ทุกสิ่งเหมือนจะยากในตอนแรก..งานปลอดเหล้าก็เช่น
" มันดูเหมือนจะยากในตอนแรก แต่..ทุกสิ่งก็ยากแค่ตอนแรกเท่านั้น "
.
“ อย่างที่บอกว่าการทำงานเรื่องเหล้ามันเป็นการทวนกระแสสังคม เหมือนปลาที่ว่ายทวนน้ำ มันต้องยุ่งยากเสมอ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะภูมิใจในการทำ ”
.
คำกล่าวสองคำนี้ เกิดคนละยุคสมัย แต่เมื่อลองฟังดีๆจะเข้าใจความหมายอันลึกซึ้ง เป็นจริง ซึ่งร่วมสมัยเสมอ คนแรกนาม Miyamoto Musashi ซามูไรยุคเอโดะ ผู้ถูกขนามนามว่า นักบุญดาบญี่ปุ่น จากเรื่องราวดาบสองคมและสถิติไม่แพ้ใครใน 61 ครั้ง คนที่สองนาม ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมปลอดเหล้าในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณจนเป็นที่เลื่องลือระดับประเทศ และจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือเรื่องราวการต่อสู้ของครูจันทร์ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมปลอดเหล้าในงานบุญ
ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2550 ครูจันทร์และทีมงานกำลังได้รับโอกาสในการเสนองบประมาณมาขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ จึงเป็นโจทย์ให้ทุกคนร่วมขบคิดว่าหากจะทำเรื่องสุขภาพควรทำงานในมุมไหนดี เพราะเดิมทีมีต้นทุนทำงานด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สุดท้ายได้แง่คิดจากนักพัฒนาอาวุโส ด้วยวาจาสั้นๆแต่สั่นสะเทือนว่า “งานสุขภาพ ถ้าจะทำให้สังคมเห็นและเป็นภาพใหญ่ ก็ไม่น่าเกินไปกว่าเรื่องเหล้า ” ทีมงานเห็นพ้องต้องกัน จึงช่วยกันขบคิดต่อว่าหากเป็นเรื่องเหล้า จะเล่าอย่างไรให้ผู้คน และชุมชนสนใจ ใคร่ทำ
ด้วยประสบการณ์ความคิดอันตกผลึก แตกฉานด้านงานเหล้า ครูจันทร์จึงสรุปให้อย่างชัดเจนว่า มี 4 กระบวนท่าการทำงาน หนึ่งคือ คนทำงาน ต้องพร้อมเพรียงเรียงหน้า หมายความว่าต้องปรับความคิด อุดมการณ์คนทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อน เพราะหลายคนกังวลว่าการดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ชุมชนนิยมมานมนาน ครั้นจะชวนให้งดเหล้านั้นทำได้ไหม แต่หากเราเล่าด้วยเหตุผลและข้อมูลคงไม่เกินแก่ความเข้าใจ
“ หลายคนกลัวว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องวัฒนธรรมชุมชนไปแล้วจะทำได้ไหม แต่ถ้าเราเอาเหตุเอาผลมาคุยกัน คิดว่าชุมชนก็น่าจะรับฟัง สรุปที่ประชุมจึงทำเรื่องเหล้าที่เป็นปัญหาในพื้นที่จริงๆ คือไม่ใช่แค่งานศพ เรื่องใกล้ตัว มันรวมถึงงานอื่นๆด้วย เพราะมาชวนคิดว่าการจัดงานบุญมีเหล้าในงาน ต้องเสียอะไรบ้าง เช่น เสียเงิน มีการทะเลาะวิวาท งานบุญไม่เรียบร้อย มีเสียงดัง มีการพนันในงาน ครอบครัวไม่อบอุ่น ครอบครัวพูดจาไม่เข้าใจกัน เป็นแบบอย่างไม่ดีของลูกหลาน เกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเหล้า ซึ่งพอวิเคราะห์แล้ว ทั้งหมดคือมันเป็นเรื่องสุขภาพ จึงมาตั้งคำถามต่อว่าจะทำยังไง ถึงเอาเหล้าออกจากงานได้ เราต้องมีเหตุผลไปชี้แจงกับชุมชน เราจึงจัดตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา ”
เมื่อเกิดคนทำงานที่มีใจ กระบวนท่าต่อไปก็คือ มีประชาคม คือสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน กระบวนท่านี้ต้องใช้คนทำงานที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ กางความรู้ข้อมูลออกมาให้ที่ประชุมชาวบ้านเห็นร่วมกันให้ได้ว่า จะเอาเหล้าออกจากงานบุญดีไหม ซึ่งต้องใช้เวลาและสมาธิ ตระเวนประชุมชาวบ้านทั้งตำบล โดยเริ่มจากตำบลเสียว จนสุดท้ายทั้งตำบลเห็นตรงกันว่าอยากเอาเหล้าออกจากงานศพให้สำเร็จก่อน
“ ต่อมาสิ่งที่ต้องมีคือต้องมีพื้นที่ให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ หรือที่เรียกกันว่าประชาคม จึงเริ่มที่ตำบลเสียว นัดประชุม 8 จุด ประชุมเป็นโซน นั่งพูดคุยปัญหาเรื่องเหล้า ถ้าพูดเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บก็จะให้หมออนามัยพูด ถ้าพูดเรื่องของผลกระทบต่อสังคมให้โรงเรียน ให้ครูพูด ถ้าพูดเรื่องทะเลาะวิวาท ให้ผู้ใหญ่บ้าน ให้ผู้เฒ่าพูด เราแบ่งบทบาทหน้าที่กัน และสรุปความเห็นว่าสมควรมีเหล้าในงานไหม ชุมชนเผชิญปัญหานี้อยู่แล้ว ถ้าเอาเหล้าออกจากงานเห็นด้วยไหม เราโยนคำถามแลกเปลี่ยนกันในวงประชุม ชาวบ้านก็เห็นด้วย หลายคนสะท้อนว่าทำไมมาทำช้าขนาดนี้ คนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยกมือให้ คำถามต่อมาแล้วจะเอาเหล้าออกจากงานอะไรบ้าง ชาวบ้านก็บอกว่างานศพ - มันเป็นความคิดของชาวบ้านจริงๆ เพราะเขาเห็นปัญหา ”
ประชาคมนิยมพร้อมใจ ใคร่ทำถ้วนหน้าแล้ว กระบวนท่าต่อไปคือ ประกาศเจตนารมณ์ หรือเรียกว่าข้อตกลงร่วมกัน สิ่งนี้จะทำให้งานปลอดเหล้าเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงทุกหมู่บ้าน บ้านไหนมีงานศพก็ยกป้ายปลอดเหล้า ผู้เข้าร่วมจะเข้าใจไม่ดื่มเหล้าในงาน ในช่วงจังหวะนี้จะมีคณะทำงานเก็บข้อมูลข่าวสารทุกๆงานที่จัดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคืองานศพปลอดเหล้าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเจ้าภาพได้ดียิ่ง งานศพสงบ ผู้คนสง่า เพราะทำตามกติการ่วมกันเป็นอย่างดี จากงานศพปลอดเหล้าสู่งานปลอดเหล้าอื่นๆ บุญบวช บุญกฐิน บุญอัฐิก็งดดื่ม รวมสถานที่ราชการก็ร่วมงดดื่มตามไป ข้อตกลงหรือธรรมนูญมันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นต้องอยู่ที่ความร่วมใจ โดยเฉพาะเจ้าภาพงาน
“ เราก็มาตั้งคำถามต่อว่า แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรจึงจะทำให้งานนี้มันเกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน เลยคิดร่วมกันว่ามันจะต้องมีข้อที่ 3 คือการประกาศผลของการประชาคมกับชาวบ้านทั้งหมด เรียกว่าประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า คนตำบลเสียว คนโพธิ์ศรีสุวรรณจะปลอดเหล้าในงานดังต่อไปนี้ งานศพ, งานกฐิน, งานบวช, งานอัฐิ รวมทั้งงดดื่มเหล้าในสถานที่ราชการทุกแห่ง เช่น ในวัด หรืองานใดก็ตาม แล้วแต่มติของชุมชน เราประกาศเจตนารมณ์นี้ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ”
มาถึงตรงนี้ กระบวนท่าที่สี่ คือการติดตามผล โดยใช้คนทำงานติดตามความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากจดบันทึก และพูดคุยถามไถ่จากผู้เป็นเจ้าภาพ ผลที่เกิดขึ้นยืนยันให้ทราบได้ว่า งานปลอดเหล้านั้นประหยัดเงินได้ เฉลี่ย 30,000 บาทต่องาน หากจัด 40 งาน ก็ประหยัดเงินได้ล้านกว่า ยังไม่รวมด้านอื่นๆ ที่ล้วนดีไม่แพ้กัน เช่นสุขภาพดี ครอบครัวดี ไม่มีการพนัน จากข้อมูลเหล่านี้จึงนำคืนสู่ชาวบ้าน ทั้งในวงประชุมตำบล และอำเภอ เกิดเสียงชื่นชมยินดี ขยับไปทั้งโพธิ์ศรีสุวรรณสืบมา
“ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในตำบลเสียว กล้าพูดได้ว่าทำให้มีงานศพปลอดเหล้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งตำบลอื่นในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณด้วย ที่ทำได้เพราะคณะทำงานสื่อสารกันตลอดเวลา พอครบรอบ 1 ปี เรามีการเอาข้อมูลมาคุยกันที่อำเภอ เช่น ข้อมูลภาพรวมการจัดงานศพปลอดเหล้า ข้อมูลวิธีการจัดงานศพปลอดเหล้า เช่น ติดป้าย เอาคนงดเหล้ามาโชว์กัน เอาข้อมูลมาโชว์กัน โดยใช้ข้อมูลที่คณะทำงานบันทึกแบบง่ายๆ มีการเฉลี่ยข้อมูลว่างานปลอดเหล้าช่วยประหยัดเงินได้ประมาณ 30,000 บาท ถ้า 40 งาน ก็ประหยัดได้ 1.2 ล้านบาท ”
จากเรื่องยากๆที่ท้าทายคนทำงาน เพราะเหล้าคือวัฒนธรรมชุมชนที่อยู่ในวิถีชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน จนตอนนี้ เรื่องงดเหล้างานบุญในโพธิ์ศรีสุวรรณ กลับกลายเป็นปกติวิถีที่ชุมชนปฏิบัติร่วมกันด้วยความยินดี เป็นต้นแบบของชุมชนอื่น เป็นต้นแบบของจังหวัด และเป็นที่ชื่นชมในระดับประเทศไปแล้ว
" มันดูเหมือนจะยากในตอนแรก แต่..ทุกสิ่งก็ยากแค่ตอนแรกเท่านั้น "
.
“ อย่างที่บอกว่าการทำงานเรื่องเหล้ามันเป็นการทวนกระแสสังคม เหมือนปลาที่ว่ายทวนน้ำ มันต้องยุ่งยากเสมอ แต่เมื่อทำสำเร็จเราจะภูมิใจในการทำ ”
คำกล่าวสองคำนี้ เกิดคนละยุคสมัย แต่เมื่อลองฟังดีๆจะเข้าใจความหมายอันลึกซึ้ง เป็นจริง ซึ่งร่วมสมัยเสมอ คนแรกนาม Miyamoto Musashi ซามูไรยุคเอโดะ ผู้ถูกขนามนามว่า นักบุญดาบญี่ปุ่น จากเรื่องราวดาบสองคมและสถิติไม่แพ้ใครใน 61 ครั้ง คนที่สองนาม ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ขับเคลื่อนสังคมปลอดเหล้าในอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณจนเป็นที่เลื่องลือระดับประเทศ และนี่คือเรื่องราวการต่อสู้ของครูจันทร์ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมปลอดเหล้าในงานบุญ
.
เรื่อง : ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์
เรียบเรียง : ประภัสสุทธ พงสา