
ตลาดเขียวขอนแก่น ตลาดแห่งการแบ่งปัน
เวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษ ๆ ... “คอปเตอร์” พี่รุ่นโตแห่ง “บ้านลูกรัก” ขับรถปิคอัพมาจอดรับผักที่ตลาดเขียว ท่ามกลางบรรยากาศโดยรอบที่พ่อค้าแม่ขายบางส่วนกำลังเก็บร้านค้ากันอย่างขะมักเขม้น ผักถูกรวบรวมไว้ในลังพลาสติกที่วางไว้บนรถเข็นเกือบเต็ม 2 ลัง คอปเตอร์ค่อย ๆ ลำเลียงผักขึ้นรถใส่ตะกร้าที่เขาตระเตรียมมาด้วย ... ในขณะที่ “ลุงหมู” จากกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านที่มาช่วยดูแลเรื่องการจราจรภายในตลาดก็ได้นำฟักแฟงที่ปลูกไว้ในศูนย์พักพิงคนไร้บ้านมามอบให้เรา 2 ลูกใหญ่ และบอกว่าปลูกเอง อยากเอามาร่วมบริจาคกับตลาดด้วย
.... 1 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น …..
“ลังใส่ผักอยู่ตรงไหนคะแม่ เดี๋ยวหนูจะใช้ 2 ลังเอาไปใส่รถเข็น” มายด์ถามฉันที่กำลังสาละวนกับการปั่นน้ำผักผลไม้ให้ลูกค้าอยู่ มายด์เป็นเด็กหญิงที่จากบ้านมาตั้งแต่อายุ 14 ปี บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ แต่ด้วยความที่พ่อมาแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเด็ก เธอจึงอาศัยอยู่กับยาย และออกจากบ้านมาเร่ร่อนได้ 4 ปีแล้ว โดยอาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ เราพบมายด์เมื่อหลายเดือนก่อน เธอมานั่งขอทานในตลาดเขียว เราพยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าหน่วยงานไหนจะเข้ามาช่วยเหลือเธอ คณะกรรมการตลาดเขียวได้ปรึกษาหารือและมีมติร่วมกัน “ให้ช่วยเหลือมายด์ด้วยการสนับสนุนให้เธอมีอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามความสามารถที่เธอพอจะทำได้” ในตลาดมายด์ได้รับบทบาทให้ช่วยทำความสะอาดร้าน (ร้านที่เป็นศูนย์ประสานงานตลาดเขียว) และทำหน้าที่เข็นรถรับบริจาคผักและผลผลิตจากสมาชิกเพื่อนำไปบริจาคให้บ้านลูกรักอีกต่อหนึ่ง
ทุกวันศุกร์ เวลาประมาณ 6 โมงเย็น มายด์จะเตรียมลังพลาสติก 2-3 ใบ วางลงบนรถเข็นขนาดเล็กเข็นเดินไปตั้งแต่หัวตลาดไปถึงท้ายตลาด ผลผลิตที่ได้รับบริจาคจากสมาชิกมีทั้งผักนานาชนิด แล้วแต่ว่าฤดูกาลไหนจะมีอะไร เช่น ฤดูนี้ก็จะมีผักกาด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี กระเพรา คะน้า ถั่วฝักยาว พริก มะเขือเทศ ตะไคร้ แตงกวา ข้าวสาร ไข่เป็ด มันเทศ ขนมต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือ น้ำใจที่ได้จากสมาชิกตลาดเขียว 80 กว่าแผง นอกจากสิ่งของแล้วบางคนยังบริจาคเงินช่วยสมทบค่าน้ำค่าไฟฟ้าให้กับบ้านลูกรัก ในทุกสิ้นเดือนเราจะรวบรวมเงินที่ได้รับบริจาคไปมอบให้บ้านลูกรักอย่างสม่ำเสมอ
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนเราเริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของมายด์ เธอเริ่มกล้าออกไปช่วยงานแม่ค้าคนอื่น ๆ ด้วยความอยากของตนเอง เช่น ช่วยยกของ ช่วยเก็บร้าน เป็นต้น โดยได้รับค่าตอบแทนในรูปของตัวเงิน ของกิน ขนมและของใช้ต่าง ๆ ช่วงหลัง ๆ เราเริ่มเห็นรอยยิ้มของมายด์ แววตาที่เคยหม่นหมองกลับมาสว่างใสขึ้นมาอีกครั้ง
สัปดาห์ก่อนกับสัปดาห์นี้ยิ่งเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เธอรู้จักไปหาของมาขาย เช่นสัปดาห์ก่อน เธอและแฟนพากันไปหาปูมาขาย สัปดาห์นี้ไปหาเก็บมะกอกมาขายและตอนหัวค่ำของวันนี้เธอบอกว่า ... "แม่หนูเอามะกอกมาให้ หนูให้แม่ฟรี" ... เธอเริ่มเป็นผู้แบ่งปันบ้างแล้ว
กิจกรรมแบ่งปันอาหารให้กับมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก หรือ “บ้านลูกรัก” เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วตอนที่เกิดสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ตลาดเขียวขอนแก่นได้ทำหน้าที่เป็นธนาคารอาหาร ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยได้แบ่งปันผลผลิตให้กับชุมชนแออัดริมรางรถไฟจำนวนกว่า 9 ชุมชน แบ่งปันผลผลิตสัปดาห์ละ 800 กิโลกรัม โดยมีงบประมาณสนับสนุนมาจากการบริจาคของกลุ่มสวนผักคนเมืองจากกรุงเทพฯ มาช่วยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ตอนนั้นมีผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากยอดของผู้บริโภคที่มาซื้อผลผลิตในตลาลดลง เพราะกลัวการระบาดของโรคโควิด 19 เราจึงนำผลผลิตเหล่านั้นไปมอบให้กับชุมชนริมรางรถไฟ ซึ่งบางชุมชนมีโรงครัวกลางทำอาหารเพื่อแจกจ่ายต่อให้กับผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน รวมทั้ง การทำโรงทานเพื่อทำอาหารแจกผู้ที่ประสบปัญหาสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 250-300 ชุด เป็นระยะเวลานานกว่า 8 เดือน ขณะเดียวกันในการคัดกรองผู้ที่เข้ามาในตลาดเขียวได้ประสานงานกับกลุ่ม OKAS (โอกาส) ซึ่งเป็นแผนงานเรื่องอาชีพของกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จังหวัดขอนแก่นมาช่วยเป็นผู้คัดกรอง โดยได้จ้างลุงหมูซึ่งมาจากกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านเป็นผู้มาช่วยทำหน้าที่ในเรื่องนี้
สำหรับมูลนิธิช่วยเหลือเด็กนั้นช่วงที่สถานการณ์โควิด 19 ระบาดช่วงแรก ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับยอดบริจาคลดลง จึงต้องพยายามช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ตลาดเขียวในฐานะเป็นเครือข่ายทางสังคมทราบปัญหาดังกล่าวจึงคิดว่าจะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระมูลนิธิฯ ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้บ้าง จึงได้ทำกิจกรรมแบ่งปันอาหารให้น้องต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา “ตลาดเขียวขอนแก่น” ได้ทำหน้าที่เป็นตลาดทางเลือกให้กับผู้รักสุขภาพควบคู่ไปกับเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารที่ปลอดภัยให้กับคนในสังคม รวมทั้ง เป็นพื้นที่ให้โอกาสกลุ่มคนเปราะบางให้เขาสามารถยืนหยัดและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้ในสังคม หนุนเสริมกำลังใจให้เขามีสุขภาวะทางจิตที่ดี มีความหวังในอนาคตทั้งในกรณีของ “มายด์” หรือ “ลุงหมู” ตามได้กล่าวไปแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นกับมายด์และลุงหมู ... มีความหมายสำหรับพวกเรา พวกเรา คือคนเล็กคนน้อย เป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเขียวที่ช่วยกันโอบอุ้มชีวิตของคน ๆ หนึ่งเท่าที่จะพอทำได้ ...บางอย่างมันก็เกิดผลเกินกว่าที่เราได้คาดหมายไว้ มันคือความสุขใจลึก ๆ ที่ช่วยกันสร้างตลาดขึ้นมา เพราะ“ตลาดเขียวขอนแก่น” เป็นมากกว่าตลาดซื้อขายทั่วไป แต่คือพื้นที่ทางสังคมที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม และมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้น
เรื่อง/เรียบเรียง : จงกล พารา