post-image

ความภาคภูมิใจในห้องสมุดเล็ก ๆ

“สมมตินะสมมติ” ผมเริ่มเปิดประเด็นพูดคุยกับเด็ก ๆ ขณะนั่งรถเข้าไปในเมืองเพื่อร่วมกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนอุบลฯ ยังสร้างสรรค์ ที่จัดขึ้นโดยหน่วยจัดการงานเด็กเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผมมักจะใช้โอกาสนั่งรถด้วยกันแบบนี้หาเรื่องราวมาชวนเด็ก ๆ พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ มันเป็นพื้นที่ที่จะรวมเอาความสนใจมาไว้ที่เรื่องราวและการครุ่นคิดใคร่ครวญหาเหตุผลมาคุยกันได้อย่างถึงใจ อาจเป็นเพราะในห้องโดยสารเล็ก ๆ ของรถมันไม่มีอะไรอย่างอื่นให้สนใจมากนักและสองข้างทางก็ผ่านไปเร็วเกินกว่าที่พวกเด็ก ๆ จะจดจ่อต่อเนื่องได้

          “สมมตินะสมมติ สมมติว่าเพื่อน ๆ ในห้องเรียนไม่มีใครอยากเล่นกับเรา เราจะทำอย่างไร?” ก่อนถามคำถามนี้ผมได้คิดใคร่ครวญมาอย่างดีแล้วว่าคำถามไม่ยากจนเกินไปและแอบคาดหวังว่าคำตอบจะเป็นการประเมินความคิดของเด็ก ๆ ที่ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ด้วยกันมาหลายปีว่าพวกเขาจะมีมุมมองความคิดกับเรื่องคุณค่าในตัวเองอย่างไร

          “ถ้าเพื่อนไม่เล่นด้วย ผมก็ไปหาเพื่อนคนใหม่ คนที่เขาอยากเล่นกับผม” เด็กชายโกโก้ ป.5 พูดพึมพำเบา ๆ เหมือนไม่ค่อยจะมั่นในคำตอบ ซึ่งเป็นปกติของเขาเวลาต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรสักอย่างกับเพื่อน ๆ จนผมต้องคอยถามย้ำว่า “โกโก้พูดอะไรครูได้ยินไม่ชัด ลองพูดใหม่ดังๆ สิครับ” เขาจึงทวนคำพูดเดิมแต่น้ำเสียงดังและหนักแน่นขึ้น

 

          “ถ้าเป็นหนูนะ” เด็กหญิงหมิงหมิง ป.4 ชิงเพื่อนคนอื่นตอบเสียงดัง “ถ้าเป็นหนูจะหาหนังสือสักเล่มและหามุมเงียบๆ นั่งอ่านหนังสือ เพราะหนังสือก็เป็นเพื่อนเราได้ ใช่ไหมครู เธอแลกเปลี่ยนความคิดส่วนตัวแต่โยนการยืนยันมาที่ผู้ถาม เพื่อเช็คความเข้าใจว่าถูกหรือไม่ เป็นปกติธรรมดาของเด็ก ๆ เหล่านี้ที่มักจะต้องหาใครสักคนเป็นพวกยืนยันความคิดว่าสิ่งที่เขาเสนอออกมานั้นเป็นความเห็นหรือคำตอบที่ถูก หน้าที่ของผมที่เป็นทั้งครูและพี่เลี้ยงการเรียนรู้ของพวกเขาจะต้องคอยสนับสนุนหรือช่วยให้ความคิดเห็นต่าง ๆ ของเด็ก ๆ กระจ่างชัดเจนมากขึ้น ผมมักจะใช้วิธีการตั้งคำถามซ้อนกลับไปอีกที

          “หมิงหมิงช่วยขยายความหน่อยสิว่า หนังสือเป็นเพื่อนของเราได้อย่างไร?” จากนั้นเด็กหญิงผู้มีแววตาชั่งคิดชั่งสงสัยก็อธิบายความหมายตามที่เธอเข้าใจว่า

          “ในหนังสือมันมีตัวละครที่บางครั้งเหมือนเขาพูดกับเราได้ เขาคิดเหมือนเราและต่างจากเราทำให้เราเข้าใจว่าเราสามารถคิดแบบนั้นก็ได้ แบบนี้ก็ได้ เวลาอ่านหนังสือเหมือนได้คุยกับเพื่อน และอีกอย่างหนังสือทำให้เราได้รู้ว่าสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่แถวบ้านเรามันเป็นอย่างไร เรารู้จักที่อื่น ๆ ไกล ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่นั่นจริง ๆ แต่ถ้าได้ไปจริง ๆ ก็คงดีนะครู”

            ผมฟังเสียงใส ๆ ที่กำลังบรรยายความคิดเห็นด้วยความปลาบปลื้ม อะไรทำให้เขาเข้าใจได้แบบนั้น ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์หรือสิ่งที่เราทำอยู่กับเด็ก ๆ เหล่านี้มีส่วนต่อมุมมองความคิดพวกเขามากน้อยแค่ไหน

 

            ถ้าคิดแบบเข้าข้างตัวเองสักหน่อยคงพออธิบายปรากฏการณ์ของเด็ก ๆ เหล่านี้ได้ว่า ห้องสมุดฯ กำลังปลูกฝังความมั่นใจและการนับถือตัวเองของพวกเขาจนสามารถหาทางออกกับตัวเองได้เวลาเจอปัญหาที่พวกเขาต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน อย่างกรณีที่หยิบยกมาคุยกับเด็ก ๆ ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็คงคิดว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย การที่เพื่อนไม่เล่นด้วยหรือไม่ให้เข้ากลุ่มเพราะเราไม่ทำตามที่กลุ่มต้องการ ถ้าเป็นเราก็คงไปหาอย่างที่น่าสนใจทำหรือหาคุณค่าอย่างอื่นได้ แต่กรณีแบบนี้มีเด็กหลายคนที่เก็บไปคิดแบบด้อยค่าตัวเองบางคนถึงขนาดเกิดภาวะซึมเศร้า ร้ายแรงไปถึงคิดฆ่าตัวตายก็ยังมีมาแล้ว แต่เมื่อได้ฟังเด็ก ๆ ที่เราทำงานด้วยมีความคิดเห็นแบบนี้ ก็รู้สึกดีเอามาก ๆ ที่เห็นการเติบโตทางความคิดแม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้

 

            การนับถือในตัวเอง (Self-esteem) เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพจิตดีที่เป็นทั้งเนื้อหาและเป็นงานหลักของห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ในฐานะพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนให้ความใส่ใจและทำเรื่องนี้มาตลอดโดยอาศัยเครื่องมือสำคัญอยู่สอง-สามอย่าง คือ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง เล่นบอร์ดเกม การ์ดเกม ทำกิจกรรมศิลปะเพื่อเพิ่มทักษะด้านอารมณ์และสุนทรียภาพ และอีกเครื่องมือที่สำคัญคือการใช้กระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างการเล่น การสำรวจและทำโปรเจคเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการชวนคิดชวนคุยผ่านกระบวนการกลุ่ม  ตัวกระบวนการแบบกลุ่มนี่เองที่เป็นตัวกระตุ้นความอยากเรียนรู้และเป็นช่องทางแห่งการแลกเปลี่ยนต่อยอดความรู้ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา 

          “อ้าว ไปห้องสมุดไม่ได้อ่านหนังสือหรือ?” ผมเคยเจอคำถามแบบนี้เมื่อเล่ากระบวนการเรียนรู้ที่ทำอยู่ให้ใครหลายคนฟัง  ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะเข้าใจว่าห้องสมุดจะมีแต่หนังสือและเด็ก ๆ จะมาอ่านหนังสือ ซึ่งหนังสือมีส่วนสำคัญมากแต่พวกเราต้องยอมรับว่าเด็ก ๆ ยุคนี้ไม่ชอบอ่าน ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เรียนรู้หรอกนะครับ การที่เขาไม่อ่านเป็นเพราะเขามีวิธีและช่องทางการเรียนรู้ด้วยวิธีการอื่น เช่น การดูการฟังจากช่องทางสื่อโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งโลกดิจิทัลมีหลายแพลตฟอร์มให้เด็ก ๆ เลือกดูเลือกฟังมากมายจนเราเองตามไม่ทันและจำเป็นต้องเฝ้าระวังเนื้อหาต่าง ๆ ในนั้น หนังสือกลายเป็นความล้าหลังและห่างเหินไปโดยปริยาย แต่คุณสมบัติของหนังสือก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยพัฒนาทักษะการอ่านการเขียนและพัฒนาการทางความคิดให้กับเด็ก ๆ เรายังควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ อ่าน ดังนั้น หนังสือจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เราได้ออกแบบให้บูรณาการกับกิจกรรมเรียนรู้อื่น ๆ

            “จริง ๆ แล้วเรื่องที่ครูถามพวกเราเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นจริง ๆ กับเด็กคนหนึ่งที่ครูรู้จัก” ผมเฉลยเรื่องราวให้พวกเขาฟัง เรื่องนี้มันเคยเป็นโจทย์ที่ผมหยิบมาคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กคนนั้น เขาเป็นเด็กที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในโรงเรียนใหม่ ด้วยบุคลิกที่เป็นคนเงียบ ๆ ไม่สุงสิงกับใครแถมยังเป็นเด็กใหม่ด้วยจึงมักจะโดนเพื่อน ๆ ในชั้นบลูลี่ในบุคลิก บางครั้งโดนเพื่อนแกล้งจับผม ตบหัวบ้าง แต่เธอขัดขืนไม่ยอมโดนแกล้ง เด็กคนนี้จึงโดนกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม ผมเคยนั่งคุยกับเธอหลังจากที่คุณครูและพี่เลี้ยงที่ดูแลมาปรึกษาปัญหานี้เพราะเด็กคนนี้ถูกมองว่าแปลกแยก มีภาวะซึมเศร้าจนผู้ปกครองเคยไปพบจิตแพทย์ พอผมฟังสิ่งที่เธอเล่าก็เห็นว่าเธอก็เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่ต้องการคนคุยด้วย ต้องการคนรับฟังและชื่นชมคุณค่าในสิ่งที่เธอมี และผมยังเห็นว่าเด็กที่หลายคนมองว่า เด็กมีปัญหาคนนี้เป็นคนฉลาดคิดดูจะมีความคิดโตกว่าวัยเดียวกันด้วยซ้ำ ซึ่งเด็กแบบนี้ต้องมีคนคอยรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดด้วยอย่างมาก ผมแนะนำในให้คุณครูประจำชั้นจัดกิจกรรมแบบกลุ่ม เช่น การเรียนรู้ตัวเอง เข้าใจคนอื่น หรือ ทักษะการทำงานเป็นทีมให้กับเด็ก ๆ ในชั้นเพื่อให้พวกเด็ก ๆ ที่มีปัญหากันเข้าใจกันมากขึ้น

 

          “พวกเรามีคำแนะนำอะไรสำหรับเพื่อนคนนี้ อย่างไรไหม?”  ผมลองโดยคำถามหาทางออกสำหรับปัญหาที่ตั้งไว้แต่ตอนแรกกับเด็ก ๆ ที่นั่งรถมาด้วยกันอีกครั้ง

            “แนะนำให้เขาหาหนังสือสักเล่มติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเวลาเพื่อนไม่ให้เล่นด้วยจะได้หยิบขึ้นมาอ่านได้” เด็กหญิงหมิงหมิงเสนอวิธีที่เขาเองก็ใช้อยู่

            “ผมว่าควรให้เพื่อนคนนั้นมีสมุดบันทึกด้วย เวลาอ่านแล้วเกิดความคิดอะไรขึ้นมาก็ให้เขาจดไว้ในสมุดบันทึกด้วย” เด็กชายก้าว ป.6 พี่ใหญ่สุดเสนอความคิดขึ้นมาอย่างมั่นใจหลังจากที่นิ่งฟังคนอื่นอยู่นาน

            “ดีๆ เป็นไอเดียที่ดีมากเลย” ผมเห็นด้วยและชื่นชมด้วยใจจริง

            “ครูคิดว่าเราจะส่งหนังสือไปให้เด็กหญิงคนนั้นอ่าน แต่เราจะส่งเล่มไหนดี มีใครแนะนำเล่มไหนบ้างไหม?”

            “มาทิลดา[1] นักอ่านสุดวิเศษ น่าจะเหมาะนะคะ” หมิงหมิงเสนอ

            “ผมเสนอ ติสตู[2] นักปลูกต้นไม้” ก้าวเสนอบ้าง

            และเด็กคนอื่น ๆ แย่งกันพูดถึงชื่อหนังสือที่ตัวเองเคยอ่านว่ามีตัวละครแบบนั้นแบบนี้ เรื่องสมมุติโดยไม่ได้สมมติกลายเป็นบทเรียนที่น่าสนใจระหว่างการเดินทางด้วยกันในเวลาสั้น ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ผมเห็นจากพวกเขาคือความมั่นใจซึ่งค่อย ๆ เปล่งประกายขึ้นทีละเล็กละน้อย นี่คือความภาคภูมิใจของเรา คือ ความสำเร็จของห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ พื้นที่เรียนรู้เล็ก ๆ ในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง

เรื่อง/เรียบเรียง : คะทาวุธ แวงชัยภูมิ