post-image

หมู่บ้านต้นแบบจัดการขยะ 3 ขนาด หรือ 3R

ตำบลพังเคน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นตำบลเล็กๆในพื้นที่อำเภอนาตาล มีทั้งหมด 19 หมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา 6 แห่ง และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา วัดและที่พักสงฆ์จำนวน 20 แห่ง ตลาดนัด 4 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง ประชากร 11,357 คน 3,394 ครัวเรือน

จากการสำรวจข้อมูลขยะในพื้นที่ตำบลพังเคน 619.40 ตัน/ปี  ช่องว่างที่ก่อให้เกิดการทิ้งขยะประเภทถุงพลาสติก ไม่มีการคัดแยกขยะประเภทนี้ ได้แก่ วัด มีการคัดแยกขยะ 4 แห่ง ซึ่งเหลืออีก 16 แห่ง ตลาด และโรงเรียน ยังไม่มีการคัดแยกขยะ และครัวเรือน มีการคัดแยกขยะเป็นบางส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้ ด้านพฤติกรรมส่วนบุคคล ได้แก่ การขาดจิตสำนึก ความมักง่าย ทิ้งไม่เป็นที่ ไม่มีการคัดแยกก่อนทิ้ง และยังขาดความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท ส่วนด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ การใช้ถุงพลาสติกในวัด ตลาด อบต.ไม่ได้จัดที่ทิ้งขยะให้และไม่มีรถขยะให้บริการคนในชุมชนตำบลพังเคน ส่วนด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ การมีตลาดนัด ซึ่งตลาดนัดในชุมชนนั้นมีการจัดเก็บขยะแต่ไม่ได้มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน และมีการใช้มาตรการทางสังคมแต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทำให้ทิ้งขยะที่ผิดวิธี เช่น การนำขยะอันตรายมาทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ซึ่งทาง อบต. พังคน ได้มีถังขยะอันตรายให้ทุกหมู่บ้าน และจะมีเจ้าหน้าที่ออกเก็บขยะทุกวันพุธที่ 3 ของทุกเดือน จากการสังเกต ทั้ง 19 หมู่บ้านยังทิ้งขยะไม่ถูกช่องที่กำหนดให้ ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังผู้นำหมู่บ้าน ประธาน อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในหมู่บ้านได้เข้าใจ วิธีการทิ้งขยะแต่ละประเภทให้ถูกช่องตามที่กำหนดไว้ และท้ายสุดด้านความรู้ ได้แก่ ปัญหาการขาดความรู้ในการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง และขาดความรู้ในการนำขยะไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

       จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ตามมา คือ ผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนตำบลพังเคนในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ผลกระทบทางด้านสุขภาพ ได้แก่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลง และพาหะนำโรค เกิดการสะสมของเชื้อโรค เกิดจากการเน่าเปื่อยของขยะอินทรีย์ที่ไม่มีการจัดเก็บ และยังเป็นแหล่งที่อาหารของสัตว์ เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน เช่น โรคอุจจาระร่วง  นอกจากนี้ หากไม่มีการคว่ำภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขัง ก็จะทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก และก่อให้เกิดความรำคาญขยะมูลฝอย การเก็บรวบไม่หมดก็จะเกิดเป็นกลิ่นรบกวนกระจายไปยังบ้านใกล้เคียงและเกิดปัญหาการร้องเรียนเกิดขึ้น ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากเพิ่มขึ้นจากการเจ็บป่วย และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ต่อมาคือผลกระทบทางสังคม ได้แก่ ปัญหาการร้องเรียน เหตุรำคานในการเผาขยะ ท้ายสุดคือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ขยะมูลฝอยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษของน้ำ มลพิษของดินและมลพิษของอากาศ เนื่องจากขยะส่วนที่ขาดการเก็บรวบรวมหรือไม่นำมากำจัดให้ถูกวิธีปล่อยทิ้งไว้ เมื่อมีฝนตกมาจะไหลชะนำความสกปรก สารพิษจากขยะไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้แหล่งน้ำเกิดการเน่าเสีย และนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพดิน และถ้ามีการเผาขยะมูลฝอยกลางแจ้งทำให้เกิดควันมีการพิษทำให้คุณภาพาของอากาศเสียและยังทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม

หมู่บ้านต้นแบบจัดการขยะ 3 ขนาดเป็นแนวทางหนึ่งที่ทางคณะทำงานการจัดการขยะตำบลได้มีการดำเนินงานมาในปี พ.ศ.2562-2563 มีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านขนาดเล็ก 1 หมู่บ้าน ขนาดกลาง 1 หมู่บ้าน และขนาดใหญ่ 1 หมู่บ้าน ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างหมู่บ้านต้นแบบให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะชุมชน 4 ประเภท โดยขยะประเภทที่ 1 ขยะอินทรีย์ ครัวเรือนคัดแยกแล้วจัดการโดยทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง รวบรวมใส่เสวียนเพื่อทำปุ๋ย ทำธนาคารใบไม้ประเภทที่ 2 ขยะทั่วไปจัดการโดยการลดการใช้ถุงพลาสติก สินค้าหลายชิ้นชุ้งใบเดียว ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ถุงที่ได้มาล้างให้สะอาดตากให้แห้งส่งให้ อบต.พังเคน เพื่อการจัดการต่อไป ไปตลาดใช้ตะกร้า เหรียญโปรยทานทำจากใบมะพร้าว ประเภทที่ 3 ขยะรีไซเคิล ให้แต่ละครัวเรือนแยกเพื่อจำหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือรถเร่รับซื้อของเก่า และประเภทที่ 4 ขยะอันตราย อบต.จัดทำถังรวบรวมขยะอันตรายให้หมู่บ้านละ 1 จุด ผู้นำหมู่บ้านประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคัดแยกและนำมารวบรวม ณ จุด ที่จัดไว้ให้ อบต.ดำเนินการรวบรวมทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน เพื่อนำส่ง อบจ.ปีละ 2 ครั้ง มีครัวเรือนต้นแบบเกิดขึ้น 89 หลังคา และทุกครัวเรือนเข้าร่วมกิจกรรมครัวเรือนคัดแยกขยะ

การขยายผลหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะ 4 ประเภทอย่างถูกวิธีภายใต้แนวคิด “แยกไม่เป็นขยะ”แต่เป็นประโยชน์ และสร้างรายได้ โดยนำรูปแบบกิจกรรมที่ได้ดำเนินการที่กล่าวมาสู่การขยายผลอีก 16 หมู่บ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ 19 หมู่บ้านในตำบล อบต.พังเคน โดยดำเนินงานโครงการ “ตำบลพังเคนร่วมใจ จัดการขยะถูกวิธี สู่วิถีชีวิตใหม่

จากความมุ่งมั่นตั้งใจของคนตำบลพังเคน ร่วมมือกันทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจากภาคประชาชน และผู้แทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันจัดทำธรรมนูญสุขภาพประชาชนตำบลพังเคน ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ องค์การบริการส่วนตำบลพังเคน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกันส่งเสริมความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน การลดขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การจัดการขยะอันตราย และการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีให้กับชุมชนในตำบลพังเคน ข้อ 7 ให้แต่ละหมู่บ้านมีกฎระเบียบในเรื่องของการจัดการขยะ เช่น 1) ให้ทุกครัวเรือนในชุมชนรับผิดชอบดูแลทำความสะอาดตามบริเวณบ้าน และหน้าบ้านของตนเอง 2) ให้ชุมชนมีการคัดแยกขยะของครัวเรือน โดยขยะเปียกกำจัดโดยทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำเป็นอาหารสัตว์หรือวิธีการฝังกลบ ขยะแห้งที่สามารถใช้ซ้ำได้ให้นำกลับมาใช้ใหม่ ขยะที่ขายได้ให้ขายเข้ากองทุนขยะหรือธนาคารขยะของชุมชน 3) ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกหมู่บ้านร่วมกันประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เรื่องการดูแลทำความสะอาดบริเวณบ้าน การคัดแยกขยะ การลดใช้ถุงพลาสติกทุกสัปดาห์ 4) ให้ครัวเรือนและร้านค้าในชุมชนลดการใช้ถุงพลาสติก โดยให้หันมาใช้ถุงผ้าแทน 5) ให้แต่ละครัวเรือนในชุมชน ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากรถพุ่มพวง ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้า 6) ให้โรงเรียนมีการดำเนินการของธนาคารขยะ และให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ และการลดขยะแก่เด็กนักเรียน และคนทั่วไปในชุมชน

 

        7) ให้องค์การบริหารส่วนตำบลสนับสนุนป้าย “ห้ามทิ้งขยะ” ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ข้างถนน แหล่งน้ำลำคลอง หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ให้ชุมชนแจ้งเบาะแสกับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือคณะกรรมการธรรมนูญตำบลในแต่ละหมู่บ้าน โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปฏิเสธการเข้ากลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

        8) ให้องค์การบริการส่วนตำบลพังเคน จัดหาภาชนะสำหรับใส่ขยะที่เป็นพิษหรือขยะอันตราย หมู่บ้านละ 1 ที่ และประสานหน่วยงานที่จัดเก็บขยะอันตราย เพื่อนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่เหมาะสม

        ข้อ 8 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลพังเคนสนับสนุนการจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” ภายในชุมชน

        ข้อ 9 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลพังเคน บังคับใช้กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยความสะอาดของชุมชน และให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

จากการวางแนวทางการดำเนินโครงการหมู่บ้าน 3R นั้น ทำให้ปริมาณขยะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 91.58 ซึ่งปริมาณขยะที่ลดลง  เกิดจากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และร่วมมือในการคัดแยกขยะชุมชน 4 ประเภท โดยยึดหลักแนวคิด “แยกไม่เป็นขยะ แต่เป็นประโยชน์ และสร้างรายได้