post-image

บ้านหนองทับม้า : จากขยะน่าหดหู่สู่กระเป๋าหรูใบงาม

กระเป๋าใบงามที่ประดิษฐ์จากซองกาแฟที่ใครหลายคนอาจมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับชาวบ้านหนองทับม้าแล้วพวกเขาไม่คิดเช่นนั้นเลย พวกเขามองว่านี่คือนวัตกรรมชิ้นงามที่ได้เพียรพยายามมาตลอด แน่นอนว่าการจัดการขยะอาจเป็นเรื่องที่หลายชุมชนทำได้แล้ว แต่สำหรับชาวบ้านหนองทับม้านี่คือเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยทำแบบนี้ โดยเฉพาะการมารวมกลุ่มทำงานด้วยกัน  ที่มีองค์ประกอบมากมายในชุมชน เริ่มตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างการทำงาน การประชุมเพื่อหาเป้าหมายร่วม ที่สำคัญคือการตั้งกติกาชุมชนเพื่อให้เกิดการจัดการขยะที่ยั่งยืน

            บ้านหนองทับม้า หมู่ 3 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีจํานวนครัวเรือนทั้งหมด 329 ครัวเรือน มีประชากรทั้งหมด 825 คน จากการสํารวจข้อมูลในช่วงก่อนที่จะมีรูปแบบการจัดการขยะที่จริงจัง พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน ชุมชนมีขยะ 8,400 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะทั่วไปประมาณ 3,500 กิโลกรัม ขยะเปียก 3,920 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 700 กิโลกรัม และขยะอันตราย 280 กิโลกรัม และโดยเฉลี่ยแต่ละครัวเรือนจะมีปริมาณขยะประมาณ 60 กิโลกรัมต่อเดือน และจากปริมาณขยะที่มีมากนี่เองจึงก่อให้เกิดปัญหาต่อชุมชนในหลายด้าน  ไม่ว่าจะเป็นสภาพชุมชนโดยรวมที่ดูไม่สะอาด  หรือโรคต่าง ๆ ที่ตามมากับขยะโดยเฉพาะลูกน้ำยุงลาย รวมถึงปัญหาความขัดแย้งเพราะขยะจากบ้านนั้นส่งกลิ่นเหม็นมาบ้านนี้ หรือการจัดการแบบเผาก็สร้างความเดือนร้อนรำคาญให้เพื่อนบ้าน เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ 

            เหตุผลหลักที่ชาวบ้านไม่ช่วยกันจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เนื่องมาจากคนในชุมชนติดพฤติกรรมความสบาย และในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคเร่งด่วนที่ทุกอย่างนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยวัตถุ เงินจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้คนต้องเร่งรีบ กลายเป็นว่าชาวบ้านไม่มีเวลาทำอาหารกินเอง ต้องพึ่งอาหารจากตลาด และตลาดนั้นนั้นก็มาพร้อมถุงพลาสติกในแบบที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอาหารสําเร็จรูปที่สามารถซื้อขึ้นรถแล้วกินระหว่างทาง ซึ่งทั้งสะดวกและง่าย แต่สิ่งที่ตามมาคือกองขยะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ขวดนํ้าพลาสติก ขวดแก้ว ที่สำคัญเมื่อไม่มีระบบการจัดการที่แน่นอน ก็ย่อมทำให้คนในชุมชนไม่สนใจว่าจะนำขยะไปไหน ฉะนั้นใครจะทิ้งที่ไหนก็ทิ้ง กลายเป็นว่าขยะในชุมชนกระจายอยู่ทุกที่ เกิดปัญหาการทิ้งขยะในที่สาธารณะ เช่น บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าโนนคึม” นอกจากนี้ หลายครัวเรือนยังชอบนำขยะไปทิ้งตามป่าตามหัวไร่ปลายนา 

            ในส่วนของการจัดการโดยเทศบาล แม้ว่าทางเทศบาลจะมีถังขยะมาวางในชุมชน และรถเทศบาลมาเก็บ แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเองก็ยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการ เพราะจากการสังเกตของชาวบ้านพบว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีบางครัวเรือนที่คัดแยกขยะแล้วนำไปวางเพื่อรอรถเทศบาลมาเก็บ แต่พนักงานเทศบาลที่มาเก็บขยะกลับนำขยะที่คัดแยกไปเทรวมกัน ซึ่งก็เท่ากับว่าไม่มีการคัดแยก ด้วยเหตุนี้เองจึงนำมาซึ่งการออกแบบให้งานด้านการจัดการขยะกลายเป็นวาระเร่งด่วนของชาวบ้านหนองทับม้า ทั้งนี้ต้องขอบคุณทีมพี่เลี้ยงจากขบวนองค์กรชุมชนอำนาจเจริญ ที่เข้ามาชวนแกนนำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการชุมชน  รวมถึงทีมงาน อสม. เพื่อเข้ามาร่วมกันดำเนินงานโครงการจัดการขยะบ้านหนองทับม้า โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

            "งานของ สสส.ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่ทำให้หมู่บ้านเราเป็นแบบนี้ คิดดูสิว่าจากเมื่อก่อนที่เราไม่เคยคิดเลยว่าปัญหาขยะมันจะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้  เราไม่เคยคิดเลยว่าขยะบ้านเราจะมีมากขนาดนี้  แต่พอได้ทำงานและได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลอย่างจริงจังจึงพบว่า ขยะในหมู่บ้านเราเยอะมาก และที่ผ่านมาทุกคนก็ปล่อยปะละเลย คิดว่าไม่ใช่ธุระของตัวเอง แต่ที่ไหนได้มันคือปัญหาของทุกคน"  เฉลิมเกียรติ ระวะใจ ผู้ใหญ่บ้านหนองทับม้าและในฐานะหัวหน้าโครงการสะท้อนความคิดเห็นในที่ประชุม ที่แสดงให้เห็นความในใจและทำให้เข้าใจปัญหาของชุมชนมากยิ่งขึ้น

            จากการลุกขึ้นมาทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มของแกนนำทางการอย่างผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการชุมชน จนระยะต่อมาสามารถรวมเอาคนทุกกลุ่มในหมู่บ้านเข้ามาทำงาน เกิดเป็นคณะทำงานจัดการขยะที่เป็นแกนหลักจำนวน 15 คน ซึ่งแกนหลักกลุ่มนี้จะมีหน้าที่ในการประสานงานชาวบ้านทุกกลุ่มมาร่วมกันทำงาน โดยมีระบบการจัดการคุ้มบ้านเพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน ซึ่งมีหัวหน้าคุ้มคอยประสานงานสมาชิกอีกทอดหนึ่ง ทำให้ง่ายในการทำงานและสามารถลงติดตามครัวเรือนได้อย่างจริงจัง  ทั้งนี้บ้านหนองทับม้ามีคุ้มบ้านทั้งหมด 3 คุ้ม และได้แบ่งคณะทำงานให้ดูแล 3 คนต่อ 1 คุ้ม เพื่อทำหน้าที่ในการติดตาม หนุนเสริม และคอยประเมินผลการทำงาน เพราะหลังจากมีการดำเนินกิจกรรมในโครงการก็ได้ชวนชาวบ้านทุกครัวเรือนมาทำงานอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การประชุมเพื่อสะท้อนปัญหาในรอบแรก จากนั้นก็มีการอบรมการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ซึ่งมีทั้งการคัดแยกขยะทั่วไปและขยะเปียกที่สามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ 

            ผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ การออกแบบกติกาในการจัดการขยะร่วมกัน ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการชาวบ้านหนองทับม้ามีกติกาในการจัดการขยะทั้งหมด 10 ข้อ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเพื่อนำไปสู่การลดขยะอย่างจริงจัง  และในแต่ละเดือนชาวบ้านในแต่ละคุ้มก็จะออกมาช่วยกันทำความสะอาด ซึ่งนับเป็นภาพความร่วมมือที่เมื่อก่อนไม่ค่อยเกิดขึ้น จะมีก็เป็นไปตามวาระของราชการที่ชวนทำตามวันสำคัญ แต่การที่จะมีกติกาอย่างจริงจังแบบนี้ไม่เคยมีให้เห็นเลย และจากผลการสำรวจหลังจากทุกคนได้ช่วยกันทำงาน 1 ปี ก็พบว่าขยะในหมู่บ้านหนองทับม้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยจากเมื่อก่อนที่ 8,400 กิโลกรัมต่อเดือน ลดลงเหลือ 3,600 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ที่ปริมาณขยะลดลง ที่สำคัญกระเป๋าใบงามที่ถูกตั้งโชว์ แม้จะเป็นรูปทรงเดิม ๆ และหลายคนอาจบอกว่าเลียนแบบมาจากหลายที่ เพราะกระเป๋าที่ว่าทำจากซองกาแฟใช้แล้ว  จากนั้นก็นำมาถักทอให้เป็นกระเป๋าในหลายสีสันและรูปทรงตามที่ออกแบบ  แต่สำหรับชาวบ้านหนองทับม้า  นี่ถือเป็นนวัตกรรมที่ทุกคนช่วยกันผลิต เพราะกว่าจะมาเป็นกระเป๋าแต่ละใบนั้น ถ้าจะมองในแง่กระบวนการ  กระเป๋านั้นถูกออกแบบมาจากการไม่มีอะไรเลย หรืออาจเรียกได้ว่าติดลบ เพราะปัญหาขยะเป็นปัญหาหมักหมม ชาวบ้านไม่คิดที่จะรวมกลุ่มเพื่อจัดการ แต่พอได้คุยกันและออกแบบงานร่วมกัน ก็เกิดรูปแบบการทำงานจัดการขยะ ที่เริ่มตั้งแต่การจัดการในครัวเรือน มาสู่การจัดการระดับคุ้มและระดับชุมชนตามลำดับ  สุดท้ายมาลงเอยที่กระเป๋าใบงามซึ่งเป็นผลผลิตมาจากขยะที่แสนจะหดหู่แต่แล้วก็กลายเป็นกระเป๋าหรูที่งดงามสะดุดตา

 

เรียบเรียง : กมล หอมกลิ่น

ภาพปก : ประภัสสุทธ