แหล่งเรียนรู้ : เด็กและเยาวชน

เยาวชน สลัน นะ กัน เตรียง

author

ผู้รับผิดชอบติดต่อประสานงาน : นางรัตนาวรรณ สงวนชื่อ

ที่อยู่ : ตำบาลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000

กิจกรรมเด่น/น่าสนใจ

สลันนะกันเตรียง โรงเรียนบ้านกันเตรียง ตำบลบ้านแร่ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ตำบลบ้านแร่ เป็นหนึ่งในจำนวน 5 ตำบล ของอำเภอเขวาสินรินทร์ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบโล่งใช้เป็นที่ตั้งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยความเป็นชุมชนเกษตรกรรม ตำบลบ้านแร่จึงเผชิญกับสถานการณ์ทางการเกษตรและเศรษฐกิจไม่ได้แตกต่างจากชุมชนเกษตรกรรมอื่นๆ การรุกคืบของเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การสูญเสียการถือครองที่ดิน สภาพความเสื่อมทรุดของผืนดิน สภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการขยายตัวของเมือง สถานการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันให้คนหนุ่มสาว คนวัยกลางคน/ แรงงานเคลื่อนย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำในช่วงฤดูพักนา บ้านกันเตรียง เป็น 1 ในหมู่บ้านของตำบลบ้านแร่ ที่นี่เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก ทุกๆ ปี ช่วงพักนา คนวัยหนุ่มสาว วัยกลางคนจะเข้าเมืองไปทำงานตามโรงงาน เช่น โรงงานน้ำดื่ม โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอเมือง อำเภอปราสาทหรือต่างพื้นที่ ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว สลันนะกันเตรียง จึงประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้ 1.การอบรม วางแผนร่วมกัน คุยออกแบบโครงการ 2.พัฒนาโครงการ 3.อบรมเครื่องมือ ตาราง ไทมไลน์ 4.ลงพื้นที่ ปลูกหม่อน และถ่ายทำ 5.ศึกษา เรียนรู้เรื่องการทอผ้า 6.คนต้นแบบเลิกเหล้า 7.กันตรึม 8.คนต้นแบบเกษตร 9.ถอดบทเรียน ติดต่อ รวบรวมวีดีโอ จากทีมทำงานหรือคณะทำงาน 12 คน เราก็ตั้งต้นด้วยการเปิดรับสมัครเพื่อนๆ นักเรียน จนได้มาจำนวน 20 คน และมีอาสาสมัครอีก 5-6 คน โดยคณะทำงานก็จะมาวางแผนเตรียมการอบรมกัน โดยเราได้ไปลงชุมชนเพื่อค้นหาพื้นที่/ กิจกรรมการเรียนรู้ ที่เราต้องการให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้องค์ความรู้ชุมชนที่ใกล้ตัว และหาง่าย เช่น การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม/ ย้อม กันตรึม เกษตร ฯลฯ และเราได้ไปประสานวิทยากร ประสานงานกับผู้นำชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนรับรู้ จนมาวันจัดอบรม 1 วัน ในช่วงเช้าเน้นจะเน้นศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พอมาช่วงบ่ายเรามีการวางแผนนัดหมายการถ่ายทำ โดยผู้เข้าร่วมทุกคนอยากจะทำหนังสั้น/ ละครสอนใจ 10-15 นาที เกิดการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน มีคนเป็นตากล้อง คนตัดคลิป นักแสดง และคนที่ทำหน้าที่ประสานงานดูแลทั่วไป โดยเนื้อเรื่องของเรา จะเริ่มต้นเล่าจากปัญหาที่มีการตั้งกลุ่มมั่วสุม จากนั้นจึงไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยมีเท่ห์ (นักเรียนที่เป็นคนต้นเรื่อง) สวมบทบาทเป็นตัวเองไปชวนเพื่อนๆ เหล่านี้มาทำกิจกรรม โดยมีทั้งหมด 10 ฉาก และทีมทำงานตัดต่อ 5 ทีม ที่เราใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 5 - 6 เดือน เจอปัญหา เช่น เสียงแทรกที่มาจาก เสียงรถบ้าง เสียงคนคุยกันบ้าง ฯลฯ ขณะที่ชุมชนก็ให้ความร่วมมือ เช่น อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการถ่ายทำ และก็ตั้งตารอดูผลงานของเรา แต่บางคนก็ตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเราทำ ผลลัพธ์/ ความเปลี่ยนแปลง การทำงานเล็กๆ ในครั้งนี้ เป็นทั้งการเรียนรู้ เป็นทั้งโอกาส ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ เด็กมีความรู้ เกิดทักษะในการตัดต่อวีดีโอ มีความเข้าใจเห็นความสำคัญของการสื่อสารเผยแพร่ และมีความรู้เกี่ยวกับชุมชน รวมทั้งเกิดคลิปวีดีโอ 1 เรื่อง ความยาว 10 นาที ที่เด็กๆ ทุกคนเป็นเจ้าของ และลงมือทำทุกขั้นตอน ครบวงจร “ตลอดเวลา 5 - 6 เดือน เราทำงานกันอย่างขันแข็ง เราได้ใช้ทักษะที่เราได้ฝึกอบรม เช่น การทำคลิป ตัดต่อ การใช้ติ๊กต๊อก ฯลฯ เรามีความขยันขึ้นกว่าเดิมจากแต่ก่อนไม่อยากมาโรงเรียน บางคนไม่เคยตัดคลิปเลยก็เกิดทักษะในการตัดคลิป พอได้ลงมือทำเอง เราก็เกิดความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง จากทำงานไม่ค่อยเป็น ก็มีความชำนาญ คล่องแคล่วขึ้นอะไรที่ทำไม่เป็นก็ทำเป็น เช่น ทอผ้า เราเรียนรู้ เข้าใจตั้งแต่การหาใบหม่อน มาเลี้ยงหนอนไหม รอให้หนอนปล่อยไหม เอาไหมไปสาว ตากแห้ง แล้วหาใบไม้มีสีมาย้อมสี เรามีความกล้าคิด กล้าคิด กล้าแสดงออก เพราะมีพื้นที่ที่ปลอดภัยและสนุกด้วยกัน เราได้พูดคุยกันมากขึ้นก็ยิ่งสนิทกันมากขึ้น และการได้ทำโครงการฯ ยังส่งผลทำให้เราได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ อีกหลากหลาย ทั้งกิจกรรมภายในและภายนอกของโรงเรียน นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตัวเราเองแล้ว โครงการฯ ของเรายังทำให้เกิดการลดพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนด้วย เนื่องจากนักเรียนได้มาเจอเพื่อน มีเพื่อน ใช้เวลาทำกิจกรรมสนุกๆ ด้วยกัน ตัวอย่าง แชมป์ ตอนแรกนั้นแชมป์ไม่มาเรียนเลย หากมาโรงเรียนก็จะมานอน แต่พอเข้าร่วมโครงกาฯ ตอนนี้ แชมป์ก็มาเรียน สนใจเรียน และก็เป็นคนตัดต่อคลิปของโครงการฯ” ความประทับใจ “การได้ลงพื้นที่ ได้พูดคุยกับคนในชุมชน การได้ถ่ายทำหนัง ได้เห็นอะไรต่างๆ ได้ทำอะไรที่ไม่ได้ทำ ได้เผยแพร่ความรู้ให้เพื่อน ทำให้ดูแล้วให้เขาทำตาม ได้เจอคนใหม่ๆ ได้มิตรภาพดีๆ เกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น ทั้งเพื่อน และชุมชน” “สิ่งที่เรียนรู้มากที่สุดนั้นอาจไม่ได้จำกัดแค่ในโครงการ แต่การได้ออกพบปะผู้คน เข้าร่วมการอบรม เช่น ตาราง6 ช่อง ตาราง ไทม์ไลน์ ที่ทำให้เห็นไอเดียต่างๆ ได้ความรู้ต่างๆ กิจกรรมWorld café ที่ทำให้ได้เอาไอเดียมาปรับใช้ เช่น เปลี่ยนชื่อโครงการ ฯลฯ” “ตอนนี้ ยังไม่ได้เผยแพร่เป็นทางการ แต่เรามีการอัพเดทกิจกรรมของโครงการฯ โดยเผยแพร่ใน Tiktok พอมีคนมาดู มาแสดงความคิดเห็น เราก็ใจฟู” พี่เลี้ยง “ในฐานะครูที่เป็นพี่เลี้ยง เรามีบทบาทในการแนะนำให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการ และกิจกรรม และช่วยออกแบบงาน เราจะเป็นคนเชื่อมประสานกับหน่วยงานภายใน พาไปประชุม ลงเรียนรู้ชุมชน ชวนคุยปัญหา เฝ้ามองและสนับสนุน ที่เราก็คาดหวังว่า หลังจากที่สลันนะกันเตรียงเผยแพร่ออกไป เด็กๆ จะให้ความสำคัญกับชุมชนของตัวเอง โดยตลอดกระบวนการ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา ที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ใครมีบทบาทหน้าที่อะไรก็ไม่ละเลย รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง หลายคนที่ใช้สารเสพติดก็ลดการใช้สารเสพติดหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม เด็กๆ ได้รู้จักชุมชนมากขึ้น จากที่ไม่เคยใส่ใจองค์ความรู้ชุมชนก็สนใจ แน่นอนว่า ในทุกการทำงานย่อมมีปัญหา ในโครงการฯ ก็มีปัญหาเรื่องการใช้เวลา เช่น เด็กมีงานที่บ้าน ที่ผู้ปกครองให้ช่วยงาน ทำให้เราไปคุยกับผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือในฐานะพี่เลี้ยง เราไม่ได้เต็มที่กับงาน ด้วยมีภาระงานอื่นๆ มากมาย ทั้งๆ ที่เรามองว่า โครงการนี้คืองานพัฒนาตัวเด็กให้ได้แสดงศักยภาพ เพราะในโรงเรียนไม่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมแบบนี้มากนัก และที่สำคัญเด็กๆ ได้เป็นเจ้าของโครงการฯ เองด้วย ขณะที่ตัวเราเอง เราเคยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราตั้งเป้าไว้สูงเกิน เราก็คาดหวังสูงต่อเด็ก ใช้อำนาจเหนือ ปรับใช้เครื่องมือ Coahing, Active Learning เราก็ฟังเด็กมากขึ้น ตอนนี้คือ ยอมรับ เข้าใจ และเปิดโอกาส มั่นใจในตัวเด็ก ให้เด็กได้ทำด้วยตัวเอง” วันนี้ สลันนะ - กันเตรียง เดินทางมาใกล้จะถึงขึ้นตอนสุดท้ายของงานแล้ว ซึ่งคือการเผยแพร่ชิ้นงานหนังสั้น ความยาว 10 นาที เรื่องราวเนื้อหาที่สรรค์สร้างมาจากประสบการณ์ชีวิตจริงๆ ของเด็กๆ บ้านกันเตรียง ระหว่างทางของการลงมือทำปฏิบัติการต่างๆ มากมาย ระหว่างทางของความร่วมมือกันของเด็กๆ และผู้ใหญ่ทั้งครูพี่เลี้ยง วิทยากร และชุมชน ระหว่างทางที่เป็นทั้งโจทย์ท้าทาย และปัญหาอุปสรรค และการเรียนรู้ เติบโตสิ่งที่เป็นข้อค้นพบสำคัญของสลันนะ - กันเตรียง คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งคน ผลผลิตหนังสั้นนั้นๆ อาจไม่ใช่ปลายทาง หากแต่ การเห็นคุณค่าระหว่างทางของกระบวนการทำงาน กระบวนการเรียนรู้ การปรากฏขึ้นของอำนาจเด็ก การหนุนเสริมของผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้กลับแข็งแรงและสำคัญมาก มากยิ่งกว่า สลันนะ กันเตรียง มีเป้าหมายสำคัญให้เด็กๆ รักชุมชน แต่ฐานที่แข็งแรงยิ่งกว่าที่สลันนะกันเตรียงสร้างขึ้นมานั้น กลับคือ การรักตนเอง การรักษากายใจตัวเองให้อยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ภาคภูมิ/ มั่นใจในทักษะ ความสามารถ ตัวตนของตนเอง ที่จะเป็นวัคชีนต้านโรค/ ภัย ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าวัคซีนไหนๆ เสียงของคณะทำงานโครงการสลันนะกันเตรียง ตอกย้ำและยืนยันคุณค่าและความหมายนี้ สลันนะ – กันเตรียง (“ รักนะ กันเตรียง “)

Latitude : 14.95249 Longitude : 103.59540


ภาพถ่ายเล่าเรื่อง :


คลิปวิดีโอเล่าเรื่อง :

แผนที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ :