แหล่งเรียนรู้ : ขยะและสิ่งแวดล้อม

บ้านเมืองน้อย

author

ผู้รับผิดชอบติดต่อประสานงาน : นายเฉลิม สงพิมพ์

ที่อยู่ : บ้านเมืองน้อย ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ

กิจกรรมเด่น/น่าสนใจ

บ้านเมืองน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ระยะห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยทับทันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 8 กิโลเมตร มีครัวเรือนทั้งสิ้น จำนวน 188 หลังคาเรือน มีประชากร 925 คน แยกเป็นชาย 453 คน หญิง 472 คน มีเนื้อที่ประมาณ500-600ไร่ ความกว้างของเนื้อที่ จากทิศเหนือ จรดทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ความยาวของเนื้อที่จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร บ้านเมืองน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือติดบ้านเมืองหลวงหมู่ที่ 1 ทิศใต้ติดบ้านหนองคู ตำบลกล้วยกว้าง ทิศตะวันออกติดเขตตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย ทิศตะวันตกติดบ้านอ้อ หมู่ที่ 7 ห่างจากอำเภอห้วยทับทัน 7 กิโลเมตร มีสถานศึกษา 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเมืองน้อย มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเมืองน้อย เขตบริการของสถานศึกษา 2 แห่ง บริการในพื้นที่หมู่บ้านเมืองน้อย และบ้านอ้อ หมู่ 7 มีวัด 2 แห่ง คือวัดบ้านเมืองน้อย และวัดป่าเมืองน้อย ภาษาพูดใช้เป็นภาษาท้องที่เป็นภาษาเขมร ร้อยละ 95 ภาษาลาวร้อยละ 2.5 และภาษาส่วยร้อยละ 2.5 ประชาชนประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนา อาชีพเสริมเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทอผ้า และรับจ้างทั่วไป มีรายได้เฉลี่ย 35,000 ต่อคน/ต่อปี จากการจัดเวทีประชาคมเพื่อทบทวนปัญหาชุมชน และความไม่อยู่ของชุมชน ผ่านสามเหลี่ยมความไม่น่าอยู่ของชุมชน พบว่า ชุมชนบ้านเมืองน้อย มีลักษณะความไม่น่าอยู่หลายด้าน เช่นในด้านพฤติกรรมของคน ในกลุ่มเยาวชน มีการจับกลุ่มขับรถเสียงดัง ในเวลากลางคืน จับกลุ่มแต่งรถมอเตอร์ไซด์ และมีการจับกลุ่มกินเหล้า ในหมู่บ้าน ในกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน มีความแตกแยกขาดความสามัคคี สาเหตุมาจากการเลือกตั้งในชุมชนทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายกลุ่มก้อน การทิ้งขยะในชุมชนพบว่า มีอยู่โดยทั่วไปในทุกกลุ่มวัย บริเวณที่สาธารณะถนนหนทาง ยังมีขยะอยู่ให้เห็น ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนในชุมชน ในด้านการเกษตรการทำนาของคนในชุมชนมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิต การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่คนในชุมชนปฏิบัติต่อกันมา ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า ชุมชนยังประสบปัญหาปัญหาหนี้สิน ทุกครัวเรือนมีภาระหนี้สิน และมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ขาดอาชีพเสริมภายหลังฤดูกาลทำนา ทั้งนี้เมื่อประชาคมชาวบ้านเมืองน้อย ร่วมกันจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในชุมชน พบว่า มีปัญหาที่สำคัญจัดเรียงลำดับตามความสำคัญดังนี้ ปัญหาขยะในชุมชน ปัญหาขยะ จากการจัดเก็บข้อมูลพบว่า บ้านเมืองน้อยมีครัวเรือนทั้งหมด 188 ครัวเรือน มีครัวเรือนทิ้งขยะทั้งหมด 188 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งที่มาของปัญหาขยะในหมู่บ้านเมืองน้อย นั้นเป็นขยะที่มาจากครัวเรือน จำแนกประเภทขยะ ดังนี้ ขวดแก้วพลาสติก มีจำนวน 532 กิโลกรัมต่อเดือน ประเภทกระดาษ,ลัง 226 กิโลกรัมต่อเดือน ประเภทถุงพลาสติก จำนวน 170 กิโลกรัมต่อเดือน ประเภท เหล็ก โลหะ กระป๋อง และสังกะสี จำนวน 377 กิโลกรัม ต่อเดือน ในส่วนขยะเปียกในชุมชนบ้านเมืองน้อย พบว่าขยะเปียก จำพวกเศษอาหาร และมูลสัตว์ จำนวน 1,316 กิโลกรัม จากการจัดเวทีสนทนากลุ่มย่อยในชุมชน พบว่า ชุมชนบ้านเมืองน้อย ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถจำแนกผลกระทบปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนดังนี้ (2)ปัญหาการสูบบุหรี่ในชุมชน จากการจัดเก็บข้อมูล คนสูบบุหรี่ในบ้านเมืองน้อย พบว่ามีคนสูบบุหรี่ จำนวน 76 คน ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนวัยรุ่น และวัยทำงาน ชนิดของบุหรี่ที่สูบ มีทั้งบุหรี่ ก้นกรองที่จำหน่ายตามร้านทั่วไป และบุหรี่แบบยาเส้นที่ซื้อตามร้านมา พันยาสูบเอง จากการจัดเวทีประชาคมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาการสูบบุหรี่ พบว่า สาเหตุของการสูบบุหรี่ นั้นมาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ นั้นส่วนมากอยากลองสูบ บุหรี่ คิดว่าสูบบุหรี่แล้วมีความเท่ห์ เพราะมีกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ ในส่วนคนวัยทำงาน ส่วนมากที่สูบบุหรี่ เนื่องจาก ชุมชนในอดีตให้การยอมรับคนสูบบุหรี่ เป็นค่านิยมของชุมชนว่า เป็นชายแท้ต้องสูบบุหรี่ ในด้านสภาพแวดล้อมทางสังคมนับเป็นปัจจัยกำหนด เช่น เห็นคนในครอบครัวสูบบุหรี่ จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ นอกจากนั้น ในบ้านเมืองน้อยยังมีวัฒนธรรมชุมชนที่ส่งเสริมการสูบบุหรี่ เช่นมอบบุหรี่ จัดเตรียมบุหรี่ ให้สูบในงานบุญงานประเพณีของชุมชน ร้านค้าในชุมชนจำนวน 12 ร้าน ก็เปิดขายบุหรี่ทำให้การซื้อบุหรี่เป็นเรื่องง่าย หาซื้อได้ง่าย คนในชุมชนเองยังขาดมาตรการทางสังคมในการกำหนดกติกาชุมชน ในการจัดการหรือดูแล ในปัญหาด้านนี้ ปัญหาดื่มสุรา(เหล้า)ในชุมชน จากการวิเคราะห์แผนผังต้นไม้ปัญหา กรณีปัญหาการดื่มเหล้า พบว่าในหมู่บ้านเมืองน้อยมีคนดื่มสุราทั้งสิ้นจำนวน 31 คน ด้านพฤติกรรมของคน พบว่า มีนิสัยชอบอ้างว่าตนเครียดจากการตกงาน ปัญหาครอบครัว รายได้น้อย อ้างว่ากินเพื่อเจริญอาหาร (แนวคิด) การอยากลองอยากรู้ในวัยรุ่น พฤติกรรมการเรียนแบบและคนในชุมชน ขาดการตระหนักในโทษและพิษภัยของสุรา ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ที่เป็นปัจจัยเอื้อ คือมีร้านค้าขายสุราโดยทั่วไปในชุมชน จำนวน 12 ร้าน สามารถหาซื้อได้ง่ายไม่เลือกเวลา สิ่งแวดล้อมทางสังคม ในชุมชนมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆที่ มีการกินเหล้า เช่นงานบุญบั้งไฟ งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ นอกจากนั้น การกินเหล้าในเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้นปัญหา ขับรถเสียงดังในกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่นในบ้านเมืองน้อย จะนิยมจับกลุ่มกัน เป็นกลุ่มก้อน ตามความสนใจ ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีทั้งการจับกลุ่ม ในการกินเหล้า ในชุมชนในยามวิกาลบ้าง กลุ่มรถแต่ง หรือพวกที่ชื่นชอบในการขับขี่มอเตอร์ไซด์ ก็จะ มารวมตัวกันแต่งรถมอเตอร์ไซด์ และดัดแปลงรถมอเตอร์ไซด์ ให้มีความสวยงาม และดัดแปลงท่อไอเสีย ให้มีเสียงดัง ขับขี่รถเสียงดัง รบกวนคนในชุมชน เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา พบว่า เป็นพฤติกรรมของวัยรุ่น ที่ต้องการเข้ากลุ่มเพื่อน ต้องการแข่งขันกัน เพื่อให้ได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน และเป็นการเรียกร้องความสนใจ อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ปกครองตามใจเด็ก ทำให้เด็กได้ใจ ในด้านระบบพบว่า บ้านเมืองน้อย ยังขาดความสนใจในการแก้ไขปัญหาเยาวชนอย่างจริงจัง และในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายยังขาดการกวดขัน การกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด ผลกระทบจากการขับขี่รถเสียดังของเยาวชน ทำให้เกิดเสียงดังรบกวน คนในชุมชน และในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มเยาวชนที่ขับรถเสียงดังด้วยความเร็ว ประสบปัญหาอุบัติเหตุ จำนวน 8 ราย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเสียเวลาในการประกอบอาชีพ ปัญหาการใช้สารเคมีในการทำนา การใช้สารเคมีในการทำนา เป็นปัญหาที่สำคัญของบ้านเมืองน้อย จากการจัดเก็บข้อมูลพบว่า บ้านเมืองน้อย ใช้สารเคมีในการทำนา 180 ครัวเรือน แบ่งเป็นใช้ปุ๋ยเคมี จำนวน 180 ครัวเรือน ใช้หญ้าคุมหญ้า 170 ครัวเรือนใช้ยาฆ่าหญ้า 150 ครัวเรือน สาเหตุเนื่องจากพฤติกรรมของคนในชุมชน ที่มีความเชื่อว่าใช้ปุ๋ยเคมีแล้วให้ผลผลิตที่ดี เร่งผลผลิตได้เร็ว และนอกจากนั้น ยังพบว่าในชุมชนยังขาดความรู้ในการทำการเกษตรทางเลือก ไม่มีความรู้การทำเกษตรแบบอื่นๆ นอกจากแบบสารเคมี เพราะถูกทำให้เชื่อมายาวนานผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อต่าง ๆ และคนในชุมชนส่วนมากทำนาแบบใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีซื้อหาได้ง่ายตามท้องตลาด และมีหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการใช้สารเคมีสามารถใช้บัตรเครดิต เป็นสินเชื่อซื้อปุ๋ยเคมีได้ง่าย ดังนั้น ชุมชนนี้จึงใช้ปุ๋ยเคมีมาอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพ ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยด้วยโรคฉี่หนู จำนวน 4 ราย มือเท้าเปื่อย จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ในด้านสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดสภาพดินที่เสื่อมโทรมเพราะใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนาน ระบบนิเวศน้ำในแม่น้ำลำคลอง มีสารพิษตกค้าง ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการปัญหาชุมชนโดยชุมชนเอง เมื่อชุมชนทบทวนปัญหาของชุมชนตนเอง อย่างชัดเจน และมีการจัดเก็บข้อมูลชุมชนมาประกอบปัญหาดังกล่าวแล้วจึงได้มีการ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และความเร่งด่วนของปัญหา และนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาโครงการ ขับเคลื่อนงาน โครงการที่ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การดูและของชุดโครงการ ชุมชนน่าอยู่ที่มีสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยชุมชนบ้านเมืองน้อย ได้ดำเนินการ ขับเคลื่อนโครงการโดยการจัดรูปองค์กรชุมชน ที่เรียกว่า สภาผู้นำชุมชน หมายถึง ที่รวมกันของคนในชุมชน ที่มีความปรารถนาร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกันอยากเห็น เริ่มต้นจากการที่พัฒนาชุมชนได้เข้ามาให้ความรู้ถึงลักษณะของโครงการและให้ผู้ใหญ่บ้านได้เรียกชาวบ้านได้ประชุมประชาคมรับฟังลักษณะของโครงการรวมถึงวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาของชุมชนที่ประสบในตอนนี้เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข ชาวบ้านได้มีมติเห็นชอบและพร้อมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนำแกนนำชุมชน จำนวน ๓ คนเข้าร่วมศึกษาดูงานที่ บ้านสำโรง ตำบลท่าสว่าง อำเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และได้ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เป็นระบบในแบบของสภาผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชนโดยท่านผู้ใหญ่ได้แนะนำว่าอยากให้มีทุกภาคส่วนที่เป็นกลุ่มกิจกรรมในชุมชนเข้ามาผลักดันระบบของสภา ในโครงสร้างของหมู่บ้านมีกลุ่มต่างๆหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มทอผาไหมย้อมมะเกลือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มโค-กระบือ กลุ่มสัมมาชีพ กลุ่มจักสาน กลุ่มธนาคารข้าว กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มรำผีฟ้าปราชญ์ชาวบ้าน หมอดิน โครงสร้างตามตำแหน่ง เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สอบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ชรบ. และได้เชิญหน่วยงานที่มีในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนในการผลักดันด้วยคือ วัด โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้จำนวนสมาชิกที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบสภาผู้นำจำนวน 55 คน ได้โครงสร้างระบบสภาผู้นำชุมชนที่พร้อมทำงาน ในปีที่ผ่านมาด้วยระบบสภาเป็นระบบที่ยังใหม่มากสำหรับชุมชนบ้านเมืองน้อยทำให้สมาชิกสภายังไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่เท่าที่ควร การทำงานเป็นไปแบบติดขัดแต่สมาชิกทุกท่านก็ช่วยกันผลักดันให้สภาเข้มแข็ง โดยจุดแข็ง-จุดอ่อน ดังนี้จุดแข็งของสภาผู้นำชุมชนบ้านเมืองน้อย สภาผู้นำชุมชนบ้านเมืองน้อย ได้ก่อตัวขึ้นมาบนพื้นฐานจากการมีความสามัคคี มีความเข้าใจร่วมมือทำกิจกรรมมีการแลกเปลี่ยนแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์สภาผู้นำชุมชนมีจำนวนสมาชิกสภาเพิ่มจาก 55 คน 67 คน ซึ่งสภาผู้นำชุมชนบ้านเมืองน้อยสามารถขับเคลื่อนแผนงาน โครงการได้ตามกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงในชุมชน จากการทำงานในระยะ ๒ ปีที่ผ่านมา ชุมชนบ้านเมืองน้อย ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง และเกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนที่สำคัญ ในประเด็นการจัดการขยะในชุมชน พบว่า หมู่บ้านเมืองน้อย มีการดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดการขยะในชุมชนบ้านเมืองน้อย เกิดการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน อย่างสูงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในงานชุมชน นับตั้งแต่การเกิดความรู้และความตระหนักในปัญหาขยะ มีการร่วมกันกำหนดกติกาชุมชนในการจัดการและแก้ไขปัญหาชุมชน และปัญหาขยะในชุมชน ในด้านจัดการขยะบ้านเมืองน้อย เน้นการใช้พลังของสถาบันสำคัญในชมชน คือบ้าน วัด โรงเรียน เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความตระหนักในการจัดการขยะในชุมชน และในระดับหมู่บ้าน ยังมีการพัฒนาระบบกลไกคุ้มบ้าน โดยให้แต่ละคุ้มมีระบบการบริหารจัดการคุ้ม และใช้คุ้มเข้าไปกระตุ้นให้ครัวเรือนมีการจัดการขยะ ดูแลจัดการปัญหาขยะทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ โดยใช้การประกวดคุ้มเป็นเครื่องมือหนึ่งในการ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน จัดการขยะในชุมชน ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ ปริมาณขยะในชุมชนลดลง ตามรายละเอียดดังนี้ ปัญหาขยะ จากการจัดเก็บข้อมูลพบว่า บ้านเมืองน้อยมีครัวเรือนทั้งหมด 188 ครัวเรือน มีครัวเรือนทิ้งขยะทั้งหมด 188 ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 100 หลังจากการดำเนินงานมีครัวเรือนคัดแยกขยะ ๑๘๘ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๑๐๐ ซึ่งที่มาของปัญหาขยะในหมู่บ้านเมืองน้อย นั้นเป็นขยะที่มาจากครัวเรือน จำแนกประเภทขยะ ดังนี้ ขวดแก้วพลาสติก มีจำนวน 532 กิโลกรัมต่อเดือน ลดลงเหลือ ๒๗๒ กิโลกรัมต่อเดือน ประเภทกระดาษ,ลัง 226 กิโลกรัมต่อเดือน ลดลงเหลือ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อเดือน ประเภทถุงพลาสติก จำนวน170 กิโลกรัมต่อเดือน ลดเหลือ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อเดือน ประเภท เหล็ก โลหะ กระป๋อง และสังกะสี จำนวน 377 กิโลกรัม ต่อเดือน มีการจัดการและไม่มีขยะประเภทนี้ในชุมชน ในส่วนขยะเปียกในชุมชนบ้านเมืองน้อย พบว่าขยะเปียก จำพวกเศษอาหาร และมูลสัตว์ จำนวน 1,316 กิโลกรัม ต่อเดือน มีการส่งเสริมให้ครัวเรือนมีการจัดการขยะเปียกในชุมชน ในครัวเรือน เป็นปุ๋ยหมัก สารหมักชีวภาพ ในด้านการลดพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน พบว่า ฐานข้อมูล เด็กเยาวชน ที่มีปัญหาตามรายละเอียดดังนี้ เด็กติดเกมส์ จำนวน ๓๐ คน ขับรถเสียงดังก่อกวน จำนวน 12 คนเด็กอ้วน หรือมีปัญหาสุขภาพ จำนวน 13 คน ทะเลาะวิวาท จำนวน 5 คน ในปัจจุบัน เด็กและเยาวชนมีความรู้ความตระหนัก ในพฤติกรรมเสี่ยง เด็กเยาวชนบ้านเมืองน้อย มาจากเด็กในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน จำนวน 70 คนเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนักในปัญหาเยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งจากการขับขี่รถเสี่ยงดัง การจับกลุ่มทะเลาะวิวาท และการติดเกมส์ ติดโทรศัพท์ และปัญหายาเสพติดได้มาเรียนรู้ และรับรู้ปัญหาร่วมกันของคนในชุมชน เพื่อกำหนดเป้าหมายในการหาทางออกร่วมกัน ในส่วนของ ผู้ปกครองและเด็กเยาวชน ร่วมกันกำหนดกติกาครอบครัวลดปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในเยาวชน เกิดการจัดค่ายครอบครัวที่ผู้ปกครอง และเด็กเยาวชน ได้เข้ามา เข้าค่ายพูดคุยปรับทัศคติและความคาดหวังร่วมกันระหว่าง เด็กเยาวชน และผู้ปกครอง ให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน เด็กและเยาวชนปฏิบัติตามกติกาครอบครัว และกติกากลุ่มเยาวชน มีการจัดตั้งกลุ่มเยาวชนบ้านเมืองน้อยขึ้นมา มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 70 คน โดยมีการพูดคุยเรื่องโครงสร้างกลุ่มเยาวชน มีคณะกรรมการกลุ่มเยาวชน จำนวน 15 คน โดยมีกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรม และกำหนดแผนงาน ตามความถนัดและความสนใจ ของเยาวชน เช่น กลุ่มดนตรี นาฎศิลป์ มีกิจกรรมในการ ส่งเสริมให้เด็กรวมกลุ่มกันแสดงความสามารถ ด้านดนตรี มีการจับกลุ่มร้องเพลงซ้อมร้องเพลง และนำเสนอผลงานผ่านช่องทาง ยูทูป กลุ่มกิจกรรมเลี้ยงปลา มีการจัดกิจกรรมการเลี้ยงปลา โดยให้สามาชิกที่สนใจร่วมกันจับกลุ่มไปบริหารจัดการด้านอาชีพเลี้ยงปลาร่วมกัน โดยมีการเลี้ยงปลาดุกบ่อพลาสติก หมุนเวียนเลี้ยงให้เกิดการสร้างรายได้ และจัดแบ่งเวรในการดูแลเลี้ยงปลาของกลุ่มเยาวชน กลุ่มเยาวชนจิตอาสาบ้านเมืองน้อย เยาวชนกลุ่มนี้ รวบรวมกันทำหน้าที่ สนับสนุนงานของชุมชน ทุกๆกิจกรรม โดยเข้าร่วมการทำงานในชุมชน ในทุกๆ เรื่องเท่าที่เยาวชน จะสามารถทำได้ เช่น การช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชนตามประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน เช่น งานเข้าพรรษา ออกพรรษา งานบุญเผวดเทศมหาชาติ ซึ่งกลุ่มเยาวชน มีบทบาทในด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ร่วมกับผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน งานศพในหมู่บ้านกลุ่มเยาวชน จะเข้าช่วยเหลือในกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ในงาน เป็นต้น กลุ่มกิจกรรมเลี้ยงไก่/เป็ด ปลูกผัก กีฬา และปักแซวเสื้อผ้าไหมย้อมมะเกลือ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้รับ สนับสนุนการดำเนินการจากสภาผู้นำชุมชน ในการประสานงบประมาณ จากภายนอกมาสนับสนุน งานของชุมชน โดยเวทีเรียนรู้และสะท้อนผลลัพธ์การทำงาน กลุ่มเด็กเยาวชนบ้านเมืองน้อย มีการกำหนดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน และวางแผนการทำงาน ในทุกๆ วันศุกร์ เพื่อปรับแผนการทำงาน และเตรียมการนำเสนอผลงานของกลุ่มเยาวชน ให้ชุมชนได้ทราบผลการทำงานของกลุ่มเด็กเยาวชน ผ่านเวทีลานวัฒนธรรมบ้านเมืองน้อย

Latitude : 15.010937811007 Longitude : 15.010937811008


ภาพถ่ายเล่าเรื่อง :


คลิปวิดีโอเล่าเรื่อง :

แผนที่ตั้งแหล่งเรียนรู้ :