post-image

นักส่งดอกไม้ : เด็กน้อยในหมู่บ้านหุบเขาวันนั้น คือผู้ส่งดอกไม้ในวันนี้

“การส่งต่อการเป็นผู้ให้และผู้แบ่งปัน คือ หัวใจสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้” บุคคลผู้พูดประโยคนี้คือ ว่าที่ร้อยตรีหญิงภรณ์ทิพย์ เสียงเย็น หญิงสาวผู้มาจากหมู่บ้านชนบทของจังหวัดมุกดาหาร ผู้เต็มไปด้วยปณิธานอันแรงกล้า ที่จะส่งต่อการเป็นผู้ให้และผู้แบ่งปันเพื่อสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น หากจะถามว่าเธอริเริ่มความคิดเหล่านี้ได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่วัยเยาว์ของเธอ จุดเริ่มต้นของเรื่องราว

            ย้อนกลับไปหลายปีก่อน เธอคือเด็กสาว “ภรณ์ทิพย์” หรือ “น้องเตี้ย” เด็กสาวผู้เติบโตขึ้นท่ามกลางวิวภูเขาและธรรมชาติที่รายล้อมหมู่บ้านบุ่ง ตำบลภูวง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร เธอเป็นคนที่รักในการทำกิจกรรมมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย ในตอนที่อยู่ในหมู่บ้านเธอมักลงเล่นกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ของหมู่บ้านเป็นประจำ และเมื่อได้ไปศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เธอก็ได้สมัครเข้าชมรมอาสาข้าวเหนียวปั้นน้อยจากการชักชวนของผองเพื่อน และชมรมนี้คือจุดเปลี่ยนของชีวิตเธอ เป็นตัวที่จุดประกายความคิดความฝันขึ้นภายในจิตใจของเธอ

            “ชมรมข้าวเหนียวปั้นน้อย” เป็นชมรมค่ายอาสาที่จะตระเวนไปตามชุมชนต่าง ๆ ที่ความเจริญเข้าไม่ถึงเพื่อพัฒนาช่วยเหลือ บำรุงรักษา ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน เช่น ห้องสมุด โรงเรียน สนามเด็กเล่นหรือป้ายต่าง ๆ ฯลฯ ที่ชำรุดพังเสียหายให้กลับมาใช้การได้ดังเดิม มีการวางแผนแบ่งงานกันทำและมีการเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน และด้วยความที่เธอเป็นเด็กมาจากชนบทจึงทำให้เธอปรับตัวเข้ากับพื้นที่ออกค่ายได้ไม่ยากนัก ต่างจากเพื่อน ๆ บางคนที่เป็นเด็กมากจากในตัวเมืองเป็นโอกาสให้เธอได้สอนวิถีชีวิตชนบทให้กับเพื่อน ๆ เช่น การหุงข้าว ปลูกข้าว ฯลฯ ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ให้เธอได้เรียนรู้และทำความเข้าใจผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม

            ในระหว่างที่ออกค่ายมักจะมีเด็ก ๆ แวะเวียนมาเล่นด้วยเสมอ บ้างมาเพราะมีขนมเป็นแรงจูงใจ บ้างก็มาช่วยร่วมกิจกรรมซ่อมบำรุง รอยยิ้มและความร่าเริงของเด็ก ๆ ที่เห็นสถานที่โปรดของตัวเองถูกปรับปรุง ทำให้ภรณ์ทิพย์รู้สึกสุขใจไปด้วย และหวนคำนึงไปถึงครั้งตัวเองยังเป็นเด็ก เธอก็มักจะชอบมาเล่นตามสถานที่แบบนี้ ชอบที่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มันทำให้เธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง มีความทรงจำดี ๆ ร่วมกันกับเหล่าเพื่อน ๆ และผู้คนในหมู่บ้าน มันคงจะดีไม่น้อยถ้าเด็ก ๆ ในหมู่บ้านบุ่งได้มีประสบการณ์เช่นเดียวกับเธอ และความคิดในตอนนั้นสลักตรึงอยู่ในใจเธอเรื่อยมา

            ภรณ์ทิพย์เข้าร่วมกิจกรรมที่ชมรมอาสาข้าวเหนียวปั้นน้อยจัดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นปริญญาตรี นับเป็นชุดประสบการณ์ตราตรึงอยู่ในจิตใจของเธอเรื่อยมา

            เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยมาเธอห่างหายจากการช่วยเหลือชุมชนไปพักนึง จนกระทั่งได้เข้ามาทำงานในบริษัทดับเบิ้ลเอ ซึ่งเธอได้ทำงานอยู่ในทีมเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกต้นยูคาลิปตัส ต่อมาบริษัทดับเบิ้ลเอได้มอบโครงการที่สามารถนำต้นไม้ของบริษัทไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะได้ เธอจึงได้กลับมาทำงานจิตอาสาอีกครั้ง เธอได้จัดโครงการแจกต้นไม้ฟรี โดยนำต้นยูคาลิปตัสของบริษัทนำมาแจกให้กับโรงเรียนต่าง ๆ และได้ประสานงานกับศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ของจังหวัดมุกดาหาร ทีมอุทยานแห่งชาติ ทีมโรงเรียน ทีมวัด โดยจะนำไม้ป่ามาปลูก ซึ่งได้ตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “บวชป่าวันพ่อ ปลูกป่าวันแม่” และพัฒนามาเป็นกิจกรรมปลูกป่าวันแม่ที่รู้จักกันในปัจจุบัน

 

            ภรณ์ทิพย์ได้นำโครงการอาสาปลูกป่ามาต่อยอดเป็นโครงการพัฒนาเยาวชนบ้านบุ่ง โดยเริ่มจากการชักชวนลูกหลานของตัวเองให้มาเข้าร่วม ซึ่งตอนแรกของโครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2557 เริ่มแรกนั้นมีเด็กเข้าร่วมเพียง 4-5 คน และกิจกรรมที่ทำในตอนนั้นก็เป็นเพียงการจับกลุ่มกันเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมการละเล่นทั่วไป เมื่อเวลาผ่านไปผู้เข้าร่วมจึงค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น และพัฒนามาเป็นกิจกรรมจิตอาสาการอนุรักษ์ป่าไม้และจิตอาสา จนก่อเกิดเป็นกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดบ้านบุ่งในปัจจุบัน

            ภรณ์ทิพย์ใช้เวลาจันทร์ถึงศุกร์ในการทำงานให้กับดับเบิ้ลเอ และใช้เวลาเสาร์อาทิตย์ในการทำกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์กับเด็ก ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

            หากมองย้อนกลับไปภรณ์ทิพย์ยอมรับว่าค่ายอาสาพัฒนาชนบทของชมรมข้าวเหนียวปั้นน้อยมีอิทธิพลอย่างมากและเป็นปัจจัยหนึ่งของการจุดประกายการเป็นผู้ให้และผู้มีจิตอาสาของเธอมากขึ้น ทำให้เธอเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ให้โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ให้ด้วยความเต็มใจ สิ่งที่ภรณ์ทิพย์ให้ไม่ใช่เงินทอง แต่คือ คำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต เป็นพื้นที่ให้น้อง ๆ ได้พูดเรื่องราว ระบายสิ่งที่ไม่สบายใจเป็นความโอบเอื้ออารีของพี่สาวที่มีให้กับน้อง ๆ และอีกหนึ่งแรงบันดาลใจก็มาจากตอนที่เธอยังเป็นเด็ก การได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนจัดขึ้นมันทั้งสนุกสนาน ได้ประสบการณ์ ได้ข้อคิด ได้มีใจจิตอาสาเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนั้นชุมชนก็ไม่ค่อยได้จัดกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ทำให้เธอตัดสินใจจัดตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเพื่อสานต่อและหวังว่าจะสามารถจุดประกายการเป็นผู้ให้และผูัมีจิตอาสาในตัวของน้อง ๆเยาวชนได้ เป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับคนรุ่นถัดไป เหมือนเช่นการส่งต่อดอกไม้ช่องามจากอีกมือสู่อีกมือ

            ในกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดบ้านบุ่งนั้น เธอให้อิสระกับเด็ก ๆ ได้ทำตามใจชอบ ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเหมาะสมและคิดว่าจะทำได้ดี ไม่ได้ไปจำกัดขอบเขตใด ๆ ถึงแม้จะมีการวางโครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ในกลุ่มก็ตาม แต่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมมากกว่า รวมทั้งเธอให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนในการทำกิจกรรมเสร็จทุกครั้งด้วย

            เธอจะให้เด็ก ๆ ได้ทำสิ่งที่ตนอยากทำ ให้ได้เรียนรู้ว่ามันดีไม่ดีอย่างไรด้วยตนเอง หลังจากนั้นเธอจึงจะตักเตือนแนะนำบอกกล่าวถูกผิดในสิ่งที่ทำ เธอคิดว่าวิธีนี้จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น ไม่กดดันจนเกินไป และจดจำข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างขึ้นใจ

            ปัจจุบันคนที่เข้าร่วมกิจกรรมไม่ใช่มีเพียงแค่เด็กและเยาวชน แต่คือพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่บ้านก็หันมาให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรม เพราะเล็งเห็นถึงแนวโน้มที่ดีของตัวโครงการ ที่ชักนำเยาวชนในพื้นที่ของตนเองให้พัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้น นำพาออกห่างจากสิ่งมึนเมา สารเสพติด เปิดโอกาสให้เด็ก ๆได้แสดงความสามารถของตน เพิ่มความมั่นใจและความกล้าแสดงออก  ฝึกประสบการณ์การเข้าสังคม เด็กบางคนจากที่ไม่กล้าแสดงออก ก็กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะพูดและเสนอความคิดเห็น อีกทั้งกิจกรรมของภรณ์ทิพย์เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับจิตอาสาในชุมชน เช่น เก็บขยะ ซ่อมสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน ช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในชุมชน ฯลฯ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความมีจิตใจอาสา และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปัน

            ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนหลากหลายอายุมาเข้าร่วมกิจกรรม แต่กลุ่มเป้าหมายหลักในโครงการของเธอก็ยังเป็นเด็กและเยาวชน โดยจะเป็นเด็กมัธยมเป็นหลักที่เป็นแกนนำของกลุ่ม และส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นตามอายุ ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มเยาวชนฮักบ้านเกิดบ้านบุ่ง คอยให้คำปรึกษา และดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในกลุ่มเยาวชน

            หากผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของภรณ์ทิพย์เป็นตัวจุดประกายเล็ก ๆ หลาย ๆ จุดรวมกันจนเกิดเป็นลูกไฟลูกใหญ่ ที่ผลักดันและจุดประกายการเป็นผู้ให้และผู้แบ่งปันของเธอ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เธอยังเป็นเยาวชน เป็นนักศึกษา ทุกอย่างหล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นบุคคลผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจดี ๆ ให้กับผู้คนเพื่อให้เด็ก ๆ เติบโตมาเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคม

            ภรณ์ทิพย์รู้ดีว่าความรู้สึกของการได้ทำจิตอาสา การเป็นผู้ให้และผู้แบ่งปัน จะติดตราตรึงอยู่ในใจเราตลอดไป ทุกครั้งที่ทำความรู้สึกดี ๆ ความอิ่มอกอิ่มใจก็จะอยู่กับเราไปตราบนานแสนนาน ดังคำกล่าวที่ว่า “ดอกไม้ย่อมติดมือผู้ให้ตลอดไป  แม้คนที่ได้รับดอกไม้นั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปอาจจะลืมเลือนไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม แต่ผู้ที่มอบให้ก็ยังจะคงจดจำได้ดีตลอดไป

 

            หากคนส่งจดหมายเรียก “บุรุษไปรษณีย์” คนดั่งเช่น ภรณ์ทิพย์ ฉันจะขอเรียก “นักส่งดอกไม้” และเธอคือนักส่งดอกไม้ที่ฉันชื่นชม

 

เรื่อง : ภรณ์ทิพย์ เสียงเย็น

เรียบเรียง : หนึ่งภัทร