
สภาผู้นำบ้านฉนวน ชนวนพลังจัดการขยะชุมชน
“บ้านเลขที่ 80 นายไพรัตน์นี่ล่ะครับที่พูดยากมากแต่ตอนนี้บ้านแกสะอาดดูดีขึ้นเยอะ เก็บของข้างนอกเป็นระเบียบขึ้น” เสียงบอกเล่าจาก อสม. ที่เป็นหนึ่งในสภาผู้นำชุมชนจำนวน 48 คนที่อาสาลุกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดการปัญหาขยะที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ภายหลังจากที่โครงการจัดการขยะในชุมชนได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2560 ผ่านไปราว 5 เดือน ซึ่งตลอดทั้งโครงการได้ขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหมู่บ้านได้มากพอสมควร บ้านฉนวนตั้งชื่อตามต้นไม้ที่ชื่อ “ฉนวน” ปัจจุบันต้นฉนวนเหลืออยู่เพียงต้นเดียวที่ท้ายหมู่บ้าน บ้านฉนวนพิกัดที่หมู่ที่ 3 ตำบลสร้างแซ่ง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอยางสีสุราช ประมาณ 12 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดมหาสารคามประมาณ 70 กิโลเมตร หมู่บ้านมีเนื้อที่ประมาณ 1,115 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร (ทำนา ทำสวน ทำไร่) ประมาณ 900 ไร่ มีสระน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาใช้ภายในหมู่บ้าน 1 แห่ง ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 34,724 บาทต่อคน/ปี ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดบ้าน 1 แห่ง เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวบ้าน มีพระภิกษุ 3 รูป ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีศาลปู่ตาเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน ชุมชน ใช้ศาลากลางบ้านเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นที่ทำการของกลุ่มองค์กรต่าง ๆ เช่น กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มสตรีแม่บ้าน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มเลี้ยงวัว มีจำนวนหลังคาเรือนอยู่จริง 102 หลัง ประชากรรวม 278 คน จำนวนหลังคาเรือนและประชากรจริงๆมีมากกว่านี้อีกโข ซึ่งส่วนหนึ่งอพยพแรงงานไปประกอบสัมมาอาชีพที่ต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร (เป็นส่วนใหญ่) นครราชสีมา เป็นต้น
ปัญหาในหมู่บ้านฉนวนมีมากมายหลากหลายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แต่จากการประชุมร่วมกันของชุมชนได้มีมติร่วมกันที่จะแก้ปัญหาขยะ เนื่องจากมองว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างและน่าจะแก้ไขง่าย โดยปี 2560 จำนวน 68 ครัวเรือนไม่มีการคัดแยกขยะ ชุมชนมีปริมาณขยะรวมทุกประเภท 1,925 กก./เดือน โดยเฉพาะขยะที่เป็นปัญหายอดนิยมคือขยะทั่วไป เช่น พลาสติก โฟม มีปริมาณถึง 385 กก. พื้นที่สาธารณะไม่สะอาด เช่น ดอนปู่ตา ถนนในหมู่บ้าน โคกป่าสาธารณะ (โคกฉนวน) มีการลักลอบทิ้งขยะ 1 จุด ปัญหาขยะบ้านฉนวนสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ สาเหตุที่เกิดจากด้านตัวบุคคล คือ คนในชุมชนขาดความตระหนัก ขาดความรู้ในการคัดแยกขยะ วิธีการลดขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ชนิดของขยะที่มีการรับซื้อ ราคาซื้อขาย มีการเผาขยะทำให้เกิดควันรบกวนส่งกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน อีกทั้งชุมชนมีความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมความในเรื่องของสะดวกสบาย ซื้อของต้องใส่ถุงหิ้ว การใช้ถุงหูหิ้วบรรจุสิ่งของ สินค้า เป็นแสดงถึงการใส่ใจลูกค้า การไม่ตระหนักว่าเรื่องขยะเป็นปัญหา ไม่ใช้ตะกร้าหรือถุงผ้าไปซื้อของ การไปร่วมทำบุญไม่ใช้ขันใหญ่หรือตะกร้าเหมือนในอดีต โดยปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะเดินไปตัวเปล่า เมื่อร่วมทำบุญเสร็จก็จะมีของถุงหิ้วบรรจุอาหารกลับไปบ้านด้วย ผู้ขายร้านชำใช้ถุงหิ้วบริการผู้ซื้อโดยไม่จำเป็นโดยมักจะใช้ถุงหิ้วบรรจุสิ่งของให้ลูกค้าบ่อย ๆ แม้จะเป็นสิ่งของชิ้นเล็กก็ตาม เช่น ขนมขบเคี้ยว ลูกอม สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมในชุมชน
แหล่งกำเนิดขยะ มีร้านขายของชำ 3 ร้าน ซึ่งเป็นต้นทางหนึ่งของขยะในชุมชนมีรถเร่ขายสินค้า 4 คัน ขายอาหารและสินค้าประเภท พลาสติก ของใช้ในครัวเรือน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม พฤติกรรมการใช้ถังขยะ 1 ใบ ใช้ใส่ขยะรวมทุกประเภท ในหมู่บ้านไม่มีป้ายเตือนหรือห้ามทิ้งขยะ อีกทั้งในด้านสังคม ชุมชนยังไม่มีการนำข้อมูลเรื่องขยะมาเข้าที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อให้ชุมชนตระหนักในปัญหานี้ เมื่อมีงานประเพณี เทศกาล เช่น งานศพ งานแต่ง งานบุญต่าง ๆ เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ทำให้มีขยะปริมาณเพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นขยะประเภท ถุงพลาสติก เศษอาหาร ผัก ผลไม้ ชุมชนไม่มีบุคคลหรือครัวเรือนต้นแบบในการจัดการขยะ และสาเหตุที่มาจากกลไกหรือระบบภายนอกหมู่บ้าน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีนโยบายในการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างจริงจัง สถานบริการด้านสาธารณสุขมีส่วนทำให้มีขยะเพิ่ม เช่น การให้ถุงหูหิ้วบรรจุซองยา ไม่มีระบบการบริหารจัดการขยะติดเชื้อจากชุมชน โดยไม่มีการประสานทำความเข้าใจกับชุมชนในการส่งขยะติดเชื้อมาที่สถานบริการสาธารณสุขหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เช่น ขยะจากการล้างแผล หรือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
จึงได้เกิดการรวมตัวของคนดีคนเก่งคนเสียสละของทุกกลุ่มในหมู่บ้าน จำนวน 48 คน เป็นแกนนำจัดการปัญหาขยะในรูปแบบของ “สภาผู้นำชุมชนบ้านฉนวน” และได้รับการหนุนเสริมที่ดีทั้งเรื่องทุน เรื่องวิชาการจาก สสส. นำทีมโดยผู้ใหญ่บ้านในช่วงเวลานั้น คือ นายจันทา แก้วโลมา บทบาทของสภาผู้นำชุมชนมีหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรม สร้างการมีส่วนร่วม (ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน และร่วมประเมินผล) ในระดับกลุ่ม คุ้ม และชุมชน มีการติดตามประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูล สะท้อนผลข้อมูล ปรับแผนงาน และขับเคลื่อนงานตามแผนให้สำเร็จตามที่มองเห็นประโยชน์ร่วมกัน ในช่วงเริ่มต้น แกนนำ 4 คน ได้เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลที่บ้านสำโรง จังหวัดสุรินทร์ ทำให้สภาผู้นำชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีการส่งต่อองค์ความรู้และขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้กับคนในชุมชน เช่น จัดฝึกอบรมโครงการ “หมู่บ้านสะอาดน่าอยู่” อบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในครัวเรือนเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขยะ มีการประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวรณรงค์ให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ จัดเวทีเพื่อร่วมกันกำหนดกติกาชุมชนเกี่ยวกับเรื่องขยะ ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการบังคับใช้ตามกติกาชุมชน ประชุมเพื่อทบทวนข้อมูลแบ่งบทบาทหน้าที่การติดตามการบังคับใช้ตามกติกาชุมชน และจัดทีมออกติดตามประเมินครัวเรือนสะอาดน่าอยู่เดือนละ 1 ครั้ง พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อนำเข้าสู่การประชุมประจำเดือนครั้งถัดไป มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์กติกาชุมชนเรื่องขยะ พร้อมติดตั้งในชุมชน ร้านค้าและสถานที่สาธารณะในชุมชน 14 จุด มีการจัดกิจกรรมการทำความสะอาดทั้งชุมชนในวันสำคัญ ปีละ 2 ครั้ง ผู้สูงอายุรวมกลุ่มกระตุ้นส่งเสริมการจัดการขยะ รวมถึงจัดเวทีถอดบทเรียน
จากการทำงานอย่างหนักของสภาผู้นำชุมชนบ้านฉนวนส่งผลให้แกนนำและชุมชนมีความรู้ในการจัดขยะมากขึ้น มีกติกาการจัดการขยะ 7 ข้อ คือ
1. บ้านของสภาผู้นำชุมชนต้องเป็นแบบอย่างในการจัดการขยะ
2. ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ
3. ทุกครัวเรือนมีการปลูกผักปลอดสารพิษ อย่างน้อยครัวเรือนละ 5 ชนิด
4. ทุกครัวเรือนมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ อย่างน้อยครัวเรือนละ 2 ชนิด
5. ห้ามติดป้ายโฆษณาเพื่อการค้าในที่สาธารณะ
6. ห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ / ลักลอบทิ้งขยะในที่บุคคลอื่น ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 300 บาท
7. ทุกครัวเรือนไม่มีลูกน้ำยุงลาย
มีคำขวัญการจัดการขยะ 5 ข้อ ติดรอบหมู่บ้าน
1. บ้านฉนวนน่าอยู่ผู้คนน่ารัก ถ้าเรารู้จักการคัดแยกขยะ
2. คนสร้างขยะ ขยะสร้างมลพิษ ช่วยกันคิดสักนิด มลพิษจะหมดไป
3. บ้านฉนวนจะดูดี ถ้าไม่มีขยะ
4. บ้านฉนวนจะสดใส ถ้าใส่ใจรักษาความสะอาด
5. ทิ้งขยะแบบมักง่าย อันตรายจะตามมา
ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ ขยะในชุมชนลดลงจาก 1,925 กก./เดือนเหลือ 1,637 กก./เดือน (ลดลง 288 กก.) ขยะประเภททั่วไปลดลงจาก 385 กก. เหลือ 330 กก. คิดเป็นร้อยละ 15 ไม่มีการเผาขยะในหมู่บ้านเพราะจะนำไปเผาที่สวนหรือไร่นา ส่วนพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ดอนปู่ตา ถนนภายในหมู่บ้านสะอาดขึ้น โคกป่าสาธารณะ (โคกฉนวน) มีขยะน้อยลง และไม่มีการลักลอบทิ้งขยะ ทุกครัวเรือนมีการผักปลอดสารพิษ และไม้ดอกไม้ประดับงามตาน่าดูน่าชม ชุมชนน่าอยู่น่าอาศัยมากยิ่งขึ้น มีการทำผลิตภัณฑ์ของใช้เครื่องประดับจากขยะทั่วไป เช่น การทำดอกไม้จากถุงพลาสติก ซองกาแฟ ซองขนม ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม แจกันทำจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ไม่ใช้แล้ว พร้อมกับเกิดนวัตกรรมการส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุในการกระตุ้นและหนุนเสริมการจัดการขยะร่วมกับชุมชน โดยการรวมตัวกันของผู้สูงอายุทุกเช้าตรู่วันเสาร์มีกิจกรรมยืดเหยียดร่วมกันแล้วออกไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วย ติดบ้าน ติดเตียง หรือผู้ป่วยทั่วไปที่มีอาการหนัก ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละคุ้มแต่ละสัปดาห์ พร้อมกับการเยี่ยมชมความสะอาด ความสวยงามของไม้ดอกไม้ประดับในแต่ละคุ้ม ซึ่งปรากฏว่ามีการปลูกแข่งกันไปในที ส่วนยางรถยนต์ที่เก็บไว้ตามใต้ต้นไม้ ใต้ถุนบ้านซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายก็ได้มีการนำไปเป็นอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุการจราจรบริเวณทางโค้งในหมู่บ้าน 2 จุด ที่โค้งต้นโพธิ์ใหญ่และโค้งบ้านนายไสว พงอินวงษ์ สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้เรียกได้ว่าเป็นความงอกงามตามวิถีของชุมชนที่ผ่านการเรียนรู้และมองเห็นประโยชน์ร่วมกัน