post-image

การจัดการขยะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

การจัดการขยะเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

เขียนโดย คณะทำงานถอดบทเรียน : ปวีณา ลิมปิทีปราการ จีราพร ทิพย์พิลา วินัย วงศ์อาสา และ สงกา สามารถ

 

ตำบลขามป้อม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีพื้นที่บริเวณที่สามารถจัดการขยะเศษอาหารด้วยการทำถังอินทรีย์ก้นรั่ว หรือ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ขนาดของครัวเรือนอยู่ประมาณ 70 ถึง 300 ครัวเรือน อาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นอาชีพทำการเกษตร เป็นชุมชนที่มีการบริการจัดเก็บขยะจากครัวเรือน มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ทีมอสม. ที่เข้มแข็ง มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน มีจำนวน 17 หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 9,550 คน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 3,156 ครัวเรือน มีองค์กรหรือหน่วยงานในตำบล ได้แก่ โรงเรียนจำนวน 4 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง วัด 2 แห่งและที่พักสงฆ์ 6 แห่ง รวม 18 แห่ง รพ.สต.จำนวน 2 แห่ง และมีตลาดนัด 4 แห่ง แต่ไม่มีตลาดสด และสำนักงานเทศบาลจำนวน 1 แห่ง รวมจำนวนองค์กรและหน่วยงานในตำบลทั้งหมด 21 แห่ง จุดเสี่ยงที่พบในการทิ้งขยะไม่ถูกวิธี จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณใกล้วัดป่า จุดที่ 2 บริเวณใกล้สำนักงานเทศบาล และจุดที่ 3 บริเวณใกล้บ่อฝังกลบหมู่ที่ 3  จากการสำรวจปัญหาขยะในชุมชนเทศบาลตำบลขามป้อม พบว่าใน17 ชุมชนมีปริมาณขยะเฉลี่ย 3,567 ตันต่อปี หรือ 297.25 ตันต่อเดือน หรือคิดเป็น 9.9 ตันต่อวัน ประเภทขยะที่พบมากคือ ขยะทั่วไป  ในแต่ละเดือนเทศบาลตำบลขามป้อมได้ใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 34,360 บาทต่อเดือน หรือจำนวน 412,320 บาทต่อปี เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาเก็บขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลขามป้อม นับเป็นปัญหาหนักของเทศบาลตำบลขามป้อมในการบริหารจัดการขยะเหล่านั้น

จากสถานการณ์ปริมาณขยะตำบลขามป้อม ทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในหลายด้าน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะของโรคเนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับขยะมูลฝอยมีโอกาสที่จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นได้ ก่อให้เกิดความรำคาญขยะมูลฝอย การเก็บรวบรวมได้ไม่หมดก็จะเกิดเป็นกลิ่นรบกวน กระจายอยู่ทั่วไปในชุมชน อีกทั้งมีทัศนะวิสัยที่ไม่น่ามอง ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมขยะมูลฝอยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษของน้ำ มลพิษของดิน และมลพิษของอากาศ เนื่องจากขยะส่วนที่ขาดการเก็บรวบรวม หรือไม่นำมากำจัดให้ถูกวิธี ปล่อยทิ้งค้างไว้ในพื้นที่ของชุมชน เมื่อมีฝนตกลงมาจะไหลชะล้างนำสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค และสารพิษจากขยะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการขยะ  ขยะมูลฝอยปริมาณมาก ๆ ย่อมต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดการเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละเดือนเทศบาลตำบลขามป้อมได้ใช้จ่ายงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ คิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 34,360 บาทต่อเดือน หรือจำนวน 412,320 บาทต่อปี

  อนึ่ง เทศบาลตำบลขามป้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ การจัดหาถังขยะใส่ขยะอันตรายทุกชุมชน การจัดหารถขนขยะจำนวน 1 คัน คนงานเก็บขยะจำนวน 3 คน เก็บทุกวันจันทร์ อังคาร พุธและพฤหัสบดี และมีที่ฝังกลบขยะพื้นที่จำนวน 3 ไร่  รวมทั้งได้มีการจัดหาถังคัดแยกขยะในหน่วยงานราชการ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และในชุมชน พร้อมทั้งยังมีการส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนโดยเริ่มต้นที่ ครัวเรือน อสม.ก่อน การส่งเสริมให้ อสม.จัดการขยะอินทรีย์โดยการทำถังหมักขยะอินทรีย์ ขณะนี้ได้ 108 ถังหรือ 108 ครัวเรือน ต่อเนื่องด้วยในปี 2563 เทศบาลตำบลขามป้อม ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดทำธรรมนูญประชาชนตำบลขามป้อม เรื่องการจัดการขยะในชุมชน ได้ระบุในธรรมนูญประชาชนตำบลขามป้อม ร่วมกันส่งเสริมความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน การลดขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการขยะอันตรายให้กับชุมชนในตำบลขามป้อม เช่น (1) ให้ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยขยะเปียกกำจัดโดยวิธีฝังกลบ ขยะแห้งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้ขายกับธนาคารขยะของชุมชน (2) ให้ทุกครัวเรือนดูแลจัดการความสะอาดหน้าบ้านของตนเองให้สะอาดเรียบร้อย (3) เทศบาลสนับสนุนป้าย “ห้ามทิ้งขยะ”ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ริมถนน คอสะพาน หัวไร่ปลายนา หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ให้ชุมชนแจ้งเบาะแสกับผู้นำชุมชน หรือ คณะกรรมการธรรมนูญตำบลในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อดำเนินการปรับรายละ 500 บาท และนำเงินค่าปรับเข้าสู่กองทุนธนาคารขยะของชุมชน (4) ให้เทศบาลตำบลขามป้อม จัดหาภาชนะสำหรับใส่ขยะที่เป็นพิษหรือขยะอันตราย คุ้มละ 1 จุด และประสานหน่วยงานที่จัดเก็บขยะอันตราย เพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เป็นต้น

จากการขับเคลื่อนการจัดการขยะตำบลขามป้อม ได้มีการข้อเสนอเพื่อให้มีการจัดตั้งคณะทำงานแบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมในการดำเนินงานจัดการขยะในพื้นที่ตำบลขามป้อม ได้แก่ เทศบาลตำบลขามป้อม รพ.สต.ตำบลขามป้อม โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบล อสม. และผู้นำชุมชน เป็นต้น โดยมีแผนการดำเนินงานที่มีความชัดเจน และการเก็บข้อมูลในการประเมินผลสู่การเปลี่ยนแปลง มีการสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้กับชุมชน โดยการอบรมพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ในการคัดแยกขยะในครัวเรือน การบูรณาการในพื้นที่หน่วยงาน/องค์กรในชุมชนเกิดการคัดแยกขยะ การแปรรูปขยะให้เกิดรายได้ การนำขยะไปใช้ประโยชน์โดยการทำถังหมักขยะอินทรีย์ การทำเสวียงกำจัดใบไม้ และการรณรงค์ผ่านกิจกรรม ผ่านหอกระจายข่าวในชุมชน และการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกให้ใช้ถุงผ้าแทน การขยายผลครัวเรือนต้นแบบ โดย อสม. ผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่าง จากต้นแบบ 108 ครัวเรือนให้ขยายมากขึ้น การสร้างพฤติกรรมการลดขยะในโรงเรียน การจัดตั้งศูนย์จัดการขยะในชุมชน โดยเป็นจุดรับ-ขายขยะ เป็นสถานที่แปรรูปขยะ เป็นแหล่งให้ความรู้ในการจัดการขยะ  และการวางกฎกติการ่วมกันของคนในชุมชนให้มีการคัดแยกขยะ และการติดตามการจัดการขยะแต่ละหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปธรรมคือการลดปริมาณขยะของชุมชน โดยรวมลดลง จากผลการสำรวจข้อมูล และจัดเก็บข้อมูล และสถานการณ์การจัดการขยะของตำบลขามป้อม มีปริมาณขยะลดลงจากเดือนกันยายน 2564 ก่อนเริ่มโครงการฯ ปริมาณขยะอยู่ที่ 297 ตัน/เดือน ในเดือนมกราคม 2565 ลดเหลือ 120.76 ตัน/เดือน คิดเป็นปริมาณขยะลดลง ร้อยละ 40.66 และรอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงร้อยละ 62.73 และรอบเดือนมีนาคม 2565 ลดลงร้อยละ 78.54 มีครัวเรือนต้นแบบจาก 10 หมู่บ้าน ๆ ละ 1 ครัวเรือน โดยต้องผ่านเกณฑ์ 6 ตัวชี้วัด และจะมีการขยายผลสู่บ้านของผู้นำชุมชน อสม. ด้วยการใช้กลไกที่ง่าย ๆ จากการแบ่งสีของบ้านเป็นสีเขียว และสีแดง สีเขียว คือ บ้านเข้าร่วมโครงการแล้วขยะลดลง สีแดง คือบ้านที่เข้าร่วมโครงการแต่ขยะยังไม่ลด ต้องมีการเข้าไปเคาะประตูบ้านซ้ำ และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตมองว่าควรมีแนวทางในการลงโทษโดยใช้กติกาทางสังคมกับกลุ่มบ้านที่เป็นสีแดง เพื่อเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้ลดปริมาณขยะที่ต้นทางจากครัวเรือน มีกิจกรรมส่งเสริมความสะอาดมากขึ้นจากกิจกรรม Big cleaning Day ที่เป็นนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนน่าอยู่” มีการพัฒนาจุด check in ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อทำให้เป็นแลนมาร์คของการคัดแยกขยะ และสามารถต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบล ประชาชนในหมู่บ้าน เห็นถึงความสำคัญของการคัดแยก การช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมของชุมชนให้น่าอยู่น่าอาศัย ใครผ่านไปมาก็รู้สึกชื่นชมในความสะอาดภายในหมู่บ้าน จากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน มีการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกำจัดขยะในร่างกายด้วยการออกกำลังกายโดยการรำและเต้นประกอบเพลง มีการส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านทำกิจกรรมนี้ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันร่วมกับทาง รพสต.ขามป้อม ดังภาพด้านล่าง

ส่วนกลไกการทำงาน ได้แบ่งโครงสร้างของกลไกออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับคณะทำงานหลักระดับตำบล ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีตำบลขามป้อม รองนายกเทศมนตรีตำบลขามป้อม รองปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนักปลัด กำนันตำบลขามป้อม ผู้อำนวยการส่งเสริมสุขภาพตำบลขามป้อม ผู้ใหญ่บ้านขามป้อม หมู่ที่ 1-17 หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ พยาบาลวิชาชีพชำนาญ เลขานุการสภาเทศบาลฯ การเงินและบัญชี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการผู้ช่วยนักวิชาการสุขาภิบาล และระดับคณะทำงานย่อยระดับหมู่บ้าน การแบ่งกลไกโครงสร้างเป็น 2 ระดับ ทำให้มีงานระดับพื้นที่และงานระดับนโยบายที่จะคอยติดตามและผลักดัน หากกิจกรรมการลดปริมาณขยะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยทีมคณะทำงานหลักจะเน้นเรื่องการติดตามข้อมูล และทำการสั่งการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมและแก้ไขปัญหา ส่วนคณะทำงานย่อยระดับหมู่บ้านจะเป็นทีมที่ลงทำงานจริงในพื้นที่ รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี   ที่ มีการออกแบบการเก็บข้อมูลโดยใช้พนักงานเก็บขนขยะเป็นผู้ชั่งปริมาณขยะจากแต่ละบ้านในพื้นที่ในขณะที่มีการลงไปเก็บขยะ ซึ่งพนักงานเก็บขนจะสามารถประเมินเบื้องต้นในบ้านที่เป็นสีแดง จากปริมาณขยะที่ไม่ลดลง เมื่อเทียบกับฐานข้อมูลที่เก็บในครั้งแรกก่อนเริ่มดำเนินการ โดยบ้านที่เป็นสีเขียวต้องมีปริมาณขยะลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับก่อนดำเนินโครงการ ทำการประเมินติดตามทุกอาทิตย์ เน้นการคัดแยกขยะอินทรีย์ออกไปใช้ประโยชน์ด้วยการหมักทำปุ๋ย หรือทำน้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการนำไปเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่จะปนเปื้อนมาในขยะทั่วไป กิจกรรมหลักคือทีมคณะทำงานในระดับพื้นที่ คือ อสม. จะลงไปเคาะประตูแต่ละบ้าน และสื่อสารเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะ และลดปริมาณขยะลง โดยเฉพาะบ้านที่มีสีแดง จะมีการลงเคาะประตูซ้ำเพื่อสื่อสารอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเปลี่ยนเป็นบ้านสีเขียว คือมีปริมาณขยะที่นำมาทิ้งเป็นขยะทั่วไปลดลง โดยมี 1 หมู่บ้านที่ตั้งเป็นกองทุนรับซื้อขยะขึ้น เพื่อรับซื้อขยะรีไซเคิลที่ประชาชนในหมู่บ้านคัดแยก การสื่อสารของทีมคณะทำงานย่อยกับประชาชนก็อาศัยการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายร่วมด้วย รวมถึงการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ไลน์กลุ่ม เป็นต้น สำหรับบ้านที่เป็นสีเขียวก็มีการส่งเสริมให้ต่อยอดเป็นครัวเรือนต้นแบบ ซึ่งปัจจุบันได้มีครัวเรือนต้นแบบจำนวนหมู่บ้านละ  1 แห่ง และมีแผนที่จะขยายผลให้เพิ่มครัวเรือนต้นแบบในบ้านของผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และทีม อสม. ทั้งหมด ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการคัดแยกขยะ ให้เป็นครัวเรือนต้นแบบต่อไป

ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่กลไกคณะทำงาน ที่ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ทีมอสม. ที่มีความเข้มแข็ง เสียสละ ประสานงานเก่ง อดทน และมีจิตอาสา มีความรับผิดชอบของผู้นำชุมชน มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน การนำความอ่อนโยนนำมาสู่การแก้ไขปัญหา การใช้กิจกรรมเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน มาสร้างให้เกิดความรักสามัคคีกันในการทำงานร่วมกัน

******************************************