเทาทุกข์ชาวแกดำ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดมหาสารคาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามและภาคเอกชน ส่งผลให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีค่าคะแนนความสามารถในชีวิตประจำวัน (ADL) ดีขึ้น 24 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มติดสังคม 9 คน ถึงจะมีผู้เสียชีวิตและมีผู้มีค่าคะแนน ADL ลดลงบ้างก็ตาม ตำบลโนนภิบาลได้รับ “รางวัลชนะเลิศตำบลที่มีระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวดีเด่นระดับเขตสุขภาพที่ 7” รางวัลนี้ได้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงานอย่างภาคภูมิ มีคำชมมากมายสำหรับทีมที่ไปนำเสนอผลงาน เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่สิ่งที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงตำบลโนนภิบาลภูมิใจมากที่สุด คือ รอยยิ้มและคำขอบคุณจากผู้สูงอายุและญาติผู้สูงอายุเมื่อเราออกไปเยี่ยมไปดูแล นั่นคือกำลังใจและความสุขที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจของทีมงานในการที่จะก้าวเดินต่อไปเพื่อดูแลปูชนียบุคคลของตำบลโนนภิบาลอย่างเต็มกำลังต่อไป
ผอ.รพ.สต. “ท่านนายกครับ มื้อหนึ่งข้างหน้า เฮาต้องเฒ่าและอาจเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิง เฮาสิเฮ็ดจั่งใด๋”
นายก อบต. “ตามที่คณะทำงานได้ประชุมสรุปโครงการตอนปี 2566 ที่ท่านปลัดเสนอให้ส่งต่อความดี เพื่อส่งเสริม ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติให้เยาวชนเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุและดูแลพ่อ แม่ บุพการี เมื่อเฒ่าแก่ ได้บรรจุโครงการและงบประมาณไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2567 แล้ว จะตั้งซื่อว่าจั่งใด๋ดีท่าน ผอ.”
ผอ.รพ.สต. “อื่อ ! Young Care ดีบ่ครับท่านนายก อาสาสมัครเยาวชนดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตำบลโนนภิบาล”
หวังว่าเรื่องเล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ขออานิสงส์ผลแห่งความดีส่งผลถึงผู้ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและคณะทำงานตำบลโนนภิบาลทุกท่าน
เรื่อง/เรียบเรียง : ศิริชัย เทียงดาห์