post-image

เสน่ห์ขยะ

“ขยะใครคิดว่าไม่สำคัญ !!  สำคัญข้อแรกคือ สร้างเงิน สำคัญข้อสอง คือสร้างความสามัคคีในหมู่บ้าน และสำคัญข้อสามคือสร้างเสน่ห์  และเอกลักษณ์ให้หมู่บ้าน เพราะเป็นหมู่บ้านจัดการขยะ 100% บ้านโคกกลางจึงเป็นหมู่บ้านที่มีเสน่ห์”

พ่อเสนีย์  บุญเพิ่ม  ประธานโครงการ  การจัดการขยะในชุมชนบ้านโคกกลาง   หมู่ 2  ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร  เล่าย้อนไปเมื่อประมาณปี  2559  ว่า ช่วงนั้น  ปริมาณขยะในพื้นที่บ้านโคกกลาง   ตำบลหนองสูงใต้   อำเภอหนองสูง   จังหวัดมุกดาหาร   เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ชาวบ้านทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง  แม้บางหลังคาเรือนจะมีถังขยะ  แต่ก็ไม่มีการคัดแยกขยะ อย่างจริงจัง  นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำขยะไปทิ้งใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักในการนำน้ำมาผลิตประปาหมู่บ้าน  เพื่อให้ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภคด้วย  หากปล่อยไว้เช่นนี้ ปริมาณขยะก็จะเพิ่มขึ้น  และมีขยะเกลื่อนพื้นที่  ทางผู้นำชุมชน  ซึ่งสมัยนั้น พ่อเสนีย์ รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน  จึงได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนชาวบ้านในหมู่บ้าน  เกี่ยวกับการจัดการขยะ  เพื่อให้หมู่บ้านสะอาด  น่าอยู่ มีการบริหารจัดการขยะอย่างมีแบบแผน  ประกอบกับขณะนั้น หน่วยงานภาครัฐมีการรณรงค์เรื่องการจัดการขยะ  ทางผู้นำชุมชนจึงมีแรงผลักดัน  ที่จะนำพาหมู่บ้านไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับภาครัฐ  คือหมู่บ้านสะอาด  ปราศจากขยะ  และมีการบริหารจัดการขยะอย่างจริงจัง 

               หลังจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว  ทางผู้นำชุมชน  จึงได้ประกาศเสียงตามสาย  เพื่อเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมประชุมหารือ  ถึงแนวทางการดำเนินงานก่อนจะมีการทำประชาคมทั้งหมูบ้าน    เมื่อการทำประชาคมหมู่บ้านผ่านไปด้วยดี  ผู้นำชุมชน  นำโดย ผู้ใหญ่ เสนีย์ (สมัยนั้น) และชาวบ้าน  จึงเริ่มเข้าเกียร์เดินหน้า  ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะทันที  

               พ่อเสนีย์ เล่าไปยิ้มไป  ด้วยสำเนียงชาวภูไท ว่า แรกเริ่มก็ยังจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เท่าที่ควร แต่ด้วยความร่วมมือ  และร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในหมู่บ้าน ที่ช่วยกันคิด  ช่วยกันวางแผน มีการหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะ การเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ขยะแต่ละครัวเรือน  ก่อนจะนำมาสรุปในที่ประชุมหมู่บ้านทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง  จึงได้แบบอย่างการจัดการขยะที่จัดเจน ขึ้น

               เมื่อทุกอย่างชัดเจน  จึงเริ่มวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ  กิจกรรมการเก็บขยะ และทำความสะอาดบริเวณรอบบ้านเรือน  ถนนรอบหมู่บ้าน  โรงเรียน  และวัด  การแบ่งเขตรับผิดชอบตามคุ้มต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมผ้าป่าขยะด้วย  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้ทำควบคู่ไปกับการรับซื้อขยะ  เพื่อนำมาคัดแยก  และนำไปขาย  นำเงินที่ได้มาเข้ากองทุนขยะ  เก็บไว้พัฒนาหมู่บ้าน 

               “การรับซื้อขยะ  จะรับซื้อทุกหมู่บ้านในเขตตำบลหนองสูง  หลังจากที่ได้ขยะมาแล้ว คณะกรรมการหมู่บ้าน  และชาวบ้าน จิตอาสา  ก็จะช่วยกันคัดแยก  ก่อนจะนำไปขาย  หากถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่า ก็มีบ้างนะ  แต่มันคุ้มค่ากับแรงที่ลงไป  เพราะข้อแรก  หมู่บ้านสะอาด  มีการแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง  ขยะที่สามารถขายได้ ชาวบ้านก็นำมาขายให้กองทุนขยะ แม้จะได้เงินจากการขายขยะไม่มาก แต่ทุกคนก็มีรอยยิ้มที่ได้ร่วมกันทำสิ่งดีๆให้หมู่บ้าน  ไม่ว่าใครจะโทรศัพท์มาให้ไปรับซื้อขยะเราก็ไปนะ ซื้อมาแล้วก็คัดแยก และนำไปขาย  ส่วนเงินที่ได้ก็เก็บไว้ บริการจัดการกันต่อไป มันไม่เหลือบ่ากว่าแรงเราไปได้หรอก ถ้าเราจะทำ ”

               ผลจากการลงมือทำอย่างจริงจัง  นอกจากจะทำให้หมู่บ้าน สะอาด  มีการจัดการขยะอย่างมีแบบแผนแล้ว  ชาวบ้านมีการคัดแยกขยะ 100% ที่สำคัญ กองทุนขยะ  ยังมีรายได้มากพอ  ที่สามารถจัดซื้อที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์  จัดซื้อรถเก็บขยะ   จัดซื้อเครื่องปั่นไฟ  เอาไว้ใช้ประโยชน์ในหมู่บ้าน  และยังมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป  และผลพลอยได้จากโครงการ การจัดการขยะในชุมชนบ้านโคกกลาง   ยังทำให้ชาวบ้านหันรักษาสิ่งแวดล้อม  และมีการทำเกษตรแบบอินทรีย์ด้วย

               “หมู่บ้านเราถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบในตำบลหนองสูงใต้นะ  เมื่อหมู่บ้านเราประสบความสำเร็จ  ต่อมา ในปี 2562 จึงได้เกิดธรรมนูญตำบลเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะขึ้น  โดยมี 8 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลหนองสูงใต้  ร่วมลงนามความร่วมมือที่จะ บริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปแบบต่อไป”

พ่อเสนีย์ บอกว่า  แม้ตอนนี้จะเกษียณอายุจากผู้ใหญ่บ้าน  และมารับตำแหน่ง อบต. แล้ว  แต่ก็ยังไม่ละทิ้งการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารขยะ  ชาวบ้านทุกคน  รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่  ยังดำเนินงานสืบเนื่องกันมา เฉกเช่นสมัยที่พ่อเสนีย์  ยังรับหน้าที่ผู้ใหญ่บ้าน 

ยิ่งไปกว่านั้นนายไชยา  สุวรรณไตรย์  อายุ 48 ปี ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ไฟแรง  ยังบอกว่า โครงการนี้เราจะไปต่อ  ไม่พอแค่นี้แน่นอน  พูดไปก็หัวเราะไปด้วยเป็นคนอารมณ์ดี ส่วนในมือก็ถือถุงพลาสติกขนาดใหญ่ที่มีขวดพลาสติก 3-4 ขวด พร้อมบอกว่าเมื่อสักครู่ขี่รถจักรยานยนต์ออกไปซื้อของนอกหมู่บ้านเห็นขวดพลาสติกถูกทิ้งอยู่ข้างถนนจึงเก็บกลับมา

สมพร  กิ่งมาลา  ผู้เขียน