" พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน (ผู้เฒ่า...ลายครามนาพู่) เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่งเป็นพลังทางสังคม "
บรรยากาศยามเช้าบนดินแดนพื้นถิ่นอิสาน เสียงไก่ขันรับยามเช้าที่สดใส ณ ตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่เรียกขานกันว่าตำบลนาพู่ ดินแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้สูงอายุแหล่งเรียนรู้ชุมชนตลอดชีวิต ตำบลนาพู่เป็นตำบลที่มีผู้สูงอายุ 1,459 คน มีโรงเรียนผู้สูงอายุ 1 แห่ง มีนักเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 530 คน นับได้ว่าเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งแรกของจังหวัดอุดรธานี และเช้านี้เป็นอีกวันหนึ่งที่นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ แม่กองมืวัย 61 ปี ตื่นแต่เช้าเหมือนเช่นเคย เอ้ะ...วันนี้มีเสียงตำน้ำพริก และกลิ่นหอมของปลาย่าง โชยมาแตะจมูก มันคืออาหารที่ทำขึ้นเพื่อนำไปเป็นอาหารกลางวันของวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่จะต้องไปโรงเรียนแล้ว ถัดไปได้ยินเสียงลูกสาว ยายสมพร วัย 87 ปีบ้านใกล้เคียงกัน พูดกับแม่ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “อ่านหนังสือธรรมมะรอก่อนนะ กำลังรีดเสื้อผ้าให้” ทำให้คนฟังเกิดความคิดแว๊ปเข้ามาในหัวว่า ผู้สูงอายุเดี๋ยวนี้เค้าต้องใส่เสื้อผ้าที่รีดด้วยเหรอ และก็มาถึงบางอ้อ เมื่อมองเห็นยายสมพร เดินออกมาจากบ้านไปรวมกลุ่มกับผู้สูงอายุคนอื่นๆที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ผู้สูงอายุชายสวมกางเกงขาสั้นและผู้สูงอายุหญิงผูกคอซอง มองดูแล้วเหมือนนักเรียนธรรมดา แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างไม่ธรรมดา การใส่ชุดนักเรียน จึงเป็นเสมือนกลวิธีที่ผู้สูงอายุมีความรู้สึกเหมือนราวกับว่าตนกลับไปเป็นเด็กมีชีวิตชีวา กระชุ่มกระชวยอีกครั้ง
สูงวัยไปด้วยกัน การเดินทางไปโรงเรียนในวันนี้ มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ตลอดเส้นทางจากบ้านถึงโรงเรียน ต่างคนต่างถามสารทุกข์สุกดิบกันตามประสาผู้สูงอายุที่พบปะเพื่อนต่างหมู่บ้าน คลายเหงากันเลยทีเดียว รถโรงเรียนจากองค์การบริหารส่วนตำบลนาพู่วิ่งตระเวนรับนักเรียนตามหมู่บ้านต่างๆ ตั้งแต่ หมู่ 1-17 เลยทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อน มีนักเรียนผู้สุงอายุเดินทางไปเองด้วย นั่นรถจักรยานปั่นตามกันมา 3-4 คัน สามล้อเครื่องก็มี รถไถขนกันมาเต็มคันรถกันเลยทีเดียว
เสียงระฆังดังระงม ตามด้วยเสียงร้องเพลงชาติดังขึ้น นักเรียนผู้สูงอายุต่างพากันเดินมาเข้าแถวซึ่งแสดงถึงความกระตือรือร้นของสมาชิกแห่งโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เพื่อเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ รับฟังคำแนะนำจากอาจารย์ใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก่อนเริ่มการเรียนรู้ในห้องเรียน
โรงเรียนแห่งนี้เปิดทำการเรียนการสอนเดือนละ 2 ครั้ง ภายใต้คำขวัญประจำโรงเรียน คือ ตุ้มโฮม ฮักแพง แข็งแรง สุขขี ชีวีมีคุณค่า การเรียนการสอนจะเน้นความสุขและเสียงหัวเราะเป็นสำคัญ ผนวกกับการอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต การดูแลตนเองและผู้อื่นเน้นหลัก 3 อ 2 ส ทักษะด้านอาชีพและการใช้ชีวิตเมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย การเยี่ยมบ้านและการมีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนผู้สูงอายุและคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็น “ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ” คาบเรียนที่ 1 พบปะพูดคุย ฝึกฝนการดูแลตนเองภายใต้แนวคิด “แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพเปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่งเป็นพลังทางสังคม เสียงหัวเราะ สุขภาพดีชัยไปกว่าครึ่ง”
คาบเรียนที่ 2 นันทนาการบริหารร่างกาย สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง คือหนทางสู่ร่างกายแข็งแรงด้วยกิจกรรมเข้าจังหวะมีกี่ท่าก็งัดออกมาท้าทายกันชนิดไม่มีถอยเต้นกันจนลืมอายุกันเลยทีเดียวเชียวล่ะ รอยยิ้มบนใบหน้าของคุณตาคุณยายที่กำลังเต้นเพลง Chicken Dance เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลนาพู่ที่เสริมสร้างความแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตช่วยทำให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคซึมเศร้าต่อชีวิตที่ยืนยาว คาบเรียนที่ 3 แลกเปลี่ยนเรียนรู้
หลังกิจกรรมนันทนาการ นักเรียนผู้สูงอายุ ก็เข้าสู่หมวดวิชาการ กันบ้าง วิชาการไม่ได้หมายถึงการที่ต้องมานั่งขีดเขียน ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ แต่เป็นการให้ผู้สุงอายุทั้งหลายได้มีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ ออกแบบและกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตัวพวกเขาเอง ซึ่งพวกเขาเป็นปราชญ์ชาวบ้านอยู่แล้ว มีดีคนละแบบ เช่น การทำบายศรีสู่ขวัญ เป็นหมอสมุนไพรเก่า นวดแผนไทย หมอลำพื้นบ้าน โรงเรียนแห่งนี้จัดหลักสูตรผู้สูงวัยให้มีโอกาสส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการพบปะแลกเปลี่ยนทัศนคติกับเพื่อนร่วมรุ่นและทำกิจกรรมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพียงวางโครงสร้างใหญ่ๆในการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาวะทางสังคม และด้านอารมณ์จิตใจ เน้นสันทนาการและสอดแทรกความรู้ด้านสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มผักและผลไม้ ลดหวาน ออกกำลังกาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ สอนวิธีคลายเครียดเพื่อให้อารมณ์ดี หยุดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา นักเรียนผู้สูงอายุทุกคนจะมีสมุดประจำตัวบันทึกพัฒนาการและสุขภาพตนเองตั้งแต่เข้ามาเรียน ณ โรงเรียนแห่งนี้
ตอนนี้เหมือนท้องจะร้องแล้วชักเริ่มหิวข้าวแล้ว อาจารย์ใหญ่ค่ะได้เวลาพักเที่ยงหรือยัง เสียงยายบุญ ดังขึ้นหลังจากร่วมกิจกรรมในภาคเช้าเสร็จสิ้น ได้เวลาพักเที่ยงแล้วค่ะคุณยาย เสียงอาจารย์ใหญ่ตอบกลับมาด้วยเสียงนุ่มนวล วันนี้มีนักเรียนบางส่วนช่วยกันทำกับข้าวเพิ่มเติมตามความถนัดของตนเองร่วมกับทางโรงเรียน บางส่วนเตรียมอาหารมาจากบ้านเพื่อเอามารับประทานร่วมกับเพื่อนๆ และแบ่งปันด้วยน้ำใจไมตรี สิ่งที่ได้รับจากโรงเรียนผู้สูงวัยวันนี้ทำให้ได้รู้ว่าอาหารชนิดใดมีประโยชน์และชนิดใดควรหลีกเลี่ยง กิจกรรมที่ขาดเสียไม่ได้ก่อนเลิกเรียน คือการสวดมนต์ นั่งสมาธิซึ่งไม่นับบางคนถือศีล 5 บางคนถือศีล 8 อยู่แล้ว กลับบ้านด้วยจิตใจผ่องใสเบิกบาน เมื่ออยู่ที่บ้านผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกิจกรรมเท่าไหร่แต่มาโรงเรียนทำให้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมโรงเรียนช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตได้อีกหลายทาง ประสบการณ์จากโรงเรียนยังถ่ายทอดสู่ลูกหลานสร้างปฏิสัมพันธ์และความรู้สึกถึงคุณค่าของตนอีกต่างหาก
การมีสุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โรงเรียนเลิกแต่บทสนทนาไม่เลิก ในตอนบ่ายนักเรียนผู้สูงอายุจะแยกย้ายกันกลับบ้าน บ้างก็กลับไปนอนพัก บ้างก็ไปทำไร่ทำสวนต่อ กลุ่มที่มีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนผู้สูงอายุก็จะมารวมตัวกันที่บ้านแม่เป้เพื่อพูดคุย เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้และจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องลดอาหารหวาน มัน เค็ม รวมถึงทำไมยังต้องขวานขวายใส่ชุดนักเรียน เดินทางไปโรงเรียนทั้งๆที่มีการพูดคุยพบปะกันอย่างนี้อยู่เสมอๆ เราก็ได้คำตอบว่าการไปโรงเรียนและการใส่ชุดนักเรียน มันเหมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพลัง และความพร้อมเพรียงของผู้สูงอายุภายในชุมชนของเหล่าผู้สูงอายุโรงเรียนผู้สูงอายุนาพู่ นี้คือวิถีชีวิตของชาวชนบทอย่างแท้จริง ในวันที่โรงเรียนผู้สูงอายุเปิดเรียน นักเรียนผู้สูงอายุก็จะครึกครึ้น คึกคักกว่าปกติ รีบอาบน้ำแต่งตัวทาแป้งใปรอที่ศาลา ดั่งเช่นวันนี้
การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทุกที่พยายามที่พัฒนา และมองหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับอัตราก้าวกระโดดของผู้สูงอายุ โรงเรียนผุ้สูงอายุตำบลนาพู่ ช่วยให้นักเรียนผู้สูงอายุมีสุขภาพกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข นำความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตสร้างอาชีพ เกิดรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว มีการจัดตั้งจิตอาสา เครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชนดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน จึงมีหน่วยงาน องค์การมาศึกษาดูงานโรงเรียนแห่งนี้อยู่เป็นประจำ และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลนาพู่ ปี 2562”
ผู้สูงอายุเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่น เป็นหลักบ้านหลักเมือง และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่คนในชุมชน และควรให้ความเคารพเป็นพิเศษ ดังนั้น โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลนาพู่ นับเป็นสัญญาณและจุดเริ่มต้นอันงดงามในตำบลเล็กๆแห่งนี้ ได้รับมือในการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่แข็งแรง มั่นคง มีความสุข และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง นี่คือ ความสุขของผู้สูงวัยในโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลนาพู่ สถานที่ซึ่ง เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นพลังทางสังคม...สูงวัยใจเกินร้อย
เรื่อง : อำนวย อินธิราช
เรียบเรียง : วนิดา ศรีพรหมษา
ภาพปก : ประภัสสุทธ