สภาฯเด็กนาหนองทุ่ม : โลกใบโตของลีโอกับการค้นหาตัวเอง
" คงมีแค่การผจญภัยเท่านั้น ที่บางคนประสบความสำเร็จในการรู้จักตัวเอง นั่นคือ การค้นพบตัวเอง " อ็องเดร ฌีด (Andre Gide) นักเขียนชาวฝรั่งเศสกล่าวเอาไว้ ผมอ่านเจอคำน่าทึ่งนี้ ขณะที่เขียนเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พื้นที่แวดล้อมไปด้วยหนุ่มสาวที่กำลังขับเคลื่อนงานที่รักเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับชุมชน ในอำเภอสีชมพูนั้น มีสัญญา มัครินทร์ กำลังผลักดันให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน หรือ Learning space แนวสร้างสรรค์โดยใช้ชื่อ “มหาลัยไทบ้าน” รวมถึง “เที่ยววิถีสีชมพู” ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่มาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่อำเภอบ้านไผ่ มีน้อง ๆ พี่โอ๋ จรูญพิศ มูลสาร กลุ่มบ้านหลังวัดคอฟฟี่ กำลังขะมักเขม้นทำ Local Market Revolution ชวนผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงโลกโดยการสนับสนุนตลาดอาหารท้องถิ่นที่ปลอดสาร เป็นอินทรีย์ ลดการใช้ถุงพลาสติก และเชื่อมเด็กๆมาสู่พื้นที่เรียนรู้วันเสาร์-อาทิตย์ ในร้านขายกาแฟหลังวัด ที่ขอนแก่นมีณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้คร่ำหวอดงานคนไร้บ้านในชุมชนเมือง พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้คนหนุ่มสาวที่สนใจประเด็นทางสังคมเข้ามาทำกิจกรรม “เลาะเมือง” เรียนรู้และสำรวจปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อทำความเข้าใจโลกของคนไร้บ้าน ยังไม่นับเครือข่ายในภาคอีสาน อย่างกลุ่มคนฮักบ้านเกิด ที่ก่อการโดยพี่ตั้ม ธนภัทร แสงหิรัญ ที่ทำงานข้ามพรมแดนจังหวัดในอีสาน เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ยกระดับให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ ผ่านสิ่งที่เขาทำในหมู่บ้านโดยเชื่อมร้อยคนในชุมชน ให้มีส่วนร่วม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้แบบไม่มีสิ้นสุด รวมทั้งเครือข่ายเด็กในภาคอีสานอีกนับไม่ถ้วนที่มีเป้าหมายการทำงานไม่แตกต่างไปจากนี้
ที่ยกมาอ้างอิง อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำพูดของ อ็องเดร ฌีด โดยตรง เพียงแต่อยากให้เห็นบริบทที่ลีโอเข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือข่ายเหล่านี้บ้างในบางครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้ลีโอได้เติบโตและค้นหาตัวเองในพื้นที่ตำบลนาหนองทุ่มต่างหาก ที่ดูเหมือนเป็นการ “ผจญภัยภายใน” ของลีโอ รวมทั้งพื้นที่ก็เปิดโอกาสให้ลีโอได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ จนเจอเข้ากับความชอบของตัวเอง ซึ่งต่อจากนี้จะเล่าให้ฟัง
สรุปความจากลีโอ ภูฌิชญ์ สร้อยเปาะ ที่นั่งเล่าเรื่องราวรอบล้อมด้วยเพื่อนๆสภาฯ ผ่านหน้าจอออนไลน์ ลีโอกล่าวแนะนำตัวเองอย่างรวบรัดตัดความให้ฟังว่า ตนเป็นเด็กที่ชอบพูดมากคนหนึ่ง ชอบทำกิจกรรมช่วยครู ตอนเรียนชั้น ม.1 บังเอิญมีพี่ในสภาเด็กและเยาวชนตำบลนาหนองทุ่ม ที่อยู่โรงเรียนเดียวกันเห็นแววกล้าแสดงออก กล้าเล่นเกมสันทนาการ จึงชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมสภา การเข้าสภาเด็กฯ ในยุคของลีโอนั้น เข้าง่ายกว่าสมัยก่อน เพราะการเข้าสภาฯ ได้ต้องทำกิจกรรมค่ายก่อน เริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ในครัว เช่น เสิร์ฟเบรก พี่ที่ชักชวนเข้ามา ได้ให้ข้อมูลพี่โต้ง (พี่เลี้ยงสภาเด็กและเยาวชนตำบลนาหนองทุ่ม) ว่า ลีโอเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าทำสันทนาการเต้นไก่ย่าง พี่โต้งจึงดึงเข้ามาร่วมและเริ่มไต่เต้าพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 3 ปัจจุบันลีโอเป็นประธานสภาเด็กเยาวชนตำบลนาหนองทุ่ม มีเพื่อนๆ สภาฯเด็กทำงานร่วมกันประมาณ 20 คน
“ นานนมแล้วครับประมาณสามปีได้ เข้ามาช่วงแรกก็เป็นเด็กน้อยทั่วไปครับ พี่เขาจะให้ทำสิ่งเล็กๆก่อน อย่างเช่นเข้าครัว หยิบจับยกอาหาร ทำอาหารช่วย เป็นเด็กค่ายเก็บคะแนนตามติดพี่ๆกลุ่มสภาเด็กฯไป พอเป็นเด็กเก็บคะแนน เราก็เก็บคะแนนไปเรื่อยๆ เก็บจนถึงสิบคะแนนก็จะมีการสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าสภาเด็กฯ ถ้าเราสอบสัมภาษณ์ผ่านเราก็จะได้เสื้อสีน้ำเงินครับ เป็นสตาฟฟ์จูเนียร์ ” พูดพร้อมมือลูบหน้าอกเสื้อสีน้ำเงิน แววภูมิใจฉาบนัยน์ตา
“ แต่ถ้าเกิดเราสอบไม่ผ่าน เราก็ต้องไปเริ่มเก็บคะแนนใหม่ ไปทำค่ายเหมือนเดิม เก็บคะแนนขึ้นมาเรื่อยๆ ทำกิจกรรมเหมือนเดิม ก็จะมีทางพี่เลี้ยง ซึ่งก็คือน้าโต้ง คอยซัพพอร์ทดูแลเหล่าสภาเด็กฯ เล็กๆน้อยๆ นั่งอยู่ตรงนี้แหล่ะครับ” ชายตามอง เผลอยิ้มเย้า “น้าโต้ง” ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ
“ แล้วก็มีพี่เลี้ยง จะคอยแนะนำว่าให้เราทำกิจกรรมอะไรบ้าง ถ้าเราปฏิบัติตามเราก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น เป็นสตาฟฟ์จูเนียร์ขั้นที่ 1 แล้วก็ไต่เต้าขึ้นไปอีก ผลงานนี้เราทำดี คะแนนก็เพิ่มขึ้น ขั้นเราก็เพิ่มไปด้วย สตาฟฟ์จูเนียร์เราจะมีอยู่ 3 ขั้น เลยขั้นที่ 3 ไป ก็จะเป็นสตาฟฟ์เสื้อดำ อันนี้ไม่จูเนียร์แล้ว ก็จะได้รับมอบเสื้อจากประธานฯ และทำการบูมให้ ส่วนตัวผมนั้นอยู่ในสตาฟฟ์เสื้อดำขั้นที่ 1 ครับ ”
ดูเผินๆ เหมือนสภาเด็กฯที่นี่จะมีความพิเศษ และแตกต่างไปจากสภาเด็กฯที่อื่น ตรงที่มีกระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กๆที่เข้ามาในสภาก่อน หรือที่ลีโอเรียกว่าการ “เก็บคะแนน” โดยให้ไปทำกิจกรรมเล็กๆ อย่างสันทนาการ ทำอาหาร เสิร์ฟเบรก พิธีกร ฯลฯ จนเห็นว่ามีทักษะในการทำงานเพื่อส่วนรวมได้แล้ว ค่อยยกระดับไปสู่บทบาทที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น เช่น ประธานสภา รองประธาน หรือโครงสร้างอื่นๆ ในสภา และสุดท้ายเป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนน้องๆ ซึ่งกระบวนการพัฒนาเด็กไปตามลำดับนี้แหล่ะ เป็นดั่งประตูบานใหญ่ที่เปิดโอกาสให้เด็กเช่นลีโอ ได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ
“ มีการพัฒนาแกนนำใหม่ๆที่เข้ามาสภาฯ โดยให้ทดลองทำโครงการครับ ถ้าทำได้ดีก็จะได้คะแนนที่ดี นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมอื่นๆ ให้ลองทำอีกมากมาย เป็นพื้นที่ให้น้องๆ ได้ทำทุกอย่างเพื่อค้นหาตัวเอง และฝึกปฏิบัติการไปในตัวครับ ”
“ เราจะพยายามทำให้ทุกคนได้ลองหลายๆอย่าง หาตัวเองว่าถนัดอะไร บางคนถนัดสันทนาการ บางคนถนัดเสิร์ฟเบรก บางคนชอบที่เป็นวิทยากร แล้วก็ทำออกมาได้ดี มีพี่เลี้ยงคอยช่วยให้น้องๆค้นหาตัวเองครับ ”
“ ประธานจะมีวาระ แยกเป็นหญิง-ชาย ปีนี้ผู้ชาย ปีถัดไปให้ผู้หญิง เราจะประชุมเลือกตั้งกัน ถ้าตำแหน่งอื่นเราจะเตรียมกันก่อนว่าใครจะอยู่ฝ่ายไหนครับ จนมาถึงตำแหน่งประธาน และรองประธานอันนี้จะมีการเลือกตั้งกัน ก็ดีใจกับตัวเองเหมือนกันครับที่มาถึงจุดนี้ได้..จุดสูงสุดของสตาฟฟ์ เรียกขั้นบรรลุครับ เราผ่านทุกอย่างมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ต่างๆแล้ว แต่เรามาเป็นคนพัฒนาน้องๆ ให้ขึ้นมา เรียกว่าเจ้าหน้าที่สภาเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นพี่ๆประธานรุ่นก่อน ส่วนพี่เลี้ยงจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่า ตอนนี้มีสมาชิกสภาฯ ประมาณ 20 กว่าคน นี่พี่เจนนี่ประธานรุ่นก่อนครับ ” พูดจบพลันเอนตัวให้เห็น “พี่เจนนี่” ที่นั่งหลบอยู่ด้านหลัง
การทำกิจกรรมเล็กๆ ที่ลีโอพูด ไปจนถึงการมีอำนาจที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับความรับผิดชอบหน้างานในตำแหน่งประธานสภาฯ ที่ต้องบริหารจัดการ ล้วนช่วยเปิดประตูให้ลีโอได้ “ผจญภัย” รับทักษะใหม่ๆ เข้ามา ทั้งยังมีรายได้จากบางกิจกรรมที่ทำด้วย บางขณะให้รู้สึกว่าลีโอในวัย 16 ปี กำลังทำงานเหมือนผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีบทบาททำงานช่วยเหลือชุมชนอย่างแข็งขัน
“ อย่างที่เน้นเลยคือทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กครับ และทำกับผู้สูงอายุ ถ้าเป็นกิจกรรมเด็กเราทำงานร่วมกับศูนย์เรียนรู้เพื่อเด็กประถมวัยและครอบครัว ในศูนย์ฯนี้จะมีหลายองค์กรครับ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักคนพิการ มูลนิธิไทยอาทร และมีอีกหลายกลุ่มที่อยู่ในศูนย์ฯ คือเข้ามาทำงานเด็กเยาวชนร่วมกัน เช่น กิจกรรมเล่านิทานให้เด็กฟัง ก็จะทำงานกับกลุ่มบ้านเล่านิทาน ทีมสภาเด็กฯ ก็จะทำสันทนาการกับเด็กๆ และก็มีกิจกรรมฝึกพัฒนาการของเด็ก ฝึก EF (Executive Function) ให้เด็ก แล้วก็ฝึกอบรมผู้ปกครองในการดูแลเด็กเยาวชนอย่างถูกวิธี เพื่อพัฒนา EF ทำค่ายครอบครัว จัดกิจกรรมให้เด็กและผู้ปกครองทำร่วมกัน ระบายสีฝึกกล้ามเนื้อมือ แล้วก็มีกิจกรรมลงไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง ที่เรียกว่า CG Junior (Caregiver Junior) มีน้องๆจากสภาเด็กฯและเยาวชนจิตอาสาอื่นๆมาร่วมด้วย กิจกรรมนี้มีค่าตอบแทนลงไปเยี่ยมเคสต่างๆ ด้วย เข้าไปให้กำลังใจผู้สูงวัยบ้าง ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงก็เข้าไปทำกายภาพบำบัดให้บ้าง ซึ่งจะมีการอบรมก่อนเยี่ยมเคสครับ ค่าตอบแทนมาจาก รพสต. เป็นผู้จัดหาให้ครับ ”
“ กิจกรรมที่ชอบ ก็มีหลายกิจกรรมครับ แต่กิจกรรมที่มันทัชใจเลยก็คือ กิจกรรมฝึกสตาฟฟ์ครับ ก็คือทางสภาเด็กฯ เน้นการพัฒนาศักยภาพคนในทีม เวลาได้งบประมาณมา ก็จะเอามาพัฒนาคนในทีม เช่น กิจกรรมฝึกสตาฟฟ์ พัฒนาความสามารถด้านที่ทีมงานยังทำได้ไม่ดี เช่น สันทนาการ การเป็นวิทยากรยังไงให้ดูสมูธ เป็นธรรมชาติ หรือมีการละเล่นต่างๆ ทำให้รู้สึกสนุกมากครับ ”
“ เพราะการฝึกสตาฟฟ์เป็นเหมือนการหาคนใหม่ๆเข้าทีมไปในตัว เพราะก่อนจะลงไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ ก็มีการปฏิสัมพันธ์กับน้องๆที่นั่น ไปตีสนิทน้อง ซื้อขนมให้น้อง คือจะจีบเขาเข้ามาสภาเด็ก พาเขาเข้ามาดูกิจกรรมที่เราทำ ว่ามันสนุกยังไง น้องอยากเข้าไหม และก็ชักชวนน้องเข้ามา การฝึกสตาฟฟ์จึงรู้สึกสนุกทั้งได้ไปชวนน้องๆหน้าใหม่เข้าทีม ได้ออกพื้นที่ และตัวเองได้พัฒนาขึ้นผ่านกิจกรรมนี้ และยังส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในสภาเด็กกันเอง ”
อ่านถึงตรงนี้ คงยังไม่เห็นว่า ลีโอเจอปัญหาอุปสรรคใดๆเลย แน่นอนว่าอาจเพราะเป็นสิ่งที่ลีโอทำแล้วรู้สึกสนุกสนาน หลงใหลไปกับงานที่ได้ทำจนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่ก็มิใช่ว่าลีโอจะไม่พบเจอความท้าทายใดๆ จากประสบการณ์ผมที่คลุกคลีงานเด็กเยาวชนมาบ้าง สิ่งหนึ่งที่คนทำงานวงการเด็กเยาวชนต่างค้นพบจนพูดติดตลกไปแล้วว่า “เป็นเรื่องสัจธรรม” ที่ต้องทำใจ คือการรักษาแกนนำเด็กเยาวชน ให้สามารถทำงานกับเราได้ต่อเนื่อง ทั้งยังต้องเฟ้นหาแกนนำหน้าใหม่ขึ้นมาแทนแกนนำคนเก่าในช่วงผลัดใบให้ได้ นับเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง สิ่งที่ลีโอกำลังเผชิญก็เช่นกัน
“ โดยส่วนตัวผม มันไม่เรียกว่าอุปสรรคครับ ก็เพราะมันไม่มีปัญหาอะไรทั้งเรื่องเวลาในการเรียน หรือว่าเวลาส่วนตัว เพราะทางบ้านก็สนับสนุนครับ คุณป้าเองก็ทำงานร่วมกันกับผมในชุมชน เลยแบบว่าเข้าใจกันไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ส่วนสภาเด็กฯ ถือเป็นความโชคดีของผมครับที่เรามี “น้าโต้ง” ครับ เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเรา คอยซัพพอร์ทเราอย่างดี แล้วก็มีรุ่นพี่ประธานคนก่อนที่จบไปแล้ว ออกไปทำงานแล้วก็ยังกลับมาซัพพอร์ท คอยให้ความช่วยเหลือน้องๆ ห่วยใยกัน กลับมาช่วยเหลือกัน ”
“ ปัญหาอย่างเดียวที่กระท่อนกระแท่นตอนนี้ก็คือ เราหาเด็กเข้ามาทำงานในสภาได้น้อย ก็คือจีบเด็กไม่ค่อยติดครับ น้องเขาจีบยากมากครับ เลยไม่มีเด็กเข้ามาหมุนเปลี่ยนการทำงาน มีแต่หน้าเก่าๆ เรากำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอยู่ครับ ว่าจะทำยังไงให้น้องๆในชุมชน เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับเราให้ได้..น้องๆที่นาหนองทุ่มเขาก็ใช้ชีวิตตามสไตล์ของเขาครับ หาปูหาปลาบ้าง ไปเล่นกับเพื่อนบ้าง บางคนก็ไปเรียนที่อื่น บางคนเขาก็ไม่ได้สนใจทางด้านนี้ อาจจะรู้สึกเขินอาย เราก็พยายามทำให้เขาเห็นความสำคัญของการออกมาแสดงความกล้าหาญ ออกมาแสดงความสามารถของตัวเอง คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาในการพัฒนาตัวเองครับ ”
จนถึงบรรทัดนี้ คงต้องยอมรับอย่างสุดใจว่า สิ่งที่ลีโอได้ทุ่มเทพละกำลังลงไปกับงานพัฒนาเด็กเยาวชนและคนในชุมชนนั้น งดงามในตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งน่าชื่นชมยิ่งกว่าคือ ความกล้าหาญของลีโอที่กล้าพาตัวเองออกมา “ผจญภัย” กับสภาเด็กเยาวชนตำบลนาหนองทุ่มที่เปรียบเสมือนโลกกว้างอันแสนอบอุ่น ให้เขาได้เข้าไปสำรวจตัวเอง ค้นหาตัวตนด้านใน จนอาจค้นพบไปแล้วว่าตัวเขาเองชื่นชอบ ใฝ่ฝันสิ่งใด
“ ก็รู้สึกสนุก ที่ได้ออกไปต่างจังหวัด ไปฝึกฝนในที่อื่น มันรู้สึกสนุกที่ได้ไปกับเพื่อนๆ ไปกับพี่ๆ รู้สึกว่าเราได้ออกไปเปิดโลก ได้ค้นหาตัวเองครับ สภาเด็กฯ สอนให้เราได้รู้จักการค้นหาตัวตนของตัวเองครับ ” ลีโอกล่าวทิ้งท้าย ยิ้มให้อย่างภาคภูมิ
" คงมีแค่การผจญภัยเท่านั้น ที่บางคนประสบความสำเร็จในการรู้จักตัวเอง นั่นคือ การค้นพบตัวเอง " อ็องเดร ฌีด (Andre Gide) นักเขียนชาวฝรั่งเศสกล่าวเอาไว้ ผมอ่านเจอคำน่าทึ่งนี้ ขณะที่เขียนเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
๏๏๏
เรื่อง : ภูฌิชญ์ สร้อยเปาะ
เรียบเรียง / ภาพปก : ประภัสสุทธ พงสา