post-image

คันนาทองคำ “ปลูกด้วยใจ” ระบบนิเวศที่ยั่งยืน

          อำเภอเขาวงจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอขนาดเล็ก มีจำนวน 6 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ ตำบลสงเปลือย ตำบลคุ้มเก่า ตำบลสระพังทอง ตำบลหนองผือและตำบลกุดปลาค้าว มีจำนวน 85  หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 28,174 คน ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบบริเวณกว้างมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเทือกเขาภูพานล้อมรอบ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระดับสูงสุด 262 เมตร ต่ำสุด 168 เมตรลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อน เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบฤดูหนาวจึงมีอากาศที่หนาวและลมพัดแรงตามบริเวณเชิงเขา ครั้งในอดีตมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งบนเทือกเขาและพื้นที่ราบ แต่เนื่องจากพื้นที่ทำนามีน้อยผลกระทบที่ตามมา คือ ประชากรส่วนมากมีข้าวไม่พอบริโภคในครัวเรือน ประชาชนจึงพยายามบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายเป็นพื้นที่ทำนาและทำไร่อ้อยในบางส่วน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง กล่าวคือเทคโนโลยีสารเคมีสมัยใหม่ทางการเกษตรส่งผลกระทบให้ดินเสื่อมสภาพหน้าดินแข็ง ในระบบการผลิตต้องเพิ่มจำนวนปริมาณปุ๋ยเคมีสารเคมีที่มากขึ้นทุกปี ประมาณปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา ผลจากการใช้เครื่องจักรกล เช่น รถไถฟอร์ดขนาดใหญ่ปรับที่ดินบุกรุกป่า ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อขยายพื้นที่การทำนาอย่างต่อเนื่องทำให้ป่าถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ส่วนผลกระทบทางอ้อม นำไปสู่การทำลายห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติของชุมชน เช่น กบ ปลา พืชผักตามท้องนาลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรือแม้กระทั่งเห็ดป่าที่ชาวบ้านชอบนำมาเป็นอาหารลดลงหรือไม่กล้ารับประทานเช่นในอดีตเนื่องจากผลของการใช้สารเคมี ในปี พ.ศ.2535 อำเภอเขาวงจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแหล่งกำหนดเกษตรทฤษฎีใหม่ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชการที่ 9 หลาย ๆ ภาคส่วนจึงมีการรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในนาข้าวส่งเสริมการทำไร่นาสวนผสม แต่ก็สามารถทำได้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น

            วัลญารัตน์ นวลบัตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพนาโนเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ทางภาครัฐชักชวนให้เข้าร่วมทำโครงการเกษตรทฤษฏีใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จึงมีการลดใช้สารเคมีในนาข้าวลงอย่างต่อเนื่อง 3 ปีผ่านไป พื้นที่นาทั้ง 17 ไร่ กลายเป็นนาอินทรีย์ ที่ได้ผลผลิตต่อไร่เป็นที่น่าพอใจ ตลอดระยะเวลาที่ทดลองทำอินทรีย์ มีการปลูกไม้ยืนต้นโดยการใช้หลักทฤษฎีหลุมพอเพียงหรือ “1 ไร่ไม่ยากไม่จน” มีการปลูกต้นกล้วยเป็นไม้พี่เลี้ยงและปลูกพืชชนิดต่าง ๆ รอบล้อม เช่น มะเขือ พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ที่ขาดไม่ได้คือต้นยางนา กระบาก และไม้ยืนต้นชนิดอื่น โดยมีความคาดหวังว่าจะให้พื้นที่นา

บางส่วนกลับมาเป็นพื้นที่ป่าตามหัวไร่ปลายนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ เช่น เห็ดป่าชนิดต่าง ๆ จากการสอบถามผู้ที่ชอบหาเห็ดป่าพบว่าไม้ที่เห็ดระโงกชอบออก คือ ไม้กระบากส่วนไม้ยางนาเป็นกระแสว่าเห็ดชอบออกเช่นกัน จึงมีการทดลองนำน้ำเชื้อเห็ดป่า เช่น นำน้ำเชื้อเห็ดระโงกมาราดใส่โคนต้นไม้กระบาก ต้นยางนาที่ปลูกและในบางครั้งก็มาหยอดใส่ต้นกล้าแล้วนำไปปลูก จนเวลาผ่านไป 5 ปี ถึง ปี พ.ศ.2557 ด้วยความสนใจดูแลอย่างดีต้นไม้ที่ปลูกมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเริ่มมีสภาพความเป็นป่า จึงมีเห็ดป่าคือ เห็ดระโงกออกเป็นครั้งแรก และในปีต่อมา พ.ศ.2558 เห็ดป่าเริ่มมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความมั่นใจว่าแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามตามรอยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในราชการที่ 9 เป็นทางรอดของพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาอย่างแท้จริง จึงมีแนวคิดที่จะชักชวนให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนหรือผู้ที่สนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์และไร่นาสวนผสม                                     

            ในปี พ.ศ.2558 ได้ปรึกษากับคณะกรรมการกลุ่มเพื่อเสนอขอรับทุนกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนัก 6 ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพนาโน ภายใต้ชื่อโครงการ ลดการใช้สารเคมีในนาข้าว โดยมี ร.ต.ต.พงษ์ศักดิ์ นวลบัตร เป็นทีมสนับสนุนวิชาการและให้คำปรึกษา เมื่อมีทุนสนับสนุนจึงเริ่มมีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง  เช่น ประชุมคณะทำงาน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ ทำข้อตกลงแนวทางการปฏิบัติ รับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมในเขตพื้นที่ 2 ตำบล คือ กุดสิมคุ้มใหม่ ตำบลสงเปลือยและตำบลคุ้มเก่าบ้างเล็กน้อย จนได้สมาชิกทั้งหมดจำนวน 80 คน รวมพื้นที่ 1,150 ไร่ จัดเวทีอบรมให้ความรู้ผลกระทบจากการบุกรุกป่าและการใช้สารเคมีในนาข้าว เชิญภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เช่น เกษตรอำเภอเขาวง เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคประชาชน เช่น ประธานกลุ่มวิสาหกิจชาวนาบ้านหนองบัวโดน อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ มาเป็นวิทยากร ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทำปุ๋ยอินทรีย์สารอินทรีย์บำรุงดิน ไร่แมลง  ร่างกติกาข้อตกลงต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงการปลูกป่าในพื้นที่ตามหัวไร่ปลายนา ข้อตกลงลดสารเคมีในนาข้าว มีการติดตามประเมินผลเสริมพลังซึ่งกันและกัน ประกอบกับสมาชิกที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน ณ พื้นที่ไร่นาสวนผสมของประธานกลุ่มเห็นผลลัพธ์จากการปลูกป่าคือ มีเห็ดระโงก เห็ดโคน ให้เก็บอย่างต่อเนื่อง เห็นนาข้าวอินทรีย์ที่มีความสวยงาม สมาชิกจึงเริ่มมีความสนใจที่จะลดสารเคมีในนาข้าวและปลูกป่าไม้ยืนต้น โดยมีความคาดหวังว่าเมื่อต้นไม้โตขึ้นจะได้เก็บเห็ดเช่นพื้นที่ไร่นาสวนผสมของประธานกลุ่มหรือพื้นที่ต้นแบบ

            ปี พ.ศ.2559 กุศโลบายประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพนาโน “ยกเห็ดป่ามาไว้ที่คันนาไม่ใช่เรื่องยาก” โดยการเพาะกล้าไม้กระบากและกล้าไม้ยางนาผสมเชื้อเห็ดระโงกที่ทำเองจึงเกิดขึ้นโดยการนำเสนอในเวทีสรุปคืนข้อมูล โดยการเลือกวันที่ เห็ดระโงกออกเต็มคันนาเมื่อมีการนำเสนอเทคนิควิธีการประกอบกับมีตัวอย่างของจริงให้เห็น ส่งผลให้สมาชิกแต่ละคนเกิดแรงบันดาลใจ และมีแผนที่จะลดพื้นที่ทำนาลงแบบง่าย ๆ โดยการปรับคันนาให้ใหญ่กว่าเดิมตามบริบทพื้นที่ของแต่ละคนและเริ่มลงมือปลูกไม้ยืนต้น กระบาก ยางนา ไม้ยืนต้นอื่น ๆ โดยมีต้นกล้วยเป็นไม้พี่เลี้ยง ไม้ที่ “ปลูกด้วยใจ” จะโตเร็วมีความแตกต่างกับไม้ที่ปลูกด้วยมือเพียงอย่างเดียว เทียบกับ โครงการปลูกป่าโดยทั่วไปอย่างเห็ดได้ชัด

เมื่อโครงการของ สสส. สิ้นสุดลง ประธานกลุ่มมีการเชื่อมประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ พัฒนาที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์ ป่าไม้สมเด็จจังหวัดกาฬสินธุ์สนับสนุนพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์สนับสนุนส่งเสริมการทำนาอินทรีย์ตามโครงการนาอินทรีย์หนึ่งล้านไร่ของรัฐ พื้นที่นาปลอดสารของสมาชิกจึงถูกยกระดับเป็นนาอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 575 ไร่

            ตลอดระยะเวลาที่มีการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมของสมาชิกในกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องปัจจุบันสภาพพื้นที่นาของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพนาโนจำนวน 80 รายจาก 2 ตำบลหลัก รวมพื้นที่ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,150 ไร่ พื้นที่ทำนาที่เคยเป็นนาใช้สารเคมี มาวันที่พื้นที่ทั้งหมดกลับเป็นนาปลอดสารเคมีและนาอินทรีย์ มากไปกว่านั้นพื้นที่นาของแต่ละคนได้ลดลงจากการปรับเป็น “ครูใหญ่” คันนาที่ใหญ่ขึ้นยาวขึ้นเป็น “คันนาทองคำ” ปรับเป็นสวนหัวไร่ปลายนา มีไม้เล็กไม้ใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายป่าแต่เป็นแถวเป็นแนวสวยงามให้เห็นเป็นย่อม ๆ พื้นที่นาและคันนาบางคนมีความอุดมสมบูรณ์ เช่น ที่นาของหนึ่ง ศรีหาตา เล่าว่าตนเองเริ่มสังเกตดูประธานกลุ่มทำไร่นาสวนผสมตั้งแต่ครั้งแรก ๆ จึงได้ลงมือทำไร่นาสวนผสมและปรับเป็นคันนาทองคำตามที่สังเกตเห็นและคำแนะนำจากประธาน มาวันนี้ (ปี พ.ศ.2565) นอกจากที่นาอุดมสมบูรณ์ปลอดสารเคมีแล้ว คันนาทองคำของตนมีเห็นระโงกออกให้เห็นเป็นครั้งแรกและออกมากขึ้นในปีต่อมา ระบบนิเวศน์ในนามีความอุดมสมบูรณ์คันนาเต็มไปด้วยป่าไม้หน้าแล้งไม่ร้อนเหมือแต่ก่อน หน้าฝนมีเห็ดระโงกและเห็ดป่าอื่น ๆ ให้เก็บ นอกจากมีความสุขจากการเก็บเห็ด มีร่มเงาไม้แล้ว ยังมีความสุขจากเพื่อนบ้านมาเยี่ยมชมถามข่าวคราวว่าเห็ดออกหรือยังจะมาขอดู ขอเก็บ และถามเทคนิควิธีการว่าทำอย่างไรเห็ดถึงออก ซึ่งตนได้แนะนำเทคนิควิธีการด้วยความเต็มใจ

            “เสียดายที่ปลูกช้า”  นภารัตน์ เครือศรี เป็นหนึ่งจากหลายคนที่ปลูกป่าช้า เป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ในปี 2562 ลงมือทำนาลดการใช้สารเคมีแต่ยังเสียดายพื้นที่ทำนาจึงไม่สนใจที่จะปลูกป่าตามที่ตกลงกันไว้  ด้วยสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้กับนาของ หนึ่ง ศรีหาตา เห็นความอุดมสมบรูณ์เห็นเห็ดป่าและเห็ดระโงกออกอย่างต่อเนื่อง มาวันนี้ ต้นปี พ.ศ.2566 จึงตัดสินใจลดพื้นที่ทำนาบางส่วนลงเพื่อปรับเป็นคันนาทองคำตามกระแสสิ่งแวดล้อมที่เห็น

            จากพื้นที่ป่าบนคันนาทองคำที่มีความอุดมสมบรูณ์มีเห็ดป่าชนิดต่าง ๆ และเห็ดระโงกออกอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี ประกอบกับของสมาชิกบางส่วนก็เริ่มมีเห็ดออกบางแล้ว ประธานกลุ่มฯ จึงมีความมั่นใจว่ากุศโลบาย “ยกเห็ดป่ามาไว้ที่คันนาไม่ใช่เรื่องยาก” นั้นเป็นวิธีที่ดีมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ.2563 จึงมีการนำเสนอต่อสื่อมวลชนช่องต่างๆ ถ่ายภาพลงโลกโซเซียล ตามกลุ่มต่าง ๆ และบวกกับกระแสการทำ “โคก หนอง นา” ที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไปจำนวนมาก การสั่งจองต้นกล้าไม้กระบากและยางนาทองคำ ทาง Facebook โทรศัพท์ และLine มีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ มีผู้แวะเวียนมาเรียนรู้ศึกษาดูงานทั้งรายบุคคล และเป็นหมู่คณะมีการขอคำแนะนำวิธีปลูกและซื้อต้นกล้าที่ผสมเชื้อเห็ดแล้วกลับไปปลูก ตามที่ได้รับคำแนะนำ “ปลูกด้วยใจ” แทนการปลูกด้วยมือเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าจะน่ามีการเจริญเติบโตงอกงามตามลำดับได้เป็นอย่างดี ปีละไม่น้อยกว่า 1,200 ต้น มาเป็นเวลาระยะจำนวน 3 ปีแล้ว จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปดีขึ้น 

            ขอขอบคุณ สสส. สำนัก 6 ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดลดการใช้เคมีในนาข้าว ลดพื้นที่นาขยายพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพนาโนจะเป็นองค์กรภาคเอกชนเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ผ่านการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง “พอเพียง มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ขยายผลต่อไป

 

เรื่อง/เรียบเรียง : พงษ์ศักดิ์  นวลบัตร