กินสบายใจ: พลังระบบอาหารรับมือภาวะวิกฤต
ก้าวแรก สื่อ...สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
“มูลนิธิสื่อสร้างสุข” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสื่อที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันเป็นองค์กรในการผลักดันงานด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี “คนึงนุช วงศ์เย็น” ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2553 เธอได้มีโอกาสไปถ่ายทำสารคดี “คนคุณธรรม ข้าวคุณธรรม” ที่จังหวัดยโสธร ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวนาจังหวัดยโสธรที่มีความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากมาทำงานด้านความมั่นคงทางอาหารผ่านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
แต่ด้วยลักษณะของงานและรูปแบบองค์กรที่ทำอยู่ ณ ตอนนั้นที่เป็นงานด้านการสื่อสาร จึงใช้สื่อรายการโทรทัศน์กินสบายใจ เป็นเครื่องมือไปเรียนรู้เรื่องราวและทำความรู้จักกับผู้คนตลอดห่วงโซ่อาหาร ได้รู้จักทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและได้เรียนรู้ “ช่องว่างของปัญหา” ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกับทุกคน ทั้งระดับความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน คือ “มีอาหารที่ปลอดภัยกิน” จากแนวคิดการเพาะปลูกแบบใหม่ที่มีความปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตรและระดับการพัฒนาอาชีพของเกษตรกร คือ มีรายได้จากแปลงการผลิต นั่นก็คือ “สร้างตลาดนำการผลิต” เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของเกษตรกร การทำงานในช่วง 3 ปีแรก มีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนครบทุกห่วงโซ่เข้ามาทำงานร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในหลายเรื่องและมีห้างสรรพสินค้าเอกชน คือ “ห้างสุนีย์” เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรและเครือข่ายสามารถเข้าไปจำหน่ายสินค้า โดยเปิดเป็น “ตลาดนัดสีเขียวกินสบายใจ” ตลาดนัดติดแอร์แห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี มีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่าย 20 กลุ่ม โดยเปิดนัดแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป
“ตลาดเขียว” ห้องเรียนรู้เรื่องคุณภาพและมาตรฐานสู่การพัฒนาระบบอาหารใหม่
แม้การทำเกษตรกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเกษตรกร มีการพึ่งพาตนเองและระบบธรรมชาติเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัย แต่เมื่อเกษตรกรได้ยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคแล้วจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอธิบายเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าให้กับผู้บริโภค ปัญหาของเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคในตลาดนัดสีเขียวระยะแรก คือ ได้รับคำถามจากผู้ซื้อ แต่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ตรงกัน เกิดความไม่เข้าใจกันในเรื่องกระบวนการผลิต การรับรองมาตรฐาน การดูแลพืชผักที่เพาะปลูก เพราะการรับสมัครสมาชิกเข้ามาร่วมจำหน่ายสินค้าเกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เปิดโอกาสให้เกษตรกรยื่นอ้างอิงใบรับรองจากหลายหน่วยงาน การรับรองตนเองหรือการรับรองจากกลุ่ม ซึ่งความรู้มีหลายชุด หลายกลุ่มคน ขณะที่ผู้บริโภคก็มีความรู้ที่แตกต่างกัน ทำให้กลไกตลาดเขียวได้มีการพูดคุยเรื่องมาตรฐานอย่างจริงจัง และนำมาสู่การยกระดับเป็น “มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS กินสบายใจ” ซึ่งมาตรฐานนี้มีการออกแบบให้เกิดความร่วมมือจาก 12 หน่วยงาน ในปี 2561 เริ่มต้นทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การให้ความรู้เกษตรกร การตรวจรับรองมาตรฐาน และพัฒนากลไกตลาดเพื่อกระจายพืชผักและอาหารที่เกษตรกรผลิตได้ไปสู่ผู้บริโภคร่วมกัน เรียกได้ว่ามีบทบาทในการคิดวางแผนและขับเคลื่อนให้ครบตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยมีพื้นที่ “ตลาดเขียว” เป็นห้องเรียนสำหรับทุกคนเริ่มต้นจากเรื่องคุณภาพมาตรฐาน จนถึงการออกแบบระบบอาหารที่มีความมั่นคงและยั่งยืนด้วยกัน
น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร
นอกจากความไม่ปลอดภัยของอาหารจากพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรที่ต้องแก้ไขด้วยการผลิตแบบการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ความมั่นคงทางอาหารยังถูกท้าทายจากวิกฤตปัญหาใหม่ นั่นคือ “ภัยพิบัติจากความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซ่า มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิของโลกระหว่างปี 1880 - 2020 พบว่า สถานการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.02 องศาเซลเซียส เป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ กรณีประเทศไทย ศูนย์ยุทธศาสตร์การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีข้อมูลการตรวจวัดผิวพื้นและบรรยากาศจากสถานีอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศ บ่งชี้ว่าอุณหภูมิในประเทศไทยในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2498 – 2552) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ โดยค่าเฉลี่ยรายปีของอุณหภูมิสูงสุด อุณหภูมิเฉลี่ยและอุณหภูมิต่ำสุด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 0.86 0.95 และ 1.45 องศาเซลเซียส
ขณะที่ภูมินิเวศของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำทุกสาขาไหลมารวมกัน ตั้งแต่แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขาย่อยหลายสาขา เช่น ลำเซบาย ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย จึงมักประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่และถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ภัยพิบัติของเมืองอุบลราชธานี เช่น ปี พ.ศ. 2481 ปี พ.ศ. 2521 ปี พ.ศ. 2543 ปี พ.ศ. 2544 ปี พ.ศ. 2554 ปี พ.ศ. 2562 และล่าสุด คือ ปี พ.ศ. 2565 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีครั้งใหญ่ในรอบ 44 ปี ได้ส่งผลเสียหายและกระทบต่อประชาชนในทุกอาชีพ จะเห็นว่าระยะเวลาของการเกิดภัยพิบัติจากอดีตที่ห่างกันถึง 40 ปี ถึงปัจจุบันมีระยะเวลาห่างกันแค่ 3 ปี นั่นหมายถึง ภัยพิบัติมีความถี่และรุนแรงมากขึ้น เกษตรกรไม่มีโอกาสในการฟื้นฟูแปลงเกษตรเพื่อให้พืชพรรณได้เติบโตเป็นอาหารได้ ขณะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม เกษตรกรอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ขาดอาหาร ขาดข้าวในการบริโภค รวมถึงขาดเมล็ดพันธุ์ในการทำการผลิตในฤดูกาลต่อไป แม้เครือข่ายภาคประชาชนได้ระดมพลังเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเกษตรกร โดยรวมกันจัดงานผ้าป่าเมล็ดพันธุ์จากภัยพิบัติน้ำท่วม และได้มอบเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรผู้ประสบภัยเพื่อเพาะปลูกหลังน้ำลดไว้บริโภคในครัวเรือน แต่สามารถส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลังน้ำลดเกษตรกรประสบปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ศัตรูพืช โรคพืชและแมลงมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเสียหาย วางแผนเพาะปลูกยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ของเกษตรกรโดยตรง
“พรรณี เสมอภาค” ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กินสบายใจ กล่าวว่า มีงานวิจัยที่คาดการณ์ว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2572 ประมาณ 1.47 องศาเซลเซียส โดยจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ แมลงและศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงฐานทรัพยากรอาหารในท้องถิ่นและความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ รายได้และอาชีพของเกษตรกร การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 1.47 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น มีโอกาสเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นถี่มากขึ้น
“ปี 62 เรานั่งวัดอุณหภูมิและนั่งวัดปริมาณน้ำฝนกัน แป๊บเดียวตอนเช้า คือ 29 องศา ตอนบ่ายอุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาแล้ว อย่างนี้พืชน็อคภายในข้ามวันได้เลย หรือผลผลิตรสชาดเสียหาย คุณภาพเสียหาย ท่วมกับแล้งจะสลับกันอย่างกับตีกลอง พูดได้คำเดียวว่า ถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น คำนวณไม่ได้มากขึ้น” พรรณี กล่าวทิ้งท้าย
พลังระบบอาหารรับมือกับทุกภาวะวิกฤต
การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานเพื่อรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ มีการเพิ่มข้อกำหนด 8 ข้อ เพื่อสร้างมาตรฐาน PGS กินสบายใจและเพื่อเชิญชวนให้เกษตรกรเห็นความสำคัญในการปรับระบบการผลิตของตนเองให้สามารถรับมือกับปัญหาได้ ซึ่งเดิมได้เริ่มต้นจากการให้ความรู้ความเข้าใจในระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต แต่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้จำเป็นต้องเติมความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวและการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค ประกอบด้วย การประเมินความเสี่ยงด้วยการมีข้อมูลสภาพภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝนเพื่อให้เกษตรกรนำมาวางแผนการผลิต การลดและป้องกันความเสี่ยงด้วยการออกแบบแปลงให้สามารถรองรับการผลิตที่ความหลากหลาย การปรับปรุงบำรุงดินให้การผลิตพืชพรรณแข็งแรง การลดต้นทุนด้วยการหมุนเวียนปัจจัยการผลิตภายในฟาร์มระหว่างคน พืช สัตว์ การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชในท้องถิ่นให้เหมาะสม การเพิ่มไม้ยืนต้นเพื่อเป็นไม้กันลมในแปลงผลไม้อินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้ง การกระจายความเสี่ยงด้วยระบบการผลิตแบบผสมผสาน การเพิ่มทักษะการแปรรูป การเรียนรู้ตลาดรูปใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรได้ นอกจากนี้ ยังต้องขยับไปชวนเพื่อน ๆ ในกลุ่มมาทำด้วยกัน มีการรวมกลุ่มกันในชุมชนเพื่อเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ให้ครบทุกห่วงโซ่ ตลอดจนเรียนรู้กองทุนเมล็ดพันธุ์เพื่อภัยพิบัติ สานพลังเครือข่ายการบริโภคที่เกื้อหนุนกัน เป็นชุมชนที่มีการผลิตและบริโภคแบบใหม่ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
“เราทำอินทรีย์ในชุมชนคนเดียว รอบข้างยังเป็นเคมีอยู่ จุดตรงนี้ก็มีความรู้สึกว่าอยากขับเคลื่อนให้ตำบลคูเมืองเป็นตำบลของเกษตรอินทรีย์ก็เลยเข้าไปประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ผู้นำชุมชนและโรงเรียนอีก 5 โรงเรียนในตำบลคูเมือง มาร่วมออกแบบงานอาหารปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกัน เพื่อที่จะให้การขับเคลื่อนเป็นไปทั้งระบบ ชุมชนปลูก โรงเรียนช่วยรับซื้อ เด็กๆ ได้ทานผักปลอดภัย” ครูศรีสุดา ทองคำห่อ หรือ “ครูจุ่ย” ผู้ที่เป็นทั้งเกษตรกรและคุณครูผู้ผลักดันงานด้านเกษตรอินทรีย์ในชุมชนตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
การประกอบการสีเขียวเซฟโลก
“ธวัชชัย นนทะสิงห์” เกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่เครือข่ายเล็งเห็นศักยภาพในการทำธุรกิจ ได้ถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการตลาดของเครือข่ายกินสบายใจตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการตั้งตลาดเขียว วิกฤตโควิด 19 ส่งผลให้ตลาดทุกแห่งปิดตัวลงและเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการประกอบการสีเขียวผ่านร้าน “กินสบายใจช็อป” ที่เป็นร้านรวบรวมผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคผ่านหน้าร้านและช่องทางออนไลน์หลายช่องทาง ได้เชิญชวนให้ผู้บริโภคทุกคนมาสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืนด้วยข้อความรณรงค์ “ซื้อเรา เซฟโลก -2 องศาเซลเซียส” ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกสนับสนุนข้าว ผักหรืออาหารแปรรูปอินทรีย์ที่มีส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ๆ
“ตอนนี้เราก็มีการแปรรูปสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคทานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในรูปแบบของฟาร์ม ทู เทเบิ้ล ทุกคนที่ทานอาหาร ทุกจานที่เกิดขึ้น มาจากฟาร์ม ทู เทเบิ้ล คุณจะมีส่วนช่วยดูแลรักษาธรรมชาติ เรากำลังจะทำให้ผู้บริโภคกลายเป็น Change Agent คือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงร่วมกันกับเกษตรกรผู้ผลิต” ธวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากพลังระบบอาหารที่มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อาหาร ส่งเสริมการผลิต ทำงานเรื่องคุณภาพและมาตรฐานเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและส่งเสริมการตลาดในหลาย ๆ ระดับ ได้ช่วยรับมือในภาวะวิกฤต ทั้งวิกฤตความปลอดภัยของอาการ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตโควิด 19 แล้ว นอกจากนี้ พลังของการบูรณาการเครือข่ายของภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่นำมาสู่ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจในการสร้างระบบอาหารใหม่ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนพลังของการสื่อสารที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายแนวคิด บอกต่อบทเรียนและยกระดับการทำงานของเครือข่ายกินสบายใจให้มีการตั้งรับปรับตัวกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน
เรื่อง/เรียบเรียง : คนึงนุช วงศ์เย็น