post-image

“ต๊วดงัดอาสา” สร้างโลกการศึกษาของเด็กๆ ให้สดใส

 

               ชอล์ค พู่กัน แปรง  สีน้ำมัน และพื้นผนังอาคารเรียน คืออาวุธและสนามในการรังสรรค์สื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ BBL ( Brain Based Learning ) ในการทำงานอาสาของกลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มต๊วดงัดอาสา หรืออีกชื่อหนี่งคือกลุ่มเยาวชนข้าวก้นบาตร วัดป่าวังไม้แดง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

          ในแต่ละปีกลุ่มต๊วดงัดอาสา จะไปสำรวจพื้นโรงเรียนขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนเป็นหลัก โดยแต่ละพื้นที่ต้องมีครูและนักเรียนที่สนใจอยากให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้สร้างสรรค์ของนักเรียน ซึ่งในกระบวนการทำกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้นอกจากความอาสาที่เสียสละกำลัง แรงกาย และเวลามาร่วมสร้างพื้นที่โดยใช้ BBL เป็นเครื่องมือในการเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมจากพื้นที่ในการร่วมพัฒนา เพราะพื้นที่หรือบุคคลที่เป็นคนในพื้นที่ที่สนใจจะต้องร่วมกันระดมทุน เช่น สี และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้และกลุ่มต๊วดงัดอาสา ที่มีอาสาสมัครหลักประมาณ 5-7 คน ที่มีทักษะในการวาดรูปภาพ ผังการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดความน่าสนใจและสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

          ในแต่ละพื้นที่จะเห็นว่า รูปแบบการเรียนรู้มีความหลากหลาย เครื่องมือและมิติของการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ที่ทางทีมงานกลุ่มมีการสำรวจพื้นที่จริงก่อนทุกครั้ง ว่าพื้นที่เป็นแบบไหน ผนังกว้างยาวเท่าไหร่ บันไดกี่ขั้น จุดที่รวมตัวกันของนักเรียนในช่วงเวลาว่าง และจุดที่ดึงดูดความน่าสนใจเพื่อให้เป็นจุดเด่นของการการเรียนรู้ในตรงนั้น โดยจากการสังเกตเห็นว่าการเลือกสี และการจัดองค์ประกอบภาพ ล้วนมีความหมาย

          ส่วนแรก จะเห็นการสร้างสรรค์รูปแบบของการเรียนรู้กับรายวิชาและความรู้ทั่วไปที่สำคัญกับนักเรียนได้แก่ พยัญชนะภาษาไทยใช้รูปแบบโบกี้รถไฟ,  พยัญชนะภาษาอังกฤษ ใช้รูปแบบรังผึ้ง สระ-วรรณยุกต์ภาษาไทย ใช้รูปแบบตาราง, สระ-วรรณยุกต์ภาษาอังกฤษใช้รูปแบบติดไม้, สูตรคูณ ใช้ขั้นบันไดอาคารเรียนหรือผนังอาคารที่เป็นแผ่นกระดาน, และรูปแบบตัวเลขบันไดงู, วงกลมแยกแฉกเป็นเดือนและฤดูกาลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ, นอกจากนี้ยังมีภาพผนังเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ อวกาศ ฯลฯเพื่อเพิ่มจิตนาการและการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ได้มีกาสเรียนรู้อย่างทั่วถึง

          นายพีรพงษ์  เคนทรภักดิ์ หรือเฟม แกนนำกลุ่มต๊วดงัดอาสา บอกว่า สิ่งที่ได้มาทำในจุดนี้ เพราะเราเห็นว่าการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนที่เราเห็นกันอยู่ คือก็ดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าจะทำให้ดีขึ้นสภาพแวดล้อมของพื้นที่หรือของโรงเรียนมันสามารถสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้นักเรียนอยากเรียน สนุกที่จะเรียนรู้มากขึ้น การทำกิจกรรมสนามแห่งการเรียนรู้ หรือที่ทางกลุ่มใช้ชื่อว่า ทำดี ป้ายสีเพื่อน้อง สร้างสนาม BBL ซึ่งตอนนี้ที่ทำมาก็หลาย 10 พื้นที่แล้ว และยังจะทำต่อไปในขนะที่ยังมีแรงและได้เห็นแววตาของน้องๆนักเรียนที่เห็นผลงานที่พวกเราไปทำ ให้รอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะจากที่เด็กๆได้เล่น ได้เรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาเองได้มาช่วยกันทำกับพวกเรา มันยิ่งเป็นพลังให้พวกผมทำงานชิ้นนี้ต่อไป  เฟม กล่าว

          นอกจากนี้ น้องเฟม ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ทุกภาพที่กลุ่มสื่อสารออกมาล้วนมีความหมาย มีเรื่องราวการเรียนรู้ สอดแทรกในนั้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและหรือนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ทีมงานจะเลี่ยงการวาดภาพที่เป็นมุม หรือเหลี่ยม เพราะเด็กจะมีความกลัวหรือสร้างความกลัวให้กับเด็ก ดังนั้นภาพทุกภาพจะสื่อออกมาเพื่อสร้างความสนใจในการเรียนรู้เป็นสำคัญ  ถ้าเด็กๆโตขึ้น การเรียนรู้เรื่องอื่นๆของสิ่งนั้นหรือภาพนั้น น้องๆจะสามารถเข้าถึงความหมายและเรียนรู้ลักษณะเฉพาะได้ด้วยตนเอง

          แน่นอนว่า อาสาสมัครเพียง ไม่กี่คนในชื่อ “กลุ่มต๊วดงัดอาสา” ที่ยอมเสียสละเวลาตัวเองและครอบครัวช่วงหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ มาระเรงสีสันให้เป็นลวดลายของการเรียนรู้กว่า 10 รูปแบบอย่างตั้งใจ ซึ่งนั่นหมายถึง กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มนี้กำลังสร้างหนังสือโดยที่เด็กๆไม่ต้องอ่าน แต่สามารถเรียนรู้ได้ไปพร้อมๆกับการเล่น หรือเล่นไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย อย่างน้อยพื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 70 คน และพวกเขาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพในการเรียนรู้ โดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นครูแม้แต่คนเดียว 

 

เรื่อง : พีรพงษ์ เคนทรภักดิ์
เรียบเรียง : ธนภัทร แสงหิรัญ
ภาพปก : ประภัสสุทธ