post-image

“หนองวิไล” หมู่บ้านต้นแบบด้านการจัดการขยะสู่การขยายผล

ชุมชนหนอวิไลเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลเขมราฐ ซึ่งเทศบาลตำบลเขมราฐมีประชากรทั้งหมด 6,279 คน มีครัวเรือน 2,256 หลังคาเรือน มีพื้นที่ประมาณ 7.7 ตารางกิโลเมตร ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่  หมู่ที่ 1 บ้านเหนือเขมราฐ หมู่ที่ 7 บ้านกงพะเนียง หมู่ที่ 8 บ้านโนนนารี หมู่ที่ 11 บ้านหนองวิไล หมู่ที่ 22 บ้านแสนสุข พร้อมทั้งมีการแบ่งพื้นที่ในการดูแลออกเป็น 8 ชุมชน ได้แก่ 1) ชุมชนบ้านเหนือ 2) ชุมชนหลังหมวดการทาง 3) ชุมชนแสนสุข 4) ชุมชนกงพะเนียง 5)ชุมชนโนนนารี 6) ชุมชนเทพนิมิต 7) ชุมชนหนองวิไล 8) ชุมชนโนนสังข์พัฒนา มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีประมาณ 6 ตัน/วัน โดยปริมาณขยะที่ผลิตอยู่ที่เฉลี่ย 0.56 กก./คน/วัน  ประมาณ 2,190 ตัน/ปี

ตำบลเขมราฐเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และมีการตั้งโรงแรม ตลาด ถนนคนเดินจึงทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น ทำให้ขยะล้นถัง การบริหารจัดการมีปัญหา จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการเรื่องของการจัดการขยะ โดยทางเทศบาลตำบลเขมราฐเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน แล้วขอความร่วมมือจากทางผู้ประกอบการ ร้านค้า วัด รพ.สต. โรงเรียน ชุมชน ฯลฯ เพื่อจัดการขยะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย

พันตำรวจโทสุรชัย เทศวงศ์ ประธานสภาเทศบาลตำบลเขมราฐ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในพื้นที่ เล่าว่า ในการจัดการขยะเริ่มต้นด้วยการสร้างคนก่อน เริ่มจากกลไกการทำงานโดยมีหัวหน้าคุ้ม, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ผู้สูงอายุ/ผู้อาวุโส/จิตอาสา และประธานชุมชน ซึ่งมีการขยายไปให้ครอบคลุมในทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านเหนือ หมู่ที่ 7 บ้านกงพะเนียง/เขมราฐ หมู่ที่ 8 บ้านโนนนารี หมู่ที่ 22 บ้านแสนสุข จนเกิดกลไกระดับชุมชนๆละ อย่างน้อย 12 คน ที่ประกอบไปด้วย เทศบาล, สภาเทศบาล, ผู้นำชุมชน, ตัวแทนชุมชน เป็นต้น เกิดกรรมการคุ้ม/ อสม. ทั้ง 6 คุ้ม ที่คอยติดตาม/ประเมินครัวเรือนในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี

จากการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้ในหลายรูปแบบ คือ ความรู้การจัดการขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตรายและขยะทั่วไป เป็นต้น ชุมชนมีการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน โดยช่วยกันใช้ถุงผ้าไปจับจ่ายที่ตลาด มีร้านค้าในชุมชนเข้าร่วมโครงการในการลดขยะโดยไม่ใส่ถุงพลาสติก ลดการใช้โฟมโดยร้านค้าปลอดโฟม และการสร้างแรงจูงใจโดยการให้ลูกค้าซื้อของครบ 200 บาท ร้านค้าจะมีแจกถุงผ้าให้ เกิดมาตรการและมีการกำหนดเป้าหมายร่วม ซึ่งหมู่บ้านต้องเข้มแข็งจัดการขยะเองได้ ครัวเรือนทุกครัวเรือนมีการจัดการขยะในบ้าน มีการคัดแยกขยะทั้ง 4 ประเภท และเป็นสมาชิกธนาคารขยะ  โดยหากใครไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษ เช่น ไม่ให้กู้ยืมเงิน ไม่ให้ยืมของ เป็นต้น เกิดข้อเสนอเข้าสู่เทศบาลเป็นเทศบัญญัติร่วมกัน เกิดครัวเรือนคัดแยก 656 ครัวเรือน จาก 1,911ครัวเรือนคิดเป็น 34.33% เกิดครัวเรือนต้นแบบ 56 ครัวเรือน โดยมีเงื่อนไขหรือเกณฑ์วัดครัวเรือนต้นแบบ 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ หน้าบ้าน-ในบ้านสะอาด ครัวเรือนคัดแยกขยะ หน้าบ้านสวยหลังบ้านสวน ปลอดลูกน้ำยุงลาย มีถังขยะเปียก และมีธนาคารใบไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ได้นำขยะมาสร้างมูลค่าด้วยการจัดทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เช่น ดอกไม้แจกัน โมบาย เก้าอี้จากล้อรถ  รวมถึงการจัดตั้งจุดรวมขยะที่เรียกว่า “ธนาคารขยะ” จะมีคณะกรรมการทำหน้าที่รับซื้อ-ขายขยะของชุมชน จำนวน 3 แห่ง ท้ายสุดปริมาณขยะในชุมชนลดลง เหลือ 0.56 กก./วัน/ครัวเรือน จากเดิม 1.14 กก./วัน/ครัวเรือน จนเหลือปริมาณขยะ 380.48 กก./วัน