post-image

คน-ความคิด คีย์เวิร์ดสำคัญของการจัดการปัญหาขยะในชุมชน

          ในทุกๆ วันที่มีโอกาสขับรถผ่านหมู่บ้านห้วยยาง วาบความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในใจคือ “ทำไมหมู่บ้านแห่งนี้จึงดูสะอาดสะอ้านดีจัง” หมู่บ้านห้วยยางตั้งอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข 2167 เส้นห้วยทับทัน -ปรางค์กู่ เมื่อขับรถเข้าเขตชุมชน จะพบต้นทองอุไร ปลูกอยู่สองข้างทางออกดอกสีเหลืองสดชื่น แลดูสบายตายิ่งนัก  สภาพบ้านเรือนสองข้างทางถูกจัดการความสะอาดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีถังคัดแยกขยะที่ครัวเรือนแห่งนี้ ร่วมกันทำงานจนเป็นกิจวัตรประจำวัน

               ผมขับรถวนๆ รอบ ๆ อ่างเก็บน้ำลำห้วยยาง และขับขี่ในตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน ก่อนที่จะวนกลับมาบริเวณศาลาประชาคมของหมู่บ้านห้วยยาง เพื่อสนทนาพูดคุย ถามข่าวคราวของชุมชนแห่งนี้ ภายหลังจากไม่ได้พบเจอกันนานโข  พี่แอ๋ว พูนสิริ โสดา แกนนำของหมู่บ้านห้วยยาง เล่าถึงความเป็นมาของการขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่ ว่า บ้านห้วยยาง ได้ขับเคลื่อนโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ ร่วมกับสำนัก 6 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ในประเด็นการจัดการขยะในชุมชน 

 พี่แอ๋ว พูนสิริ โสดา เล่าว่า หมู่บ้านห้วยยาง เป็นชุมชนขนาดกลาง ตั้งอยู่ทางทิศใต้  อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยทับทัน ประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 2,127 ไร่ หมู่บ้านมีจำนวนครัวเรือน  160  ครัวเรือน แบ่งออกเป็น 7 คุ้ม หมู่บ้านนี้มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นจำนวน 457 คน จำแนกเป็นชาย จำนวน 230 คน เพศหญิง 227 คน ลักษณะนิเวศโดยทั่วไปของบ้านห้วยยาง คือเป็นชุมชนที่มีแหล่งน้ำล้อมเกือบรอบทั้งชุมชน โดยแหล่งน้ำนั้นทอดตัวยาวตามแนวฝั่งทิศใต้ของชุมชนทั้งหมดไปจนสุดเขตตำบลเมืองหลวงและเชื่อมต่อกับลำน้ำห้วยทับทัน โดยแหล่งน้ำดังกล่าว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยยางและกุดโทะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี และยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีก เช่น พวกนกเป็ดน้ำ นกไก่นา ซึ่งถือได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก รอบๆบริเวณแหล่งน้ำ เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ มีป่าไม้ที่ยังหลงเหลือให้เห็นบ้าง แต่เมื่อเทียบกับ 20-30 ปีที่แล้ว นับว่าพื้นที่ป่าลดลงอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่ในการทำนาปรัง  ลักษณะนิเวศในชุมชน ด้านที่อยู่อาศัยนั้น มีลักษณะเป็นที่ราบสูงหรือโนนสูง จึงถือว่าเป็นลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างที่อยู่อาศัยหรือชุมชน เพราะเมื่อถึงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากหรือฤดูมรสุม มีปริมาณน้ำฝนมาก หรือฝนตกหนักหลายวันติดต่อกัน พื้นที่ชุมชนจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำจะระบายลงแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็ว

            ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการชุมชนน่าอยู่ นั้นบ้านห้วยยาง นับว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาด้านขยะในชุมชน พบว่า จากข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจเกี่ยวกับขยะของชุมชน ครัวเรือนที่คัดแยกขยะ จำนวน 20 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 13.50  มีครัวเรือนที่ไม่คัดแยกขยะ ไม่ถูกต้อง มีการคัดแยกแต่คัดแยกขยะแบบไม่จริงจัง และไม่สม่ำเสมอ  จำนวน 140 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 87.50 เผาขยะในชุมชนจำนวน 140 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่เผาขยะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เผาขยะในพื้นที่ส่วนตัวในสวนหลังบ้าน บางครัวเรือนเผาขยะในคอกวัวเพื่อเป็นการไล่ยุง ไล่แมลงให้วัวควายไปด้วย จากข้อมูลที่ชุมชนร่วมกันจัดเก็บ พบว่าขยะในชุมชนบ้านห้วยยาง ส่วนใหญ่เป็นขยะที่มีที่มาจากครัวเรือนในชุมชน และขยะที่เกิดจากคนภายนอกชุมชน เนื่องจากพื้นที่บ้านห้วยยางเป็นพื้นที่มีทางหลวงชนบทสาย ห้วยทับทัน ปรางค์กู่ วิ่งผ่านมีคนภายนอกทิ้งขยะในถนนหนทาง ซึ่งมีความยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร ส่วนขยะภายในชุมชน เป็นกลุ่มคนในชุมชนที่ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขยะ  นอกจากนั้นยังมีการทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะ จำนวน เช่นบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยยาง บริเวณถนนเชื่อมไปป่าชุมชนในหมู่บ้าน  บริเวณป่าชุมชน ถนนสาธารณะ  และถนนเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน

          เมื่อทราบถึงสถานการณ์ปัญหา หรือประเด็นปัญหาที่ชัดเจน ชุมชนจึงได้ร่วมขับเคลื่อนประเด็นการจัดการขยะชุมชน ให้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการในปีแรก ๆ  ทั้งนี้เครื่องมือการทำงานที่สำคัญก็คือการพัฒนาคน พัฒนาศักยภาพของแกนนำโดยการจัดตั้งเป็นกลไกสภาผู้นำชุมชน ซึ่งแกนนำชุมชน จำนวน  4  คน  ได้ไปศึกษาดูงานที่หม่บ้านโนนแกด อำเภอเมืองศรีสะเกษ  จังหวัดศรีสะเกษ และได้นำความรู้ที่ได้มาพัฒนาบ้านเราให้เกิดระบบการทำงานที่ชัดเจนขึ้น 

          การก่อตัวของสภาผู้นำชุมชน โดยการขยายผลแนวความคิด กลไกสภาผู้นำชุมชน คือกลุ่มคนที่จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง โดยรับสมัครจากผู้สนใจในชุมชน จากองค์ประกอบที่หลากหลาย ทั้งจากผู้นำที่เป็นทางการ ผู้นำธรรมชาติ ผู้แทนกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน ผู้มีจิตอาสาในชุมชน จนเกิดสภาผู้นำชุมชนบ้านห้วยยาง จำนวน 20 คนที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนหมู่บ้านห้วยยาง เมื่อก่อตัวสภาผู้นำชุมชนสำเร็จ จึงได้นำพาสมาชิกในชุมชนไปศึกษาดูงานชุมชนน่าอยู่ ที่บ้านโนนกลาง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ 

          สิ่งแรกที่ชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชน และสร้างชุมชนให้น่าอยู่ คือการวางรากฐานทางความคิด ให้คนในชุมชนได้มีความคิด ความรู้  ความเข้าใจ มีทัศคติที่ดี และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างกติกาชุมชนขึ้นมา เป็นแกนกลางในการยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน โดยร่วมกันร่างกติกาชุมชนบ้านห้วยยาง และนำไปสู่เวทีประชาชน จนเกิดการยอมรับและประกาศใช้  จำนวน 7 ข้อ   ดังนี้ 1.ทุกครัวเรือนให้มีการคัดแยกขยะ  2.งานบุญในชุมชนต้องเป็นงานบุญปลอดเหล้า (งานบวช งานกฐิน งานศพ) 3.ทุกครัวเรือนต้องมีการปลูกพืชผักสวนครัว 4.สมาชิกในชุมชนลดการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้าชุมชน 5.ทุกครัวเรือนต้องร่วมกิจกรรมในชุมชน 6.ห้ามสูบบุหรี่ในที่ประชุมและที่ชุมนุมคน  

           ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการ วางกติกาชุมชนร่วมกัน จึงทำให้ชุมชนร่วมมือกันจัดการขยะ ในชุมชน โดยกลไกสภาผู้นำชุมชนทำหน้าที่ในการ ติดตาม สนับสนุน เสริมแรงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีรูปแบบการจัดการขยะ และการพัฒนาหมู่บ้านในรูปแบบต่าง ๆ  ที่น่าสนในดังนี้ 

 1. การจัดการขยะระดับครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 168 ครัวเรือน อาศัยอยู่จริง 141 ครัวเรือน หมู่บ้านห้วยยาง ได้ขับเคลื่อนงานจัดการขยะ โดยบ้านห้วยยางมีครัวเรือนทั้งสิ้น จำนวน 141 ครัวเรือนคัดแยกขยะ จำนวน 141  ครัวเรือน  เกิดการจัดการขยะในที่สาธารณะ จำนวน 5  แห่ง ดำเนินการแล้ว 5 แห่ง โดยใช้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเข่าไปจัดการขยะในที่สาธารณะ  การสื่อสารสร้างการรับรู้ การจัดทำป้ายห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ  การใช้กติกาชุมชนอย่างต่อเนื่อง

 2. การจัดการขยะโดยการใช้ระบบคุ้มบ้าน โดยบ้านห้วยยางแบ่งคุ้มบ้านจำนวน 7 คุ้ม โดยการกำหนดให้มีโครงสร้างคุ้ม คณะกรรมการคุ้ม แบ่งบทบาทหน้าของคุ้มบ้าน ให้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานของชุมชน ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการจัดการขยะ  ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ การใช้ระบบคุ้มบ้านมีข้อดีตรงที่การระบุพื้นที่ในการทำงานให้เล็กลง แคบลง เจาะจงชัดเจน และทำงานง่ายขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น  

          พี่เนตร ศิริเนตร บัวเชย กล่าวว่า กลไกสภาผู้นำชุมชนบ้านห้วยยาง ไม่ได้มีบทบาทเฉพาะการจัดการขยะเท่านั้น แต่มีบทบาทในการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ในทุกๆ มิติในทุกๆ ด้าน โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในระยะที่ผ่านมา  ได้แก่  การส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี ในปัจจุบันได้ดำเนินการ ปลูกหอมกระเทียมอินทรีย์ และขยายผลให้สมาชิกปลูกหอมกระเทียมอินทรีย์ กินเอง โดยมีแปลงรวมของหมู่บ้านที่ลงมือผลิตร่วมกัน และยังนำผลผลิตมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ ผักดองกิมจิหอมแดง  การส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ โดยกำหนดแผนงานในการปลูกข้าวอินทรีย์ในแปลงนารวม และเตรียมการขยายผลการดำเนินงาน ให้แก่สมาชิก ในชุมชน นำผลผลิตข้าวมาแปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้างฮาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมการจัดกลุ่มออกกำลังกายในชุมชน และปรับภูมิทัศน์รอบ ๆ ลำห้วยยาง ให้เหมาะสมกับการออกกำลังกาย โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมเพื่อปรับภูมิทัศน์ของชุมชน นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ตลาดเลอโอล โดยการระดมทุนให้สมาชิกถือหุ้น มีหุ้นจำนวน 90,000 บาท จัดให้มีการจำหน่ายวินค้าชุมชน บริเวณอ่างเก็บน้ำลำห้วยยาง ริมถนนทางหลวงชนบท เส้น 2167 เส้นห้วยทับทัน -ปรางค์กู่  มีสินค้าจากชุมชน และสินค้าตามฤดูกาลมาจำหน่าย อย่างต่อเนื่อง

          นี่คือบทเรียนความสำเร็จส่วนหนึ่งของชุมชน บ้านห้วยยาง ที่ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชน เป็นแกนหลักในการพัฒนา การพัฒนาชุมชนที่เริ่มต้นให้ความสำคัญที่การพัฒนาคนก่อน พัฒนาคนให้มีทักษะ มีความรู้  มีศักยภาพ มีทัศคติที่ดี  ก่อนที่จะสนับสนุนให้คนใช้ศักยภาพของตนเอง ไปพัฒนาไปจัดการปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน ให้เกิดการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน และพัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็งในทุกๆ มิติต่อไป

 

เรื่อง : สรรณ์ญา กระสังข์

ภาพ : ประภัสสุทธ