post-image

บุญบั้งไฟเปลี่ยนไป ใครได้ประโยชน์ ?

              “ประเพณีบุญบั้งไฟ” เป็นประเพณีความเชื่อของชาวอีสานเมื่อถึงเดือน 6 ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ชาวบ้าน จะจัดให้มีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชา “พญาแถนหรือเทพวัสสกาล”  ซึ่งเป็นเทวดาที่อยู่บนสวรรค์ตามคติความเชื่อ เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน ชาวบ้านมีความเชื่อว่าพญาแถนมีหน้าที่ดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลและมีความชื่นชอบบั้งไฟเป็นอย่างมาก จึงแสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังพญาแถน หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาแถน ฝนก็จะไม่ตกต้องตามดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้

            ประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 6 ก่อนเริ่มทำนา เป็นการเตรียมความพร้อมของชาวนา หากมีการจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน และบั้งไฟขึ้นสูง ชาวบ้านเชื่อว่า ปีนี้ข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์ ประเพณีบุญบั้งไฟถือว่าเป็นประเพณีที่มีความสนุกสนาน ชาวอีสานนิยมร้องเพลง เซิ้งบั้งไฟ ร่ายรำ เป็นการแสดงออกที่สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ก่อนถึงวันงานชาวบ้านจะเตรียมงานช่วยกันด้วยความสามัคคี ในแต่ละหมู่บ้านจะแบ่งการเตรียมเป็นส่วน ๆ ได้แก่ ส่วนของการทำบั้งไฟ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มผู้ชาย การแสดง รำเซิ้งบั้งไฟ ส่วนมากเป็นบทบาทของผู้หญิงในหมู่บ้านนั้น ๆ

            การจุดบั้งไฟในอดีตที่เป็นการรักษาประเพณี จะเป็นการจุดบั้งไฟ ที่ไม่มีการจับเวลา ไม่มีเงินรางวัลในการจุดแต่อย่างใด ส่วนการจุดบั้งไฟในปัจจุบัน เป็นการจุดเพื่อการแข่งขัน โดยมีกรรมาการจับเวลา บั้งไฟของใครลอยอยู่บุญอากาศนานที่สุดจะเป็นผู้ที่ชนะและได้รับรางวัล แต่ในปัจจุบันนี้มีการเล่นการพนันเพื่อให้เกิดการได้เสียเพิ่มมากขึ้นด้วย และมีกิจกรรมอย่างอื่น ๆ เข้ามาเสริม เช่น การแสดงดนตรี หมอลำ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สร้างความบันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน

 

บุญบั้งไฟเมืองยโสธร

            ถึงแม้งานประเพณีบุญบั้งไฟจะเป็นงานของชาวอีสานที่ทุกหมู่บ้านต้องจัดงานตามคติความเชื่อ แต่ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงงานบั้งไฟแล้ว จะนึกถึง “บุญบั้งไฟยโสธรหรือบุญบั้งไฟเมืองยศ” ซึ่งเป็นงานที่จัดระดับจังหวัดจนกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติไปแล้ว  โดยได้จัดเทศกาลงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้น ในวันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ตลอดสัปดาห์ที่มีงานประเพณีดังกล่าว สมัยก่อนผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่า

 

                    “เมืองยโสธรในเวลาค่ำคืนจะไม่เงียบสงัดเหมือนทุกเดือนที่ผ่านมา เพราะจะได้ยินแต่เสียงกลองตุ้ม-ผ่าง ผสานเสียงกับการขับขานกลอนเซิ้ง ที่บอกเล่าถึงตำนานบั้งไฟด้วยจังหวะแบบพื้นเมือง และสำเนียงไพเราะเสนาะหู แว่วยินมาจากคุ้มต่าง ๆ นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ชาวเมืองยโสธร ทั้งหนุ่มสาว แลคนเฒ่า-แก่ กำลังซุ่มซ้อมรำเซิ้ง รวมถึงจัดทำบั้งไฟ มีการตกแต่งลวดลายสวยงาม เพื่อที่จะเข้าร่วมขบวนแห่ในงานบุญบั้งไฟ”

 

            แต่เมื่อประมาณปี 2520 รัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว Young Visit Thailand” การจัดงานบั้งไฟเมืองยศ จึงมี ททท. หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเริมการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้มีประเพณีบุญบั้งไฟเมืองยศให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ กิจกรรมทั้งหลายจึงเริ่มจัดให้เกิดความยิ่งใหญ่ โดยใช้การประกวดเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การจัดการประกวดขบวนแห่ที่สวยงามยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน การประกวดกาพย์เซิ้งโบราณ การประกวดบั้งไฟขึ้นสูง จนงานบุญบั้งไฟเมืองยศกลายเป็นงานบุญประเพณีที่อยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวระดับชาติ นำความภูมิใจมายังชาวยโสธรและยังคงสนับสนุนกิจกรรมมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร

 

เหล้ากับประเพณีบุญบั้งไฟ

          “การดื่มเหล้าของคนอีสานมีมาช้านานแล้ว สมัยก่อนทำเหล้ากินเอง พอรัฐออกกฎหมายให้มีเหล้าโรง ชาวบ้านก็ถูกจับ แล้วค่อย ๆ เลิกต้มเหล้าไปเอง”  นี่เป็นเสียงของชาวบ้านที่บอกเล่าว่า การดื่มเหล้านั้นเป็นเรื่องปกติและอยู่ในวิถีของคนอีสานมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะในงานประเพณีที่เป็นงานรื่นเริงอย่างบุญบั้งไฟชาวบ้านสมัยก่อนจะทำเหล้าสาโทเพื่อนำมาดื่มสังสรรค์ในช่วงการจัดงาน แม้กระทั่งในกาพย์เซิ้งบั้งไฟ ยังมีการเขียนกาพย์เซิ้งบั้งไฟขอกินเหล้า ดังปรากฏในกาพย์เซิ้งดังนี้

 

                    “ โอ้เฮาโอ ศรัทธาเฮาโอ           ขอเหล้าเด็ด นำเจ้าจักโอ

                    ขอเหล้าโท นำเจ้าจักถ้วย          หวาน จ้วย จ้วย ด้วยปากหลานซาย

                    ตักมายาย หลายซายให้คู่          ยายบ่คู่ ตูข้อยบ่หนี

                    ตายเป็นผี สินำมาหลอก           ออกนอกบ้าน สิหว่านดินนา

                    ตายเป็นตุ่น สิกัดเครือพลู          ตายเป็นหนู สิกัดเครือหูก

                    ตายเป็นลูก สิจ่องกินนม           โอ้เฮาโอ ศรัทธาเฮาโอ....”

คำเซิ้งบั้งไฟขอกินเหล้า (ไม่ปรากฏผู้แต่ง เซิ้งกันมาแต่โบราณเป็นมุขปาฐะ)

 

            สมัยก่อนช่วงที่มีการแห่บั้งไฟ ก่อนจัดงานหนึ่งวัน ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ไปยังปู่ตาของหมู่บ้านเพื่อจุดบั้งเสี่ยง ทำนายความอุดมสมบูรณ์ความสำเร็จในการทำนาของหมู่บ้าน เสร็จแล้วจะดื่มเหล้า ฟ้อนรำถวายรอบ ๆ ปู่ตา เป็นที่สนุกสนาน ชาวบ้านจะนิยมนำเหล้าสาโท เหล้าเด็ด มาดื่มสังสรรค์ในขบวนแห่ ชาวบ้านเรียก “การเอ้บั้งไฟ” จนถึงช่วงการนำบั้งไฟไปจุดหากบั้งไฟของคุ้มไหนที่ขึ้นไม่สูงก็มักจะอุ้มเพื่อนในคุ้ม หรือเจ้าฉบับบั้งไฟลงไปในปรักโคลนตม ดังคำกล่าวที่ว่า “บั้งไฟขึ้นบ่ขึ้น กะเอาลงตม” ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานของผู้คนที่มาชมบั้งไฟ และยังมีการละเล่นโลดโผนของผู้ชาย แต่งกายจากชายเป็นหญิงดื่มเหล้าอย่างสนุกสนาน บางคนก็เมาเหล้าสาโท บางคนก็เมาเหล้าเด็ด การดื่มกินในสมัยก่อนจึงเน้นที่ความสนุกสนาน การเป็นเพื่อนตามประสาคนอีสานที่ชอบม่วนซื่น โฮแซว ก่อนเริ่มทำนาตามฤดูกาล

            หากจะเปรียบเทียบค่านิยมในการดื่มเหล้าของคนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน พบว่าการดื่มเหล้าของผู้คนในปัจจุบันนี้มีความต่างจากการดื่มเหล้าในอดีตเป็นอย่างมาก แต่เดิมผู้เฒ่าเล่าว่า คนจะดื่มเหล้าได้ ต้องผ่านการบวชมาก่อน นั่นหมายถึงผู้ชายที่ผ่านการบวชคือผู้ที่เป็นผู้ใหญ่รู้จักรับผิดชอบชั่วดีได้แล้ว การผลิตเหล้าสาโทที่ชาวบ้านใช้ดื่มเองในสมัยก่อนนั้นก็มีความสัมพันธ์กับระบบการผลิต ความสัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรมของคนในชุมชนเป็นอย่างมากเพราะการผลิตเหล้าไว้ดื่มนั้น ไม่ได้ใช้ดื่มทั่วไป หากแต่จัดทำไว้สำหรับงานพิธีกรรมสำคัญของครัวเรือนหรือของชุมชน

            แต่ในปัจจุบันการดื่มเหล้าเป็นค่านิยมที่แพร่หลายในทุกกลุ่มคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนหรือกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมการดื่มที่มากเกินปริมาณปกติ ลักษณะของการดื่มนั้นมักรวมตัวในกลุ่มเพื่อนจำนวนมาก ดื่มหนักและมักจะลงท้ายด้วยการทะเลาะวิวาท เกิดความเสียหาย มากกว่าการได้รับประโยชน์จากการดื่ม โดยเฉพาะบรรยากาศของงานรื่นเริง สนุกสนานอย่างประเพณีบุญบั้งไฟ มักจะมีการนำเหล้ามาดื่มในขบวนแห่ และบริเวณฐานจุดบั้งไฟ ประกอบกับเหล้าในปัจจุบันนี้หาซื้อได้ง่าย เข้าถึงง่ายและมีหลายยี่ห้อให้เลือกตามรสนิยมของผู้ดื่ม

 

การเข้ามาของธุรกิจแอลกอฮอล์ในประเพณีบุญบั้งไฟ

            ในส่วนของบุญบั้งไฟเมืองยศกว่า 10 ปีที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะของผู้สนับสนุนการจัดงานร่วมกับเทศบาลเมืองยโสธร โดยเริ่มสนับสนุนจากค่ายบั้งไฟที่นำมาจุดและสนับสนุนงบประมาณให้เจ้าภาพจัดงาน สัญลักษณ์ที่ปรากฏจากการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงานเห็นได้จากการแสดงเชิงตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดรายล้อมทั่วพื้นที่การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟและยังมีกิจกรรมทางการตลาดเข้ามาแทรกในงานนี้ด้วย เช่น การเปิดลานเบียร์ตลอดทั้งวันทั้งคืนของการจัดงาน พบเห็นได้โดยทั่วไปว่ามีทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยกลางคนเข้ามาดื่มในลานเบียร์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีบูธขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดทั้งงาน มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เหล่านี้ถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญของธุรกิจแอลกอฮอล์ ในยุคแรกของการเข้ามาสนับสนุน กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจนี้ยังมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน

            หลังจากมี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หน่วยงานของรัฐ เช่น สสจ. สรรพสามิต ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดยโสธร” เริ่มมีการดำเนินการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การดื่มเหล้า – เบียร์ในงานประเพณีบุญบั้งไฟจึงเริ่มมีการควบคุมมากยิ่งขึ้น “แต่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ” ผู้คนที่มาร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟ เริ่มมีการดื่มหนักขึ้นและมีการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น เช่น การนั่งดื่มบริเวณสองข้างทางริมฟุตบาท ดื่มในที่สาธารณะ การเร่ขายของพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีใบอนุญาตขายสุรามีมากและหนาตาซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกระตุ้นให้ดื่ม อีกทั้งประชาชนชาวยโสธรส่วนมากยังมีค่านิยมการดื่มในประเพณีบุญบั้งไฟอยู่มาก โดยเชื่อว่าประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีแห่งความสนุกสนาน เป็นประเพณีแห่งการดื่มกินของผู้คน จนกลายเป็นการดื่มที่ปกติไปแล้ว ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเอื้อให้ธุรกิจแอลกอฮอล์เร่งจัดโปรโมชั่นในการขายช่วงประเพณีบุญบั้งไฟเป็นอย่างมากเพราะค่านิยมการดื่ม จึงเกิดยอดขายที่สูงมาก บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงกลายเป็นพันธมิตรที่ดีในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน

 

ลักษณะการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญบั้งไฟยโสธร

            ห้วงการจัดงานบุญบั้งไฟยโสธร จะจัดเป็นเวลา 3 วัน โดยวันแรกเป็นวันเซิ้ง วันที่สอง คือวันแห่ และวันสุดท้าย คือ วันจุด จังหวัดมีการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปการดื่มเหล้าในงานบุญบั้งไฟจึงมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่จัดและพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการจัดงานตามสมัยนิยม ในสมัยก่อนวันเซิ้ง (คือ เช้าของวันศุกร์) เหล่าบรรดาสมัครพรรคพวกคุ้มวัดแต่ละคุ้ม จะแต่งกายด้วยชุดพื้นถิ่น เช่นเสื้อผ้าหม้อฮ่อม กางเกงขาก๊วย หรือเสื้อผ้าหลากสี ออกรำเซิ้งไปตามบ้านเรือน ร้านค้า ขอข้าวหมาก (สาโท) ข้าวสา ผลไม้หรือแม้แต่เงินทอง ข้าวของต่าง ๆ แล้วนำไปแบ่งกันกินในวันแห่ (วันเสาร์) ชาวบ้านจะจัดหาเหล้าสาโทที่หมักไว้กินก่อนวันงาน นำมาแบ่งกันกินด้วยความสนุกสนานครื้นเครง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เน้นความสนุกสนาน ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน

            ในปัจจุบันวันเซิ้งของชาวยโสธรได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็น “วันประกวดกองเชียร์” ซึ่งจะมีชาวชุมชน พ่อค้า คหบดี ในจังหวัดยโสธรมาร่วมประกวดกองเชียร์ในนามของกลุ่มเพื่อนนักเรียนรุ่นต่างๆ ของโรงเรียนในจังหวัดยโสธร ปรากฏการณ์สำคัญที่พบในช่วงการจัดประกวดกองเชียร์ คือ มีการดื่ม การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกกองเชียร์ที่เข้ามาร่วมประกวดอย่างอิสระ ไร้การควบคุมและถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน สิ่งที่สนใจคือ ผู้คนที่เข้ามาร่วมในการประกวดกองเชียร์มีค่านิยมในการดื่มเดียวกัน คือ มองว่า “การดื่มเป็นวิถีของคนอีสาน อีกทั้งยังมีลูกหลาน เยาวชนมาร่วมงานและยังมาร่วมดื่มกินในการประกวดกองเชียร์เสมือนหนึ่งเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”

            ในวันเซิ้งบั้งไฟ ชาวจังหวัดยโสธรถือว่าวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากทุกอำเภอต้องนำขบวนแห่บั้งไฟพร้อมนางรำมาร่วมแห่ในขบวน ซึ่งเป็นโอกาสที่ชาวยโสธรจะได้แสดงความสามารถของแต่ละอำเภออย่างเต็มที่ ในวันงานยังมีการประกวดขบวนเซิ้งบั้งไฟ ประกวดกาพย์เซิ้งบั้งไฟ ชาวบ้านก็จะนำเหล้าเข้ามาดื่มในขบวนแห่อย่างเสรีและมีการจัดบูธเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน

            ส่วนของวันจุดบั้งไฟ สถานที่จุดบั้งไฟของงานจัดที่สวนสาธารณะพญาแถน ชาวชุมชนและกลุ่มเพื่อนต่าง ๆ จะนำบั้งไฟมาร่วมจุดโดยเจ้าภาพจัดงาน กำหนดให้ขนาดของบั้งไฟที่จะนำมาจุดนั้นมีเพียงขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว รูปแบบของบั้งไฟมีลักษณะที่เปลี่ยนไปเพราะชาวบ้านนิยมใช้ท่อ PVC แทนไม้ไผ่ และนิยมการจ้างบั้งไฟจากค่ายบั้งไฟต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดยโสธรหรือจังหวัดใกล้เคียง

            อีกทั้งในสวนสาธารณะพญาแถนก็ไม่มีมาตรการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ จะมีร้านค้าแผงลอยมาวางเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั่วทั้งพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้ฐานจุดบั้งไฟที่มีการเล่นพนันจำนวนมาก จะมีร้านค้าที่ขายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากที่วางไว้บนแผงและในถังบรรจุน้ำแข็ง คนที่ไปเที่ยวงานบุญบั้งไฟก็จะสามารถซื้อกินได้อย่างสะดวก 

           

บุญบั้งไฟยโสธรรับใช้ทุนจริงหรือไม่

            ประเพณีบุญบั้งไฟถูกสร้างให้กลายเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของจังหวัดยโสธร ซึ่งเกิดจากผลของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย (ททท.) ทำให้ชาวยโสธรได้พยายามดึงเอาเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาเป็น “จุด…ขาย” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและงบประมาณประจำปี เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมทางวัฒนธรรมขึ้น

            และในส่วนของธุรกิจแอลกอฮอล์ซึงถือว่าเป็นทุนอย่างหนึ่งที่เข้ามามีผลต่อค่านิยมการดื่มในบุญประเพณีของชาวยโสธร ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทันสมัยนิยมมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดบูธที่น่าสนใจ การจัดโปรโมชั่นลดราคาที่เอื้ออำนวยต่อการดื่มของคนในงาน หากแต่การเข้ามาของทุนนี้ได้ส่งผลกระทบมากกว่าผลดีต่อคนยโสธร ทั้งค่านิยมที่ผิดต่อลูกหลายที่เห็นว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งอุบัติเหตุ การทะเลาวะวิวาทที่เกิดขึ้นในช่วงวันงาน

 

เราจะฟื้นคุณค่าแท้ของประเพณีบุญบั้งไฟยโสธรอย่างไร

            ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อความเชื่อของคนรุ่นหลังถึงรากเหง้า คติความเชื่อและคุณค่าแท้ของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งถือว่าอ่อนแอลง การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในยุคปัจจุบันอาจถือได้ว่าจัดเพื่อตอบสนองบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในสังคมเท่านั้นเอง

            ลูกหลานชาวยโสธร ควรลุกขึ้นมาศึกษารากเหง้า แก่นแท้ของประเพณีบุญบั้งไฟและฟื้นฟูให้ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่ทรงคุณค่า อนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อ และควรจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมการดื่มและลดปัญหาความรุนแรงและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

 

เรื่อง/เรียบเรียง : คำแพง ร่องลำชี