post-image

ช่างชุมชนจิตอาสาเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมสำหรับคนทุกช่วงวัย

“ช่างชุมชนตำบลบุ่งหวายเริ่มต้นจากความมีจิตอาสาของคนในชุมชนประกอบกับความเชี่ยวชาญในงานช่างเป็นทุนเดิม จึงก่อเกิดช่างชุมชนจิตอาสาขึ้น เพื่อการสร้างและปรับปรุงสภาพบ้านของผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ในชุมชน” พ่อใส ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นเลขานุการคณะกรรมการช่างชุมชนจิตอาสาตำบลบุ่งหวาย ผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดและสื่อสารกิจกรรมต่างๆของช่างชุมชนได้เล่าเรื่องราวของช่างชุมชนจิตอาสาให้เราได้เรียนรู้กันว่า

.

สังคมสูงวัยเป็นสถานการณ์ประชากรที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ในตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีสถานการณ์ประชากรในวัยผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 17.95 หรือ 1,517 คน จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,450 คน ตำบลบุ่งหวายเป็นตำบลที่มีลักษณะพื้นที่เป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตร ประกอบกับมีลักษณะเด่นคือเป็นตำบลที่เป็นแหล่งบรรจบกันของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ทำให้มีพื้นที่ลุ่มน้ำ และประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ตำบลบางหวายยังเป็นตำบลที่มีการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ในการจำหน่ายทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่มากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้คนในชุมชนเป็นผู้ที่มีฝีมือด้านงานช่างอย่างหลากหลาย โดยที่ผ่านมาทางชุมชนได้มีการดำเนินงานเพื่อการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม โดยมีภาคีเครือข่ายจากภายในและภายนอกชุมชน ภาครัฐที่สนับสนุนด้านบุคคลากร ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล 2 แห่ง (รพ.สต.โนนน้อย และ รพ.สต.ทุ่งบอน) และหน่วยงานสนับสนุนวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2562 ทางทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ผศ.สิทธิชัย ใจขาน หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะ ได้จัดทำโครงการการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยตำบลบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลทั้งสองแห่ง และผู้นำชุมชนในพื้นที่ 20 หมู่บ้าน ได้เห็นถึงโอกาสและต้นทุนทางสังคมในการพัฒนาชุมชนในมิติคุณภาพชีวิตในประเด็นทางด้านมิติสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เนื่องด้วยบริบททางสังคมของตำบลเป็นลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท แต่การใช้ชีวิตโดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเมือง การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจึงมีลักษณะเป็นบ้านยกสูง ตลอดจนไม่ได้มีการออกแบบให้เหมาะกับการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ เมื่อชุมชนได้ปรับเปลี่ยนเป็นสังคมสูงวัย คือมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น การปรับสภาพบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึงไปเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการพลักตก หกล้ม อันเป็นสาเหตุต้นๆ ในการเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และจากทุนเดิมของทางชุมชนมีอาชีพหลักคือการเป็นช่างไม้และช่างซ่อมบ้าน เนื่องจากตำบลบุ่งหวายเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ไผ่ขนาดใหญ่ในระดับจังหวัด ทำให้มีช่างในชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากนี้ด้วยพื้นเพของคนในพื้นที่ยังคงเป็นชุมชนแบบดั้งเดิมมีลักษณะเป็นสังคมแบบเครือญาติและมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จึงทำให้เกิดการรวมกันของผู้ที่มีจิตอาสาในการร่วมกันพัฒนาด้วยความมุ่งหวังที่จะให้บ้านเกิดเมืองนอนของตนได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน เห็นได้จากการก่อสร้างสะพานไม้ขัวฮักขัวแพงข้ามจากหมู่บ้านไปยังวัดบ้านโนนบอนที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร ที่สามารถก่อสร้างได้สำเร็จด้วยการร่วมกันสมทบวัสดุอุปกรณ์ และช่างจากชุมชนร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง รวมถึงการฝ่าฝันในช่วงวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

.

1. เมื่อปี พ.ศ.2562 ในพื้นที่ตำบลบุ่งหวายมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่บรรจบกันระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ทำให้เห็นถึงความมีน้ำจิตน้ำใจของคนในตำบล ที่ร่วมด้วยช่วยกันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งช่วยเหลือในการขนย้ายข้าวของ และการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านของผู้ได้รับผลกระทบการอุทกภัยร่วมกัน จากการดำเนินงานในรูปแบบจิตอาสาทำให้ทีมวิจัยทั้งทีมนักวิชาการ ทีมหน่วยงานภาครัฐ และทีมชุมชน ได้เล็งเห็นถึงทุนที่สำคัญในชุมชน จึงได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรม ช่างชุมชนจิตอาสา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการปรับปรุงและสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ด้อยโอกาสในชุมชน

.

2. กิจกรรมช่างชุมชนจิตอาสา ในระยะแรกเริ่มจากการสร้างพื้นฐานความรู้ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มช่างชุมชนจิตอาสาที่ประกอบด้วยช่างก่อสร้าง อสม. เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นทั้ง อบต. และรพ.สต. เพื่อเติมเต็มแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหลักการประเมินสมรรถนะของผู้พิการและผู้สูงอายุ (ICF) โดยวิทยากรจากศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อนำบทเรียนที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยของผู้สงอายุให้แก่ช่างอาสาชุมชนร่วมกับผู้นำชุมชน และกองช่างของ อบต.บุ่งหวาย ตลอดจนพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกองทุนช่างชุมชนของตำบล กลไกสำคัญในการทำงานคือ คณะกรรมการช่างชุมชน อันประกอบด้วย ผู้นำหมู่บ้าน ซึ่งกำหนดให้ทางผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการช่างชุมชนโดยตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและทีมช่างอาสาในตำบลเข้ามาเป็นคณะทำงานหลัก ณ ปัจจุบัน มีพ่อสนอง พรหมลี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 20 เป็นประธานและพ่อใส สกุลงาม เป็นเลขานุการคณะกรรมการ  โดยมีเจ้าหน้าที่จากกองช่าง และสำนักงานปลัด จาก อบต.บุ่งหวายเป็นทีมสนับสนุนและให้คำแนะนำในการทำงาน มีท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวายเป็นที่ปรึกษาและจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล 2 แห่งคอยให้คำแนะนำ ขั้นตอนในการทำงานของทางช่างชุมชนจิตอาสา เริ่มต้นจาก 3 1) การค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ผ่านการรับข้อเสนอจากทาง อสม.และผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน หลังจากนั้นจะมีการประชาคม เพื่อหามติในการช่วยเหลือและจัดทำแผนตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง 2) การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนได้รับทราบถึงแผนการทำงานของทีมช่างชุมชนจิตอาสา ตลอดจนความเดือดร้อนของบ้านหลังที่ได้มีมติในการปรับปรุงสภาพบ้าน โดยมีช่องทางหลักคือการประกาศเสียงตามสายของทุกหมู่บ้าน และช่องทางประชาสัมพันธ์ของทาง อบต.บุ่งหวาย 3) การระดมทุนและทรัพยากรในการปรับปรุงสภาพบ้าน โดยงบประมาณส่วนใหญ่ได้มาจากการประชาสัมพันธ์ผ่านทั้งทางช่องทางภายในตำบลและการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้มีผู้มาบริจาคทั้งจากคนภายในชุมชนและหน่วยงานภายนอก ห้างร้านต่างๆที่อยู่ในและนอกพื้นที่ ลูกหลานชาวบุ่งหวายที่อยู่นอกพื้นที่ ก็ได้ร่วมกันบริจาคทั้งในรูปแบบเงินสนับสนุนและวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง และงบประมาณบางส่วนจากทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี 4) การก่อสร้างและปรับสภาพบ้าน โดยมีหลักการสำคัญคือ การปรับสภาพบ้านตามหลักความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ และนำหลักการกระบวนประเมินสมรรถนะของผู้พิการและผู้สูงอายุ (ICF) มาร่วมในการปรับปรุงสภาพด้วย โดยก่อนการปรับสภาพบ้านจะมีการประเมินบ้านและการวางแผนการปรับปรุงหรือก่อสร้างร่วมกันกับเจ้าของบ้านก่อนดำเนินการทุกครั้ง 5) ภายหลังการสร้างและปรับสภาพบ้านเสร็จเรียบร้อยทางทีมช่างชุมชนร่วมกับทางทีม อสม.ได้มีการติดตามและประเมินผลการปรับสภาพบ้านกับเจ้าของบ้าน ในประเด็นของการใช้ประโยชน์ ความสะดวกสบายและความปลอดภัย อันจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัย ซึ่งก็คือผู้สูงอายุและผู้พิการนั่นเอง

.

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมช่างชุมชนจิตอาสาได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 นั้นก็คือความมีจิตอาสาและพร้อมเสียสละทั้งแรงกายและแรงทรัพย์ของคนในชุมชน ประกอบกับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายหลักที่ชัดเจนคือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการที่ด้อยโอกาส อันถือเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติสิ่งแวดล้อมและยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสำหรับกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส การบริหารจัดการวัสดุและงบประมาณมีความชัดเจน สามารถดำเนินการปรับสภาพบ้านในแต่ละหลังเสร็จสิ้นได้ตามแผน นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในการสร้างกลุ่มช่างชุมชนหน้าใหม่ด้วยการหมุนเวียนบ้านเป้าหมายที่ปรับสภาพไปในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ช่างในแต่ละหมู่บ้านได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับช่างชุมชนรุ่นพี่ ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานและกระจายโอกาสไปยังหมู่บ้านต่างๆ ผู้คนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เกิดการยอมรับในผลงานของช่างชุมชนจิตอาสา ส่งผลให้การดำเนินงานที่ผ่านมาของทางทีมช่างชุมชนมีการปรับปรุงสภาพบ้านจำนวน 12 หลังและสร้างบ้านหลังใหม่สำหรับผู้พิการที่ด้อยโอกาส 6 หลัง รวมทั้งสิ้น 18 หลัง งบประมาณที่ได้จากการระดมทุนและงบจากหน่วยงานภาครัฐเกือบสองล้านบาท ที่ผ่านมาทีมช่างชุมชนจิตอาสายังมีกิจกรรมเพื่อการปรับปรุงสถานที่สาธารณะในตำบลเป็นประจำ โดยผลงานสำคัญคือ การปรับปรุงสะพานขัวฮักขัวแพง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินสำหรับพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านระหว่างวัดโนนบอนไปยังบ้านทุ่งบอน ให้เป็นเส้นทางสัญจรและยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ทีมช่างชุมชนจิตอาสายังบูรณาการทำงานร่วมกับทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินในการปรับปรุงสภาพบ้านในการรองรับการดูแลรักษาในช่วงท้ายของชีวิต

.

จากความเข้มแข็งของชุมชนทำให้ได้รับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัยจากสำนักงานประสานนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาและมีการขยายผลไปยังตำบลต่างๆในอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยพ่อใส ได้ทิ้งท้ายว่า “ช่างชุมชนถือเป็นอีกรูปแบบในการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน เป็นกลุ่มคนที่ส่วนลดปัญหาทางสังคม จึงอยากให้มีการขยายไปยังตำบลต่างๆ และทีมบุ่งหวายพร้อมที่จะไปให้คำแนะนำหรือเป็นวิทยากรให้กับทางพื้นที่อื่นๆที่สนใจในการพัฒนาชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย” ได้รับคำชื่นชมจากชุมชน ครอบครัว ผู้สูงอายุ ทำให้ทีมช่างมีกำลังใจและจะทำงานจิตอาสาต่อไป

 

เรื่อง : ใส  สกุลงาม ช่างชุมชนตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

เรียบเรียง : ผศ.จีราพร ทิพย์พิลา และ ผศ.สิทธิชัย ใจขาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี