ใครจะคิด...คนพิการทางจิต ก็ทำงานได้
“คนพิการทางจิตทำงานได้” คนส่วนมากจะมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ คนที่เจ็บป่วยโรคทางจิตเวชถ้าป่วยบ่อยๆ ก็ไม่น่าจะทำงานได้ ยิ่งมีคำนำหน้าว่า “พิการทางจิต” ด้วยแล้ว แม้แต่การดูแลตัวเองก็ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำ ในสถานการณ์ช่วงโควิดระบาด มีคนตกงานมากมาย คนที่เคยทำงานในบริษัทใหญ่โต ดูมั่นคง เป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถก็ยังตกงาน ไม่มีงานทำ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนพิการทางจิต ถึงมีงานทำและทำงานได้จริงหรือ ???
เหตุการณ์ช่วงที่เธอยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ สังกัดกรมสุขภาพจิต ในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพิทักษ์สิทธิ จัดหาสวัสดิการ หาแหล่งช่วยเหลือด้านการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง เธอและทีมงาน มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด คือจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่ 9 นั่นเอง ปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง 1,449 ราย มีอาการกำเริบซ้ำ 208 ราย ได้รับการฟื้นฟูในชุมชนเพียง 81 ราย และจำนวนที่เหลือมีความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมทางจิตที่รุนแรง
แม้ว่าโรงพยาบาลจิตเวชจะมีหน้าที่หลักในการดูแล บำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน ในหลายมิติทั้งการจัดยารักษาจิตเวชในโรงพยาบาลอำเภอ มีระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแบบใกล้บ้านใกล้ใจ มีบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลต่อเนื่องในชุมชน แต่มิติการฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้พิการทางจิตในชุมชนไม่ครอบคลุม ยังมีน้อย ซึ่งมาจากข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งข้อจำกัดของผู้ป่วยที่แสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ดูแปลก ๆ และดูน่ากลัว ญาติมีฐานะยากจนทำงานหาเช้ากินค่ำ ญาติที่ดูแลเป็นผู้สูงอายุ ญาติที่ดูแลมีสมาชิกในครอบครัวเป็นคนแก่ คนพิการ เด็กเล็กที่ต้องดูแลอยู่แล้ว ทำให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านทำได้ไม่เต็มที่ ญาติมีความคาดหวังว่าการรักษาที่โรงพยาบาลจะรักษาให้หายได้ เอาไว้รักษาที่โรงพยาบาลให้นานที่สุด นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐมีระบบบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการสนับสนุน คนในชุมชนเองหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช รวมทั้งเครือข่ายอื่น ๆ สถานประกอบการต่าง ๆ ยังมีทัศนคติเชิงลบ มองว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่สามารถทำงานได้ ไม่น่าไว้วางใจ ไม่อยากให้ทำงานด้วย
เธอถอนหายใจยาว เมื่อได้อ่านข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช รู้สึกเหนื่อยใจ และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ป่วยจิตเวชที่มีบัตรคนพิการถึงถูกมองเชิงลบ ถูกมองด้วยความหวาดกลัว พวกเขาถูกทอดทิ้ง ขาดโอกาสที่จะได้รับการฟื้นฟู และไม่ได้รับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ตามสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีพึงได้ หนักเข้าบางคนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนพิการทางจิตใจก็ยิ่งถูกมองว่าขาดความสามารถ ไร้สมรรถภาพ แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติคนพิการให้ความคุ้มครองก็ตาม แต่กลุ่มคนพิการทางจิตใจถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ด้อยโอกาส และขาดโอกาสมากกว่ากลุ่มพิการประเภทอื่น ประกอบกับสถานการณ์โควิดระบาดทำให้ทุกอย่างชะงักงั้น ซึ่งทำให้เธอและทีมงานรู้สึกเห็นใจ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ที่ถูกเรียกว่าคนพิการทางจิตใจยิ่งนัก
เธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชเปรียบเสมือนเป็นผู้พิทักษ์สิทธิ์ให้กับประชาชนผู้ขาดโอกาส คอยมองหาแหล่งทรัพยากรและความช่วยเหลือ เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและผู้พิการทางจิตได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เธอต้องปรับทัศนะคติของตัวเองและทีมให้มองหาความเป็นไปได้เท่าที่เราจะทำได้ ตามบทบาทหน้าที่ เธอศึกษา พระราชบัญญัติคนพิการ (พรบ.คนพิการ) อย่างถี่ถ้วนพิจารณาดูว่าเธอจะช่วยเหลือกลุ่มพิการทางจิตได้อย่างไร หน่วยงานใดที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือตรงนี้ได้บ้าง เกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างไร เธอเริ่มต้นจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเรื้องรังที่มีบัตรคนพิการ เพื่อให้ได้รับโอกาสการช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการดูแลตนเอง ช่วยเหลืองานในบ้านลดภาระครอบครัว และบางคนได้รับโอกาสฟื้นฟูสมรรถภาพ จนสามารถทำงานได้
โครงการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีบัตรคนพิการทางจิตใจ ด้านการทำงาน ตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2562 ได้ดำเนินการการจ้างงาน ใน 2 ลักษณะ คือการจ้างงานในโรงพยาบาล และ การจ้างงานในชุมชน
เธอพยายามสนับสนุนให้ผู้พิการทางจิตได้รับการจ้างงาน มีงานทำ ซึ่งทำได้น้อยเนื่องจากข้อจำกัดของผู้ป่วยจิตเวชเอง และการสนับสนุนภาคเอกชนมีจำนวนจำกัด
เธอและทีมงานไม่ลดละความพยายาม พวกเธอช่วยกันถอดบทเรียนที่ผ่านมา และปรับกระบวนการทำงานใหม่ เพิ่มเติมความรู้การดูแลตนเองให้กับผู้ป่วยจิตเวชในภาวะโควิด และปรับแนวทางการทำงานแบบใหม่ เรียกว่า 3 เตรียม 7 ทำ คือ เตรียมพร้อมผู้ป่วย เตรียมหน่วยงานที่จะจ้างงาน และเตรียมพี่เลี้ยงสอนงาน ส่วน 7 ทำ คือ 1)คัดเลือกผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ 2) ประชุมวางแผน 3) สอนพี่เลี้ยง 4) ฝึกผู้ป่วย 5) ผู้ป่วยปฏิบัติงานจริง 6) ติดตามช่วยเหลือระหว่างการทำงาน 7) ประเมินผล จากการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่มีบัตรคนพิการทางจิต ปี 2563 มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการทั้งที่ทำงานในโรงพยาบาล ในชุมชน และในสถานประกอบการทั้งหมด 9 คน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 8 คน ดูแลกิจวัตรประจำวันตัวเองดีขึ้น 8 คน กินยาต่อเนื่อง 8 คน มีทักษะทางสังคมเพิ่มขึ้น 8 คน สามารถทำงานได้ 8 คน ผู้ป่วยภูมิใจตนเอง 8 คนญาติมีความพึงพอใจ 8 คน มี 1 คนทำงานในชุมชนปลดหนี้ครอบครัวได้ และมี 1 คนที่เข้าร่วมโครงการมีอาการกำเริบ เนื่องจากกินยาไม่ต่อเนื่อง
เมื่อเปรียบเทียบจำนวน ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้มีโอกาส ทำงาน ผ่านโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่มีบัตรคนพิการทางจิต จะเห็นได้ว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า ปี 2561 และปี 2562
เธอและทีมจัดทำสื่อเผยแพร่ความสำเร็จที่น่าพอใจนี้ไปยังภาคีเครือข่ายการช่วยเหลืออื่นๆต่อไป ทำให้ องค์กร บริษัท ห้างร้าน ในพื้นที่นั้นเห็นภาพและเกิดความเข้าใจ อยากให้โอกาส อยากช่วยเหลือมากขึ้น เธอและทีมจึงได้ขยายโครงการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการมากขึ้น หาสถานที่เอื้อต่อการทำงานสำหรับผู้ป่วยจิตเวช และสถานประกอบการที่ใจดีมีนโยบายสนับสนุนกลุ่มคนพิการเข้าทำงาน ทำให้ปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ มากขึ้น พร้อมสถานที่ที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชได้เข้าทำงานมากขึ้นตามไปด้วย
เธอและทีมภูมิใจมากที่ตัวผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ ได้รับโอกาสในการทำงาน ทั้งที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำงานได้ แต่มีคนให้โอกาสและให้ความเข้าใจ ให้กำลังใจ จึงเห็นว่าตัวเองพัฒนาได้และยังคงทำงานได้ ญาติผู้ป่วยภูมิใจที่เห็นลูกหลานของตนเองได้มีงานทำ จากคนที่ป่วยจิตเวชมานานไม่คิดฝันมาก่อนว่าจะทำงานได้ เห็นแต่กินยาทางจิตเวช พยายามลองไปสมัครงานเองก็ไม่มีใครรับ เพราะทุกคนกลัวและรู้ประวัติมาก่อน แต่พอเข้าร่วมโครงการกับทีมคุณหมอและได้ฝึกงาน จ้างงานให้ทำ ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน มีทีมคุณหมอคอยสอน คอนเตือน คอยควบคุม ให้อยู่ในระเบียบ พวกเขาก็ทำงานได้ จนมีบางคนไถ่ถอนหนี้ ปลดหนี้ให้ครอบครัวได้
มาถึงตรงนี้เธออดไม่ได้ที่จะยิ้มภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่สำคัญมากคือเธอภูมิใจกับทีมงานทุกคนที่ทุ่มเท ฝึกฝนทักษะการทำงานให้ตรงกับศักยภาพผู้ป่วย และหาสถานที่ที่เอื้อต่อการทำงานของผู้ป่วย มีการเชื่อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ถูกปฏิเสธมาหลายครั้งแต่ไม่ท้อ ทุกคน เดินหน้าเพื่อช่วยเหลือต่อไป จนทำให้ผู้ป่วยและญาติได้รับโอกาสฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ทีมงานยังได้เรียนรู้ ปรับใจ ปรับทัศคติ ปรับความคาดหวังของทุก ๆ ฝ่ายให้สอดคล้องกัน ใกล้เคียงกัน ทั้งผู้ป่วย ญาติ คนจ้างงาน คนสอนงาน คนในชุมชน และร่วมกัน จับมือกันเดินไปด้วยกัน ชุมชนที่มีผู้ป่วยอยู่อาศัยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยไปในทางที่ดีขึ้นก็เปิดใจยอมรับมากขึ้น มองเห็นว่าผู้ป่วยสามารถดีขึ้นได้ หากได้รับโอกาสในการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเห็นภาพที่ผู้ป่วยน่ากลัวก็ลดลง
ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจิตเวช หรือคนพิการทางจิตใจได้เข้าร่วมโครงการมีจำนวนไม่มาก แต่เธอได้สร้างพื้นฐานการพัฒนาระบบ และวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่พิการทางจิต ให้ได้รับโอกาสทางสังคม ส่วนสำคัญอีกอย่างคือมุมมอง และโอกาสจากคนทั่วไป คนในชุมชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นความเป็นไปได้ต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช คนพิการทางจิต หากให้โอกาส ให้ความเข้าใจ มีความคาดหวังที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตามศักยภาพที่ผู้ป่วยคงมี ให้โอกาสเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับศักยภาพ นอกจากนี้คนทำงานช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช กลุ่มคนพิการต่าง ๆ ควรมีการนำเสนอภาพ วิดีโอ สื่อรูปแบบต่าง ๆ ต่อสาธารณะชน ให้มากขึ้น เพื่อ เพิ่มการรับรู้ เพิ่มมุมมองใหม่ต่อผู้ป่วยจิตเวช คนพิการทางจิต ให้เห็นในเชิงบวก ในทางที่ดีมากขึ้น ลดภาพจำที่น่ากลัว ต่อผู้ป่วยจิตเวชคนพิการทางจิตลง ก็จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการพัฒนา ลดความเสื่อมถอย ลดความเป็นภาระต่อผู้ดูแล ต่อชุมชน ต่อสังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามปรัชญาของสังคมสงเคราะห์ที่ว่า “ช่วยเหลือเขา เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้”
เรียบเรียง : ชลิดา สาโรจน์ และศิริพร ปรางปรุ
ภาพปก : ประภัสสุทธ