
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว : พื้นที่แห่งการเรียนรู้และเติบโตของเด็กและเยาวชน
หากเดินทางเข้ามาถึงหมู่บ้านแล้วถามจากผู้คนว่า “ศูนย์การเรียนรู้ฯ อยู่ทางไหน ?” คำตอบที่ได้คือ “บ้านดินใช่ไหม ?” “กลุ่มเยาวชนใช่ไหม ?” “ศูนย์ฮักบ้านเกิดใช่ไหม ?” บ้างก็บอกว่าขับไปท้ายหมู่บ้านแล้วก็เจอเลย บ้างก็ว่าอ้อ ไปอีกนิดเดียว แน่นอนว่าคนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดรู้จัก “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว” ในชื่อที่แตกต่างกันไป แต่เข้าใจตรงกันว่า พื้นที่แห่งนี้คือจุดที่เด็กและเยาวชนในชุมชนมาทำกิจกรรมหรือนักเรียนนักศึกษาจะมาทำกิจกรรมที่นี่อยู่บ่อยครั้ง
กว่า 10 ปีแล้วที่พื้นที่ตรงนี้ ได้เป็นสถานที่ให้คนหนุ่มสาวหลายสิบหลายร้อยคนแวะเวียนกันมาใช้ชีวิตอยู่ทั้งแบบชั่วครั้งชั่วคราว บ้างก็เป็นสัปดาห์ บ้างก็เป็นปีหรือสองปี ซึ่งมีหน้างาน กิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายตามแต่ละช่วงหรือภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนหรือดำเนินการตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากเป็นองค์การที่ใช้ชื่อว่าหน่วยจัดการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนในการพัฒนาสมรรถนะศักยภาพด้านต่าง ๆ เช่น การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาชุมชน ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาเชิงประเด็น อาทิ ขยะและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น แอลกอฮอล์และสารเสพติด อุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น ในส่วนของทักษะ เช่น ทักษะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมถึงทักษะสำคัญในแนวทางการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 แก่แกนนำเด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ ในบทบาทการทำงานสำคัญของศูนย์ฯ ช่วงปี 2560 เป็นต้นมา เป้าหมายหมาย คือ การพัฒนาหรือสร้างคนทำงานทั้งในเชิงประเด็นเชิงพื้นที่ หรือถ้าจะเข้าใจแบบตรงไปตรงมา คือ การสร้างคนรุ่นใหม่ให้สนใจและเข้าใจงานพัฒนามากขึ้น พร้อมกับการลุกขึ้นมาขยับขับเคลื่อนประเด็นปัญหาร่วมกับองค์กร หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมศึกษาเรียนรู้ในกรณีการคัดค้านเหมืองแร่โปรแตซในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส การศึกษาปัญหาและตั้งศูนย์คนรุ่นใหม่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและทำแผนฟื้นฟูชุมชนหลังประสบอุทกภัยผลในพื้นที่จังหวัดสกลนครปี 2560 ตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามและรณรงค์การป้องกันเชื้อไวรัส COVID 19 ขับเคลื่อนเครือข่ายเยาวชนพัฒนาเมืองจังหวัดสกลนครให้มีบทบาทในการนำเสนอเชิงนโยบายต่อพรรคการเมือง การรณรงค์การใช้สิทธิการเลือกตั้ง การรณรงค์เฝ้าระวังจุดเสี่ยงและการเกิดอุบัติทางถนนช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยทั้งหมดใช้กระบวนการในการให้แกนนำเยาวชนร่วมกับคณะทำงานของศูนย์ฯ ออกแบบกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการประสานงานและดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดความรู้สึกร่วมและเป็นเจ้าของปัญหาหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักต่อประเด็นปัญหานั้น ๆ ด้วยตนเอง เกิดความรู้สึกในบทบาทและคุณค่าของการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วยบทบาทของตนเองได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 เป็นช่วงที่ทำให้คนทำงานของศูนย์ฯ ได้บทเรียนการดำเนินงาน เพื่อปรับ-เปลี่ยน รูปแบบตามแนวทางวิถีใหม่ที่ต้องมีการปรับตัวของกระบวนการทำงานที่รัดกุมมากขึ้น ประกอบกับปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหญ่หลายคนที่พบเจอกับวิกฤติจากเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ในอีกมุมหนึ่งที่หลายคนก็ได้ใช้โอกาสจากทักษะ ความสามารถเฉพาะด้านของตนเองสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นอย่างมาก และในจังหวะนี้คนทำงานในศูนย์ฯได้ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาสต่าง ๆ ภายใต้ทุนที่มี พบว่าเป้าหมายที่พลังอย่างมากมายของศูนย์ฯ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยออกมาสื่อสารได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คือ งานยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการเสริมสร้างรายได้และสวัสดิการให้กับคนทำงาน ซึ่งในงานของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว เรียกงานว่านี้ว่า “กิจการหารายได้ของคนรุ่นใหม่” หรือถ้าคนทั่วไปรู้จักกันคือกิจการเพื่อสังคม ซึ่งก็คือ “ร้านต้นไม้ศูนย์คนหนุ่มสาว”
ด้วยกระบวนการดำเนินงานและพื้นที่ในการสร้างการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ รวมถึงการมีเครือข่ายชุมชนที่เพาะปลูกพืชผักสวนเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ศูนย์ฯจึงได้รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิด และเพาะขยายพันธุ์ให้มีปริมาณที่มากขึ้นและการสนับสนุนการจ้างงานให้กับเยาวชนในชุมชนมีรายได้จากการเพาะต้นไม้กับศูนย์ฯ และเข้ามาทำงานในส่วนกิจการหารายได้ของคนรุ่นใหม่ ทั้งแบบมาชั่วคราวบางชิ้นบางงาน และประจำร้านฯ เพื่อให้บริการและความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านหรือคนที่สนใจ โดยรายได้จากการผลิตและจำหน่ายที่เกิดขึ้น คืองานในการยกระดับและสร้างโอกาสในการที่จะต่อยอดคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ ได้ใช้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว นี้เติบโตไปด้วยกัน
ในปัจจุบันกิจการหารายได้ของคนรุ่นใหม่ “ร้านต้นไม้ศูนย์คนหนุ่มสาว” ยังคงเปิดดำเนินกิจกรรมและกิจการ 2 พื้นที่ ได้แก่ ในพื้นที่บ้านกลาง ตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และพื้นที่ศูนย์ฯ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และนอกจากนี้ยังดำเนินการสนับสนุนพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับเครือข่ายและกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ นำไปวางจำหน่ายและแบ่งปันผลกำไร เพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ มีทุนในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบไปอย่างมีคุณภาพในอีกหลาย ๆ พื้นที่
เรื่อง/เรียบเรียง : จิราวรรณ จันทร์สุข