post-image

7 รอบปี ที่ตำบลช่องสามหมอ

“ทำนาอยู่บ้านคุ้มเหนือ ลงเรือหาปลาอยู่บ้านคุ้มใต้ ปลูกผักปลูกข้าวโพดเลี้ยงกาย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่มาแต่น้อยทำกินอยู่ตามประสา ปู่ ตา ย่า ยายของข้อย แต่ถ้าวันนี้ทำมากได้น้อย สิมีไผ๋ซ่อย คันเฮาบ่อซ่อยเหลือกัน มารวมกันใช้พลังความคิด มาสร้างชีวิต ด้วยพลังสร้างสรรค์ เอาลำไผ่น้อยลำเดี่ยวลำนั้น  เอามาผูกเชือกมัดรวมกัน จัดคนเฒ่าอยู่บ้าน เป็นโรงเรียนผู้สูงวัย ♪♪ ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ซึม ไม่เศร้า รู้เท่าทันเหตุการณ์เมืองไทย ไม่เคยย่อท้อต่อเรื่องใดใด มีชีวิต ยืนหยัดสบาย โรงเรียนผู้สูงวัย อบต. ช่องสามหมอ (ซ้ำ) เอ้า !!! พรึม พรึม พรึม มาซิมาร่วมกัน เป็นมัดไผ่ที่ไร้เทียมทาน เป็นโรงเรียนคนเฒ่าอีสาน พวกเราสืบสานภูมิปัญญาไทย♪♪♪[1]

         

               ทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงนี้ ดิฉันจะรู้สึกขนลุกซู่ ด้วยความสุขใจและปลื้มปิติ ทำให้ได้ย้อนนึกถึงเมื่อ 7 ปีก่อน ที่พวกเราจะมาเริ่มต้นการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงวัยขององค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ในบ่ายวันที่พวกเราลงเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองแสงแสงเจริญ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากถึงร้อยละ 19.75 ผู้สูงอายุมักบ่นเหนื่อย เบื่อและรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า “ชีวิตกะอยู่ไปซามตายหล่ะครับคุณหมอ ลูกเต้าเขากะยากเวียกยากงานเขา ฮาลังมื่อกะบ่ได้เว่านำไผ๋ เว่ากับหมากับแมวไปจังซั่นหล่ะ” สายตาที่ทอดยาวแบบไร้จุดหมายของคุณตาวัย 72 ปี ทำให้เรารับรู้ได้ถึงความเหงา ความว้าเหว่ การพูดคุยเรื่องการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุจึงเริ่มต้นขึ้น ภายใต้การนำของท่านนายกเรืองศักดิ์ ดิลกลาภ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ ท่านมีปณิธานที่แน่วแน่ว่าพวกเราจะผนึกสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับผู้สูงอายุในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอให้จงได้ ซึ่ง         จากคำว่า “สรรพกำลัง” ที่ท่านนายกกล่าวถึงทำให้เกิด การแสวงหาความร่วมมือ ทำให้เกิดทีม 3 ก้อนเส้า (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบด้วย (1) ผู้นำท้องถิ่นและท้องที่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำนายว่างานนี้จะถูกผลักดันหรือผลักไส หัวเรือใหญ่ของผู้นำฝ่ายท้องถิ่น คือ ท่านนายกและสมาชิก อบต. ทั้ง 8 ชุมชน  ส่วนฝ่ายท้องที่ คือ ผู้ใหญ่บ้านของ 8 ชุมชน และอาสาสมัครในชุมชน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชน (2) ผู้สูงอายุและข้าราชการบำนาญ ที่เห็นชอบอยากให้มีโรงเรียนของพวกเขา และแกนนำสำคัญที่ถือว่าเป็น “ต้นทุนทางสังคม” ที่มีคุณค่าที่สุด คือ ทีมข้าราชการบำนาญ ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการทำกิจกรรมกลุ่ม เคยเป็นวิทยากรกระบวนการมาอย่างโชกโชน และ (3) ภาคส่วนราชการที่ จะเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วย อบต.ช่องสามหมอ โรงพยาบาลแก้งคร้อ และ กศน. ตำบลช่องสามหมอ เมื่อครบทุกองค์ประกอบการสร้างมติร่วมกันภายใต้ข้อมูลจากทุกภาคส่วน มองเป้าหมายร่วมกัน คือ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ในปี พ.ศ. 2559 ตัวแทนจากทุกภาคส่วนได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดำเนินการของโรงเรียนผู้สูงอายุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการจุดประกายพลังและความต้องการอย่างแรงกล้าของทีมทุกคนเป็นอย่างยิ่ง

            การศึกษาดูงานไม่ได้สูญเปล่า ทีมได้เริ่มตีเหล็กเมื่อร้อน รีบจัดทำโครงการโดยกองสวัสดิการ องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ จนได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนเพื่อโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ ทั้งจากงบประมาณของ อบต.ช่องสามหมอ และจากกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น (อบต.ช่องสามหมอ) เพื่อให้มีงบประมาณดำเนินที่เพียงพอในการจัดกิจกรรมทุกวันพฤหัสบดี เป็นเวลา 16 สัปดาห์ต่อภาคเรียน แบ่งเป็นปีละ 2 ภาคเรียน และรองรับนักเรียนในปีการศึกษาแรก จำนวน 96 คน ภายใต้ชื่อ “โรงเรียนผู้สูงวัย องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ

นักเรียนทุกคนมีมติร่วมกัน คือ ขอใส่ชุดนักเรียน แม้โรงเรียนจะแจ้งว่าทางโรงเรียนจะแจกชุดนักเรียนคนละชุด แต่มีนักเรียนบางส่วนไม่ขอรับ โดยให้คำตอบว่า “ลูกบอกอยากซื้อชุดให้แม่ เพราะเมื่อก่อนแม่เคยซื้อชุดนักเรียนให้พวกหนูไปโรงเรียน” ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำให้คนฟังรู้สึกตื้นตันใจจนแทบกลั้นน้ำตาไม่ได้ ซึ่งประเด็นการใส่ชุดนักเรียน ก็เคยเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับนักเรียนของเราเป็นอย่างมากหนึ่งครั้ง เมื่อเราเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาเป็นประธานเปิดป้ายโรงเรียนในปี พ.ศ. 2561 ท่านได้ใช้คำพูดที่พวกเราทุกคนสะอึก นั่นก็คือคำว่า “ทำไมต้องจับคนแก่มาใส่ชุดนักเรียน เป็นพ่อเป็นแม่ผม ผมจะไม่ชอบใจนัก” หลังจากที่คำพูดนี้หลุดออกมา พวกเราทุกคนอึ้งและนิ่งเงียบ จนเมื่อท่านกลับไป นักเรียนทุกคนเริ่ม ตาแดง และเริ่มร้องให้เสียใจในคำพูดของบุคคลท่านนั้นที่พูดโดยไม่ทราบที่มาที่ไป พูดโดยไม่ทราบว่า นี่คือพอใจและความสุขของนักเรียนทุกคน ทีมคณะครูได้พูดปลอบใจทุกคน เพื่อไม่ให้เสียใจกับคำพูดดังกล่าว

          ครูประจำสัปดาห์ ประกอบด้วย (1) ครูจากโรงพยาบาลแก้งคร้อ มุ่งให้ความรู้ด้านสุขภาพ (2) ครูจาก กศน. มุ่งให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ (3) ครูข้าราชการบำนาญ มุ่งให้ความรู้ ทักษะชีวิตและงานหัตถกรรมต่าง ๆ (4) ครูจาก อบต.ช่องสามหมอ ซึ่งจะทำหน้าที่เชิญวิทยากรที่สามารถเติมเต็มด้านต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ อาทิเช่น อัยการจังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายสำหรับผู้สูงวัย ข้าราชการตำรวจให้ความรู้ด้านจราจรและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ ตลอดจนการศึกษาดูงานนอกสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทุกสัปดาห์ ล้วนสร้างความรู้และทักษะชีวิตในการดำรงชีพอย่างมีความสุขแก่ผู้สูงอายุทั้งสิ้น ผู้สูงอายุได้พบปะ รักใคร่ ปรองดองกับเพื่อน ๆ ทั้งหมู่บ้านเดียวกันและต่างหมู่บ้านอีก 7 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ ซึ่งจะได้เห็นมุมน่ารัก ๆ ของนักเรียนที่ส่งภาพการไปเยี่ยมเพื่อนต่างหมู่บ้านในช่วงปิดเทอม 2 เดือน พร้อมกับส่งข้อความน่ารัก ๆ “ฟ่าวเปิดเทอมแหน่ครับ คึดฮอดหมู่หลาย เลยต้องมายามกัน” ซึ่งก็ทำให้ท่านนายกและทีมบริหารรู้สึกชื่นใจอย่างยิ่งที่โรงเรียนผู้สูงวัย อบต.ช่องสามหมอ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริงแก่นักเรียนทุกคน

                   ในช่วงเปิดเทอมตลอด 4 เดือน นักเรียนทุกคนจะตื่นเต้นมาก หลายคนบอกว่า “วันพุธ” คือ วันเตรียมอาหารการกิน ใครมีหน่อไม้ มีปลา มีเห็ดหรือผักสวนครัวก็จะจัดเตรียมไว้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1  เตรียมมาวางแผงจำหน่ายที่แผงตลาดใต้ต้นแค ข้างอาคารเรียน ซึ่งทาง อบต. จัดเตรียมไว้ให้บรรดาแม่ค้า วางสินค้าทุกประเภทที่ติดไม้ติดมือมาจำหน่าย จะมีทั้งผักสด หน่อไม้ ผลไม้ตามฤดูกาล ตะกร้าไม้ไผ่ กระติบข้าว ซึ่งผลิตเองในครัวเรือน และช่วงหลัง ๆ มาก็จะมีโซนแผงของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการรวมตัวกัน นำความรู้ที่ ครู กศน. และครูข้าราชการบำนาญนำมาสอนไปต่อยอด ผลิตสินค้ามาจำหน่าย อาทิเช่น ไข่เค็ม ยาหม่องสมุนไพร ลูกประคบ กะลารอก วุ้นกะทิ เป็นต้น ซึ่งจะเปิดจำหน่ายในช่วงเช้าก่อนเคารพธงชาติ ช่วงเบรคพักครึ่งเช้าและหลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ทุกคนให้ความสำคัญมาก คือ การเตรียมอาหารมารับประทานร่วมกันในมื้อกลางวัน ดังนั้น วันพุธเกือบทั้งวันจะเป็นวันที่ทุกคนตื่นเต้นในการหาหอย หาปู หาเห็ด หาหน่อไม้ ตามที่ตนเองมี เพื่อประกอบอาหารมารับประทานกลางวันร่วมกัน ส่วนในวันพฤหัสบดี ทุกคนจะมีน้ำใจ นำมาแบ่งให้คุณครูและทีมงาน อบต. ที่มาอำนวยความสะดวก ให้ได้รับประทานอย่างเอร็ดอร่อยเสมอ (มื้อนี้ ... จึงเป็นมื้อที่ทุกคนไม่อยากพลาด) นักเรียนเริ่มรับประทานก่อน คุณครูก็จะรอท่านนายกและทีมงานที่อำนวยความสะดวกก็จะเริ่มต้นรับประทานทีหลัง แต่เมื่อรับประทานอิ่มก่อนนักเรียนก็มักจะมาแซว ว่า “คุณหมอสอนให้รับประทานข้าวแค่ 1-2 ทัพพี แต่ผมว่ากินนานขนาดนี้เกินปริมาณแน่นอน” และทุกคนจะเตรียมความพร้อมที่จะเข้ากิจกรรมการเรียนต่อในช่วงบ่ายกันต่ออย่างใจจดใจจ่อ

          โรงเรียนผู้สูงวัย องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสามหมอ จึงเป็นคำตอบสำคัญที่เราค้นหากว่า 7 ปี เป็นความสุขที่เกิดตลอดเส้นทางการทำงานและความสุขที่ยิ่งใหญ่กับผลลัพธ์ต่าง ๆ นา ๆ อาทิเช่น เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของนักเรียนวัย 62 ปี ที่ท่านเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาโรงเรียนตั้งแต่รุ่นแรก วันแรกมาพร้อมกับ Walkers ในช่วงแรกเพื่อน ๆ ได้ช่วยพยุงและดูแลเวลาลุก เวลานั่ง แต่ตอนนี้กลายเป็นนักเรียนที่เดินได้อย่างคล่องแคล่ว และมือที่เคยพิการหยิบจับอะไรก็ไม่ได้ สามารถร้อยมาลัยมาคล้องคอให้คุณครู ทำบายศรีมาในวันไหว้ครูทุกปี และความสุข ณ วันนี้ คือ โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบมีหน่วยงานจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงาน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน มีรายการโทรทัศน์มาทำสารคดีเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และพวกเราทุกคนยังจะเดินหน้าต่อไปภายใต้การเรียนรู้ทฤษฎีห่านป่า คือ การทำงานเป็นทีมแบบผนึกกำลัง รู้จังหวะในการบินร่วมกันแบบห่านไซบีเรีย ผลัดกันนำผลัดกันตาม ลดแรงต้านของแรงลม โดยการบินแบบรูปตัววี (V) เพื่อเป้าหมายของคุณภาพแห่งชีวิตผู้สูงวัย ตามเพลงประจำโรงเรียนให้โรงเรียนเป็นสถานที่ส่งเสริมให้ลำไผ่เล็ก ๆ มาผนึกกำลังเป็น มัดไม้ไผ่ที่แข็งแกร่งเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน

 

เรื่อง/เรียบเรียง : ศศิธร ราชวงษ์

ภาพปก : ประภัสสุท