
"ชะลอชรา" พลังชุมชนสู่การสร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย
สิ่งที่คนในชุมชนยึดถือและนำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งรวมถึงปัญหาของสังคมสูงวัยที่ทางตำบลกุดแข้ด่อน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร กำลังประสบปัญหาอยู่เนื่องจากมีประชากรในวัยผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 17.91 จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 5,346 คน และยังพบว่าสุขภาพของคนในตำบลมีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีผู้ป่วยติดบ้านเตียงมากถึง 57 คน ซึ่งตำบลกุดแข้ด่อนมีบริบทแบบชุมชนชนบท ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไร่นาและลุ่มน้ำชี ประชากรมีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรมทำนาเป็นหลักและกรีดยางเป็นอาชีพเสริม และจากสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุในตำบลมีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของคนในชุมชนที่มุ่งประกอบอาชีพและหารายได้เป็นหลัก จนทำให้ลืมที่จะใส่ใจสุขภาพของตนเอง ทั้งยังห่างต่อการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนลดน้อยลงและยิ่งเมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งมีปัญหามากขึ้น
ปัญหาดังกล่าวทางแกนนำชุมชนได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหา โดยแบ่งหน้าที่ให้มีเจ้าภาพหลักในการจัดการ ในประเด็นด้านสุขภาพทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลบ้านกุดแข้ด่อนมีบทบาทหน้าที่หลักในการวางแผนและร่วมดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมามีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย ตั้งแต่กลุ่มวัยเด็กโดยมีการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ กลุ่มวัยเรียนมีกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและมีกลไกการทำงานเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน มีทีมทำงานในการส่งต่อผู้ป่วยติดยาเสพติดสู่การบำบัด กลุ่มวัยทำงานมีการส่งเสริมการดูแลสุขภาพ ให้ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพและระบบการตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงและนำไปสู่การติดตามเพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะสุขภาพดี ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุจะมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ด้วยการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพตามหลัก 3 อ. คือ 1) อาหาร ด้วยการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ การรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ 2) ออกกำลังกาย ผ่านการส่งเสริมกระบวนการออกกำลังกายกลุ่มในรูปแบบการยืดเหยียดที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และ 3) อารมณ์ มีการนำประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การใส่บาตรพระสงฆ์ทุกเช้าเพื่อพัฒนาจิตใจและอารมณ์ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการแพทย์ทางเลือก หรือการใช้พืชสมุนไพรเพื่อมาช่วยในการส่งเสริมและรักษาสุขภาพอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเตียงได้กำหนดตารางการลงพื้นที่เพื่อดูแลอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยพลังของคนในชุมชน คือ โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นอีกกิจกรรมที่ทางตำบลได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในตำบล โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุ ในมิติด้านสุขภาพมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนผู้สูงอายุมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ กล่าวคือ ลดการกินหวาน มัน เค็ม อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของคนในชุมชน รวมถึงกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ภายในโรงเรียนผู้สูงอายุที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชนในการหันมาทำงานจิตอาสามากขึ้น เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ภายในตำบลมากขึ้น กล่าวได้ว่า “ใครก็ตามที่ผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ คนผู้นั้นจะเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” และนี่คือเสียงสะท้อนที่คุณพ่อบุญกว้าง รักบุญ ประธานชมรมผู้สูงอายุได้บอกเล่ามาด้วยความภาคภูมิใจที่เห็นคนในชุมชนมีความสุขจากกิจกรรมการส่งเสริมที่โรงเรียนผู้สูงอายุได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เพียงเท่านี้คุณพ่อยังบอกอีกว่าทีมชมรมผู้สูงอายุไม่เคยหยุดที่จะเป็นแกนนำในชุมชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนในตำบล โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดแข้ด่อน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีกิจกรรมทั้งส่งเสริมการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ถูกหลักและส่งเสริมกิจกรรมทางด้านจิตใจ มีกิจกรรมให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ กระบวนการที่ถือว่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและถือเป็นจุดเด่นของชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ คือ ระบบการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิดระหว่างเพื่อนสมาชิกในโรงเรียนผู้สูงอายุ และทีมแกนนำสุขภาพในชุมชน ได้แก่ อสม. ทั้ง 62 คน จะเห็นได้ว่าที่นี่เน้นการใช้พลังของคนในชุมชนเพื่อการดูแลคนในชุมชนเสมือนการดูแลสมาชิกในครอบครัว จนเกิดผลสำเร็จที่สำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีขึ้นของคนในชุมชน ทั้งในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพร่างกาย และการดูแลสุขภาพจิตใจหรือ อารมณ์ รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมในสังคม การทำงานจิตอาสาพัฒนาชุมชนที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อชะลอความชราให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
“คนบ้านกุดแข้ด่อนมีพื้นเพมาจากชาวลาว ภูไท เซโบน เป็นคนไทเดียวกัน เรามีความฮักความสามัคคีกันเป็นอย่างดี จะทำอะไรก็สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว” คำกล่าวของนายนาภวิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดแข้ด่อน เล่าด้วยความภาคภูมิใจในความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่ง ผอ. ได้เล่าว่าความสำเร็จในการดำเนินงานด้านสุขภาพของตำบลมีปัจจัยสำคัญ คือ “คน” เพราะคนหมู่บ้านนี้เวลามีปัญหาใด ๆ จะร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผนและร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันจนเกิดผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว กลไกที่สำคัญอีกอย่าง คือ ในตำบลมี “คณะกรรมการ รพ.สต.” ที่มาจากภาคีหลายภาคส่วนในท้องถิ่น ทั้งจากเทศบาลตำบลกุดแข้ด่อน โรงเรียน วัด ผู้นำหมู่บ้านและคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุมาร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในตำบล ตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา ดังเช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ประชาชนในพื้นที่ได้มีการระดมทุนเพื่อมาช่วยกันจัดเตรียมและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และยังมีการระดมทุนเพื่อสร้างห้องฟอกไตสำหรับคนที่มีปัญหา จะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านกุดแข้ด่อน เน้นกระบวนการสร้างพลังภายในชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในชุมชนด้วยตนเองได้เป็นอย่างดี
เรื่อง/เรียบเรียง : จีราพร ทิพย์พิลา