ผ่านพ้นจึงค้นพบ : เส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีไทหนองบัว จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ตามหามานาน
“หนองบัวลำภู เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว” ถ้ามีใครพอจะเคยได้ยินคำกล่าวนี้แล้วคิดอยากจะมายลโฉมบ้านเมืองของเราด้วยสายตาตนเองบ้างก็คงจะดีไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อเอ่ยถึงหนองบัวลำภู ผู้คนนอกพื้นที่ก็มักมีคำถามเสียด้วยซ้ำว่า “จังหวัดนี้ตั้งอยู่แห่งหนใดของแผนที่ประเทศไทยกันนะ ?” ส่วนคนในพื้นที่ภาคอีสานเอง แม้แต่คนบ้านใกล้เรือนเคียงเองก็มักเปล่งเสียงออกมาในทำนองเดียวกันว่า “หนองบัวลำภู เมืองน้อย ๆ บ่เห็นมีอะไรให้น่าไปเบิ่งดอก” พอได้ยินได้ฟังแบบนี้แล้วก็เรารู้สึกสะเทือนใจแทนชาวหนองบัวลำภูอยู่ไม่น้อย อย่างไรเสีย จังหวัดน้องใหม่ที่ไม่ใหม่แห่งนี้ก็มีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์เมื่อปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2567) ถ้าเปรียบกับชีวิตคนแล้ว การก้าวเข้าสู่วัย 30 ก็คือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว ผู้ใหญ่ที่มีพลังเต็มเปี่ยมที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับชาวเมืองได้อีกเยอะเลยทีเดียว
หากถามว่าที่ผ่านมา จังหวะก้าวเดิน การพัฒนาบ้านเมือง การเติบโตของเมืองเราเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ยังมีจังหวะย่างก้าวที่ค่อนข้างช้า ถ้าชี้วัดกันด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชากร เราก็ต้องยอมรับอีกนั่นแหละว่า เรายังก้าวไม่พ้นโซนท้ายตารางซะที แต่ทว่ามาตรวัดแบบนี้ก็ไม่ได้สะท้อนถึงความสุขกาย สุขใจ ที่แท้จริงของชาวหนองบัวลำภูมิใช่หรือ ? ท่านผู้อ่านว่าจริงมั๊ย ? มันก็เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัจจัยแวดล้อมเท่านั้นเอง หากเรามัวแต่ตอกย้ำว่าบ้านเมืองเราเจริญรั้งท้าย เราก็ไม่ได้ก้าวต่อไปข้างหน้ากันสักที
ในสถานะของคนต่างถิ่นที่ได้มาทำงานที่นี่จนมีความรู้สึกเป็นชาวหนองบัวลำภูคนหนึ่งไปแล้วนั้น การพำนักอยู่ที่นี่มากว่าสิบปีก็พอมองเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความเจริญก้าวหน้าในหลายแง่มุมมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะมองเห็นจุดแข็งสำคัญของหนองบัวลำภูที่หลายคนมักมองข้ามไป นั่นคือ การขับเคลื่อนงานของภาคประชาชนที่ผู้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมารวมพลังกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้ชุมชนของตนเอง สิ่งเหล่านี้เปรียบได้ดั่งการตอกเสาหลักเมืองให้ค้ำจุนสิ่งที่เราตั้งหมุดหมายเอาไว้ร่วมกันไม่ให้ล้มครืนลงมาแบบง่ายดาย ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เปลี่ยนแปลงวิธีการสนับสนุนหรือแม้กระทั่งคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่พลังของคนในชุมชนที่ร้อยรัดกันอยู่นี่แหละ ได้ทำให้การขับเคลื่อนงานของเรายังคงมีความหมาย เมื่อสิ่งที่มุ่งหวังตั้งใจไม่มีเปลี่ยน การก้าวเดินของเราก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
อารัมภบทมาได้สักพักใหญ่แล้ว ผู้อ่านคงสะกิดใจแล้วว่าจากนี้ต่อไปจะได้ซึมซับรับรู้เรื่องราวดี ๆ ของชาวหนองบัวลำภูอีกบ้างนะ ผู้เขียนขออนุญาตเฉลยอย่างรวดเร็วเลยก็แล้วกัน คงไม่ทอดเวลาของผู้อ่านออกไปอีก ประเด็นที่อยากจะหยิบมาเล่าในที่นี้ คือ “ภาพความสุข ความภาคภูมิใจและสิ่งหล่อเลี้ยงหัวใจที่สำคัญ” ของกลุ่มคนทำงานตัวเล็ก ๆ แต่พลังไม่ได้เล็กตามไปด้วยนะ เราพากันลองผิดลองถูก สมบุกสมบันกับงานกันมาเกือบทุกรูปแบบ จนได้เจอกับจุดที่น่าสนใจมาก ๆ ที่แน่ใจว่าสิ่งนี้แหละจะเป็นคานดีดคานงัดที่ทรงพลังที่สุดในการพลิกเกมส์บนกระดานให้พวกเราวิ่งเข้าเส้นชัยได้แบบสมศักดิ์ศรี
ชัยชนะก้าวแรกแต่สถานการณ์ยังไม่สงบ
ผู้เขียนขอหยิบยกเอาเรื่องราวดี ๆ จากการขับเคลื่อนงานของ “สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู” มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านได้ร่วมชื่นชมยินดีกับความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ นี้ หวังว่าทุกท่านจะร่วมส่งกำลังใจให้เรามีพลังขับเคลื่อนงานของสมาพันธ์ฯ ต่อไป ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ชักชวนทุกคนทุกส่วนที่อยากพัฒนาเมืองหนองบัวลำภู อยากสร้างภาพจำอันงดงามไว้ในใจชาวเมือง ก็ขอให้ลุกขึ้นมาร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไปพร้อมกัน เช่นเดียวกันเพื่อนบ้านต่างถิ่นที่ผู้เขียนเองก็อยากให้มีโอกาสซึมซับรับรู้เรื่องราวดี ๆ ของบ้านเมืองนี้ ให้เกิดการขยับภาพจำเกี่ยวกับเมืองหนองบัวลำภูที่หยุดนิ่งให้เคลื่อนคล้อยไปตามจังหวะของสายลมการเปลี่ยนแปลง
จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเหมือนกับอีกหลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวเมืองส่วนใหญ่จะยึดการทำเกษตรกรรมเป็นวิถีหลัก พืชเศรษฐกิจสำคัญก็คงหนีไม่พ้นข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังและยางพารา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของพื้นที่เลยเห็นจะเป็นการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้นและลดพื้นที่นาข้าวลง รูปแบบการผลิตเช่นนี้ คือ การผลิตซ้ำวงจรของระบบทุนนิยมการเกษตรที่แพร่หลายอยู่ในภาคอีสาน แต่การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่รวบรัดตัดตอน ขาดการเตรียมพร้อมรับมือที่ดีพอ ตกหล่นมาตรการป้องกันผลกระทบ ไร้แผนรองรับปัญหาในอนาคต จึงเป็นที่มาของบาดแผลอันขมขื่นที่ตกค้างภายในใจของพี่น้องเกษตรกรชาวหนองบัวลำภูมากระทั่งจนถึงทุกวันนี้ แต่นั่นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไขนะ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและลงทุนลงแรงกันอยู่มากพอสมควร ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้มีอยู่ว่า การทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่มุ่งหวังผลผลิตในปริมาณมากก็มักต้องพึ่งพาสารเคมีในปริมาณที่มากเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
เมื่อเราลองสืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไป พบว่า มีสารเคมีตกค้างในดิน แหล่งน้ำ ไร่นา เข้มข้นเกินกว่าที่ศักยภาพของระบบนิเวศจะแบกรับได้ เหล่านี้ล้วนเป็นต้นตอของอาหารไม่ปลอดภัยที่จะถูกส่งต่อให้ชาวเมืองบริโภค แต่ก็ใช่ว่าพื้นที่อื่นจะไม่มีปัญหานี้นะ เพียงแต่พวกเราทำใจดีสู้เสือเอาไว้ กล้าลุกขึ้นมาสำรวจ ตรวจสอบ เก็บข้อมูลและทำวิจัยแบบกัดไม่ปล่อย ซึ่งผลงานที่ปรากฎนั้นนับว่าเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่นำไปสู่การแบนสารเคมีอันตรายในระดับประเทศได้ นี่ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งตลอดมาของเราและชาวหนองบัวลำภูเลยทีเดียว อีกทั้งยังแสดงให้สังคมเห็นว่าพลังการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนนั้นมีความหมายมากล้นเหลือเกิน ทว่าในอีกด้านของรอยยิ้มสังคมกลับสร้างภาพแทนบ้านเมืองของเราให้เป็นแผ่นดินอาบยาพิษ แม้เราจะพยายามลบเลือนภาพมายานั้นมาตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถสลายมายาคติดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ อันที่จริงเราพยายามส่งเสริมการทำเกษตรที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี เกษตรหมุนเวียนผสมผสาน รวมถึงสร้างพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จมากมายที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เห็นทีเราต้องปรับจังหวะก้าวย่างกันใหม่อีกครั้ง
พลิกเกมส์บนกระดาน งานพัฒนาอาหารปลอดภัย ชัยชนะที่กำลังจะมาถึง
จากที่กระแสสังคมมองเมืองหนองบัวลำภูสวนทางกับสิ่งที่เราขับเคลื่อนกันมา เมื่อ 5 – 6 ปีก่อน เราเลยปรับโจทย์งานมามุ่งเน้นที่เรื่องการจัดการอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร จากการผลิตในแปลงเกษตรถึงมือผู้บริโภคควบคู่กับการสร้างภาพแทนหนองบัวลำภูให้เป็นเมือง “เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู อาหารปลอดภัย จากท้องนาสู่พาข้าว” การทำงานรอบนี้ได้หลอมรวมเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภูกับสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภูเข้ามาเป็นแกนหลักขับเคลื่อนงาน มีภาคประชาชนไทหนองบัวและหน่วยงานภาครัฐร่วมด้วยช่วยกันสร้างการรับรู้และสื่อสารภาพลักษณ์เมืองหนองบัวลำภูออกไปในทิศทางที่มุ่งเน้นให้เห็นว่าพื้นที่ของเรามีการทำเกษตรกันอย่างปลอดภัย ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัย ทุกวันนี้ผลลัพธ์จากหยาดเหงื่อการทำงานด้วยจังหวะก้าวเดียวกันเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว เกษตรกรในเครือข่ายรวมใจกันลด ละ เลิก การใช้สารเคมี มีการรับรองมาตรฐานด้านการเกษตร เช่น GAP PGS และ Organic Thailand เป็นต้น เมื่อเราทำต้นทางไว้ดีแล้วก็ถึงเวลาขยับที่กลางทางไปสู่ปลายทางให้งดงาม นั่นก็คือ การขยับไปสู่การทำเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า ส่งเสริม ต่อยอดด้านการตลาด ในหลายปีที่ผ่านมามีการนำผลผลิตดี ๆ ของชาวหนองบัวลำภูไปอวดสายตาคนต่างถิ่นมาแล้วนักต่อนัก ยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันเพียงปลายนิ้วจึงไม่เรื่องยากเย็นอะไรที่ผลผลิตปลอดภัยจากเมืองหนองบัวลำภูจะมีโอกาสเดินทางไปให้คนเมืองกรุงและละแวกใกล้เคียงได้ลองลิ้มชิมรสกันบ้าง
จากเกษตรกรต้นแบบ ... ถึงเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีไทหนองบัว
สิ่งที่เรายังต้องขยันทำงานกันต่อไป คือ ผลักดันให้เกษตรกรในเครือข่ายอีกจำนวนหนึ่งสามารถไปยืนอยู่ในจุดที่เกษตรกรต้นแบบเคยทำได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการขยับขับเคลื่อนงานไปสู่การพัฒนาเครือข่าย ขยายเกษตรกรต้นแบบที่ทำการเกษตรแบบปลอดภัยให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีต้นแบบเราก็อยากต่อยอดอยากยกระดับต้นแบบให้สามารถพลิกแพลงให้หน้างานของพวกเขามีความหลากหลายมากกว่าการทำเกษตร นี่แหละที่เรียกว่า “จิ๊กซอว์สำคัญที่ตามหามานาน” การที่สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภูได้มีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้แผนงานร่วมทุนสนับสนุนสุขภาวะ ทำให้เกิดการเชื่อมร้อยพื้นที่ของเกษตรกรต้นแบบเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้แนวคิดนี้เรามองว่าถ้าหากมีคนเข้ามาเยือนเมืองหนองบัวลำภูและพอจะมีเวลาค้างแรมในพื้นที่อยู่บ้าง เราก็อยากจะชักชวนให้แวะไปเยี่ยมแปลงเกษตรของเกษตรกรต้นแบบ ไปเรียนรู้วิถีการทำเกษตรปลอดภัย ลองทำกิจกรรมที่เราได้ออกแบบกันเอาไว้ เช่น ลุยแปลงเกษตรเด็ดยอดผักหวานมาชงเป็นน้ำชา เก็บผักปลอดภัยที่ปลูกแบบยกแคร่มาทำสลัดอร่อย ๆ กินกัน หรือหากใครชื่นชอบแนวผจญภัยจะบุกตะลุยเข้าไปเก็บเห็ดสด ๆ มาทำพิซซ่าแฮนเมดหน้าเห็ดให้เด็ก ๆ กิน ก็ชั่งน่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย หลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำกิจกรรมมาทั้งวัน อยากนอนทอดกายบนโฮมสเตย์สัมผัสวิถีธรรมชาติต่ออีกสักคืนให้ได้ฮีลใจกันสักหน่อยก็ยิ่งดีไปกันใหญ่
เมื่อเร็ว ๆ มานี้ เราได้ทดลองจัดเป็นแรลลี่เส้นทางท่องเที่ยวให้ชาวเมืองหนองบัวลำภูและนักท่องเที่ยวบ้านใกล้เรือนเคียงมาทดลองเป็นนักท่องเที่ยวกัน กระแสตอบรับค่อนข้างดีมาก เพราะสิ่งที่เราพยายามรังสรรค์นั้นถูกต่อเติมขึ้นมาจากจุดแข็งของเราเอง เพียงจับมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่เสียหน่อยก็กลายเป็นจุดที่น่าสนใจและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวสายหัวใจอินทรีย์ได้ ส่วนผลลัพธ์จากการทดลองในครั้งนี้ ก็ดูเหมือนจะเกินความคาดหมายของเรามาก เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพร้อมใจกันขานรับ “โมเดลพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร” นี้และจะนำไปพัฒนาต่อยอดอีกด้วย จากที่เราเดินทางไกลกันมาพอสมควร ตอนนี้เราได้ค้นพบฟันเพืองชิ้นสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะร่วมมือกับฟันเฟืองตัวอื่น ๆ เหนี่ยวนำเราไปสู่เป้าหมายใหญ่ของเรานั่นก็คือการเป็น “เมืองแห่งเกษตรปลอดภัย” พี่น้องเกษตรกรกินดี อยู่ดี มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงและช่วยสร้างจุดเด่นที่สำคัญให้แก่จังหวัดหนองบัวลำภูต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อมีแขกไปไทมาถึงหนองบัวลำภูก็จะต้องถามหาข้าวอินทรีย์หอม ๆ ผักปลอดภัยที่สดกรอบอร่อยและกินได้อย่างสบายอกสบายใจ ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจกันถ้วนหน้า
ท้ายสุดนี้ หนองบัวลำภูเราเองก็ยังคงเป็นน้องใหม่ในการขยับขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้ ยังมีอะไรให้เรียนรู้และต้องพัฒนาอีกมากมาย แต่เรามองว่าการได้ค้นพบชิ้นส่วนสำคัญครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ และอยากจะขอเชิญชวนให้ทุกคนได้ลองเปิดใจ ให้โอกาส ร่วมเป็นกำลังใจและมาร่วมต่อยอดการพัฒนาครั้งนี้กับเรา โดยผู้เขียนหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว เรื่องราวดี ๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสวนอักษรแห่งนี้จะพอเป็นน้ำจิ้มถ้วยเล็ก ๆ ที่ไปกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ผู้อ่านอยากรู้จักเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรของหนองบัวลำภูมากยิ่งขึ้น แล้วแอบกดเข้าไปค้นหาข้อมูลว่า “เอ้ !!!??? ถ้าเราจะมาหนองบัวเนี่ย จะแวะเยี่ยมชมที่ไหนได้บ้าง มีของดีของเด็ดอะไรบ้าง” ทั้งอยากมาเห็นกับตาตัวเองสักครั้งหรือไม่ก็บอกต่อเรื่องราวดี ๆ ที่น่าสนใจนี้ ให้กับคนอื่นได้รู้จักหนองบัวลำภูในแง่มุมที่สวยงามมากขึ้นหรือไม่ก็ลุกไปชวนเพื่อนให้มาเที่ยวหนองบัวกันป่ะ !!!??? แบบที่ตั้งใจมา ไม่ใช่แค่แวะเป็นทางผ่านอีกต่อไป แล้วไว้พบกันที่หนองบัวลำภูเด้อค่า
เรียบเรียง : พัชราวรินทร์ วริวงค์