post-image

หมอลำกันลืม : หมู่บ้านผู้สูงวัย ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ซึม ไม่เศร้า กินข้าวอร่อย

โอ้ละหนอ..........ฉันขอกล่าวเป็นคำกลอน มีอุปกรณ์หลายอย่าง จีบ L โป้งก้อย ซอยให้ข่อยบ่หลง บ่ลืม...มีคนสูงวัยกลุ่มหนึ่งนั่งล้อมวง ส่งเสียงดังเป็นจังหวะพร้อมกันโดยที่ไม่มีดนตรีประกอบ ไม่มีไมค์จ่อปาก แต่ละคนก้มหน้ามองกระดาษที่ถืออยู่ในมือ พร้อมประสานเสียงเป็นบทกลอนลำในแบบ คิดเอง เขียนเอง แล้วคนสูงวัยกลุ่มนี้ เป็นใคร อยู่ที่ไหน ดิฉันใคร่ขอเล่าให้ฟัง...ดังนี้

หมู่บ้านหนองบัว อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ชื่อหมู่บ้านเป็นหนองบัว แต่หมู่บ้านไม่มีทั้งหนองน้ำและดอกบัว มีแต่ประชาชนคนสูงวัยเดินขวักไขว่ในหมู่บ้าน เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุ 2 ใน 4 ของประชากรในหมู่บ้านนี้ และหมู่บ้านก็อยู่ติดเขตเทศบาล ไม่ใช่เขตชนบท ประชาชนส่วนใหญ่วัยทำงานมีอาชีพค้าขาย ต้องตื่นตั้งแต่ตีสอง ไปขายของที่ตลาด กลับเข้าบ้านก็ราวๆ สิบโมงเช้า ถ้ามองเชิงความสัมพันธ์ของครอบครัวก็คิดได้ว่า มีเวลาให้กันและกันน้อยอยู่ ถ้าเป็นเด็ก หรือวัยรุ่นก็อาจมีเพื่อน แต่ถ้าเป็นคนสูงวัยหละ เขาอยู่แบบไหนกับวิถีชีวิตของครอบครัว หรือเราจะคิดแทนเขา กังวลไปว่า คนสูงวัยหมู่บ้านนี้จะถูกทอดทิ้ง แต่ไม่เลย พอเข้ามาในหมู่บ้านแห่งนี้ก็จะเห็นกลุ่มคนสูงวัยนั่งเป็นกลุ่มๆ (หรือเรียกว่าคุ้มบ้านก็ไม่ผิด... จริงๆ ต้องเรียกแบบนั้นแหละ) พอไปสังเกตดูอ้อเขานั่งแกะกระเทียม มือก็แกะกระเทียม ปากก็ร้องหมอลำไปด้วย ลำผิดเนื้อก็แซวกัน ผู้เขียนเข้าไปพูดคุย

“แม่ๆ ในนี้มีหมอลำหรือคะ” คุณยายท่านหนึ่งตอบว่า “กะแม่นี่หละหมอลำเก่า คณะหมอลำ”

“ป้าดๆๆ เป็นนางเอกหมอลำนำบ่คะ คุณแม่”

“บ่ๆๆ เป็นโตโกงในคณะ” เสียงหัวเราะในกลุ่มก็เฮขึ้น หนึ่งในกลุ่มถามกลับมา ... คุณหมอ (ผู้เขียน) จะมาเป็นหมอลำนำติคะ หรือมาเฮ็ดหยังค่า ?

“มาเบิ่งผู้เฒ่าบ้านนี่ ยามเวนเฮ็ดอีหยังกันอยู่” “พวกฉันกะมานั่งแกะกระเทียมฟังหมอลำ นำกันอยู่ซุมื้อนี่หละ ได้เงินนำ ได้ม่วนนำ” นี่คือประโยคที่มาของ  หมอลำ...กันลืม สู่... หมู่บ้าน ไม่หลง ไม่ลืม ไม่ซึม ไม่เศร้า กินข้าวอร่อย

ทำไมถึงรวมตัวกันได้?... ถ้าคิดถึงนโยบายในปัจจุบันนี้ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นโยบายการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุถือว่าเป็น Hot issue เชิงนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นภาวะสมองเสื่อม หรือหกล้ม ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้ตั้งวงหมอลำขึ้นมาสิ มีช่องทางอยู่แล้ว หมอลำก็อยากลำ อยากโชว์ คนแต่งเนื้อร้อง ทำนองก็ อสม. คนเก่ง หมอแคนในหมู่บ้านก็มี หางเครื่องยิ่งเยอะ มีแต่คนอยากมาร่วมวงด้วย ก็ตั้งวงหมอลำเลยสิคะ ...

และจากประโยคคำพูดของคุณแม่ในกลุ่ม บอกว่า นั่งฟังเพิ่นลำกะม่วนเนาะ ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ มีแต่คนชอบ ยิ่งเป็นคนบ้านนี้ยิ่งม่วนนำกัน นี่คำคือพูดที่จุดประกายให้เราคิดต่อได้ว่า ก็ให้คุณแม่ คุณพ่อรวมกลุ่มกันในหมู่บ้านนี้แหละ คนเขียนเนื้อกลอนก็มี ให้เขียนแล้วให้คนอื่น หรือหมอลำได้อ่านเนื้อ สรุปแล้วหมอเก่งเหมือนนักแต่งเพลง เพราะครั้งเดียวผ่านฉลุย ทุกคนต่างชอบใจ ส่วนทำนองหมอลำ 2-3 ท่านก็ใส่ทำนองสด แถมยังมีจิตอาสาหมอแคน หรือคนเป่าแคน ซึ่งอดีตก็คือ หมอแคนในหมู่บ้าน แต่ห่างหายวงการไปนาน แต่ท่านก็เช็ดถู ทำความสะอาดแคนอยู่เรื่อย และยังมีเหลืออยู่คนเดียวในหมู่บ้าน แล้วจะทำอย่างไรกันต่อกับคณะหมอลำคณะนี้ ...จัดหาเวทีให้แสดง? เวทีที่ว่าก็คือ ศาลาวัด เป็นเวทีแสดงที่ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร ผู้ชม ผู้ฟัง ก็คือ คนที่นั่งอยู่ในศาลาวัดนั่นแหละ แถมยังได้แสดงบ่อยด้วย คนเฒ่า คนแก่ ชอบไปวัดอยู่แล้ว ทุกวันพระจะมีคนเต็มศาลาวัดเลยนะ แนวคิด แจ๋วๆ นี้มาจากแม่ประธาน อสม. ในหมู่บ้าน   

การแสดงโชว์ครั้งแรก ได้ยินเสียงปรบมือเกรียวกราว คณะหมอลำก็ยิ้มไม่หุบ ลำต่อได้อีก 2-3 กลอน และตอนท้ายมีการแย่งไมค์กันเกิดขึ้น เรียกว่า เป็นความสุขจากภูมิปัญญาของคนที่นี่จริงๆ เมื่อคนฟังเริ่มติดใจ หมอลำก็เริ่มใช้เนื้อร้องซ้ำๆ คนแต่งบทกลอน จึงมาถามหมอรักษาประจำหมู่บ้านว่า อยากใส่เนื้อหาความรู้ เป็นกลอนลำมั้ย แม่จะแต่งให้   ผู้เขียน ก็ยิ้มสิทีนี้ ...แม่แต่งได้มั้ยคะ แต่งกลอนให้หน่อย... คุณแม่ก็นั่งเขียนอยู่ตรงศาลาวัด แล้วเดินถือกระดาษมาให้เราอ่าน 3 หน้ากระดาษ เราก็ว้าวเลยสิทีนี้ เนื้อกลอนสอนให้จีบแอล โป้ง ก้อย (มือจีบเหมือนตั้งวงฟ้อนรำ และทำมืออีกข้างทำเป็นตัวแอล (L) ทำสลับกันไปมา ถ้าผู้อ่านเป็นคนทำงานด้านสาธารณสุขก็จะพอเข้าใจสัญลักษณ์นี้ ได้บทกลอนลำแล้วก็ส่งให้คณะหมอลำดูเนื้อ ท่านนั่งอ่าน ถ้าจับเวลาก็น่าจะประมาณ 20 นาที แล้วท่านก็ลำปากเปล่าทันที อืมนี่คือเสน่ห์ของคำว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน จริงๆ มันฝังแฝงอยู่ในความคิด ความจำของท่านเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ใครจะจุดประกายเสน่ห์เหล่านี้ออกมาได้

จากเวทีหมอลำลานวัด จุดศูนย์รวมของคนทุกวัยในหมู่บ้าน ทุกคนมาด้วยใจและมาตามวิถีชีวิต ฮีต12 คลอง 14 วิถีวัฒนธรรมของหมู่บ้าน สู่เวทีแสดงในโรงเรียนผู้สูงอายุของ อบต.บ้านแท่น ที่คณะหมอลำบ้านหนองบัวได้รับเชิญเป็นคุณครูใน รายวิชา สร้างเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยที่คุณครูทีมนี้มีนัดหมายแสดงหมอลำสร้างความบันเทิงเดือนละ 1 ครั้ง ตามตารางเรียนที่ อบต.บ้านแท่น กำหนดไว้            

ไปต่อได้อย่างไร?... จากนโยบายของท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนงานโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยจัดทำเป็นตารางเรียน กิจกรรมสัปดาห์ละ 1 วัน ซึ่งมองว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นำพาให้ผู้สูงอายุได้มาพบปะกัน กินข้าวด้วยกัน และเมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ของท้องถิ่น (นายก อบต.และทีมผู้บริหาร) ท่านได้มาฟัง ได้เห็นหมอลำคณะนี้ จึงติดต่อให้ร่วมเป็นครูโรงเรียนผู้สูงอายุ อบต.บ้านแท่น ทำให้ได้ไปต่อเวทีอื่นๆ ในตำบลบ้านแท่น คณะจะครบวง หรือไม่ ไม่สำคัญ แค่อยากไปทุกครั้งอย่างไม่รีรอ..............

ถามว่าได้อะไร?... ทุกคนจะตอบกลับเป็นเสียงเดียวกันว่ามัน คือ ความสุข สิ่งที่ได้มันตีค่าไม่ได้ ได้เพื่อนคุย โสเหร่กัน นั่งกินข้าวด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในหนึ่งวัน หรือทุก 15 วันที่มีวันพระ แต่หมอลำคณะนี้จะบอกว่า ภูมิใจคะ ที่ได้ลำให้คนฟัง ไม่มีค่าจ้างไม่มี ค่าตอบแทนอะไร เมื่อถึงวันพระ คณะจะเพียบพร้อมไปทุกอย่าง เสื้อผ้าหน้าผมไม่เน้น ใส่แค่ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้าคาดเอว ผ้าเบี่ยงบ่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ ฟังพระสวดมนต์ ให้พรเสร็จ ทุกคนนั่งฟังหมอลำ 2-3 กลอน บางคนนั่งฟ้อนรำ โยกไปตามจังหวะทำนองของกลอนลำ เสร็จสิ้นแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านอย่างอิ่มเอมใจ

คาดหวังมั้ยว่าคนสูงวัยกลุ่มนี้ จะไม่มีภาวะหลงลืม หรือหกล้ม นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันเราเห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะ และได้เห็นการรวมกลุ่มกันแบบธรรมชาติ โดยมีปฏิทินวัฒนธรรมของหมู่บ้านเป็นตารางนัดหมายการทำกิจกรรมร่วมของคนสูงวัยกลุ่มนี้ สิ่งเหล่านี้ต่างหาก คือสิ่งที่ได้และจะมีความยั่งยืน โดยที่ไม่มีใครไปบังคับ สร้างกฏเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น และชวนให้เราคิดต่อได้อีกว่า บางครั้ง ผู้คนในหมู่บ้าน วิถีชีวิตของเขา หรือภูมิหลัง วัฒนธรรมของหมู่บ้าน เป็นสิ่งช่วยส่งสริม สนับสนุนในเรื่องของสุขภาพได้ในทางอ้อมอยู่แล้ว และให้มีการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เขาออกแบบโดยตัวของเขาเอง เขาจะทำได้ และทำได้ดีด้วย ที่เพราะนั่นคือ “ศักยภาพของคนและชุมชน” นั่นเอง...

 

เรื่อง : สมคิด เทียมแก้ว

ภาพปก : ประภัสสุทธ