post-image

สมุนไพรไทเลยก๋อ : พื้นที่เรียนรู้ของ “หมอยาน้อย” ในโรงเรียน

ถ้าพูดถึงโรงเรียน หลายคนคงนึกถึงสถานที่ที่ให้ความรู้โดยการสอนและเน้นเนื้อหาวิชาการในตำรา
หรือการทำกิจกรรมบังคับของโรงเรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมแนะแนว และกิจกรรมชุมนุม แต่ในความเป็นจริงนั้นในปัจจุบันมีหลายโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “จุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้” ด้วยกันทั้งนั้น

.
โรงเรียนบ้านวังแท่น ตั้งอยู่บ้านศรีสุวรรณ หมู่ที่ 15 ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน ทั้งหมด 220 คน และบุคคลกรทางการศึกษา 16 คน ซึ่งโรงเรียนบ้านวังแท่นก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดของเด็ก ๆ โดยมีคุณครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ และ มีผู้อำนวยการโรงเรียนรวมไปถึงภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของเด็ก ๆ ตามแนวความคิดที่ อยากจะให้เด็กนักเรียนนำความรู้ที่ได้รับในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น 

.
จากแนวความคิดข้างต้น คุณครูจักรพันธ์ สิงห์ลอ หรือที่เด็ก ๆ เรียกว่า “ครูใหม่” ซึ่งเป็นครูประจำกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโรงเรียนบ้านวังแท่น ได้เริ่มต้นชวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
มาร่วมเป็นแกนนำเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ตามความถนัดของตนเอง เพื่อที่นักเรียนจะได้พัฒนาตนเอง
ได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียน และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว จึงเกิดเป็นโครงการหมอยาน้อย ที่ดำเนินงาน
โดยกลุ่มสมุนไพรไทเลยก๋อ มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรในชุมชนตนเอง ทั้งชนิดของ
สมุนไพร พื้นที่ที่ปลูกสมุนไพร และการนำสมุนไพรมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ โครงการหมอยาน้อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะที่ตนสนใจตามความถนัด และตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกลุ่มสมุนไพรไทเลยก๋อ โรงเรียนบ้านวังแท่นได้ร่วมกันคิดและตัดสินใจที่จะทำโครงการเกี่ยวกับสมุนไพรในชุมชน เนื่องจากในชุมชนมีสมุนไพรที่หลากหลาย และหลายคนยังไม่ทราบสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนั้น ๆ จึงอยากจะค้นหา ศึกษา แปรรูป และเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ทราบ 

.
คำว่าหมอยาน้อยในที่นี้หมายถึง นักเรียนกลุ่มสมุนไพรไทเลยก๋อที่จะมาทำหน้าที่เป็นหมอยาทางด้านสมุนไพร คอยแนะนำนักเรียนคนอื่น ๆ ในโรงเรียนให้รู้จักสรรพคุณและเห็นคุณค่าของสมุนไพร ยกระดับพืชสมุนไพรในชุมชน และนำสมุนไพรเหล่านั้นมาแปรรูปเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคตามสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยได้รักษาตนเองได้ กลุ่มสมุนไพรไทเลยก๋อ ได้ดำเนินงานโดยเริ่มต้นจากการช่วยกันรวบรวมข้อมูลสมุนไพรในชุมชน ด้วยการลงพื้นที่สอบถามคนในหมู่บ้านว่ามีพืชสมุนไพรชนิดใดบ้าง และขออนุญาตนำสมุนไพรไปใช้แปรรูป ซึ่งคนในหมู่บ้านได้ให้ความร่วมมือ ให้ข้อมูลสมุนไพร และให้การสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มแกนนำเป็นอย่างดี

.

เมื่อได้ข้อมูลสมุนไพรในแต่ละพื้นที่แล้ว จึงได้จัดทำแผนผังชุมชนขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการลงพื้นที่ไป
เก็บสมุนไพรในครั้งต่อไป โดยสามารถดูจากแผนผังชุมชนได้เลยว่า หากต้องการสมุนไพรชนิดนี้ต้องไปที่บ้านใคร และเมื่อได้สมุนไพรตามที่ต้องการ เช่น ตะไคร้ ใบเตย รางจืด ก็จะนำพืชเหล่านี้มาล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแห้งเพื่อเตรียมบรรจุลงในซองต่อไป กระบวนการทำงานของกลุ่มแกนนำอยู่ในความดูแลของครูใหม่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่ม ครูใหม่ เปิดโอกาสและให้อิสระทางความคิดแก่เด็ก ๆ ให้ได้คิดกระบวนการและกิจกรรมด้วยตนเอง โดยไม่ได้บังคับว่า จะต้องทำตามขั้นตอนที่คุณครูเป็นคนเสนอ ครูใหม่เพียงแค่แนะแนวทางการทำงานให้อยู่ในความเหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน คอยแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อแกนนำต้องลงพื้นที่ในชุมชน และอาสาพาแกนนำไปเก็บสมุนไพร ตลอดจนฝึกสอนการนำสมุนไพรมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบของผงชาเพื่อสุขภาพ ลูกประคบ การย่างไฟ น้ำสมุนไพรสำหรับแช่เท้าเพื่อผ่อนคลาย

.
การดำเนินกิจกรรมโครงการหมอยาน้อย ได้แรงขับเคลื่อนจากทั้งโรงเรียน ชุมชน ภาคีเครือข่ายและ
สสส. ที่ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ให้แกนนำสามารถดำเนินงานได้จนสำเร็จ
ลุล่วง และแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือแรงขับเคลื่อนจากเด็ก ๆ แกนนำกลุ่มสมุนไพร
ไทเลยก๋อ ซึ่งในระหว่างทางก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะบอกว่าแกนนำได้พบเจอกับปัญหา อุปสรรค ความกดดัน ความเหนื่อยล้า ความไม่เข้าใจกันในกลุ่ม ซึ่งมีสาเหตุมาจากแกนนำแต่ละคน เรียนอยู่คนละชั้นคนละห้องกัน บางคนไม่ได้สนิทหรือคุ้นเคยกันมาก่อน เมื่อต้องมาทำกิจกรรมร่วมกัน จึงเกิดปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน การทำงานที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดคุยกัน ทำให้งานไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แกนนำบางคนถึงกับถอดใจจากความเหนื่อยล้าเพราะต้องทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ ครูที่ปรึกษากลุ่มแกนนำอย่างครูใหม่ จึงไม่รีรอที่จะเข้ามาหารือและพูดคุยกับนักเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน แกนนำหลายคนเปิดใจพูดถึงความรู้สึกในการทำงาน บ้างก็ว่ารู้สึกอึดอัดที่สมาชิกในกลุ่มไม่พูดคุยกันดี ๆ บางคนก็เกิดความเหน็ดเหนื่อยเพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองทำงานอยู่คนเดียวเมื่อได้พูดคุยกันมากขึ้น แกนนำจึงได้ร่วมกันวางแผนทำกิจกรรมใหม่ โดยได้แบ่งบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนให้ชัดเจน เช่น คนที่ชอบถ่ายรูปหรือถ่ายรูปสวยได้รับมอบหมายให้เป็นตากล้อง คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ชอบในการออกแบบให้เป็นฝ่ายผลิตสื่อสู่สาธารณะ คนที่มีความสามารถด้านการพูดการสื่อสารให้เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ติดต่อสื่อสารเพื่อประสานงานกับคนในชุมชน ส่วนคนอื่น ๆ ช่วยกันแปรรูปสมุนไพรเป็นสินค้าและบริการเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

.
ปัจจุบันแกนนำกลุ่มสมุนไพรไทเลยก๋อยังดำเนินกิจกรรม และผลิตสมุนไพรแปรรูปอยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป โรงเรียน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ สร้างรายได้ให้แก่แกนนำและชาวบ้าน อีกทั้ง
โรงเรียนบ้านวังแท่นยังเป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้เรื่องการแปรรูปสมุนไพรโดยฝีมือแกนนำเยาวชนให้กับบุคคลที่สนใจศึกษาดูงานได้เข้ามาเยี่ยมชมป่าสมุนไพรในโรงเรียน พร้อมทั้งรับบริการต่าง ๆ ที่มาจากการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ เช่น การนวดสมุนไพร การย่างไฟ ชิมชาตะไคร้ ชารางจืด ชาใบเตย เป็นต้น

.

ผลจากการดำเนินกิจกรรมโครงการหมอยาน้อย ทำให้แกนนำได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง จาก
นักเรียน ม.ต้นที่มาโรงเรียนเพื่อเรียน เล่น และกลับบ้าน กลายเป็นแกนนำเยาวชนของโรงเรียนที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการนำความรู้ความสามารถผ่านการพัฒนา ฝึกฝน เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ไปใช้ในการ
สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ จากฐานที่อยู่อาศัยของตนเองซึ่งแวดล้อมไปด้วยพืชสมุนไพร อีกทั้งแกนนำยังได้ผ่าน
กระบวนการทำงานที่ร่วมกันคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผน และปรับปรุงแก้ไขโครงการให้สำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้หรือยกระดับสมุนไพรในชุมชนเพียงเท่านั้น แต่ตัวแกนนำเองก็ได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัว ได้มีการตกตะกอนทางด้านความคิด การทำงานเป็นทีม การรู้จักวางแผน การแบ่งบทบาทหน้าที่ แกนนำหลายคนมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และอยากที่จะสานต่อโครงการดี ๆ ส่งมอบการเรียนรู้ที่ดีนี้ให้แก่รุ่นน้องต่อไป

.
แม้โครงการหมอยาน้อยจะสำเร็จไปแล้ว แต่โรงเรียนบ้านวังแท่นยังขยายผลโครงการโดยการให้
นักเรียนได้สานต่อกิจกรรมการแปรรูปสมุนไพรนี้ไว้ ซึ่งมีนักเรียนหลายคนให้ความสนใจกับกิจกรรมนี้
เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงของรุ่นพี่รุ่นก่อน ๆ ที่พัฒนาตนเองเป็นแกนนำส่งเสริมสุขภาวะ จึงพร้อมที่จะ
เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และอยากที่จะพัฒนาตนเองสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อชุมชน สังคม
และสื่อสารเรื่องราวสู่สาธารณะให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่อไป

.

เรื่อง/เรียบเรียง : ปิ่นเพชร ศรีสุระ

ภาพปก : เพจสมุนไพรไทเลยก๋อ